Skip to main content

ชื่อหนังสือ     “บทเรียนสันติภาพ :  เรียนรู้กระบวนการสันติภาพในประสบการณ์ความขัดแย้งร่วมสมัย” (Experiences of Peacebuilding : Learning the peace process in contemporary conflicts)

เนื้อหาโดย  แอนเดรีย เค. โมลนาร์, ซูซาน ดี. รัสเซล, ไอแซค เคน, ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี,  โนอาห์ ซาลาเมห์, พิษณุ สรรพโกตา, นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส

บรรณาธิการโดย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อภิชญา โออินทร์ รอมฎอน ปันจอร์

จัดพิมพ์โดย โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์ (deepbooks) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พ.ศ. 2557 จำนวนหน้า 206 หน้า แบ่งเนื้อหาออกเป็น 6 บท ราคา 195 บาท

ที่มาของหนังสือ “บทเรียนสันติภาพ เรียนรู้กระบวนการสันติภาพในประสบการณ์ความขัดแย้งร่วมสมัย” เป็นผลงานที่มาจากการสัมมนาวิชาการนานาชาติ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม และ 28 กันยายน  2556 โดยวิทยากรชาวต่างประเทศและไทย มีเจ้าภาพหลักจัดการประชุม คือสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับองค์กรเครือข่ายได้แก่ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ และวิทยาลัยประชาชน  หนังสือนี้เป็นผลงานที่เกิดจากการประชุมดังกล่าวที่ถูกถอดความและเรียบเรียงขึ้นเพื่อสร้างเสริมความรู้เกี่ยวกับบทเรียนของกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ต่างๆ บทเรียนสันติภาพที่ผ่านจากผู้เชียวชาญในด้านการแก้ไขความขัดแย้งโดยใช้แนวทางสันติวิธี จึงอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งของการเรียนรู้ ใช้เป็นแนวทางในการสร้างเสริมสันติภาพ ลดความรุนแรงให้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย

สรุปเนื้อหาโดยย่อ หนังสือเล่มนี้ถูกนำเสนอขึ้นมาเพื่อให้นักวิชาการ ผู้สนใจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในองค์กรต่างๆที่มีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างสันติภาพและดำเนินการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ คือ ประเทศอินโดนีเซีย (กรณีอาเจะห์และกรณีติมอร์-เลสเต) ฟิลิปปินส์ (กรณีมินดาเนาหรือบังซาโมโร)  เมียนมาร์กับชนกลุ่มน้อย  ความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล ประเทศเนปาลและขบวนการต่อต้านเหมาอิสต์ และศรีลังกากับชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬ และที่สำคัญมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย (ชายแดนใต้/ปาตานี) อยู่ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเปรียบเทียบสันติภาพที่มีความชัดเจนจากประสบการณ์ของกรณีอื่นๆ เพื่อให้เกิดการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เดินทางไปสู่สิ่งที่เรียกกันว่า “สันติภาพของปาตานี”

ความขัดแย้งในประเทศอินโดนีเซียและในประเทศติมอร์-เลสเต ความขัดแย้งในประเทศอินโดนิเซียนั้นเป็นความขัดแย้งระหว่างส่วนกลางของอินโดนีเซียและประชาชนในรัฐอาเจะห์เนื่องจากประชาชนชาวอาเจะห์ต้องการความเป็นอิสระในการปกครองตนเองและปกครองด้วยรูปแบบของรัฐอิสลาม การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้เป็นไปอย่างยาวนานโดยใช้ประเทศที่สามและองค์กรระดับชาติมาเป็นคนกลางในการเจรจาและติดตามผลงาน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในไม่ช้า ในขณะที่ความขัดแย้งในประเทศติมอร์-เลสเตนั้นเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังจากการประกาศแยกประเทศออกจากประเทศอินโดนีเซียได้สำเร็จ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยากจน อย่างไรก็ตามความขัดแย้งเหล่านี้เป็นความขัดแย้งที่มีความรุนแรงน้อยกว่าความขัดแย้งของกรณีอาเจะห์และอินโดนีเซีย

ในขณะที่ความขัดแย้งในทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงการต่อสู้เพื่อปลดแอกอิสรภาพให้ประเทศฟิลิปปินส์ โดยต้นเหตุของความรุนแรงและความขัดแย้งนั้นมีอยู่มากมายได้แก่ ความขัดแย้งทางเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ความยากจน  และวัฒนธรรมความรุนแรงที่สืบทอดกันมาในท้องถิ่น จึงทำให้คู่ขัดแย้งนั้นมีอยู่มากมายซึ่งยากต่อการแก้ไขปัญหารวมไปถึงเจ้าหน้าที่ในบางส่วนยังขาดความทุ่มเทในการสร้างสันติภาพอย่างจริงจัง จึงมีส่วนทำให้กระบวนการการสร้างสันติภาพในฟิลิปปินส์เป็นไปอย่างยาวนานถึง 50 ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนสมัยใหม่ได้ให้ความสนใจกับการแก้ไขความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นทำให้มีแนวโน้มว่าความสันติสุขจะเกิดขึ้นได้เร็วขึ้นกว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ประเทศเมียนมาร์นั้นกำลังอยู่ในช่วงการดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างต่างๆของประเทศเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งมีปัญหายืดเยื้อมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่การประกาศเอกราชและการลอบสังหารนายพลอองซานซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาสร้างสันติภาพระหว่างชนเผ่ากลุ่มต่างๆในประเทศซึ่งมีอยู่จำนวนมาก จนทำให้การเจรจาต่างๆหยุดชะงักลง และการเข้ามาของรัฐบาลทหารในประเทศเมียนมาร์ได้นำไปสู่การลิดรอนสิทธิเสรีภาพและเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในประเทศซึ่งยืดเยื้อเป็นเวลานาน การปฏิรูปและการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศเมียนมาร์ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันทำให้มีแนวโน้มว่าจะทำให้ความขัดแย้งในประเทศลดลงเนื่องจากทั้งรัฐบาลและหัวหน้าชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเจรจาและกำหนดทิศทางของประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าการเจรจาเหล่านี้จะช่วยลดความรุนแรงระหว่างชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆและรัฐบาลพม่าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความไม่ไว้วางใจกันระหว่างหัวหน้าชนกลุ่มน้อยและรัฐบาลก็ดูจะยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในเวลานี้

กรณีความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย/ปาตานี เป็นความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานตามประวัติศาสตร์ระหว่างคนปัตตานีหรือปาตานีและทางการรัฐไทย หลังจากเหตุความรุนแรงที่ปะทุขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนมกราคมปีพุทธศักราช 2547 จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไทยได้พยายามเปิดการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มขบวนการโดยมีประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพในการพูดคุยกันหลายครั้งจนอาจถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบและความสูญเสียมีจำนวนครั้งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านๆมา

กรณีปาเลสไตน์นั้นมีความขัดแย้งมาอย่างยาวนานกับประเทศอิสราเอลและดูเหมือนว่ากระบวนการสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลจะยังคงยืดเยื้อต่อไปแม้ว่าจะมีการประชุมเพื่อสร้างเสริมสันติภาพอย่างบ่อยครั้ง เนื่องจากความขัดแย้งในพื้นที่นี้มีประเทศอื่นๆจำนวนมากที่เข้ามาเกี่ยวข้องและได้รับผลประโยชน์ในความขัดแย้งนี้ ทำให้หลายๆประเทศไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาเนื่องจากต้องการให้ความขัดแย้งนี้ยืดเยื้อต่อไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศตนเอง ดังนั้นปัญหาความขัดแย้งของปาเลสไตน์และอิสราเอลไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา และ ดินแดน ดังเช่นความขัดแย้งในประเทศอื่นๆ

ในขณะที่ความขัดแย้งในประเทศเนปาล นั้นแตกต่างไปจากความขัดแย้งจากความขัดแย้งส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เนื่องจากความขัดแย้งของประเทศเนปาลนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งไม่มีเรื่อง เชื้อชาติ ดินแดน หรือ ศาสนา เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เนื่องจากฝ่ายการเมืองแต่ละฝ่ายที่เข้ามามีอำนาจหลังจากการเปลี่ยนระบอบการปกครอง ต่างต้องการที่จะกำหนดทิศทางประเทศให้เป็นไปตามทิศทางที่กลุ่มของตนต้องการจนนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงโดยฝ่ายที่สนับสนุนลัทธิทางการเมืองแต่ละฝั่งต่างก็มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเองจนทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศเนปาลรุนแรงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหลังจากการเจรจาและการทำข้อตกลงสันติภาพในปี 2549 ทำให้เกิดการหยุดยิงเกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้มีสิ่งใดชี้ชัดว่าสันติภาพที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะมีเสถียรภาพเพราะหลังการยุติความรุนแรงแล้วยังจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการฟื้นฟูและการพูดคุยต่างๆอย่างต่อเนื่องเพื่อจะให้เกิดความสันติภาพอย่างถาวร

ความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพในประเทศศรีลังกานั้นทำให้นักวิจัยด้านสันติภาพได้รับบทเรียนต่างๆอย่างมากมาย ความขัดแย้งในประเทศศรีลังกานั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มเชื้อชาติสองเชื้อชาติ คือ ชาวสิงหล และชาวทมิฬ ที่อาศัยอยู่ในเกาะศรีลังกาจนทำให้เกิดความขัดแย้งและการต่อสู้กันอย่างรุนแรงนับตั้งแต่การได้รับเอกราชมาจากประเทศอังกฤษจนกระทั่งมีการตกลงหยุดยิงในปีพุทธศักราช 2545 และนับจากนั้นเหตุรุนแรงในประเทศศรีลังกาก็มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตามการขึ้นเปลี่ยนแปลงประธานธิบดีในปี 2548 ก็เกิดเหตุรุนแรง คือเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงอีกหลายครั้งและรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากต่างฝ่ายต่างไม่เคารพกันและกันและต่างก็ไม่ไว้วางใจอีกฝ่าย

คุณค่าของหนังสือ นักวิชาการด้านสันติภาพทั้ง 7 ท่านได้รวบรวมประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในประเทศต่างๆขึ้นมาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการเลือกใช้ แนวทาง ทางเลือก และรูปแบบในการสร้างเสริมสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยเห็นได้ว่าในความขัดแย้งแต่ละรูปแบบต่างก็ต้องใช้กระบวนการและขั้นตอนสร้างสันติภาพที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม โดยทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจและจริงจังที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ต้องให้เสรีภาพและสิทธิในการเสนอความคิดเห็นแก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นการยากที่จะให้ทุกคนได้เข้าถึงกระบวนการสันติภาพที่ถูกสร้างขึ้น นอกจากนี้กระบวนการสันติภาพควรจะเป็นเรื่องที่ต้องตกลงกันภายในประเทศของตนเอง เพราะหากมีประเทศหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วอาจจะเกิดการบานปลายและยืดเยื้อได้เนื่องจากประเทศที่เข้ามาต่างก็คาดหวังผลประโยชน์จากความขัดแย้งเหล่านี้ ดังที่เห็นได้ชัดเจนจากกรณีสถานการณ์ความขัดแย้งในติมอร์-เลสเต และกรณีของประเทศอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่กระบวนการสร้างสันติภาพต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประเทศอื่น หนังสือเล่มนี้ยังเสนอให้ผู้อ่านยอมรับความจริงว่าแม้การได้มาซึ่งสันติภาพนั้นยากและใช้เวลาก็ตาม แต่ผู้อ่านก็ต้องตั้งความคาดหวังต่อกระบวนการสร้างสันติภาพให้สูงและมีส่วนร่วมในการก่อรูปเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพที่ยั่งยืน

สรุปและวิจารณ์โดย บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ และกิตติพัฒน์ ตั้งโพธิธรรม สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์