Skip to main content
สมัชชา นิลปัทม์
อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
รองผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)

 

หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้เดิมชื่อว่า “วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556” ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนิเทศศาสตร์ (ปีที่ 32 ฉบับที่ 4 ประจำเดือนตุลาคม-ธันวาคม หน้า 1-27, คลิกดูที่นี่) โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “โครงการวิจัยเรื่องวาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้”  ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก มีเดียอินไซด์เอาท์ และมีรองศาสตราจารย์ ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย

 

บทนำ

การลงนามใน “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” (General Consensus on Peace Dialogue Process) ระหว่างรัฐบาลไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น[1] เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย นับเป็นเอกสารฉบับแรกที่ประกาศอย่างชัดเจนว่ารัฐไทยและขบวนการปลดปล่อยมลายูปาตานีพร้อมที่จะแสวงหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน รัฐบาลไทยได้รับรองความปลอดภัยกับตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็นในการเข้าร่วมการพูดคุยครั้งนี้  ในขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยอมรับว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้น “ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย” โดยที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมให้มาเลเซียทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก การพูดคุยสันติภาพที่ลงนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประวัติศาสตร์มีองค์ประกอบที่น่าสนใจ 3 ประกาศคือ 1) เปิดเผยต่อสาธารณะ 2) การยอมรับการดำรงอยู่ของขบวนการ BRN และ 3) การมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator)  ในเชิงปรากฏการณ์ นี่คือการปรากฏตัวเป็นครั้งแรกต่อสาธารณะของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐและต่อกรกับรัฐด้วยแนวทางการใช้ความรุนแรงอย่างแข็งแกร่งและมีเอกภาพมากที่สุดมาเป็นเวลานับ 10 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา นอกจากนี้ การพูดคุยครั้งนี้ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ที่สำคัญของสังคมไทยในทำความรู้จักการแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “กระบวนการสันติภาพ” (peace process) ซึ่งเป็นแนวทางสร้างสันติภาพ (peacebuilding) ที่เปลี่ยนผ่านความขัดแย้งโดยสันติวิธี (conflict transformation) อีกด้วย

การศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การ “อ่าน” ท่าทีและทัศนะของฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินการกระบวนการสันติภาพในครั้งนี้ ผ่านการนำเสนอสื่อมวลชนกระแสหลัก สื่อภาคประชาสังคม สื่อของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐและขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ ที่แสดงออกผ่าน “วาทกรรม” ผ่านพื้นที่การสื่อสารสาธารณะในฐานะพื้นที่แสดงท่าทีของตัวแสดง (actor) ของแต่ละฝ่าย รวมถึงการศึกษาธรรมชาติของการทำงานของสื่อมวลชนในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นวิธี “การติดตามกระบวนการสันติภาพ” (peace monitoring) อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกัน การศึกษาครั้งนี้จะทำให้เห็นภูมิทัศน์ของสื่อสำคัญๆ ที่เกาะติดกระบวนการสันติภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกด้วย

กล่าวอย่างสรุปแล้ว การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก เพื่อศึกษาขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงานของ “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ” ประการที่สอง เพื่อศึกษาวาทกรรมสื่อมวลชนกระแสหลักและสื่อภาคประชาสังคมในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  และประการสุดท้าย เพื่อศึกษาวาทกรรมสื่อฝ่ายที่คิดเห็นต่างจากรัฐในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

กระบวนการสันติภาพและการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง (conflict transformation)[2]

กระบวนการพูดคุยสันติภาพ คือ ขั้นตอนและวิธีการแก้ปัญหาแบบหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ การพูดคุยสันติภาพ (peace dialogue) อย่างเปิดเผยถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับสังคมไทย จึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับบทบาทและที่ทางของสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพ

กระบวนการสันติภาพเป็นแนวทางการแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง (conflict transformation) ด้วยสันติวิธี โดยเปลี่ยนจากการใช้ความรุนแรงมาสู่แนวทางทางการเมือง ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่และท้าทายอย่างมากต่อสังคมไทย ทั้งนี้เพราะกระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องของลำดับช่วงเวลา รวมทั้งขั้นตอนของกิจกรรมทางการเมืองและสังคมในหลายระดับ มิใช่แค่ความพยายามที่จะยุติความรุนแรงในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับกายภาพหรือที่เรียกว่า “สันติภาพเชิงลบ” (negative peace) เท่านั้น แต่กระบวนการสันติภาพคือความพยายามในการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งไปสู่สันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืนกว่าหรือที่เรียกว่า “สันติภาพเชิงบวก” (positive peace)[3]

การทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจภาพรวมของขั้นตอนทั้งหมดผ่านสิ่งที่เรียกว่า “แผนที่สันติภาพ” หรือ “โรดแมพสันติภาพ” (roadmap) เสียก่อน ผู้ศึกษาควรทำความเข้าใจในธรรมชาติของกระบวนการสันติภาพว่าไม่ได้มีการดำเนินไปตาม “เส้นทางของเวลา” (timeline) ในรูปแบบเชิงเส้น (linear) หากแต่มีลักษณะของเส้นทางที่ขึ้นลงและยอกย้อน แบบที่ไม่เป็นเชิงเส้น (non-linear) จำนวนความถี่ของความรุนแรงในสนามความขัดแย้งอาจพุ่งขึ้นหรือลดต่ำลงตามปัจจัยต่างๆ ในรูปแบบที่เรียกความขัดแย้งแบบยืดเยื้อเรื้อรัง (protracted violence)[4] ทั้งนี้ ขั้นตอนของกระบวนการสันติภาพแบ่งออกเป็น 4 ช่วงหลัก คือ 1. ช่วงของการพูดคุย (dialogues) เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust-building) 2. ช่วงการเตรียมการพูดคุยเพื่อเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยมีอำนาจที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ (mandate for pre-negotiation) 3. กระบวนการเจรจา 4. ขั้นยอมรับข้อตกลงจากการเจรจาและการแปลงผลไปสู่การปฏิบัติและติดตามผล โดยในแต่ละขั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

แผนภาพที่ 1 แสดงเส้นทางของเวลา (timeline) ของ แผนที่สันติภาพ (road Map)  และขั้นตอนในกระบวนการสันติภาพทั้งระบบ

 

1. ช่วงการพูดคุย (dialogues) เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (trust-building) ในขั้นนี้ การพูดคุยหมายถึงการพูดคุยลองเชิงเพื่อดูท่าทีของอีกฝ่ายว่าจะสามารถพูดคุยกันได้หรือไม่ มีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้หรือไม่ และสามารถสร้างความไว้วางใจกันได้หรือไม่ ในขั้นนี้ จะมีการพูดคุยโดยทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งหลัก อาจเป็นคณะส่วนหนึ่งจากแต่ละฝ่ายมาพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อมาหาทางออกร่วมกัน ประเมินว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ควรจะพูดคุยระหว่างกัน ทำความเข้าใจความคิดของแต่ละฝ่ายและสามารถสร้างภาพอนาคตจากการพูดคุยเพื่อนำไปสู่การเจรจาได้ ขั้นตอนนี้มีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือ 1) แต่ละฝ่ายได้รับอาณัติจากผู้มีอำนาจในการตัดสินใจจริง (mandate) จากแต่ละฝ่ายให้มาพูดคุยกัน และ 2) การพูดคุยต้องนำไปสู่การหาข้อตกลงนำที่นำผลไปสู่การผูกพันข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการนี้อาจเกิดขึ้นหลายครั้งและเป็นไปในทางปิดลับ จนกว่าจะไว้เนื้อเชื่อใจกันและก้าวเข้าสู่ระยะต่อมา

2. ช่วงการเตรียมการพูดคุยเพื่อเจรจาอย่างเป็นทางการ โดยมีอำนาจที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นทางการ (mandate for pre-negotiation) ภายหลังจากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการแล้ว การพูดคุยในขั้นนี้จะมีการกำหนดขอบเขตอำนาจในการที่ได้รับมอบหมาย โดยเป็นอำนาจจากผู้ที่สามารถที่จะควบคุมความรุนแรงได้จริง การสร้างทีมเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของการดำเนินการเจรจาในอนาคต โดยสามารถที่เข้ามาร่วมลงนามข้อตกลงระหว่างกันอย่างเป็นทางการว่าจะมีการพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจัง ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลาหลายครั้งและไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด จนกว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ข้อตกลงร่วมกันว่าจะร่วมวางกรอบการเจรจาในขั้นต่อไปร่วมกัน ในสถานการณ์ที่ทำการวิจัยในครั้งนี้ ถือว่าอยู่ในขั้นตอนที่ 2 นี้ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนเริ่มอย่างเป็นทางการของกระบวนการสันติภาพทั้งหมด (ในเส้นประ) และยังเรียกว่าเป็นเพียง “การพูดคุย” เท่านั้น

3. กระบวนการเจรจา เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านเตรียมการเข้าสู่กระบวนการเจรจาสำเร็จ จากประเด็นหลักที่ตกลงกันได้แล้วก็คือ 1) ใครคุยกับใคร ตำแหน่งอะไร แต่ละฝ่ายประกอบด้วยใครบ้าง 2) สถานที่ดำเนินการเจรจา 3) การพูดคุยเป็นอย่างไร โดยมีกรอบการพูดคุยที่วางรากฐานในระยะยาว ซึ่งจะถือว่าเป็น “กรอบของการเจรจา” (framework agreement of negotiation) แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเจรจาอย่างแท้จริงอย่างเป็นลำดับ (series of negotiation) ซึ่งอาจมีหลายวงเจรจา หลายครั้ง ซึ่งอาจไม่มีความราบรื่นหรือสะดุดได้เช่นกัน อาจมีการชะงักหรือกลับมามีความรุนแรงใหม่ซึ่งไม่ได้มีความก้าวหน้าเป็นเชิงเส้นเสมอไปดังที่ได้กล่าวในขั้นต้น โดยทั่วไปกรอบการเจรจานี้จะเข้าสู่การตกลงการหยุดยิงหรือความรุนแรงก่อน ซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจไม่ชัดเจนว่าข้อตกลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในลักษณะใด จึงต้องอาศัยการเจรจาอีกหลายครั้ง

4. ขั้นยอมรับข้อตกลงจากการเจรจาและการแปลงผลไปสู่การปฏิบัติและติดตามผล ในขั้นนี้จะดำเนินต่อเนื่องมาจากการดำเนินการเจรจาในประเด็นต่างๆ มีความคืบหน้าและตกลงกันได้ จนเข้าสู่ข้อตกลงในประเด็นต่างๆ (agreements on substantive issues) จนเกิดเป็นข้อเสนอในทางการเมืองจากฝ่ายคู่ขัดแย้งจนเป็นข้อตกลงในทางการเมืองในระยะเวลาต่อมา เพื่อนำข้อตกลงดังกล่าวไปผลในทางการปฏิบัติและดำเนินการติดตามประเมินผล (implement and monitoring) เพื่อตรวจสอบว่าแต่ละฝ่ายสามารถทำได้ตามข้อตกลงหรือไม่ ซึ่งจะมีการเจรจาเพื่อติดตามข้อตกลง (negotiation on interpret to the agreement) ซึ่งจะมีการถกเถียงตีความขึ้นอีกหลายครั้ง

ในช่วงสุดท้ายของการเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงโดยจะมีการปฏิรูปทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคงและกองทัพ การผนวกรวมกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐ จะนำเข้ามาสู่ระบบได้หรือไม่ ข้อตกลงบางอย่างอาจก้าวไปไกลถึงขั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้ อย่างไรก็ตามภาพรวมของกระบวนการสันติภาพนั้นจะยังคงมีสภาพที่เปราะบางอยู่ในทุกขั้นตอน

บทบาทของสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพ

เมื่อได้อธิบายลำดับและขั้นตอนของกระบวนการสันติภาพโดยสังเขปแล้ว ผู้วิจัยจึงตั้งคำถามว่า  สื่อมวลชนมีบทบาทและที่ทางอย่างไรในกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ แน่นอนว่าสื่อมวลชนคือสถาบันหนึ่งที่เข้ามามีส่วนและเป็นตัวแปรที่สำคัญของการขยายตัวของความขัดแย้งและสันติภาพได้ ข้อวิจารณ์ที่สำคัญต่อการทำงานข่าวของสื่อกระแสหลักก็คือ การรายงานข่าวที่ไม่รอบด้านที่อาจยังผลให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น คำถามในยุคหลังๆ ของผู้ที่ศึกษาสื่อสันติภาพก็คือ การตั้งคำถามถึงความสำคัญเรื่อง “ความเป็นภววิสัย” (objectivity) ที่เป็นแกนกลางหลักคิดของนักวารสารศาสตร์ว่า สื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมอันดับแรกในฐานะมนุษย์ที่จะเข้ามาช่วยลดหรือหยุดยั้งความรุนแรง ส่วนความรับผิดชอบในฐานะของสื่อมวลชนเป็นความรับผิดชอบที่รองลงมา (Spencer 2008: 180-182) บทบาทเช่นนี้คือการยืนยันบทบาทแบบปรัชญามนุษยนิยมที่ต้องเผชิญและดำรงอยู่กับความขัดแย้งโดยพยายามจะปรับกระบวนทัศน์ของการรายงานจากที่ให้ความสำคัญแต่ “สงคราม” มาสู่ความหมายของ “สันติภาพ” โดยหวังว่างานเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านสงครามและขับเคลื่อนการแก้ไขความขัดแย้งไปสู่สันติ

ดังนั้น สิ่งที่นักข่าวสันติภาพพึงกระทำก็คือ การนำตัวแสดงอื่นๆ เข้ามาอยู่ในการรายงานข่าว เพื่อเปิดมุมมองและพื้นที่ให้กับมุมมองที่แตกต่าง ฉายปัญหาที่ลุ่มลึกและซับซ้อนมากกว่าเสนอความขัดแย้งสองขั้วแบบหยาบๆ ก้าวข้ามการนำเสนอแบบแพ้-ชนะ ที่เน้นไปที่ใครกำลังได้เปรียบ–เสียเปรียบ หลีกเลี่ยงการรายงานข่าวแบบดราม่า ไปสู่การพิจารณาเรื่องราวว่าเป็นการพูดคุยเจรจาที่มีความสมดุลซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้ง ขณะเดียวกันปฏิสัมพันธ์ของแหล่งข่าวและคู่ขัดแย้งก็มักจะพยายามที่จะรักษาอิทธิพลของตนเองด้วยการครอบครองพื้นที่สื่อ เมื่อสื่อมองปัญหาได้ไม่ทะลุปรุโปร่ง ความขัดแย้งถูกนิยามโดยกลุ่มคู่ขัดแย้งที่มีอิทธิพล สื่อก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการตอกย้ำอำนาจและอิทธิพลของคู่ขัดแย้งและเป็นผู้ขยายจุดยืนอันแข็งทื่อของทั้งสองฝ่าย (Spencer 2008: 140-141)

กรณีศึกษาความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มต่างๆ และรัฐบาลพยายามใช้สื่อเป็นพื้นที่ในการสร้างแรงสนับสนุนให้กับฝ่ายตนเอง ทั้งยังเป็นพื้นที่ของการถกเถียงนโยบายต่างๆ และสามารถสร้างแรงกดดันให้ผู้ต่อต้านเข้ามารับข้อเสนอสำคัญๆ นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างพลวัตใหม่ๆ ในการสื่อสาร ดังนั้น หากสื่อสนใจกระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริงก็จะทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้กับวาทกรรมทางเลือกใหม่ๆ ทั้งยังชี้จุดอ่อนของความคิดสายสุดโต่งและดึงผู้คนที่หลากหลายเข้ามาสู่กระบวนการสันติภาพในแบบพหุวิถี[5] (multi-track) ที่จะทำให้กระบวนการดังกล่าวมีความแข็งแกร่งขึ้น

นักคิดและนักปฏิบัติหลายคนพยายามที่จะออกแบบและเสนอแนวทางการรายงานข่าวสันติภาพขึ้นมา โดยมุ่งหวังให้เกิดผลด้านบวกต่อกระบวนการสันติภาพให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น ด้วยการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์บางอย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น เช่น นอร์เบิร์ต โรเปอส์ (Norbert Ropers) นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ที่ลงพื้นที่ทำงานในภาคใต้มาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนจะเกิดกระบวนการสันติภาพ ได้อธิบายความท้าทายพื้นฐานบางประการเกี่ยวกับการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ[6] ต่อการพูดคุยพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ครั้งนี้ว่า   

1) กระบวนการสันติภาพเป็นความพยายามทางการเมืองที่มีการแข่งขันกันสูง สำหรับหลายคนที่เข้าร่วมในกระบวนการนี้ มันคือความพยายามในอันที่จะ “เอาชนะ” ในความขัดแย้งนั้นๆ แม้ว่าในขณะนี้ จุดสำคัญจะเปลี่ยนจากการใช้กำลังและความรุนแรงไปเป็นการใช้วิถีทางทางการทูตเพื่อที่จะให้ได้ชัยชนะในการต่อรองหรือบนโต๊ะเจรจาก็ตาม แต่ว่าความคิดเห็นในเรื่องนี้ก็คงเน้นในเรื่องของการเอาชนะหรือไม่ก็พ่ายแพ้ ผู้คนเหล่านี้จะตระหนักก็ในระยะหลังแล้วเท่านั้น ว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะผลักดันให้ได้ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน หากว่าพวกเขายังคงมองกระบวนการสันติภาพในกรอบของการเอาชนะ หรือไม่ก็พ่ายแพ้ต่อไป

2) [ด้วย] ทัศนคติแบบนี้ นักข่าวจึงพยายามจะทำข่าวกระบวนการสันติภาพผ่านมุมมองแบบ “ใครแพ้ใครชนะ” (ใครได้ใครเสีย) ซึ่งสำหรับสื่อกระแสหลัก นี่ก็เป็นแบบแผนของการทำข่าวการเมืองโดยทั่วไป มุมมองแบบนี้จะขยายชัดมากขึ้นเมื่อในหมู่คนในแต่ละด้านของคู่ความขัดแย้งนั้น มีคนที่ตั้งแง่หรือไม่ก็ต่อต้านกระบวนการรวมอยู่ด้วย

3) จากคำพูดที่รู้จักกันมานานแล้วที่ว่า “ความจริงเป็นเหยื่อรายแรกของสงคราม” เราจะพบตัวอย่างจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า ในกระบวนการสันติภาพนั้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมักจะพยายามเล่นแร่แปรธาตุกับข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตน

จากข้อท้าทายดังกล่าว โรเปอส์ จึงเสนอข้อสรุปสำหรับการสื่อสารกระบวนการสันติภาพแบบมืออาชีพและอย่างมีจริยธรรมว่า

1.  สื่อเป็นมืออาชีพและไม่ใช้อคติอย่างที่สื่อควรเป็น: เช่นเดียวกันกับการรายงานข่าวอื่นๆ การรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพควรจะทำภายใต้มาตรฐานของการแสวงหาความจริงและการตรวจสอบแสวงหาข้อมูลแบบไม่ลำเอียง ข้อมูลที่ได้มีการตรวจสอบรอบด้าน รายงานถ้อยแถลงต่างๆอย่างถูกต้องตามบริบทของมันและอื่นๆ

2.  รายงานมุมมองที่แตกต่างหลากหลายและอย่างจำเพาะเจาะจง: ความขัดแย้งและสันติภาพเป็นเรื่องราวของฝ่ายต่างๆ สองฝ่ายขึ้นไปที่มีความเห็นและมุมมองที่แตกต่างกันในเรื่องว่าเหตุใดจึงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นและจะคลี่คลายความขัดแย้งนั้นอย่างสันติได้อย่างไร สื่อหลายๆ สื่อมักจะให้พื้นที่กับมุมมองด้านเดียว ซึ่งถือว่าขัดกับหลักการของการรายงานที่ต้องไม่ลำเอียงและอย่างเป็นธรรม

3.  ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจต่อเงื่อนไขที่เป็นตัวขับเคลื่อนความขัดแย้ง: สังคมใหญ่มักจะไม่เข้าใจว่าความขัดแย้งและความรุนแรงนี้ดำรงอยู่ได้อย่างไร ซึ่งสาเหตุอาจจะไม่ใช่เพราะขาดระบบหลักในการให้การศึกษา รวมทั้งการที่มีข้อถกเถียงที่ครอบงำสังคมในเวลานั้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลักษณะอันซับซ้อนของขบวนการที่ธรรมชาติเป็นขบวนการมลายูปาตานี เรื่องนี้เปิดโอกาสให้สื่อเข้ามาทำหน้าที่ส่งเสริมให้สังคมสามารถทำความเข้าใจได้ครอบคลุม

4.  เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีสิทธิและเสียง เติมความเป็นมนุษย์ให้กับเหยื่อของความขัดแย้ง: ในขณะที่ข่าวการพบปะเจรจาในแทรค 1 (คู่ความขัดแย้งหลัก)[7]เป็นเรื่องที่สำคัญและถือเป็นหน้าที่ของสื่อที่จะต้องรายงาน แต่สื่อน่าจะมองหาโอกาสในอันที่จะฉายให้เห็นชีวิตและชะตากรรมของประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบแล้วและยังคงได้รับผลกระทบอยู่จากความรุนแรงและความขัดแย้งที่ยังแก้ไขไม่ได้อันนี้           

5. เปลี่ยนกรอบของการรายงานจาก “แพ้-ชนะ” ไปเป็น “ชนะทั้งคู่” หรือ win-win: ประชาชนในเรื่องความคิดและข้อเสนอทั้งหลายที่มีขึ้นเพื่อเชื่อมประสานตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้มีการประนีประนอมหรือแก้ปัญหา ให้พื้นที่กับนักรณรงค์เพื่อสันติภาพรวมทั้งความคิดเห็นของพวกเขา เป็นต้น”

 

สื่อในฐานะผู้ผลิตวาทกรรม

วาทกรรม คือ กระบวนการสร้างความหมายให้แก่โลกและสังคม ซึ่งรวมถึงเอกลักษณ์ต่างๆ อย่างมีโครงสร้างและระบบของกฎเกณฑ์ที่จะกำหนดสร้างความหมายว่าสิ่งใดเป็นจริงและไม่เป็นจริง ผ่านข้อความที่ถูกพูดหรือเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดย ข้อความนั้นถูกกำกับไว้ด้วยกรอบของความรู้ (episteme) ที่เกิดการไหลเวียนของข้อความดังกล่าวไปสู่ปฏิบัติการทางสังคม (social practice) (เสนาะ, 2548: 300) วาทกรรมจึงมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการก็คือ ภาษา ความรู้และอำนาจ ที่เชื่อมโยงถึงกันเพื่อประกอบสร้าง “ความจริง” ขึ้นมา (Revel, 2002 : 22-23) โดยในโลกสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีการสื่อสารและสถาบันการสื่อสารมวลชน มีหน้าที่ในการกำหนดวาระของข้อมูลข่าวสาร (agenda setting) ทั้งยังมีระบบและข้อตกลงบางอย่างโดยเฉพาะ “ข่าว” นั้นถูกวางตำแหน่งแห่งที่ของความหมายว่าคือ “ความจริง” ให้กับสังคม ในกรณีนี้ สื่อมวลชนจึงกลายเป็นสถาบันทางสังคมหลักที่ทำหน้าที่ผลิตวาทกรรมทั้งหลายและสถาปนาให้ความจริงถูกยอมรับโดยทั่วกันอีกด้วย

สื่อมวลชนยังเป็นปริมณฑลของ พื้นที่ปฏิบัติการของอำนาจของการ “นิยาม” ในการขจัดและกีดกันการนิยามของผู้อื่น (definition & exclusion) ที่แย่งยื้อช่วงชิงความหมายระหว่างกันอยู่เสมอ ผ่านการยอมรับหรือไม่ยอมรับการนิยามจากฝ่ายตรงกันข้าม เช่นคู่ของการช่วงชิงความหมายระหว่าง “กบฎ” กับ “ผู้ปลดปล่อย” หรือ “โจรใต้” กับ “ผู้ปลดปล่อยประชาชาติปาตานี” ที่จะถูกตอกย้ำอย่างซ้ำๆ ในวิถีแห่งชีวิตประจำวันจนสามารถติดตั้งและซึมลึกสู่วิถีชีวิตของผู้คนสามัญจนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ยอมรับและควรจะเป็นจนดูคล้ายเป็น “สามัญสำนึก” ร่วมกันของผู้คนในสังคมโดยมีภาษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการถ่ายทอดและตอกย้ำอุดมการณ์ (กาญจนา แก้วเทพ, 2546 : 354-360) การศึกษาครั้งนี้จึงสนใจวาทกรรมที่ปรากฏในสื่อจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าถูกวางอยู่บนกรอบความคิด อุดมการณ์ ชุดความรู้อะไรและมีการช่วงชิงความหมายผ่านพื้นที่สื่อมวลชนอย่างไรบ้าง

วิธีการศึกษา

            โครงการวิจัยเรื่องวาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดประเภทของสื่อที่จะทำการศึกษาไว้ 3 ประเภทคือ 1) สื่อกระแสหลักได้แก่ สื่อที่เกาะติดรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสื่อโทรทัศน์ระดับชาติคือ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะ และสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3  2) สื่อภาคประชาสังคมที่ติดตามความคืบหน้าและสร้างประเด็นถกเถียงต่อกระบวนการสันติภาพ เป็นพื้นที่ของฝ่ายภาคประชาสังคมที่สนใจและเคลื่อนไหวสันติภาพ เป็นพื้นที่ของความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว คือ พื้นที่เว็บบล็อก (weblog) ของ เว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และ 3) สื่อของผู้เห็นต่างจากรัฐและกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์คือ เว็บไซต์อัมบรานิวส์ (Ambra News) พูโลอินโฟ (Puloinfo) และคลิปแถลงการณ์ผ่านยูทูบโดยแกนนำบีอาร์เอ็น

กลุ่มตัวอย่าง

            ในการศึกษาเรื่องวาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเลือกตัวอย่างสื่อรวม 3 ประเภท จำนวน 5 ชื่อ ดังตารางข้างล่างโดยเลือกศึกษาเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพูดคุยสันติภาพ 

 

ตารางที่ 1 แสดงกลุ่มตัวอย่างเพื่อใช้ในการศึกษา

 

ระยะเวลาการเก็บข้อมูล

เลือกเก็บตัวอย่างระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2556โดยมีรายละเอียดของเหตุการณ์ในห้วงเดือนที่เก็บข้อมูลดังนี้

 

ตารางที่ 2 แสดงเหตุการณ์สำคัญในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในห้วงเวลาปี 2556

การวิเคราะห์ข้อมูล

ในขั้นต้นจะใช้แบบลงรหัส (Coding sheet) เพื่อคัดกรองตามรูปแบบการนำเสนอ (Form) คือ ประเภทของรายการ แหล่งข่าวอ้างอิง ประเด็นที่ให้น้ำหนัก ลักษณะภาษา มุมมองของการนำเสนอและส่วนเนื้อหา (Message) ที่จะนำมาวิเคราะห์ วาทกรรมที่ถูกเลือกใช้ ผู้นำเสนอวาทกรรม ประเด็นที่ถูกผลิตซ้ำ ก่อนรวบรวมข้อมูลและประมวลผลเพื่อศึกษาวาทกรรม (Discourse) ที่ถูกผลิตขึ้นมาในระหว่างกระบวนการสันติภาพ    

 

ผลการศึกษา I: สื่อกระแสหลัก

การรายงานเรื่องกระบวนสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ในสื่อกระแสหลัก

ความสำคัญของสื่อมวลชนกระแสหลักต่อกระบวนการสันติภาพ คือการเป็นสื่อขนาดใหญ่ที่มีฐานผู้ชมกว้างขวางทั่วประเทศและสามารถเข้าถึงผู้ชมได้จำนวนมาก ทั้งยังเป็นถือได้ว่าเป็นกลุ่มฐานความคิดหลักของสังคมที่สามารถสร้างผลกระทบต่อการกำหนดทิศทางความคิดและพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้มาก ผลการศึกษาพบว่า สื่อกระแสหลักรายงานประเด็นกระบวนการสันติภาพที่ภาคใต้ ดังนี้

รูปแบบรายการ จากการวิจัยการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ ตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2556 พบว่า รายการข่าวสามมิติ/ช่อง 3 รายงานข่าวทั้งหมด 47 วัน มี 47 ชิ้นข่าว เป็นรูปแบบรายงานข่าว (Spot/Straight News) ทั้งหมด ขณะที่รายการที่นี่ไทยพีบีเอส/ ไทยพีบีเอส รายงานข่าวทั้งหมด 46 วัน มี 88 ชิ้นข่าว แบ่งออกเป็นรูปแบบรายงานข่าว (Spot/Straight News) 38 ชิ้น สารคดีเชิงข่าว (Feature) 42 ชิ้น รายงานเชิงวิเคราะห์ (Analysis) 6 ชิ้น แสดงความคิดเห็น 2 ชิ้น (ดูแผนภาพที่ 2) ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบการนำเสนอของไทยพีบีเอสมีความหลากหลายมากกว่า ทำให้เนื้อหาถูกเน้นไปที่การวิเคราะห์และตีความประเด็นสันติภาพต่อสาธารณะมากขึ้นตามไปด้วย

 

แผนภาพที่ 2 แสดงสัดส่วนและรูปแบบของข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อกระแสหลัก

ประเด็นที่นำเสนอ จากการศึกษาประเด็นการรายงานข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักพบว่า ประเด็นที่ถูกนำเสนอมากที่สุดคือ ประเด็นอุปสรรคของกระบวนการสันติภาพจำนวน 41 ครั้ง ประเด็นกระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น 39 ครั้ง ประเด็นความรุนแรงในระหว่างกระบวนการพูดคุย 30 ครั้ง ประเด็นความชอบธรรมของกระบวนการสันติภาพ 16 ครั้ง ตัวอย่างและบทเรียนการจัดการความขัดแย้งจากต่างประเทศ 10 ครั้ง อื่นๆ 5 ครั้ง และประเด็นความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ 1 ครั้ง (ดูแผนภาพที่ 3)

 

แผนภาพที่ 3 แสดงสัดส่วนเปรียบเทียบประเด็นที่สื่อกระแสหลักในข่าว

 

ภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าว จากการศึกษาการใช้ภาษาในการรายงานข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักพบว่า มีลักษณะเป็นการรายงานแบบข้อเท็จจริง (Factual) 60 ครั้ง การใช้ภาษาแบบอรรถาธิบาย (Explanatory) 32 ครั้ง แบบวิเคราะห์ (Analysis) 13 ครั้ง แบบแสดงความคิดเห็น (Expressive) 9 ครั้ง แบบวิพากษ์วิจารณ์ (Critical) 3 ครั้ง ไม่พบการใช้ภาษาแบบโต้เถียง (Argumentative) และภาษาตีตรา (Naming/Labeling)

การศึกษายังพบว่า รายการข่าวสามมิติมีสัดส่วนการใช้ภาษาแบบข้อเท็จจริง (Factual) ที่มากกว่ารายการที่นี่ไทยพี่บีเอส คือ (43:17) ขณะที่รายการที่นี่ไทยพีบีเอส มีการใช้ภาษาแบบอรรถาธิบาย (Explanatory) มากกว่ารายการข่าวสามมิติคือ (28:4) ส่วนการใช้ภาษาแบบวิเคราะห์ (Analysis) และการใช้ภาษาแบบแสดงความคิดเห็น  (Expressive) ไม่พบในรายการข่าวสามมิติ การใช้ภาษาแบบแบบวิพากษ์วิจารณ์ (Critical) รายการที่นี่ไทยพีบีเอสมีสัดส่วนมากกว่ารายการข่าวสามมิติคือ (2:1)                               

 

แผนภาพที่ 4 แสดงการใช้ภาษาในการรายงานข่าว

แหล่งข่าว จากการวิจัยแหล่งข่าวที่ปรากฏในการนำเสนอข่าวในกระบวนการสันติภาพพบว่า แหล่งข่าวที่ปรากฏอยู่ในข่าวสื่อกระแสหลักมากที่สุดคือ นายกรัฐมนตรีและทีมคณะพูดคุยสันติภาพ 49 ครั้ง รองลงมาคือฝ่ายทหารและความมั่นคง 23 ครั้ง นักวิชาการ 19 ครั้ง ภาคประชาสังคม 17 ครั้งผู้นำศาสนา 14 ครั้ง ความเห็นสาธารณะ/โพล 10 ครั้ง อื่นๆ 8 ครั้ง ผู้นำฝ่ายบีอาร์เอ็น 5 ครั้ง ฝ่ายมาเลเซีย 2 ครั้ง และไม่พบว่ามีแหล่งข่าวที่เป็นกลุ่มธุรกิจหรือนักธุรกิจปรากฏในข่าวทั้งสองรายการ

การศึกษายังพบว่า รายการข่าวสามมิติให้ความสำคัญต่อแหล่งข่าวที่เป็นฝ่ายทหารและความมั่นคง โดยนำเสนอแหล่งข่าวกลุ่มนี้ 19 ครั้ง ภาคประชาสังคม 12 ครั้ง ผู้นำศาสนา 11 ครั้งขณะที่รายการที่นี่ไทยพีบีเอสนั้นให้ความสำคัญไปที่แหล่งที่เป็น ฝ่ายรัฐบาลและคณะพูดคุยฯ 35 ครั้ง รองลงมาคือนักวิชาการ 12 ครั้ง ความคิดเห็นสาธาระ/โพล 9 ครั้ง

การศึกษาพบด้วยว่า ทั้ง 2 รายการมีแหล่งที่เป็นผู้นำฝ่ายบีอาร์อาร์เอ็นและแหล่งข่าวจากฝั่งมาเลเซียซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกอยู่น้อยมาก ทั้งยังไม่พบแหล่งข่าวที่มาจากภาคธุรกิจและนักธุรกิจเลย

 

แผนภาพที่ 5 แสดงแหล่งข่าวที่ปรากฏในรายงานข่าว

 

มุมมองของเรื่องราวที่นำเสนอ การศึกษามุมมองของเรื่องราวที่นำเสนอผ่านสื่อกระแสหลักพบว่า มีลักษณะมุมมองแบบผู้สังเกตการณ์ (Observant) 83 ครั้ง มุมมองแบบผู้ให้คำปรึกษา (Advisory) 20 ครั้ง มุมมองแบบวิพากษ์ (Critical) 3 ครั้ง มุมมองแบบมีส่วนร่วม (Participatory)3 ครั้ง มุมมองแบบมีอคติต่อขบวนการบีอาร์เอ็น (Bias against BRN) 1 ครั้ง มุมมองแบบมีอคติต่อรัฐไทย (Bias against Thai state) 1 ครั้ง

การศึกษายังพบว่า มุมมองแบบผู้สังเกตการณ์ (Observant) ในรายการข่าวสามมิติ มีสัดส่วนที่สูงกว่ารายการที่นี่ไทยพีบีเอส คือ (43:17) มุมมองแบบผู้ให้คำปรึกษา (Advisory)พบในรายการที่นี่ไทยพีบีเอส 20 ครั้ง  มุมมองแบบวิพากษ์ รายการที่นี่ไทยพีบีเอสมีสัดส่วนที่มากกว่ารายการข่าวสามมิติคือ (3:1) ส่วนมุมมองแบบมีส่วนร่วม (Participatory) มุมมองแบบมีอคติต่อขบวนการบีอาร์เอ็น (Bias against BRN) และมุมมองแบบมีอคติต่อรัฐไทย พบเฉพาะในรายการที่นี่ไทยพีบีเอสเท่านั้น

 

แผนภาพที่ 6 แสดงมุมมองของเรื่องราวที่นำเสนอ

การวิจัยยังพบด้วยว่า ลักษณะของการรายงานข่าวของรายการข่าวสามมิติและรายการที่นี่ไทยพีบีเอส มีการเกาะติดข่าวการรายงานเรื่องกระบวนการสันติภาพในจำนวนวันที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม พื้นที่ข่าวของรายการที่นี่ไทยพีบีเอสมีมากกว่าโดยแบ่งออกเป็นรายการย่อยอีกหลายรายการในรูปแบบที่หลากหลาย คือ รูปแบบข่าว สารคดีเชิงข่าว วิเคราะห์ข่าวและรายการทอล์กที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ในขณะที่รายการข่าวสามมิติมีรูปแบบการรายงานข่าวเท่านั้น ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ ไม่พบว่าทั้งสองรายการรายงานข่าวในลักษณะที่เป็นข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเลย

ด้านมุมมองและภาษาจะพบว่า รายการข่าวสามมิติ มีการการใช้ภาษาแบบการรายงานข้อเท็จจริง (Factual) ค่อนข้างมากและมีการอรรถาธิบาย (Explanatory) อยู่บ้าง ขณะที่รายการที่นี่ไทยพีบีเอสเน้นไปที่การรายงานเชิงอรรถาธิบาย (Explanatory) รองลงมาคือ การรายงานข้อเท็จจริง (Factual) การวิเคราะห์ (Analysis) แบบแสดงความคิดเห็น (Expressive) และแบบวิพากษ์ (Critical) ตามลำดับ อีกทั้งนอกจากมีมุมมองการนำเสนอแบบผู้สังเกตการณ์แล้ว ยังมีมุมมองเชิงการให้คำปรึกษา การวิพากษ์ การมีส่วนร่วมที่มีการแสดงอคติทั้งต่อฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นอีกด้วย ในคุณลักษณะดังกล่าวจะพบว่ารูปแบบรายการของรายการที่นี่ไทยพีบีเอสนั้น นั้นเอื้อต่อการโน้มน้าวและกำหนดกรอบของบทสนทนาสาธารณะต่อผู้ชมต่อประเด็นกระบวนการสันติภาพค่อนข้างมาก

วาทกรรมในสื่อกระแสหลัก

จากการศึกษาเรื่องวาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพพบว่า วาทกรรมที่ปรากฏอยู่ร่วมกันในสื่อกระแสหลักวางอยู่ฐานความคิดและอุดมการณ์ชาตินิยมในการสร้างความชอบธรรมให้กับความเป็นไทยและการพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ รวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งข่าวซึ่งเป็นฝ่ายรัฐในสัดส่วนค่อนข้างมาก ดังที่ได้อภิปรายไปในตอนต้น โดยผู้วิจัยจะชี้ให้เห็นกลุ่มของชุดวาทกรรมที่ปรากฏอยู่ในการรายงานข่าวซึ่งมีจุดร่วมที่สำคัญดังต่อไปไปนี้

วาทกรรมรัฐเดี่ยวอันแบ่งแยกไม่ได้

การรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักยังคงอยู่ภายใต้ชุดความคิดหลักเรื่องรัฐเดี่ยวอันแบ่งแยกไม่ได้การดำเนินการทางเมืองใดๆ ต้องไม่นำไปสู่การยกระดับฝ่ายต่อต้านรัฐ จนมีฐานะเท่าเทียมกันกับกับรัฐ นัยหนึ่งคือการหยั่งเชิงกระแสสังคมและรักษาระดับความเป็นฉันทามติของผู้คนในสังคมต่อการดำเนินการพูดคุยที่มีความชอบธรรมอีกด้วย ซึ่งพบว่ามีชุดคำดังต่อไปนี้คือ “การพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ”, “ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน”, “ไม่เป็นการยกระดับของปัญหา”

วาทกรรมความรุนแรงไม่ลดลง

วาทกรรมนี้ถูกตั้งข้อสังเกตอยู่ตลอดเวลาเหตุใดเมื่อมีการพูดคุยแล้วความรุนแรงและการเกิดเหตุจึงมีเพิ่มมากขึ้น วาทกรรมนี้ยังมีความหมายว่าวิธีการดำเนินการพูดคุยสันติภาพสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ รวมไปถึงมีข้อสังเกตบางประการจากเนื้อหาในรายการข่าวสามมิติ พบว่า วาทกรรมความรุนแรงไม่ลดลงเนื้อหาข่าวกระบวนการสันติภาพจะถูกรายงานควบคู่กับข่าวความรุนแรงในพื้นที่อยู่ด้วยเสมอ ซึ่งสามารถสะท้อนความหมายของประเด็นความรุนแรงที่ไม่ลดลงในชุดคำดังต่อไปนี้คือ“ความรุนแรงไม่ลดลง”, “ตัวจริงหรือไม่”, “บีอาร์เอ็นไม่จริงใจ”

วาทกรรมความรุนแรงไม่ลดลงจึงเป็นวาทกรรมที่มาควบคู่กับการที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุความรุนแรงว่าเหตุใดจึงไม่ลดลงหลังจากการดำเนินการพูดคุยซึ่งจะถูกอ้างอิงไปถึงวาทกรรมฮัสซัน ตอยิบ เป็นผู้นำตัวจริงหรือไม่ ซึ่งสะท้อนความหมายว่าเขาสามารถที่จะมีอำนาจในการบังคับบัญชาฝ่ายการทหารได้จริงและสั่งการให้หยุดความรุนแรงได้หรือไม่

วาทกรรมแนวทางสันติวิธี

วาทกรรมนี้คือเครื่องมือของการสร้างความชอบธรรมให้กับคณะพูดคุยสันติภาพและยืนยันกับสาธารณะว่า กระบวนการดังกล่าวจะสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่นและไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งพบว่ามีชุดคำดังต่อไปนี้คือ “เป็นแนวทางการแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติ”

วาทกรรมสันติภาพต้องใช้เวลา

วาทกรรมนี้เป็นเครื่องมืออีกประการในการสร้างความชอบธรรมในการสร้างกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยเป็นกระบวนการระยะยาวที่ต้องใช้ความต่อเนื่องในการดำเนินการและความอดทนอย่างยิ่ง ซึ่งพบว่ามีชุดคำดังต่อไปนี้คือ “สันติภาพต้องใช้เวลา”, “ต้องร่วมกันประคับประคองสันติภาพ”

วาทกรรมเฉพาะของแต่ละรายการ

วาทกรรมเฉพาะที่พบในรายการข่าวสามมิติ การวิจัยพบว่า วาทกรรมแนวทางสันติวิธีและ วาทกรรมถือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ถูกใช้มาอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นการการดำเนินการพูดคุยสันติภาพ

ลักษณะของการรายงานข่าว การรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพของรายการข่าวสามมิติพบว่า มีการเกาะติดการรายงานข่าวในประเด็นดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ ประเด็นมีความหลากหลาย ใช้แหล่งข่าวหลายประเภทโดยให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวที่เป็นภาคประชาสังคม นักวิชาการ ค่อนข้างมากมีการมองประเด็นใหม่ๆ ที่น่าสนใจหรือสร้างความชัดเจนมากขึ้นเช่น วาทกรรมปัญหาหลักคือแบ่งแยกดินแดน เป็นวาทกรรมที่สามารถโต้แย้งสาเหตุของปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนที่เคยมีประเด็นปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ ให้หมดไป ทั้งยังมีท่าทีของการรายงานข่าวที่ค่อนข้างจะเห็นด้วยต่อกระบวนการสันติภาพซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธี นอกจากนี้ยังพบว่า มีวาทกรรมเสียงจากชนกลุ่มน้อย/ เสียงกลุ่มที่แตกต่างและวาทกรรมสิทธิของชาวปาตานี/ สถานะของนักต่อสู้ซึ่งเป็นคำต้องห้ามของสาธารณะแต่ก็สามารถปรากฏขึ้นมาบนพื้นที่ของสื่อกระแสหลักอย่างช่อง 3ได้

วาทกรรมเฉพาะที่พบในรายการที่นี่ไทยพีบีเอส จากการศึกษาวาทกรรมที่พบในรายการข่าวที่นี่ไทยพีบีเอส สถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอสพบว่า รายการที่นี่ไทยพีบีเอสมีการเกาะติดข่าวการพูดคุยสันติภาพมาอย่างต่อเนื่องจากการศึกษาวาทกรรมที่พบรายการข่าวที่นี่ไทยพีบีเอส พบว่ามีวาทกรรมดังต่อไปนี้ 

วาทกรรมเอกภาพของฝ่ายการเมืองและฝ่ายการทหาร ถูกย้ำมาตั้งแต่ห้วงเวลาเริ่มต้นของการดำเนินการพูดคุยสันติภาพที่พบความไม่ลงรอยกันของฝ่ายนโยบายที่กุมทิศทางความมั่นคงทั้งจากฝ่ายการทหารและการเมืองวาทกรรมมาเลเซียรู้ปัญหาดี/มาเลเซียเป็นพระเอก เป็นวาทกรรมที่สะท้อนท่าทีไม่ไว้วางใจต่อประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ในการดำเนินการพูดคุยรวมถึงคลางแคลงใจต่อผลประโยชน์ทับซ้อนของมาเลเซียวาทกรรมนี้พบมากในช่วงก่อนการดำเนินการพูดคุยวาทกรรมต้องไว้วางใจระหว่างกัน/ พูดคุยระหว่างกันด้วยความจริงใจ เป็นวาทกรรมที่พยายามสะท้อนความหมายเพื่อที่จะโน้มน้าวว่าการแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยคือทางออกที่ยืนอยู่บนหลักของการไม่ใช้ความรุนแรงและสันติวิธีโดยวาทกรรมนี้พบในช่วงกลางของการพูดคุย

วาทกรรมบีอาร์เอ็นไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ เป็นวาทกรรมที่สะท้อนความหมายของความเคลือบแคลงต่อปาร์ตี้ B อย่างบีอาร์เอ็น โดยจะพบว่าเป็นความต่อเนื่องจากวาทกรรมมาเลเซียรู้ปัญหาดี/มาเลเซียเป็นพระเอก ซึ่งเป็นท่าทีไม่ไว้วางใจกับมาเลเซียเช่นกัน วาทกรรมนี้สะท้อนความรู้สึกที่ไม่มั่นใจและเชื่อถือของการดำเนินการพูดคุยแบบเปิด ที่ช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการทูตอยู่ตลอดเวลา วาทกรรมนี้จึงพบมาอย่างต่อเนื่องตลอดในกระบวนการพูดคุย

นอกจากนี้ การศึกษายังพบวาทกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจเช่น วาทกรรมทักษิณอยู่เบื้องหลังการพูดคุย ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติที่มักถูกเสนอข้อมูลเหล่านี้ผ่านทางพรรคฝ่ายค้าน วาทกรรมสงครามยืดเยื้อ ซึ่งเป็นชุดคำยุทธวิธีแบบสงครามกองโจรมาอธิบายปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้วาทกรรมประคับประคองสันติภาพ/ประชาสังคมสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นวาทกรรมใหม่ๆ นอกเหนือจากวาทกรรมแบบ “สงคราม” ที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการร่วมกันสร้างกระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้น

ลักษณะของการรายงานข่าว พบว่า มีการเกาะติดการรายงานข่าวในประเด็นดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ แต่จากชุดวาทกรรมข้างต้นจะพบว่ามีท่าทางของการตรวจสอบ ลังเลสงสัยต่อกระบวนการสันติภาพค่อนข้างมาก รวมถึงมักใช้ภาษาในการอธิบายความด้วยศัพท์แสงทางยุทธวิธีแบบการรายงานข่าวสงคราม นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของรายการที่ซ้อนกัน ด้วยการมองเรื่องราวที่ต่อเนื่องผ่านผู้สื่อข่าวหลายคน หลายชิ้นข่าว ซึ่งทำให้มีแง่มุมที่หลากหลายกันออกไป

 

โดยสรุป วาทกรรมหลักของทั้งสองรายการยังอยู่ภายใต้อุดมการณ์แบบชาตินิยมไทย รัฐเดี่ยวอันแบ่งแยกไม่ได้ โดยวางอยู่บนฐานคิดของการรักษาผลประโยชน์ของชาติ แต่มีระดับความเข้มข้นแตกต่างกันออกไป โดยพบว่า รายการข่าวสามมิติอยู่บนสถานีแบบประชานิยมฐานกว้างขวางกว่า จึงมีลักษณะที่ผ่อนปรนไปตามความต้องการของกระแสสังคมในพื้นที่ซึ่งถือเป็น “กลุ่มผู้ชม” และ “ลูกค้า” กลุ่มใหม่ ในขณะที่รายการที่นี่ไทยพีบีเอส มีท่าทีของการเป็นผู้ตรวจสอบและมีความเป็นชาตินิยมมากว่า

ข้อสังเกตที่สำคัญในการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักคือ ทั้งสองรายการในฐานะสื่อมวลชนและแหล่งข่าวซึ่งเป็น “ผู้ส่งสาร” พยายามที่จะควบคุมวาทกรรม “การแบ่งแยกดินแดน” มากที่สุด โดยพยายามช่วงชิงความหมายให้มีความชอบธรรมในการดำเนินการพูดคุยให้มากที่สุด ประคับประคองการสื่อสารสู่สาธารณะไม่ให้ตกไปสู่วาทกรรมแบ่งแยกดินแดน เพราะจะส่งผลด้านลบต่อการพูดคุยและกระบวนการทั้งหมดอาจล้มเหลวได้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้วิจัยพบว่า “การสื่อสาร” มีความสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ เพราะสามารถเข้ามาเกาะกุมความหมายและทิศทางของความเห็นพ้องของผู้คนในสังคมได้

 

ผลการศึกษา II: สื่อของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ

ในส่วนนี้เป็นการศึกษาวาทกรรมของสื่อฝ่ายผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาจากเว็บไซต์ของ “องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี” (PULO) เว็บไซต์ Ambranews ซึ่งเป็นพื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐไทยอย่างเผ็ดร้อน และจากคลิปยูทูบโดยตัวแทนจากขบวนการบีอาร์เอ็น

วาทกรรมของ Puloinfo.org

เว็บไซต์ที่ถือว่าได้เป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของ “องค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี”หรือ  Patani United Liberation Organization (PULO) คือ เว็บไซต์ Puloinfo.org ซึ่งสื่อสารหลายภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย มลายูและอักษรยาวี การศึกษาพบว่า พูโลแสดงท่าทีต่อกระบวนการสันติภาพผ่านแถลงการณ์ที่ออกมาตั้งแต่การลงนามครั้งแรกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 โดยเนื้อหาในแถลงการณ์มีท่าทีเห็นด้วยต่อการลงนามสันติภาพในครั้งนี้ การวิจัยพบว่า กลุ่ม PULO แสดงท่าทีออกมาใน 3 ช่วงเท่านั้น คือ 1) ตั้งแต่วันลงนามเพื่อพูดคุยสันติภาพในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556  2) ก่อนการพูดคุยครั้งแรก 1 วัน ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556 และก่อนการพูดคุยครั้งที่ 3 ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556 ก่อนการพูดคุยหนึ่งสัปดาห์

การศึกษาพบว่า มีวาทกรรมที่ปรากฏบนเว็บไซต์ Puloinfo.org ดังนี้

วาทกรรมการพูดคุยคือวิธีการแก้ปัญหาอย่างสันติ

ท่าทีของ Pulo.info ต่อการพูดคุยสันติภาพเป็นไปในทางบวก มีท่าทีที่เห็นด้วยต่อการพูดคุยสันติภาพ โดยเน้นไปที่การสื่อสารต่อรัฐไทยและมาเลเซียให้ดำเนินการในครั้งนี้ให้ลุล่วง ท่วงทำนองของการนำเสนอเป็นใช้รูปแบบแถลงการณ์และไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน โดยแถลงการณ์ ครั้งที่ 1 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ในวันลงนามฉันทามติทั่วไป มีวาทกรรมที่น่าสนใจดังนี้ “ยินดีต่อการตัดสินใจของรัฐบาลราชอาณาจักรไทยที่ขอให้มาเลเซียอำนวยความสะดวก ในการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งในเขตยึดครองของไทย” “การรับฟังข้อเสนอต่างๆ ในความพยายามเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงและยุติความขัดแย้งอย่างสันติ”

วาทกรรมสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง (self-determination)

ในห้วงเวลาก่อนที่ Puloinfo จะออกข้อเขียนนี้ในเว็บไซต์นั้น มีข่าวการติดป้ายปริศนาเขียนเป็นภาษามลายูด้วยอักษรรูมีในหลายพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสันติภาพว่า สันติภาพที่แท้จริงนั้นต้องมาจากการยอมรับความเป็นเจ้าของของชาวมลายูปาตานี รวมถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง (self-determination) โดยได้พยายามปฏิเสธว่าพูโลไม่มีส่วนในการแขวนป้ายผ้าดังกล่าวแต่อย่างใด

การศึกษาพบว่า วาทกรรมหลักของพูโลมีทิศทางที่ “เห็นด้วย” กับการพูดคุยสันติภาพ แต่เนื้อหากลับเกี่ยวโยงกับการช่วงชิงการนำภายในกลุ่มขบวนการกันเองเพื่อพยายามที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ โดยพยายามยึดหลักแนวทางสันติภาพซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนทางนโยบายและความถนัดของการเคลื่อนไหวของพูโลเอง คือ แนวทางการต่างประเทศและสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ การศึกษาเนื้อหาในแถลงการณ์ครั้งที่สามยังพบความพยายามนำเสนอวาทกรรมของประชาชนในพื้นที่จะต้องมี “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง” (self-determination) ข้อสังเกตประการหนึ่งต่อท่าทีของขบวนการพูโลคือ ขบวนการมีท่าทีต่อกระบวนการสันติภาพที่ไม่ชัดเจนนักและแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์อยู่เสมอ ทั้งนี้ อาจมีผลมาจากการที่สมาชิกส่วนใหญ่มีบทบาทหน้าที่ในฝ่ายการเมืองและการต่างประเทศที่พูโลดำเนินการเคลื่อนไหวต่อเนื่องเสมอมา รวมถึงความแตกแยกของกลุ่มพูโลซึ่งมีด้วยกันหลายกลุ่ม อีกทั้งยังตอบโต้ท่าทีของกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งนำโดยนายฮัสซัน ตอยิบอีกด้วย การนำเสนอวาทกรรมเช่นนี้สะท้อนนัยยะของการอยากเข้ามามีส่วนในโต๊ะการพูดคุยสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์

วาทกรรมของ “อัมบรานิวส์” Ambranews

ในห้วงเวลาของการพูดคุยสันติภาพ พ.ศ. 2556 นั้น เว็บไซต์ Ambranews ถือได้ว่าเป็นพื้นที่แสดงบทบาทของบรรดาตัวแทน (proxy) ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในบรรดาผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่างจากรัฐ โดยเมื่อพิจารณาภาษาและเนื้อหาที่พวกเขาใช้ก็พบว่า พวกเขามีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์แนวทางและนโยบายของรัฐต่อการดำเนินการพูดคุยสันติภาพอย่างเข้มข้น  ทั้งยังประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐ แก้ข่าวให้ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐ เว็บไซต์นี้ยังเคยโดนสั่งปิดไปหลัง 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 แต่ก็กลับมาเผยแพร่อีกครั้งในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

Ambranews มีข้อเขียนค่อนมากในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 คือ 9 บทความ แต่ในเดือนพฤษภาคม กลับมีเพียง 2 บทความ และมีบทความเพียงชิ้นเดียวในเดือนมิถุนายน เนื้อหาของ Ambranews มีท่าทีไม่เห็นด้วยและไม่เชื่อมั่นกับกระบวนการสันติภาพ ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ทั้งฝ่ายรัฐไทยและตัวแทนของฝ่าย BRN อีกด้วย วาทกรรมที่พบในการนำเสนอของเว็บไซต์คือ วาทกรรม “ละครเจรจาสันติภาพ” วาทกรรม “ไม่เห็นด้วยกับการวางกรอบเจรจาภายใต้รัฐธรรมนูญไทย” และ วาทกรรม “ไม่เชื่อมั่นการดำเนินการพูดคุยโดยรัฐบาลไทย” ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า หากเว็บไซต์นี้เป็นตัวแทนของกลุ่มความคิดเห็นของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐไทยจริงก็หมายความว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยต่อการยินยอมที่จะดำเนินการพูดคุยสันติภาพกับรัฐไทย รวมถึงไม่มีความเชื่อมั่นว่ารัฐไทยจะมีความจริงใจต่อการที่จะผลักดันให้การดำเนินการพูดคุยในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้

วาทกรรมของบีอาร์เอ็น

เป็นการยากที่สุดในการที่จะทำความเข้าใจองค์กรใต้ดินที่ปิดลับมาอย่างยาวนานไม่เคยปรากฏตัวและสื่อสารกับสาธารณชนอย่างเป็นทางการ แม้การปรากฏตัวของนายฮัสซัน ตอยิบ ในวันที่มีการลงนามกันระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 นายฮัสซัน ตอยิบก็ไม่ได้ให้สื่อสัมภาษณ์พิเศษแต่อย่างใด จนกระทั่งวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556  ก่อนจะมีการดำเนินการพูดคุยเป็นครั้งที่ 2 เพียง 3 วัน บีอาร์เอ็นจึงได้สื่อสารกับสาธารณะโดยมีแถลงการณ์เป็นครั้งแรกผ่านยูทูปและไม่มีการแจ้งต่อผู้อำนวยความสะดวกหรือฝ่ายไทยล่วงหน้า นายฮัสซันกล่าวถึงวัตถุประสงค์การสร้างแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติชาวมลายูปาตานี  เพื่อสร้าง “อุมมะห์” หรือประชาชาติที่มีความแข็งแกร่งที่รวมเอาผู้คนทุกเชื้อชาติไว้ในแผ่นดินปาตานีที่ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพและความยุติธรรมสูงสุด โดยได้ดำเนินการสื่อสารผ่านช่องทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่องถึง 4 คลิปด้วยกันการสื่อสารบีอาร์เอ็นที่ดูแข็งกร้าวนั้น สามารถเรียกแรงสนับสนุนจากฝ่ายปฏิบัติการได้มากทั้งยังเป็นการเป็นการสื่อสารเพื่อรักษาและคงสภาพการนำในฝ่ายปฏิบัติการและมวลชนเอาไว้

ผลการวิจัยพบวาทกรรมที่ใช้ผ่านคลิปวิดิโอแลถงการณ์ของแกนนำบีอาร์เอ็น ดังต่อไปนี้

ขบวนการชาตินิยมมลายูปาตานี ในฐานะนักต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากเจ้าอาณานิคม เห็นได้จากคลิปที่ 1 ซึ่งเป็นการสื่อสารอย่างเปิดเผยสู่สาธารณะครั้งแรกของบีอาร์เอ็นเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556 โดยอุสตาซฮัสซันและนายอับดุลการิม การศึกษาจะพบการใช้วาทกรรมผ่านชุดคำดังต่อไปนี้ “นักสู้เพื่อประชาชนปาตานี” “เพื่อเป็นแนวร่วมแห่งชาติมาลายูปาตานี” “เพื่อชาวมลายูปาตานีอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” “ชาวมลายูเป็นอุมมะห์ (ประชาชาติ) ที่สามัคคีและแข็งแกร่ง” “นักล่าอาณานิคมสยาม” “นักต่อสู้ปาตานี” “แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี”

วาทกรรมการเป็นเจ้าของดินแดนและสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง จากการอ่านแถลงการณ์และขยายความข้อเรียกร้อง 5 ข้อ มีประเด็นสำคัญคือ การเรียกร้องให้รัฐไทยยอมรับ “สิทธิความเป็นเจ้าของแผ่นดินปาตานี” ซึ่งได้ถูกอธิบายความว่าความขัดแย้งที่ดำเนินมานั้น มูลเหตุหนึ่งมาจากสิทธิความเป็นเจ้าของของชาวมลายูปาตานีถูกปฏิเสธ ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนและการกำหนดชะตาชีวิตโดยตัวเอง ทั้งในด้าน การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษาและสังคมวัฒนธรรม การวิจัยพบชุดคำที่แสดงถึงวาทกรรม การเป็นเจ้าของดินแดนและสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ดังนี้ “พิทักษ์สิทธิชาวมลายูปาตานี” “ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากสิทธิของชาวมลายูถูกยึดไป” “กระบวนการสันติภาพควรเป็นวาระแห่งชาติไม่ใช่เครื่องมือเพื่อล้างบาปหรือความโลภของคนใดคนหนึ่ง”        

จากการสื่อสารผ่านยูทูปของบีอาร์เอ็นซึ่งถือเป็นครั้งแรกของการปรากฏตัวผ่านสาธารณะขององค์กรต่อต้านรัฐใต้ดิน แถลงการณ์จำนวน 4 ครั้ง โดยว่ามีวาทกรรมที่ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ 2 แบบคือ 1) วาทกรรมขบวนการชาตินิยม ในฐานะนักต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากเจ้าอาณานิคม 2) วาทกรรมการเป็นเจ้าของดินแดนและสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ผู้วิจัยพบข้อสังเกตที่สำคัญคือ ท่าทีแข็งกร้าวและวาทกรรมแบบยุคอาณานิคม นัยหนึ่งคือการแสดงจุดยืนและอุดมการณ์หลักอันสำคัญของขบวนการต่อต้านรัฐที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน รวมถึงการกล่าวถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองในฐานะเจ้าของดินแดน คือการรักษาความชอบธรรมของขบวนการเอาไว้ ซึ่งมีผลต่อการสื่อสารไปสู่กลุ่มการทหารที่ปฏิบัติการเป็นเซลล์ย่อยๆ ถึงจุดยืนที่มั่นคงของขบวนการเพื่อรักษาการนำเอาไว้ แม้กระนั้น ท่าทีของบีอาร์เอ็นก็มิได้มีการคัดค้านหรือการปฏิเสธการพูดคุยสันติภาพ นัยหนึ่งยังได้เรียกร้องและพยายามย้ำถึงการมีเสถียรภาพและความชัดเจนในการดำเนินการพุดคุยสันติภาพให้ยังคงดำเนินต่อไป โดยวาทกรรมที่ระบุว่าไม่ได้ต้องการแบ่งแยกดินแดนและเคลื่อนไหวภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ

 

ผลการศึกษา III: สื่อภาคพลเมือง/ประชาสังคม

ในส่วนนี้เป็นการศึกษาเนื้อหาของการสื่อสารเรื่องกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ของสื่อภาคประชาสังคม (Civil media) เพื่อวิเคราะห์เสียงสะท้อนและท่าทีจากภาคประชาสังคมที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ ผ่านพื้นที่เว็บบล็อก (weblog) ในเว็บไซต์ของ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (www.deepsouthwatch.org) เนื่องจากพื้นที่ในเว็บบล็อกถือเป็น “ชุมชน” หนึ่งในพื้นที่ออนไลน์ที่แยกออกมาอย่างเป็นอิสระจากส่วนพื้นที่หลักซึ่งเป็นพื้นที่ของเนื้อหา “บทวิเคราะห์” โดยพื้นที่ของเว็บบล็อกนี้ ผู้เขียนบล็อกสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอัตวิสัย (Subjectivity) ได้อย่างเต็มที่ ทั้งในด้านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงการออกแถลงการณ์หรืออื่นๆ ก็สามารถกระทำได้อย่างยืดหยุ่น อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นสนามของการถกเถียงที่คึกคักและน่าจับตามองที่สุดในห้วงเวลาของกระบวนการสันติภาพดำเนินไปหลังจากการลงนามเมื่อวันที่  28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา จากการศึกษามีข้อค้นพบดังต่อไปนี้

1) ในห้วงเวลาดังกล่าวปรากฏจำนวนบล็อกเกอร์หน้าใหม่ที่มีเพิ่มมากขึ้นถึง 37 คน มีผลงานเขียนที่เผยแพร่มากถึง 106 ชิ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในพื้นที่ของเว็บบล็อกของเว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org นับเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนความตื่นตัวต่อการแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้

2) บล็อกเกอร์มาจากหลากหลายในสาขาอาชีพ หลากหลายกลุ่มกิจกรรมที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้

3) เว็บบล็อกเป็นชุมชนของการถกเถียงในเรื่องที่เกี่ยวข้อกับกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ของประเทศไทยที่มีแง่มุมที่หลากหลาย มีการตีความและขยายผล ถกเถียงและโต้แย้ง รวมถึงการให้ความรู้เฉพาะด้าน โดยเฉพาะชุดความรู้และข้อมูลทางเทคนิคในเรื่องกระบวนการสันติภาพ

4) ผู้วิจัยไม่พบชุดความรู้ที่แลกเปลี่ยนกันและบรรยากาศเช่นนี้ในบรรดาสื่อกระแสหลัก

เนื้อหาของเว็บบล็อก

การวิเคราะห์เนื้อหาของเว็บบล็อกพบว่า ลักษณะของเนื้อหาสามารถแบ่งประเภทเป็น 5 ประเภท คือ 1) ท่าทีเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ 2) ท่าทีไม่เห็นด้วย สงสัย ลังเล วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสันติภาพ 3) แถลงการณ์ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ 4) ความเห็นในลักษณะผู้สังเกตการณ์และชี้ข้อเสนอแนะและ 5) วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1) ท่าทีเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ

มีบล็อกเกอร์ที่มีข้อเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพจำนวน 15 ราย(องค์กร) ซึ่งใช้พื้นที่เว็บบล็อกในเว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org ในการแสดงความคิดเห็นและท่าทีที่ท่าทีเห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพ

2) ท่าทีไม่เห็นด้วย สงสัย ลังเล วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสันติภาพ

มีบล็อกเกอร์ที่มีข้อเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็น  ไม่เห็นด้วย สงสัย ลังเล วิพากษ์วิจารณ์ ต่อกระบวนการสันติภาพจำนวน  4 คน (องค์กร) ซึ่งใช้พื้นที่เว็บบล็อกในเว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org ในการแสดงความคิดความเห็นที่เคลือบแคลงใจต่อต่อการดำเนินการกระบวนการสันติภาพ

3) แถลงการณ์ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ

มีบล็อกเกอร์ที่มีข้อเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพจำนวน 6  ราย (องค์กร) โดยพบว่ามีแถลงการณ์ในลักษณะที่เป็นการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงหลังการดำเนินการลงนามพูดคุยสันติภาพ การศึกษาพบว่า ลักษณะของแถลงการณ์ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ เนื้อหาเน้นไปที่การเรียกร้องภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในครั้งนี้และเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงที่กระบวนการสันติภาพยังได้ดำเนินอยู่ต่อ ก็จะมีการออกแถลงการณ์จากกลุ่มดังกล่าวเพื่อประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ พลเรือน สตรีและเด็กหรือเป้าหมายอ่อนแอ (soft target) รวมถึงบทบาทของเครือข่ายผู้หญิงจากภาคประชาสังคมที่จะมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพนี้ได้อย่างไร

4) ความเห็นในลักษณะผู้สังเกตการณ์และชี้ข้อเสนอแนะ

มีบล็อกเกอร์ที่มีข้อเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพในลักษณะผู้สังเกตการณ์และชี้ข้อเสนอแนะ จำนวน  6 ราย (องค์กร) ซึ่งใช้พื้นที่เว็บบล็อกในเว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org ในการแสดงความคิดความเห็นอย่างหลากหลาย ในส่วนนี้พบว่าบล็อกเกอร์เป็นกลุ่มของสื่อมวลชนที่สนใจกระบวนการสันติภาพและความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงนักวิชาการด้านสันติวิธีบางส่วน โดยพยายามที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ว่าเป็นไปอย่างไร ทั้งยังพบว่าเป็นประเด็นที่ไม่ค่อยมีการอภิปรายอย่างกว้างหรือกล่าวถึงเลยในพื้นที่สื่อกระแสหลัก

5) วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพ

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในห้วงเวลานั้นก็คือ มีบล็อกเกอร์กลุ่มหนึ่งเขียนงานว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสารและกระบวนการวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพอยู่ด้วย ซึ่งไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อนในห้วงของการเกิดขึ้นของกระบวนการสันติภาพ ซึ่งอาจเป็นการสะท้อนถึงความต้องการแสดงความคิดความเห็นต่อการทำงานของสื่อกระแสหลักต่อการรายงานข่าวในกระบวนการสันติภาพ โดยมีบล็อกเกอร์ที่มีข้อเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อสื่อกับกระบวนการสันติภาพจำนวน  4 คน (องค์กร) มีงานเขียนแสดงทั้งหมดจำนวน 6 ชิ้น

วาทกรรมของสื่อภาคประชาสังคม/สื่อพลเมือง

จากศึกษาสื่อภาคประชาสังคม/สื่อพลเมือง พบวาทกรรมที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่เว็บบล็อกของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ดังนี้

วาทกรรมสันติภาพ – สันติวิธี

การศึกษาพบว่า เว็บบล็อกเป็นพื้นที่ของผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงเข้ามาแสดงข้อเขียน ข้อคิดเห็น ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสังคมวิทยามลายู แนวคิดคนใน กระบวนการสันติภาพและแสดงจุดยืนของตนเองแนวทางสันติวิธี ทั้งยังเป็นพื้นที่ของการแสดงแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรง ในระหว่างที่กระบวนการสันติภาพกำลังดำเนินไปเพื่อผลักดันวิธีการแก้ปัญหาแบบที่ “ไม่ฆ่า” ให้บรรลุผลอีกด้วย

วาทกรรมพื้นที่กลาง

เว็บบล็อกนี้กลายเป็นพื้นที่ของการถกเถียงกันอย่างเสรีและมีสีสัน ด้วยภาษาที่หลากหลาย คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และมลายูกลาง พบการปะทะสังสรรค์ของความคิดที่มีเหตุผล ดังกรณีตัวอย่างที่บล็อกเกอร์ชื่อ New Patani Order หรือ ดร.มูฮำมัดอิลยาส หญ้าปรัง เสนอข้อเขียนชื่อ “ปฏิรูปบีอาร์เอ็น” ขณะที่บล็อกเกอร์ชื่อ Kajian Budaya Rakyat หรือบัณฑิต ไกรวิจิตร นักวิชาการมานุษยวิทยา เขียนเรื่อง บทสะท้อน “ปฏิรูป บีอาร์เอ็น” เพื่อโต้แย้งข้อเขียนบล็อกเกอร์คนดังกล่าว ด้วยท่าทีอย่างเป็นวิชาการ รวมการถกเถียงว่าด้วย “การทบทวนการเจรจา” ของ ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้สถาบันข่าวอิศรากับ รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

วาทกรรมประคับประคองสันติภาพ

การศึกษาพบว่า บทบาทของพื้นที่ดังกล่าวเป็นสนามของผู้ที่ต้องการเห็นกระบวนการสันติภาพให้ดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องหรือเป็น “ตาข่ายนิรภัยเพื่อสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ” (Safety Net)ของภาคประชาสังคม การนำเสนอ “แผนที่สันติภาพ” (roadmap) ของภาคประชาสังคม รายงานการเคลื่อนไหวของผู้นำชุมชน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งผู้คนเหล่านี้ตื่นตัวและอยากแสดงบทบาทของตนเองต่อการพูดคุยสันติภาพในครั้งนี้อีกด้วย

วาทกรรมที่ปรากฏในพื้นที่เว็บบล็อกของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ จึงพบวาทกรรม “สันติภาพ”และ “สันติวิธี” ยังคงเป็นพื้นที่ของวาทกรรมหลักที่ต้องการ “ประคับประคองกระบวนการสันติภาพ” ให้ดำเนินต่อไปได้ และวาทกรรม “พื้นที่กลาง” ทางความคิดที่ต้องเคารพต่อความคิดที่แตกต่างกัน ที่มีการปะทะช่วงชิงความหมายในพื้นที่ดังกล่าวกันอยู่ตลอดเวลา

แนวโน้มการสื่อสารจากการวิเคราะห์เว็บบล็อก

จากการวิเคราะห์พื้นที่ในเว็บบล็อกของเว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ www.deepsouthwatch.org   การศึกษาพบแนวโน้มที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  • พบการถกเถียงที่ดึงตัวแสดง (actor) จากสื่อกระแสหลักซึ่งดูห่างไกลจากพื้นที่ความขัดแย้งอย่างมากให้เข้ามามีส่วนร่วมในการถกเถียง ซึ่งเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญระหว่างพื้นที่กับส่วนกลาง
  • เว็บบล็อกได้กลายเป็นพื้นที่ของการประณามและต่อต้านการใช้ความรุนแรงผ่านแถลงการณ์ ในระหว่างที่กระบวนการสันติภาพกำลังดำเนินอยู่
  • นักวิชาการและผู้สนใจด้านสื่อเริ่มถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ต่อบทบาทและการทำงานของสื่อกระแสกหลักต่อกระบวนการสันติภาพมากขึ้น
  • การเกิดขึ้นของนักแปลอิสระ เช่น “ฮารา ชินทาโร่” และอาวันบุ๊ค ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นในการเรียนรู้โลกมลายูให้กับสังคมไทยอย่างมาก บทบาทการอาสาของพวกเขาทำหน้าที่เป็น “สะพาน” เชื่อมคนสองวัฒนธรรมให้ได้เรียนรู้ร่วมกันผ่านเครื่องมือของภาษา
  • การเกิดขึ้นของนักแปลอิสระยังสร้างผลสะเทือนต่อการสื่อสารของสื่อมวลชนกระแสหลัก จากแต่เดิมที่พื้นที่มีแต่แหล่งข่าว (source) ด้านความมั่นคงซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าและไม่มีปัญหาด้านภาษา เพราะก่อนหน้าที่จะมีผู้แปลอิสระ เมื่อสื่อมวลชนพบข่าวหรือเอกสารภาษามลายู มักใช้การแปลและตีความตามเจ้าหน้าที่ความมั่นคง หรือไม่ก็หลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอมันไปเสีย การมีนักแปลอิสระจึงปิดจุดอ่อนประการนี้ออกไป ทำให้สังคมสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านมากขึ้น
  • พื้นที่ของการเสวนาอย่างไม่เป็นทางการนี้ ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมในการเตรียมความพร้อมในการยอมรับความแตกต่างทางความคิด อุดมการณ์และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการสร้าง “โครงข่ายนิรภัยเพื่อประคับประคองกระบวนการสันติภาพ” (Safety Net) ให้ดำเนินต่อไปได้
  • เป็นจุดริเริ่มของการสร้าง “พื้นที่ร่วม” (Common Space) ในกระบวนการสันติภาพผ่านพื้นที่ออนไลน์ที่ดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) เข้ามามีส่วนร่วมทั้งด้านทรัพยากร สานเสวนาร่วมกัน ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมตัวแสดงทุกฝ่ายทั้งผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางนโยบาย (Track I) ภาคประชาสังคม (Track II) และประชาชนทั่วไปจากพื้นที่ชุมชนชั้นรากหญ้า (Track III)
  • ในพื้นที่เสวนานี้พบว่าส่วนใหญ่ตัวแสดงยังเป็นผู้คนใน ภาคประชาสังคม (Track II) ซึ่งมีทั้งนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมแต่ก็ยังต้องการผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางนโยบาย (Track I) และประชาชนทั่วไปจากชุมชนชั้นรากหญ้า (Track III) เข้ามาร่วมสานเสวนาเพิ่มมากยิ่งขึ้น
  • การมีพื้นที่เปิดทำให้ความหวาดระแวงในพื้นที่ลดลง ผู้คนสามารถพูดคุยบางประเด็นกันได้อย่างธรรมดา เว็บบล็อกนี้จึงกลายเป็นสนามทดลองพื้นที่ของความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อกระแสหลักมีข้อจำกัดและไม่สามารถทำได้

 

อภิปรายผล: การปะทะกันของวาทกรรม

การศึกษาเรื่อง “วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556” พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นสื่อกระแสหลักคือช่อง 3 และไทยพีบีเอส พยายามที่จะกุมทิศทางข่าวสารให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพดำเนินไปได้ โดยส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่การสื่อสารจากภาครัฐ เนื่องจากองค์กรเหล่านี้สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลได้ง่ายกว่าฝั่งบีอาร์เอ็นที่ยังไม่ให้สื่อมวลชนไทยเข้าถึง ทั้งยังพบว่า แม้สื่อกระแสหลักจะมีท่าทีตรวจสอบหรือลังเลต่อกระบวนการสันติภาพ แต่เนื้อหาและทิศทางของข่าวสารก็ยังมีท่าทีการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ทั้งยังมีความอ่อนไหวต่อวาทกรรม “แบ่งแยกดินแดน” มากเป็นพิเศษ การศึกษาพบว่า ในการนำเสนอประเด็นที่คาบเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนและการยกระดับสถานภาพของผู้ที่คิดเห็นต่างจากรัฐนั้น สื่อกระแสหลักไม่สามารถที่จะเสนอทางเลือก (options) อื่นๆ ได้มากกว่านี้ เช่น เขตปกครองพิเศษ เขตปกครองตนเอง หรือการประกาศเอกราช ซึ่งสะท้อนการมองแบบวาทกรรมชาตินิยมแบบรัฐเดี่ยวรวมศูนย์ที่ยังทรงพลังในการกำกับกรอบการนำเสนอ โดยมีข้อสังเกตจากการหยิบยกวาทกรรมที่อ้างความชอบธรรมจากการพูดคุยภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญเนื่องจากมีความชอบธรรม ปลอดภัย และไม่ขัดต่อกฎหมายสูงสุดแห่งรัฐอยู่เสมอ

ในขณะที่สื่อของฝ่ายที่คิดเห็นต่างจากรัฐซึ่งเป็นพื้นที่สะท้อนความคิดเห็นของ “คนใน” ที่คิดเห็นต่างจากรัฐ พบว่า เป็นพื้นที่แสดงจุดยืนและประโยชน์ของแต่ละฝ่าย เช่น เว็บไซต์พูโลอินโฟ (Puloinfo) ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของขบวนการพูโล โดยแสดงความต้องการของกลุ่มตนที่จะเข้าร่วมการพูดคุยในครั้งนี้ด้วยเพื่อเป็นเวทีผลักดันวาระของตนเอง การศึกษาจึงพบวาทกรรม “การเข้าร่วมพูดคุยคือการแก้ปัญหาตามแนวทางสันติ” และวาทกรรม “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง” (self- determination) ขณะที่เว็บไซต์อัมบรานิวส์ (Ambranews) เป็นพื้นที่ของการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการพูดคุยสันติภาพ ทั้งยังไม่เห็นกับฝ่ายผู้นำบีอาร์เอ็นและฝ่ายรัฐไทย ด้วยการอ้างความชอบธรรมของประชาชนในพื้นที่ที่จะต้องตัดสินใจด้วยตนเองมากกว่าที่จะเป็น “ละครการเจรจา”

อย่างไรก็ตาม บีอาร์เอ็นซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยใช้สื่อใดๆ เลยในการขับเคลื่อนวาระของตน ก็เลือกที่จะใช้สื่อใหม่ (new media) อย่างยูทูบที่สามารถใช้คลิปวิดีโอเพื่อเผยแพร่ทางออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว การที่บีอาร์เอ็นเรียนรู้ที่จะสื่อสารในครั้งนี้ทำให้กลุ่มนี้กลับเป็นผู้ได้เปรียบและรุกในทางการเมืองในการยื่นข้อเสนอต่อรัฐไทย นอกจากนี้ การที่บีอาร์เอ็นสื่อสารด้วยท่วงทำนองที่แข็งกร้าว อาจเป็นการสื่อสารไปสู่สมาชิกระดับปฏิบัติการในพื้นที่อีกด้วย ดังนั้น จึงหยิบยกวาทกรรม “ชาตินิยมมลายู” ในฐานะ “ผู้ปลดแอกจากอาณานิคมสยาม” และการอ้างในฐานะตนเป็นตัวแทนของ “ประชาชาติปัตตานี” ซึ่งรวมเอาทุกกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ด้วย ด้วยการอ้างสิทธิของการเป็น “เจ้าของดินแดน” และ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง” ในกรณีนี้บีอาร์เอ็นจึงมีท่าทีในการสื่อสารและเนื้อหาสารที่แตกต่างจากฝั่งรัฐไทยอย่างสุดขั้ว ทั้งยังมีลีลาของการช่วงชิงความหมายและชิงไหวชิงพริบ

การศึกษายังพบว่า จุดร่วมที่ฝ่ายเห็นต่างจากรัฐเหล่านี้พอจะมีอยู่บ้าง คือ ข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็นนั้นยังคงอยู่ภายใต้กรอบแห่งรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งผู้อ่านต้องตีความอย่างลึกซึ้งและละเอียดเพื่อให้เห็นจุดร่วมนี้ แต่กระนั้น หากสาธารณชนทั่วไปอ่านเนื้อหาการสื่อสารจากบีอาร์เอ็น ก็อาจเข้าใจและตีความเองอย่างง่ายๆ ว่า  สันติภาพครั้งนี้ส่อแววที่จะ “ล่ม” ดังนั้น การตีความท่าทีทางการเมืองของบีอาร์เอ็นในระดับความหมายแฝง (connotative) นั้นยังมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากเนื้อหาสารยังไม่สื่ออย่างชัดเจนว่าพวกเขาหวังผลทางการเมืองอย่างไรและข้อเรียกร้องของพวกเขา “แข็งกร้าว” ดังท่าทีที่ได้สื่อสารออกมาหรือไม่

กรณีการสื่อสารในพื้นที่สาธารณะของกลุ่มภาคประชาสังคม พบความตื่นตัวอย่างยิ่งของประชาคมที่สนใจในปัญหาภาคใต้และกระบวนการสันติภาพ กระบวนการเช่นนี้ก่อให้เกิดกลุ่มบล็อกเกอร์ (blogger) หน้าใหม่และมีชื่อเสียงขึ้นมาหลายคน อย่างเช่น “ฮารา ชินทาโร่” นักแปลอิสระที่อาสาแปลคำแถลงการณ์ของ ฮัสซัน ตอยิบ ผ่านยูทูบ ซึ่งทำหน้าที่เป็น “สะพาน” อย่างไม่เป็นทางการระหว่างสังคมมลายูปาตานีกับสังคมไทย นอกจากนี้ บล็อกเกอร์หลายคนสื่อสารเรื่องราวและแสดงทัศนะต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งมีทั้งท่าทีที่เห็นด้วย ลังเลสงสัย ไม่สนับสนุน วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชน บ้างก็โต้แย้งและถกเถียงกันผ่านข้อเขียนในบล็อก ซึ่งได้พัฒนากลายเป็นพื้นที่ของการสนทนาในประเด็นของสันติภาพที่ทุกคนสามารถยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ แต่ยิ่งมีการถกเถียงมากขึ้นเท่าไหร่ก็พบว่า เกิดวาทกรรมบางอย่างตามมาด้วยคือ วาทกรรมว่าด้วย “สันติภาพ” “สันติวิธี” “ประคับประคองสันติภาพ” และ “พื้นที่กลาง” ท่ามกลางความขัดแย้งซึ่งได้ทำหน้าที่ของการเป็นพื้นที่สาธารณะที่ผลิตความรู้ความเข้าใจในกระบวนการสันติภาพอีกนัยหนึ่งด้วย

การอภิปรายข้างต้นนำมาสู่การสรุปวาทกรรมที่ปรากฏในสื่อสามกลุ่มที่ศึกษา ดังตารางต่อไปนี้

 

ตารางที่ 3 แสดงภาพของวาทกรรมที่ปรากฏจากกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา

 

เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกระแสหลัก สื่อภาคพลเมือง/ ภาคประชาสังคม และสื่อของผู้ที่เห็นต่างจากรัฐผ่านกรอบของวาทกรรมก็จะพบว่า หากนำสื่อทั้งหมดในฐานะตัวแสดงที่สำคัญในพื้นที่ของการ “ช่วงชิงความหมาย” ของ “กระบวนการสันติภาพ” มาจัดวางอยู่ในภายใต้อาณาบริเวณเดียวกัน  จะสรุปได้ตามแผนภาพที่ 7 ต่อไปนี้

 

แผนภาพที่ 7 แสดงความสัมพันธ์ของสื่อมวลชนกระแสหลัก สื่อของภาคพลเมือง/ประชาสังคมและสื่อของผู้คิดเห็นต่างจากรัฐ ในสนามของวาทกรรม

 

ผู้วิจัยกำหนดให้แกนแนวตั้งแทนความหมายของ อุดมการณ์หลัก (dominant ideology) ที่มีสาระของวาทกรรมชาตินิยมไทยแบบรัฐชาติรวมศูนย์ ที่มีเพดานของการพูดคุย-เจรจา อยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย ส่วนแกนแนวนอนแทนความหมายของ อุดมการณ์ต้าน (counter ideology) โดยมีสาระของวาทกรรมชาตินิยมมลายูปาตานี เป็นตัวแทน มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ดินแดนและเอกราช (Merdeka) โดยมีเส้นแนวทแยงแทนความหมายของ เส้นของการประนีประนอม (compromise line) ที่แนวทางของสองอุดมการณ์สามารถประนีประนอมกันได้

จากนั้น เมื่อจัดวางตำแหน่งของแต่ละสื่อตามจุดยืนและอุดมการณ์ที่ปรากฏผ่านวาทกรรมที่แสดงออกมา ก็จะพบว่า ในแนวแกนนอนซึ่งแทนวาทกรรม “ชาตินิยมมาลายูปาตานี” นั้น จุดยืนของบีอาร์เอ็นวางอยู่ในระนาบเดียวกันคืออุดมการณ์ต่อต้านรัฐไทยด้วยการใช้วาทกรรมชาตินิยมมลายูอย่างเข้มข้น  ถัดมาคือ เว็บไซต์ Ambranews ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐไทยค่อนข้างมาก และ Puloinfo ซึ่งมีจุดยืนที่ประนีประนอมกับรัฐไทยมากกว่าในบริเวณใกล้เส้นแนวทแยงหรือแนวเส้นประนีประนอม

ขณะเดียวกัน การศึกษาพบว่า สื่อของภาคพลเมืองและภาคประชาสังคมในเว็บบล็อกของ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เป็นพื้นที่ของจุดยืนที่แตกต่างหลากหลายทางอุดมการณ์ โดยเป็นพื้นที่ของ “เสียง” และความต้องการทางการเมืองของหลากหลายกลุ่ม มีทั้งเสียงของฝ่ายที่ “สนับสนุน” และ “คัดค้าน” กระบวนการสันติภาพ เสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อมวลชน แถลงการณ์ นอกจากนี้ ยังพบตัวแสดงที่น่าสนใจอีก 2 ประการ คือ ประการที่ 1 การปรากฏตัวของบล็อกเกอร์ที่ใช้ว่า Abu Hafez และ Pos Patani ที่สื่อสารด้วยภาษามลายูกลางทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนักต่อสู้เพื่อชาวมลายูปาตานีที่ทำให้สังคมส่วนใหญ่ได้ทำความเข้าใจจุดยืนและท่าทีของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐได้มากขึ้นด้วยท่าทีของการพูดคุยและพร้อมรับฟังเหตุผล ประการที่ 2 การปรากฏตัวและปฏิบัติการของนักแปลภาษาอิสระ ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโลกทางอุดมการณ์ที่แตกต่างกันให้มาพบกันและสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ต่อกระบวนการสันติภาพ นอกจากนี้ เว็บบล็อกในฐานะพื้นที่ของภาคพลเมืองและประชาสังคมยังทำหน้าที่เป็นสนามการต่อสู้ทางวาทกรรมเพื่อช่วงชิงความหมายของ “สันติภาพ” ให้กับนักสื่อสารกลุ่มนี้อีกด้วย

ในส่วนของสื่อกระแสหลัก การศึกษาพบว่า ในกรณีของรายการข่าว 3 มิติ แม้มีข้อจำกัดที่จะต้องแสดงจุดยืนแบบชาตินิยมไทยรวมศูนย์ แต่บทบาทในช่วงที่ผ่านมาก็มีความน่าสนใจ เนื่องจากให้ความสำคัญกับการวาระข่าวสารเรื่องการขับเคลื่อนสันติภาพของภาคประชาสังคมมากเป็นพิเศษ ทั้งยังสนใจท่าทีของแหล่งข่าวที่เป็นฝ่ายเห็นต่างรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ สื่อกระแสหลักไม่เคยสัมภาษณ์หรือเข้าถึงแหล่งข่าวได้ ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นแนวโน้มใหม่ในพื้นที่สื่อกระแสหลักที่ส่งผลให้สมดุลของข่าวสารในพื้นที่ความขัดแย้งอาจมีพัฒนาการในด้านบวก แต่ขณะเดียวกัน รายการข่าว 3 มิติก็ระมัดระวังไม่ให้สถานะของตนเองถูกช่วงชิงความหมายว่าเป็นผู้สนับสนุน “การแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งจะส่งผลด้านลบให้กับรายการและสถานีของตนเองทันที ในขณะที่รายการที่นี่ไทยพีบีเอสให้น้ำหนักการรายงานข่าวแบบความมั่นคงและมีท่าทีลังเลสงสัยต่อกระบวนการสันติภาพค่อนข้างมาก จึงมีจุดยืนที่ใกล้กับแนวคิดชาตินิยมไทยมากกว่า

เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านลักษณะของสื่อที่มีผลต่อการสร้างวาทกรรม จะพบว่า สื่อกระแสหลักนั้นอยู่ภายใต้กรอบและขนบของการทำงานแบบหนึ่ง จึงมีจุดยืนไปในทางอนุรักษ์นิยมและชาตินิยมรวมศูนย์ ในขณะที่ สื่ออินเทอร์เน็ตและสื่อทางเลือกเป็นพื้นที่สื่อทางเลือกที่เปิดให้กระแสของวาทกรรมที่แตกต่างและต่อต้านรัฐมีพื้นที่และสามารถพูดคุยกันได้อย่างเต็มปากเต็มคำ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิที่จะตัดสินอนาคตและชะตากรรมของตัวเอง นอกจากนี้ สื่อกลุ่มหลังยังเป็นพื้นที่ของการต่อต้านวาทกรรมหลัก ซึ่งได้แก่ วาทกรรมรัฐชาติรวมศูนย์ รวมถึงเป็นพื้นที่ของการสื่อสารทางการเมืองของฝ่ายต่อต้านรัฐที่เข้มข้นอีกด้วย

 

ข้อเสนอแนะ: อนาคตของกระบวนการสันติภาพและสื่อไทย

การศึกษาเรื่อง “วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556” ทำให้เห็นความสัมพันธ์ของกระบวนการสันติภาพกับการทำงานของสื่อมวลชนกระแสหลัก  จากการวิเคราะห์เนื้อหาสื่อพบว่า สื่อมวลชนกระแสหลักยังขาดความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่สำหรับสังคมไทย โดยสังเกตได้จากถ้อยคำที่ใช้มักเป็นศัพท์ในหลักนิยมทางการทหาร (doctrine) ในสงครามเย็น เช่น การต่อสู้ยืดเยื้อ ขณะที่ศัพท์เทคนิคที่สะท้อนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพสมัยใหม่ไม่ค่อยปรากฏอย่างชัดเจนนัก ดังนั้นการรายงานเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพที่เน้นความคืบหน้าของการเจรจา ด้วยศัพท์ทางการทหารที่ดูสอดคล้องกับแนวอุดมการณ์ชาตินิยมไทยอาจทำให้สาธารณะเกิดข้อวิตกว่า ผลของการเจรจาจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ทั้งๆ ที่ตามแนวคิดเรื่องกระบวนการสันติภาพ ขั้นตอนที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนั้นเป็นเพียงขั้นตอนการไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน (trust-building) สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าการเลือกใช้ถ้อยคำจึงเป็นการผลิตวาทกรรมที่มีผลต่อบรรยากาศในกระบวนการสันติภาพและการถกเถียงในสังคมได้

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่า “วิถี” (mode) ของการรายงานข่าวของสื่อมวลชนไทยมีท่าทีของการตรวจสอบ ลังเลสงสัยไม่แน่ใจ เคลือบแคลงต่อกระบวนการสันติภาพในหลายประเด็น เช่น ความเคลือบแคลงต่อบทบาทของมาเลเซียและองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of the Islamic Cooperation – OIC) ที่อยู่ภายใต้วาทกรรม “การยกระดับของกลุ่มขบวนการ” ดังนั้น แทนที่ผู้ปฏิบัติงานสื่อจะแสดงบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมให้กระบวนการสันติภาพดำเนินไปได้ กลับกลายเป็น “ตัวป่วนในกระบวนการสันติภาพ” (spoiler) เสียเองโดยไม่ได้คาดคิด ซึ่งมีผลมาจากฐานคิดการรายงานข่าวแบบสงครามที่เน้นรูปแบบของการ แพ้-ชนะ หรือ win – lose solution มากเกินไป จึงทำงานตามความเคยชินเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งถือเป็นหลุมพรางที่สำคัญของการรายงานข่าวในลักษณะนี้

ผู้วิจัยเห็นว่า สื่อมวลชนต้องสนับสนุนกระบวนการสันติภาพเพราะเป็นแนวทางหนึ่งของการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างมนุษย์ผู้มีอารยะควรจะเป็น (Berghof Foundation 2012: 22-27) ดังนั้นสื่อมวลชนจึงควรศึกษาแนวคิดและกระบวนทัศน์ใหม่ในกระบวนการสันติภาพที่เคลื่อนย้ายมาสู่แบบชนะ – ชนะ (win – win solution) ที่ทุกฝ่ายต่างมีทางออกและทางเลือกใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น (Spencer 2008: 165-194)

ขณะเดียวกัน การสื่อสารของรัฐไทยในฐานะที่เป็นฝ่ายริเริ่มการพูดคุยผ่านสื่อมวลชนกระแสหลัก สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยพยายามให้ข้อมูลที่สามารถประกันความเสี่ยงต่อการตัดสินใจเปิดการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ผ่านวาทกรรมที่สร้างความชอบธรรมด้วยการอ้างอิงกรอบรัฐธรรมนูญเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังพบว่า รัฐไทยไม่ได้เตรียมกระบวนการให้ความรู้เรื่องการเจรจาสันติภาพมากนัก ทำให้สังคมส่วนใหญ่ตีความหมายของข่าวสารเหล่านี้เบี่ยงเบนออกไปวัตถุประสงค์จากที่ผู้ส่งสารต้องการ ความไม่ชัดเจนในประเด็นเหล่านี้จึงทำให้กระแสตอบรับส่วนใหญ่เป็นไปในทางลบ ทั้งยังพบว่า การรายงานการแถลงข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้มีจำนวนน้อยมาก คล้ายกับฝ่ายที่ดำเนินการไม่แน่ใจหรืออาจเกรงกระแสการคัดค้านของดำเนินการกระบวนการสันติภาพครั้งนี้

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า สื่อกระแสหลักยังไม่สามารถทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะของความแตกต่างหลากหลายทางความคิดได้จริง อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยชี้ว่า “สื่อใหม่” สามารถเข้ามาทำหน้าที่ทดแทนบทบาทนี้ได้ เช่น ในพื้นที่เว็บบล็อกของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งนำเสนอบทเรียน ความรู้เรื่องการเป็นพื้นที่กลาง รวมทั้งการเปิดรับเสียงและมุมมองที่หลากหลาย สื่อใหม่จึงเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อเตรียมความคิดของผู้คนในการเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านความขัดแย้งที่สำคัญในอนาคต

นอกจากนี้ หากจะมีการศึกษาในประเด็นต่อไปในอนาคต ควรต้องมีการติดตามความเป็นไปที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาของการพูดคุยสันติภาพครั้งต่อๆ ไปด้วย เพื่อเป็นการพัฒนาเครื่องมือและองค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตามสันติภาพ (peace monitoring) รวมทั้งการศึกษาบทบาทของสื่อมวลชนต่อกรณีดังกล่าวอีกด้วย

 

รายการอ้างอิง

หนังสือภาษาไทย

กาญจนา แก้วเทพ. (2546). “ทฤษฎีว่าด้วยเนื้อหาสารและความหมาย”. ประมวลสาระชุดวิชาปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสารหน่วยที่ 8-15. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ปาตานี ฟอรั่ม. (2555). การเจรจาสันติภาพระหว่างมุสลิมมลายูและรัฐไทย. ปัตตานี: โครงการสะพาน.

สมัชชา นิลปัทม์ และ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช. (2556). รายงานวิจัยเรื่อง วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556. กรุงเทพฯ: มีเดียอินไซด์เอาท์.

สุภางค์ จันทวานิช. (2554). ทฤษฎีสังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เสนาะ เจริญพร. (2548). ผู้หญิงกับสังคม ในวรรณกรรมไทยยุคฟองสบู่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2552). คิดอย่างมิเชลฟูโกต์ คิดอย่างวิพากษ์: จากวาทกรรมของอัตบุคคลถึงจุดเปลี่ยนของอัตตา. เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เอกสารสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 7. “บทบาทของการพูดคุยและการเจรจาสันติภาพในแผนที่ เดินทางแห่งสันติภาพ (แบบใหญ่, Peace Writ Large). วันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2555, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.ป.ป.)

หนังสือภาษาอังกฤษ

Berghof Foundation. (2012). Berghof Grossary on Conflict Tranformation: 20 notion for theory and practice. Berlin: Berghof Foundation Operations GmbH.

Liow, Joseph Chinyong, and Pathan, Don. (2010). Confronting Ghosts: Thailand's Shapeless  Southern Insurgency. New South Wales: Lowy Institute for International Policy.

Hall, Stuart. (1997). “The Work of Representation”. In Stuart Hall (ed.). Cultural Representation

and Signifying Practices. London: Sage Publication.

Jørgensen, Marianne, and Phillips, Louise. (2002). Discourse Analysis as Theory and Method.

London: SAGE Publications.

Revel, Judith. (2002). Le vocabulaire de Foucault. Paris: Ellipses.

Spencer, Graham. (2008). The Media and Peace: from Vietnam to the ‘War on Terror’. Basingstoke: Palgrave.

 

เว็บไซต์

ข้อคิดพื้นฐานบางประการเกี่ยวกับการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ, http://www.deepsouthwatch.org/node/4369 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557

“ริเริ่มพูดคุย: บทประเมินกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีหลังการลงนามในฉันทามติทั่วไปฯ” โดย คณะทำงานพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน (Insider Peacebuilders Platform – IPP) http://www.deepsouthwatch.org/node/4014 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557

ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ (ตอน2): ความชอบธรรมหลักประกันสันติภาพและบทบาทที่ควรเป็น,  http://www.deepsouthwatch.org/node/2540 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557

บทเรียน 10 ประการ: กระบวนการสันติภาพกับบทบาทและพื้นที่กลางของ ‘คนใน’, http://www.deepsouthwatch.org/node/3959 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557

ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554, http://www.deepsouthwatch.org/node/2305 เข้าถึงข้อมูลวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557

Angkatan Bersenjata-BRN (BRN – Armed Forces), Pengistiharan keputusan  Majlis Thura BRN (แถลงการณ์ มติของสภาชูรอของบีอาร์เอ็น)  YouTube, http://www.youtube.com/watch?v=8JE9NiawBL8. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 6 สิงหาคม 2556

“Penjelasan Dan Penegasan” (คำอธิบายและคำยืนยัน), YouTube, http://www.youtube.com/watch?v=bcWmriF3TNM เข้าถึงข้อมูลวันที่ 1 ธันวาคม 2556

“Penjelasan 5 tuntutan awal : BRN 29.04.2013” (คำอธิบาย : ข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อในวันที่ 29 เมษายน 2556),  YouTube, http://www.youtube.com/watch?v=x6r5WxFlBlY เข้าถึงข้อมูลวันที่24 พฤษภาคม 2556,

“Pengisytiharan dari Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani (BRN) K – 3” (แถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น ฉบับที่ 3), YouTube, 28 พฤษภาคม 2556. http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=9vCoPDi80Rc. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 28 พฤษภาคม 2556.

Pengistiharan dari Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani (BRN) (แถลงการณ์บีอาร์เอ็น ฉบับที่ 4),  YouTube, เข้าถึงข้อมูลวันที่ 24 มิถุนายน 2556. https://www.youtube.com/watch?v=EC5hYrI5Grg. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 24 มิถุนายน 2556.

 


[1] องค์กรแนวร่วมปลดปล่อยชาติปาตานี (Barisan Revolusi Nasional - BRN)

[2] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน  คณะทำงานพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน (Insider Peacebuilders Platform Working Group – IPP Working Group),  “ริเริ่มพูดคุย: บทประเมินกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีหลังการลงนามในฉันทามติทั่วไปฯ” ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/4014

[3] ดูเพิ่มเติมใน นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส. “บทเรียน 10 ประการ: กระบวนการสันติภาพกับบทบาทและพื้นที่กลางของ ‘คนใน’” คัดมาจาก ปาฐกถาเรื่อง “ไอพีพีในบริบทของพีพีพี:พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจาก 'คนใน' ภายใต้บริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานี ณ เวทีสนทนานานาชาติ “กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน [Pa(t)tani Peace Process in the ASEAN Context]” เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 (ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/3959)

[4] ดูเพิ่มเติมใน ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. “ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังในสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง 2554” (ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/2305)

[5] การแบ่งกลุ่มตัวแสดง (actor) ในความขัดแย้งหลักตามแนวคิดของ J.P. Laderach แบ่งผู้คนออกเป็น 3 ระดับคือ Track I คือบรรดาผู้นำทางการเมืองและการทหารในฐานะทั้งที่เป็นตัวกลางและ/หรือตัวแทนขนองฟากฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันTrack II คือจากปัจเจกบุคคลเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ ตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ทูตพลเรือนไปจนถึงองค์กรเอกชนในท้องถิ่นและในระดับนานาชาติที่มีส่วนร่วมต่อการแก้ไขความขัดแย้ง และ Track III คือจากองค์กรรากหญ้าในท้องถิ่นไปจนถึงหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ, องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ “ประชาสังคมกับกระบวนการสันติภาพ (ตอน 2) : ความชอบธรรมหลักประกันสันติภาพและบทบาทที่ควรเป็น” (ที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/2540)

[6] นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส. เอกสารประกอบและเปิดประเด็นในเวที “สื่อเสวนา: การรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพ” ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เผยแพร่ซ้ำในเว็บไซต์ http://www.deepsouthwatch.org/node/4369  แปลโดย นวลน้อย ธรรมเสถียร

[7] หมายถึงการดำเนินการพูดคุยระหว่างคู่ขัดแย้งหลักคือ Party A และ Party B คือรัฐบาล กับฝ่ายที่คิดเห็นต่าง โดยไม่มีประชาชนทั่วไปมาเกี่ยวข้อง

 

File attachment
Attachment Size
mediadiscourse_samatcha.pdf (2.65 MB) 2.65 MB