Skip to main content
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้

 

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยในโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (National Research University)   สงขลานครินทร์ ปี พ.ศ. 2558 เรื่อง Conflict Database and Quantitative Analytical Models of Conflict in the Deep South of Thailand ดำเนินการโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ นอกจากนี้ บทความนี้ยังพัฒนามาจากงานที่กำลังจะตีพิมพ์ในวารสารสันติศึกษา สงขลานครินทร์ ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 ประจำปี 2558

 

ความจริงที่ทำให้ใครหลายคนลำบากใจก็คือความรุนแรงและความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นยังคงมีอยู่ในขณะที่กระบวนการสันติภาพก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ ความขัดแย้งดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากปัจจัยแห่งความแตกต่าง โดยเฉพาะในการเมืองแห่งอัตลักษณ์ในลักษณะที่บางอัตลักษณ์อ้างอำนาจเหนืออัตลักษณ์อื่นทั้งในเชิงเชื้อชาติ ศาสนา หรือภาษา แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐไทยได้พยายามปรับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในทางการเมือง และโครงสร้างชนชั้นนำของจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานีอย่างมาก โดยเฉพาะในแง่การปกครอง ระบบการศึกษาในแบบศาสนาอิสลาม และระบบกฎหมาย โดยเปลี่ยนให้มีลักษณะแบบโลกนิยม มีความทันสมัยและเน้นความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น แต่ความขัดแย้งที่รุนแรงเป็นสัญลักษณ์ที่ตอบโต้กระบวนการดังกล่าว ความรุนแรงที่ยืดเยื้อในครั้งนี้ก็เป็นการหวนกลับคืนมาของการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 2500 และ 2510

ในทางวิชาการแล้วยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ากลุ่มเคลื่อนไหวในปัจจุบันได้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในอดีตมากน้อยเพียงใด แต่รากเหง้าที่แท้จริงของความขัดแย้งก็มีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก กล่าวคือถือ เป็นการปะทะกันระหว่างรัฐที่รวมศูนย์อำนาจกับขบวนการต่อต้านซึ่งพยายามสะท้อนความเป็นตัวแทนผลประโยชน์และความทุกข์ยากของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์มลายูในพื้นที่ จนปรากฏกลายรูปเป็นความขัดแย้งที่ชัดเจนระหว่างรัฐกับขบวนการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยที่มีความต่างในมิติทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์และศาสนา

ไม่ว่าจะนิยามความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างไรก็ตาม คำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดได้มาจากนักรบฝ่ายรัฐผู้หนึ่งที่อยู่ในสมรภูมิภาคใต้มานานกว่า 10 ปีที่กล่าวว่าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ “...มันเป็นสงคราม แต่ว่าเป็นสงครามประชาชน อันเกิดจากประชาชนเชื้อสายมลายูกลุ่มหนึ่งที่คิดต่อต้านอำนาจการปกครองของรัฐไทย และได้ใช้กระบวนการในระบบองค์กรปฏิวัติดำเนินงานทำสงครามประชาชนต่อรัฐไทย ด้วยการจัดเป็นองค์กรปฏิวัติในลักษณะองค์กรลับ ใช้งานมวลชนเป็นพื้นฐานในการต่อสู้ในทุกรูปแบบโดยใช้มวลชนที่เป็นเชื้อสายมลายูเท่านั้น และใช้ยุทธวิธีเป็นหน่วยทหารขนาดเล็กเพื่อทำการต่อสู้กับรัฐไทยในรูปแบบของการก่อการร้ายในรูปแบบของกองโจรเพื่อสนับสนุนงานมวลชนให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การปกครองตนเองในลักษณะรัฐอิสลาม[1]

ข้อสมมุติฐานในการวิเคราะห์นี้สอดคล้องกับคำอธิบายลักษณะสำคัญของความขัดแย้งในชายแดนใต้ที่เป็นความขัดแย้งที่ละเอียดอ่อนในระดับอนุภูมิภาคซึ่งแสดงออกเป็น ‘การขัดแย้งกันด้วยอาวุธ’ เพื่อช่วงชิงการควบคุมพื้นที่ในสถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงนี้ขบวนการต่อต้านติดอาวุธซึ่งอาจมีกลุ่มเดียวหรือหลายกลุ่มก็ได้  กลุ่มดังกล่าวใช้ความรุนแรงเพื่อจะได้อำนาจทางการเมืองและหาทางเปลี่ยนจากระบอบปกครองของรัฐไปเป็นระบอบปกครองตนเอง[2] กล่าวในอีกแง่หนึ่ง แกนกลางของสถานการณ์ที่วุ่นวายเช่นนี้คือสิ่งที่เรียกว่า การขาดดุลด้านความชอบธรรม ของรัฐบาลไทยในภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาในชายแดนใต้จะยังไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่ยังไม่มีความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับฝ่ายผู้มีอำนาจ ดังที่ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า เราคงไม่สามารถใช้ความรุนแรงหรือใช้กำลังทหารเพื่อบีบบังคับให้ประชาชนยอมรับความชอบธรรมของรัฐได้ แนวทางแก้ปัญหาการเมืองที่ซับซ้อนในแบบนี้ จึงมีเพียงอย่างเดียว คือรัฐไทยหรือประเทศไทยต้องหาทางเอาชนะใจประชาชนทำให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นและนี่คือกระบวนการสร้าง ‘พื้นที่ทางการเมือง’[3] ที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโดยวิธีสันติ

พัฒนาการที่เกิดขึ้นหลัง 11 ปีแห่งความขัดแย้งได้สะท้อนให้เห็นความพยายามอย่างชัดเจนเพื่อผลักดันแนวทางแก้ปัญหาผ่านวิธีทางการเมืองและสันติภาพ กล่าวคือเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 รัฐบาลไทยซึ่งมีตัวแทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านที่ทรงอำนาจมากที่สุดได้ลงนามใน ฉันทมติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยความสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก แม้ว่าจะมีผู้วิจารณ์บางคนบอกว่ากระบวนการสันติภาพในครั้งนี้ ‘เริ่มต้นจากพื้นฐานที่ผิด’[4] และเนื่องจากเป็นกระบวนการสันติภาพที่ดูเหมือนง่อนแง่นและไม่แน่นอน จึงเป็นเหตุให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยนั้น ‘ยังคงขาดทางออกทางการเมือง’[5]อย่างแท้จริง นี่คือสิ่งท้าทายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ในปัจจุบัน ความท้าทายนี้ยิ่งชัดเจนขึ้นอันเป็นผลจากพลวัตภายในของความขัดแย้งที่เปลี่ยนไปอย่างมาก พลวัตดังกล่าวเป็นจุดสนใจสำคัญที่จะแสดงให้เห็นในบทวิเคราะห์นี้

พลวัตที่เห็นได้ชัดก็คือหลังจากการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ก็คือ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้นได้มีการเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยพร้อมคณะ 19 คน ในการพบปะครั้งนี้นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแถลงข่าวว่า "ประเทศไทยยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่มีบทบาทการสร้างสันติสุขในพื้นที่ชายแดน“ ตามมาด้วยคำยืนยันจากนายกรัฐมนตรีของไทยโดย พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับให้กัวลาลัมเปอร์เป็นคนกลางในการเจรจาที่เกี่ยวข้อง นายนาจิบกล่าวว่า มาเลเซียจะเดินหน้าบทบาทหลักในการเจรจาสันติภาพที่ภาคใต้ของไทยบนหลักการ 3 ข้อคือ ข้อแรก ต้องมี กรอบเวลาที่ชัดเจน และทุกผ่ายต้องเคารพกฎหมาย ข้อที่สองซึ่งสำคัญมากในการเจรจาสันติภาพคือ ต้องมีตัวแทนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ข้อที่สาม ทุกฝ่ายเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องและอีกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเป็นหนึ่งเดียว[6]

คำประกาศนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลทหารยังคงต้องยอมรับความต่อเนื่องของกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ แม้จะพยายามใส่เงื่อนไขและวาทกรรมใหม่เข้าไปด้วยก็ตาม เงื่อนไขใหม่เหล่านี้สร้างขึ้นมาบนข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับสงครามและข้อสมมุติฐานข้าศึก ซึ่งแม้จะดูเหมือนว่าใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด แต่ก็จะต้องวิเคราะห์กันว่าสอดคล้องกับข้อสมมุติฐานสันติภาพหรือไม่?

ภาพที่เด่นชัดอีกด้านในตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือ องค์กรภาคประชาสังคมและขบวนการในพื้นที่ยังคงมีความเห็นในเชิงบวกต่อกระบวนการสันติภาพ พลวัตของกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นได้เปิดพื้นที่สำหรับการพูดคุยและการเคลื่อนไหวในประเด็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ พื้นที่ทางการเมือง’ นี้ ก็ได้ทำให้เกิด พลังถ่วงดุลภายใน (Intrinsic balancing forces) ที่สามารถถ่วงดุลกับการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่ายได้ โดยเป็นการพูดคุยสนทนาและกิจกรรมการเคลื่อนไหวของเครือข่ายต่างๆ ที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐเองและองค์กรภาคประชาสังคมทั้งที่อยู่ในและนอกชายแดนใต้ พัฒนาการเช่นนี้ส่งผลให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อแนวทางแก้ปมปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติ[7] พลังถ่วงดุลความรุนแรงนี้เป็นสิ่งที่ยากจะปฏิเสธได้แม้จากรัฐบาลในระบอบการรัฐประหาร

กระบวนการสันติภาพหรือ ‘การพูดคุยเพื่อสันติสุข’ ในความหมายที่รัฐบาลปัจจุบันพยายามจะใช้จึงเป็นความจริงอันไม่มีใครอยากฟัง แต่ต้องจำยอมรับมันในความเป็นจริง เพราะเมื่อพิจารณาถึงเหตุผลและปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังเหล่านี้แล้ว อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงชีวิตคนจำนวนมากมายที่สูญเสียไปในท่ามกลางความรุนแรงจากการก่อความไม่สงบและความรุนแรงตอบโต้ด้วยแล้ว อาจจะกล่าวได้ว่า “การมีกระบวนการสันติภาพย่อมจะดีกว่าไม่มีกระบวน การสันติภาพใดๆ เลย[8] แต่เบื้องหลังปรากฏการณ์นี้ในปัจจุบันก็คือการทำงานของข้อสมมุติฐานสันติภาพซึ่งกำลังต่อสู้กับข้อสมมุติฐานข้าศึกที่จะหยิบยกมาอธิบายในบทความนี้ต่อไป

 

ยังคงเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรัง

 

อันที่จริงแบบแผนความรุนแรงในภาคใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมายังคงมีลักษณะไม่แน่นอนและมีความผันผวน ถ้าหากความรุนแรงยังคงมีแนวโน้มในลักษณะแบบเดิม ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ย่อมส่งผลให้เกิดความขัดแย้งอันยืดเยื้อเรื้อรัง เมื่อพิจารณาอย่างเปรียบเทียบบทเรียนในหลายประเทศ ความขัดแย้งหลายประการไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่และแยกเป็นเอกเทศ หากเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกิริยา-ปฏิกิริยาที่ยืดเยื้ออันเป็นเหตุทำให้พฤติกรรมความขัดแย้งในปัจจุบันมีลักษณะเป็นการตอบโต้ของฝ่ายหนึ่งกับเหตุการณ์ที่อีกฝ่ายหนึ่งกระทำเมื่อวันวาน[9] หรือมีลักษณะโจมตีตอบโต้กันไปมา (Tit-for-Tat) อย่างไม่รู้จบ อันเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ ‘ปาตานี’ ในปัจจุบัน[10]

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง กระบวนการความขัดแย้งครั้งนี้ประกอบด้วยทั้ง แรงเฉื่อย หรือ แรงภายใน ซึ่งต่อต้านการเร่งปฏิกิริยาใดๆ หลังจากเหตุการณ์รุนแรงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 และสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน และก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นับแต่ปี 2551 ความรุนแรงไม่ได้เข้มข้นขึ้นอีก ดังที่จะได้วิเคราะห์ต่อไป พลวัตความขัดแย้งในพื้นที่นี้ประกอบไปด้วยพลังที่ต่อสู้กันภายในสังคมและในระบบการเมือง ซึ่งคอยควบคุมการลุกลามของเหตุการณ์อย่างช้าๆ อันมีกลไกในพื้นที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ ทั้งในแง่บวกและลบ กระบวนการนี้รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐบาล การจัดวางกำลังทหารของทั้งสองฝ่าย และการคลี่คลายพัฒนาการขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่[11]

สถิติล่าสุดเกี่ยวกับความรุนแรงในชายแดนใต้ในช่วง 11 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนเมษายน 2558 แสดงให้เห็นว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรง 14,869 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันประมาณ 17,927 คน ในบรรดาผู้เสียชีวิต 6,379 คน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม 3,755 คน หรือคิดเป็น 58.87% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยเป็นผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวพุทธ 2,458 คน หรือประมาณ 38.53% ในทางตรงข้าม ในบรรดาผู้บาดเจ็บประมาณ 11,548 คน ส่วนใหญ่จะเป็นคนพุทธจำนวนประมาณ 6,848 คนหรือ 59.30% และเป็นคนมุสลิม 3,720 คน หรือประมาณ 32.21 %[12] โดยภาพรวมทั้งคนพุทธและมุสลิมต่างก็ตกเป็นเป้าหมายของการใช้ความรุนแรง

จากภาพที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นรายเดือนจะพบว่าจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบ จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นนับแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ภายหลังปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่เพื่อปราบปรามการก่อความไม่สงบและหลังจากการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 หลังจากนั้นได้เกิดเหตุ ‘ปิดล้อมและจับกุม’ อย่างเข้มงวดภายใต้อำนาจกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2548[13] แต่ในปี 2551 มีการควบคุมตัวบุคคลกว่า 4,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวไม่นานหลังจากนั้น ในช่วงเวลานั้นฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบได้เปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้โดยเน้นที่เป้าหมายเฉพาะทั้งที่เป็นพลเรือนและทหาร และเน้นไปที่ระดับของความรุนแรงจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตมากกว่าความถี่ของปฏิบัติการ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ถูกเรียกว่าเป็น ‘ความรุนแรงเชิงคุณภาพ[14]

จากสถิติเหตุการณ์ในภาพที่ 2 หลังปี 2550 จำนวนเหตุการณ์ลดลงแต่อัตราผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่ยังมี ‘จำนวนคงที่’ ในแง่แบบเผนความรุนแรงแล้ว เป็นที่ชัดเจนว่า แม้จำนวนความถี่เหตุการณ์จะแตกต่างกันไปมากในแต่ละเดือน แต่หลังช่วงปลายปี 2550 เป็นต้นมา แต่ทว่าจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกลับเพิ่มสูงขึ้น[15] ซึ่งมีความหมายว่าการใช้กำลังทหารอย่างเข้มข้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อนนั้น อาจส่งผลทั้งในเชิงบวกและเชิงลบเหมือนเป็นการขว้างบูมเมอแรง อย่างไรก็ดี ผลกระทบในด้านลบของปฏิบัติการที่เน้นบทบาทของฝ่ายทหารในชายแดนใต้มีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวที่เป็นเหยื่อผู้เสียหาย กรณีที่เป็นครอบครัวซึ่งมีผู้เสียชีวิตมีผลกระทบต่อผู้คน ประมาณ 31,895 คน และประมาณ 57,740 คนสำหรับครอบครัวซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมกันทั้งหมดประมาณ 89,635 คน[16]

เหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2557 มีลักษณะคงที่และบางครั้งดูคล้ายกับว่าจะลดลง แต่ความผันผวนไม่แน่นอน ก็ยังเป็นลักษณะพิเศษของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งจะได้วิเคราะห๋ให้เห็นต่อไป นอกจากนี้ ข้อมูลจากภาพที่ 3 ยังชี้ให้เห็นแนวโน้มใหม่ของปี 2558 ซึ่งระดับความถี่ของความรุนแรงยังคงที่เหมือนกับปี 2557 แต่สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือจำนวนของการบาดเจ็บและเสียชีวิตรายเดือนมีแนวโน้มสูงชึ้นตามลำดับจนถึงเดือนเมษายน จนเป็นที่น่าสังเกตว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นอีกในเดือนสองเดือนข้างหน้า ในช่วงเดือนรอมฏอนปี 2558 คล้ายกับเดือนรอมฎอนปี 2557 (ในเดือนกรกฏาคม) ซึ่งมีเหตุการณ์ความไม่สงบหลายครั้งและมีผู้บาดเจ็บ/เสีย ชีวิตมากที่สุดเช่นกันหรือไม่ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าพลังแห่งความรุนแรงและพลังถ่วงดุลความรุนแรงกำลังทำงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง      

ภาพที่ 1

 

ภาพที่ 2

 

ภาพที่ 3

 

 

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง แนวโน้มความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้มีลักษณะค่อนข้างผันผวน แต่ก็มีรูปแบบเฉพาะ ในลักษณะซึ่งเป็นสถานการณ์ ‘อ่อนไหว สับสน ซับซ้อน และมีโอกาสจะลุกลามมากขึ้น’ ได้ตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับกฎทางฟิสิกส์ที่ว่าพลังความรุนแรงมักขับเคลื่อนด้วยความเร็วคงที่ เว้นแต่จะมีพลังอย่างอื่นเข้ามาขัดขวางหรือถ่วงดุลกัน[17] ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ได้เกิดพลังในพื้นที่ซึ่งเข้ามาถ่วงดุลมากขึ้นโดยเป็นผลมาจากแนวทางการเมืองนำการทหารของหน่วยงานของรัฐ การเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิมนุษยชน บทบาทและความเข้มแข็งที่เพิ่มมากขึ้นขององค์กรภาคประชาสังคมและความริเริ่มของกระบวนการสันติภาพ[18]

ปัจจัยสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งต่อการสร้างเสถียรภาพในช่วงหลังปี 2554 ก็คือกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2556 พลวัตของกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นได้ ‘เปิดพื้นที่’ สำหรับการพูดคุยในประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นการพูดคุยที่จัดการโดยทั้งหน่วยงานของรัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคมที่อยู่ในและนอกชายแดนใต้[19] มีการริเริ่มและพัฒนาบรรยากาศที่ส่งเสริมแนวทางแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ ซึ่งส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมทำให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 40 วันของเดือนรอมฏอน 2556 และยังส่งผลต่อการลดลงของเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงปี 2557 ดังหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะได้อธิบายในตอนต่อไป

พื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้นยังเป็นเหตุให้มีการจัดตั้งและขยายตัวของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนใต้เริ่มในปี 2553 เนื่องจากมีความเข้าใจต่อความรู้สึกที่แท้จริงของคนในพื้นที่ ทำให้องค์กรภาคประชาสังคมสนับสนุนให้เกิดกรอบการปกครองที่สอดคล้องกับความต้องการในท้องถิ่น มีการพูดคุยในระหว่างการรณรงค์ของ 200 เวทีซึ่งชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในช่วงปี 2555-2556 ผลจากการอภิปรายสาธารณะเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า “คนในพื้นที่มีความต้องการปกครองตนเองหรือจัดการตนเอง“ เพื่อสนับสนุนแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง ดังที่ปรากฏว่า 51.8% ของผู้ให้ข้อมูลต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในรูปแบบต่างๆ[20] ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับการสำรวจความเห็นเมื่อปี 2556 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งพบว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,870 คนสนับสนุนรูปแบบการบริหารท้องถิ่นในแบบพิเศษสำหรับพื้นที่ปาตานี และมีเพียง 14% ที่คัดค้าน[21] นอกจากนั้น ในการสำรวจความเห็นในครั้งนี้ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังมีการลงนาม ‘ฉันทมติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ’ ยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือ 67% เชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นซึ่งอาจจะเป็นภาพสะท้อนบางส่วนว่ามีแรงขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติจากในพื้นที่แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอยู่บ้างก็ตาม

ภาพที่ 4

 

ภาพที่ 5

 

 

ปฏิบัติการถ่วงดุลและสร้างพลังถ่วงดุลในความขัดแย้งที่รุนแรง

สิ่งที่ควรจะได้รับการเน้นย้ำ ณ จุดนี้ก็คือ ความต่อเนื่องและปัจจัยสะสมมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่รุนแรงในภูมิภาคชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งแม้ความรุนแรงจะมีความยืดเยื้อ แต่ก็มีลักษณะคงที่และทรงตัวด้วยเช่นกัน ดูเหมือนว่าในท่ามกลางกระแสความรุนแรงจะยังมีพลังถ่วงดุลภายในที่สามารถชะลอวงจรความขัดแย้งที่รุนแรงไม่ให้ขยายตัวลุกลามบานปลายต่อไปได้

ในภาพที่ 6 ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 10 ปีระหว่าง 2547-2557 เราอาจแบ่งความรุนแรงได้เป็น 3 ช่วง โดยในช่วงสี่ปีแรกระหว่างเดือนมกราคม 2547 – ธันวาคม 2550 ความรุนแรงเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 160.47 ครั้ง แต่ในช่วงที่สองระหว่างเดือนมกราคม 2551–มกราคม 2558 ความรุนแรงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 82.8 ครั้งต่อเดือน ทว่าในช่วงที่สองนี้มีพลวัตที่เกิดจากพลังต่อสู้ภายในที่น่าสนใจมาก ซึ่งเราอาจจะแบ่งช่วงนี้ออกเป็นสองช่วงย่อยๆ คือ ในช่วงมกราคม 2551-ธันวาคม 2554 มีเหตุการณ์เหลือประมาณ 77.29 ครั้งต่อเดือน และในช่วงหลังคือ เดือนมกราคม 2555-มกราคม 2558 มีเหตุการณ์ 89.94 ครั้งต่อเดือน ภาพนี้สะท้อนให้เห็นว่าพลวัตภายในนี้เกิดจากการขยับตัวของพลังทางสังคมบางอย่างซึ่งสามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้    

ในช่วงแรกที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการก่อเหตุความไม่สงบ แบบแผนความรุนแรงในช่วงนั้นมีลักษณะเป็นการโจมตีทำร้ายซ้ำกันหลายครั้งและต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่นในเดือนมิถุนายน 2549 ได้เกิดปฏิบัติการก่อความไม่สงบแบบปูพรม 54 จุด ทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นการใช้ระเบิดแสวงเครื่องเพื่อทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในพื้นที่เป้าหมายหลายแห่ง ในเดือนสิงหาคม 2552 ก็ได้เกิดเหตุกระจายไปกว่า 122 จุดในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งแต่การวางระเบิด การวางเพลิง การโรยตะปูเรือใบและการเผายาง เฉลี่ยในช่วงแรกนี้ความรุนแรงต่อเดือนมีระดับสูงอยู่ที่ประมาณ 160.47 ครั้ง

ภาพที่ 6

 

หลังจากการเปลี่ยนนโยบายและมาตรการต่อภาคใต้ของรัฐบาลไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ได้ส่งผลในการลดความรุนแรงลงอย่างช้าๆ และชัดเจน โดยเหตุการณ์รุนแรงลดลงและกลับมีลักษณะทรงตัวในระดับใหม่ กล่าวในอีกแง่หนึ่งการใช้ปฏิบัติการทหารเพื่อควบคุมความรุนแรงในช่วงเวลาดังกล่าวอาจส่งผล กระทบต่อความถี่ของเหตุการณ์ แต่ยังไม่มีผลต่อการลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตในแต่ละเดือน[22] อัตราเฉลี่ยเหตุการณ์ที่รุนแรงต่อเดือนระหว่างเดือนมกราคม 2551–มกราคม 2558 อยู่ที่ประมาณ 82.8 ครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นพลวัตและแบบแผนที่ต่อเนื่องของความรุนแรง แต่ทว่าในช่วงเวลาดังกล่าวก็ได้เกิดความผันผวนของเหตุการณ์เช่นกัน กล่าวคือในระหว่างเดือนมกราคม 2551– ธันวาคม 2554 เหตุการณ์รุนแรงโดยเฉลี่ยเกิดขึ้น 77.29 ครั้ง ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในช่วงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย หรือการปฏิรูปตามหลักการ ‘การเมืองนำการทหาร’ อัน อาจส่งผลต่อการแก้ปัญหาในระยะยาวและส่งผลในเชิงบวกอยู่บ้าง แม้จะไม่มีผลอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการพัฒนา

ต้องยอมรับว่าในช่วงดังกล่าวรัฐบาลโดยเฉพาะกองทัพประสบความสำเร็จด้านยุทธวิธีระดับหนึ่งในแง่การปราบปรามการก่อความไม่สงบและการรักษาสภาวะสันติ ผลจากปฏิบัติการเป็นเหตุให้จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มลดลงนับแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี การใช้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและกิจกรรมด้านพลเรือนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของนโยบายแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการของทหารยังไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการโดยเฉพาะในแง่การพัฒนาเชิงสังคม-เศรษฐกิจ[23] ปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการยังดำรงอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน การตีความเช่นนี้อาจสะท้อนให้เห็นจากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในปี 2556 ตามที่แสดงให้เห็นในภาพที่ 7 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาร้ายแรงที่สุดในความรู้สึกของชุมชน ยังคงรวมไปถึงปัญหายาเสพติด การว่างงาน การก่อความไม่สงบ และความยากจน[24]

ภาพที่ 7

 

บทเรียนกระบวนการสันติภาพและการพูดคุยเพื่อสันติภาพปี 2556

หลังปี 2554 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอันหนึ่งกล่าวคือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้นำนโยบายใหม่มาใช้ได้แก่ ‘นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557’ ซึ่งจัดทำโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในช่วงที่ยังเป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์[25] ในบรรดาวัตถุประสงค์เก้าข้อตามนโยบายใหม่นี้มีเนื้อหาหลักที่สะท้อนอย่างชัดเจนถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะทำให้เกิดเงื่อนไขอันเหมาะสมเพื่อการเจรจาและหาทางยุติความขัดแย้งและประกันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสร้างสันติภาพและการพูดคุยสันติภาพ เหล่านี้เป็นการดำเนินงานโดยผ่านแผนการร่วมมือสร้างสันติภาพกับรัฐบาลมาเลเซียซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ดังที่กล่าวไปแล้ว

ภาพที่ 8

 

แม้จะมีปัญหาท้าทายและอุปสรรคภายในมากมาย แต่ต้องถือว่าการริเริ่มของรัฐบาลไทยร่วมกับมาเลเซีย ในปี  2556 สะท้อนความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการเจรจาแบบเดิมที่มีลักษณะปิดลับ[26] นอกจากนั้นนโยบาย ‘การเปิดพื้นที่’ ได้ดำเนินไปพร้อมบทบาทที่เพิ่มขึ้นขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ ซึ่งต่างก็แสดงความสนับสนุนต่อการพูดคุยสันติภาพทั้งสามครั้งที่เกิดขึ้นในมาเลเซีย[27] มีข้อถกเถียงกันมากมายหลายฝ่ายในเรื่องการพูดคุยสันติภาพในครั้งนั้นดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ตัวชี้สถานภาพในทางบวกก็อาจจะเห็นได้จากข้อมูลในภาพที่ 8 อันแสดงให้เห็นว่าเดือนมีนาคมและมิถุนายน 2556 การสำรวจความคิดเห็นประชาชนโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ยืนยันความสนับสนุนของประชาชนในพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพในระดับที่เพิ่มมากขึ้นจาก 67% เป็น 77%[28]

ในขณะเดียวกัน ระดับความรุนแรงระหว่างปี 2555-2557 ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอีกระดับหนึ่ง อันสะท้อนให้เห็นว่ากลไกที่อยู่ภายในความขัดแย้งก็ยังมีพลวัตสูงมาก โดยแม้จะมี ‘แรงเฉื่อย’ หรือ ‘แรงภายใน’ ที่คอยถ่วงดุลสภาพของกระบวนการความขัดแย้งก็ตาม จึงส่งผลให้ระหว่างเดือนมกราคม 2555 – มกราคม 2558 อัตราเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเดือนอยู่ที่ 89.94 ครั้ง และมีเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงการพัฒนาของการก่อความไม่สงบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 โดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบปฏิบัติการร้ายแรงอย่างต่อเนื่องครั้งใหญ่สุดในรอบหลายปี ทำให้มีคนตาย 14 คนและทำให้ได้รับบาดเจ็บกว่าร้อยคน ทั้งเหตุการณ์วางระเบิดรถยนต์ที่จอดบริเวณร้านค้า จังหวัดยะลา และบริเวณที่เป็นโรงแรมที่มีตึกสูงและเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา

จากนั้นก็ได้เกิดปฏิบัติการครั้งสำคัญหลายครั้งเมื่อปี 2555 ก่อนการเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพในปี 2556 ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีที่อำเภอมายอในเดือนกรกฎาคม 2555 การสังหารอิหม่ามอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นหลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2555 รวมทั้งปฏิบัติการที่อำเภอบาเจาะเดือนกุมภาพันธ์ 2556[29] แต่การเจรจาสันติภาพก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการตกลงเพื่อหยุดยิงเป็นเวลา 40 วันที่เห็นชอบโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และขบวนการบีอาร์เอ็น ส่งผลให้จำนวนปฏิบัติการที่มีผู้เสียชีวิตลดลงนับแต่เริ่มความรุนแรงเมื่อปี 2547 จนถึงในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2556 แต่หลังจากนั้นดูเหมือนจะเกิดปัญหาและทั้งสองฝ่ายถอนตัวจากข้อตกลง เป็นเหตุให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม[30]

แต่ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดอีกประการก็คือในช่วงที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แบบแผนความรุนแรงระหว่างปี 2556 ได้เปลี่ยนไปเน้นที่การโจมตีเป้าหมายแข็งที่เป็นทหาร ตำรวจ อส. และทหารพรานแทนที่จะเป็นพลเรือน

ในการประเมินเชิงประจักษ์จากภาพที่ 9-10 ข้อมูลยืนยันให้เห็นว่าเดือนที่หยุดยิงเป็นเดือนที่เกิดความรุนแรงต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ถึงปี 2556 ด้วยสถิติที่เกิดเหตุการณ์เพียงแค่ 42 ครั้ง ดังนั้นเดือนธันวาคม 2550 และเดือนกรกฏาคม 2556 จึงนับว่าเป็นสองเดือนเท่านั้นที่เหตุการณ์ความรุนแรงต่ำที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่มกราคม 2547 เป็นต้นมาจนถึงปี 2556 เมื่อเทียบกับเดือนรอมฎอนปี 2557 นั้น หากนับในช่วง 10 วันแรกในเดือนรอมฎอน จำนวนเหตุการณ์เมื่อเทียบกับปี 2556 ในช่วงเวลาเดียวกันก็ถือได้ว่าในปี  2557 นั้นจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังสูงกว่าปี 2556 กล่าวคือในช่วงสิบวันแรกเกิดเหตุการณ์ 7 ครั้ง แต่ในสิบวันแรกของปี 2557 เกิดเหตุความไม่สงบ 16 ครั้ง ซึ่งมากกว่าปีก่อนถึงหนึ่งเท่าตัว

เหตุที่การพูดคุยเจรจาสันติภาพทำให้เหตุการณ์เปลี่ยนไปนั้น เพราะคำร้องขออย่างหนึ่งของทางการไทยในระหว่างการพูดคุยเจรจา ได้แก่ การขอให้ขบวนการบีอาร์เอ็นยุติการโจมตีพลเรือน ผู้บริสุทธิ์ และย่านเศรษฐกิจในเขตเมือง ซึ่งดูเหมือนว่าหน่วยปฏิบัติของขบวนการบีอาร์เอ็นให้การตอบสนอง[31] อย่างไรก็ดีในช่วงต้นปี 2557 ภายหลังการเจรจาสันติภาพหยุดชะงักลงแล้ว รูปแบบการโจมตีก็ได้เปลี่ยนไปเป็นเป้าหมายอ่อนมากขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยเหยื่อทั้งผู้ที่เป็นพลเรือนหรือประชาชนทั่วไป  

ภาพที่ 9

 

ความจริงที่จำต้องยอมรับก็คือว่าในรอบ 11 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่าง 2547-2557 มีเพียงปีที่มีการริเริ่มพูดคุยสันติภาพ (2556) เท่านั้นที่การตายและบาดเจ็บของพลเรือนต่ำกว่าการตาย และบาดเจ็บของทหาร ตำรวจ ทหารพรานและกองกำลัง อส. แสดงให้เห็นว่าการโจมตีต่อเป้าหมายอ่อน (Soft Targets) ต่ำลงในปีนั้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลจากการพูดคุยสันติภาพ แต่สัดส่วนนี้กลับมาเป็นตรงกันข้าม ในปี 2557 และ 2558 ดังจะเห็นได้จากภาพที่ 11

การศึกษาเชิงเปรียบเทียบเรื่องพื้นที่ความขัดแย้งที่รุนแรงและยืดเยื้อในหลายที่ เรามักจะพบว่าพลวัตภายในมีความสำคัญอย่างมาก ‘ความยืดเยื้อของความรุนแรงอาจเป็นผลมาจากรูปแบบวิธีการในการทำสงครามที่เป็นอยู่’ จากการศึกษาการทำสงครามและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายสังคม เราพบว่าทั้งฝ่ายรัฐบาลแะฝ่ายต่อต้าน ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทำร้ายพลเรือนอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้มีจำนวนผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้เสียหาย มีทัศนคติที่เกลียดชังกันมากขึ้นและทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถปรองดองกับฝ่ายตรงข้ามได้ แม้จะสามารถหาทางประนีประนอมกันได้แล้วก็ตาม[32] ดังนั้น ในสถานการณ์จังหวัดภาคใต้ในปัจจุบัน การพุ่งเป้าโจมตีพลเรือนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก เป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหายุ่งยากที่มีต่อความขัดแย้งที่จะทวีความรุนแรงและยืดเยื้อต่อไป

ภาพที่ 10

 

ภาพที่ 11

 

กล่าวโดยสรุป พลวัตของความขัดแย้งที่รุนแรงในชายแดนใต้มีลักษณะ อ่อนไหว สับสน และซับซ้อน และยังคงมีความต่อเนื่องอยู่ จึงเห็นได้ว่า ณ ขณะนี้แนวโน้มความเป็นไปได้ที่ความรุนแรงจะ ‘เพิ่มสูงขึ้นหรือลดลง’ เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง ประเด็นที่น่าสนใจก็คือแม้เหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้จะมีลักษณะเป็นการทำร้ายโดยไม่เลือกเป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีการจำกัดระดับความรุนแรงไปพร้อมกันด้วย ส่งผลทำให้เป็นเหตุการณ์ที่แปลกประหลาด ในช่วงที่ความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นระหว่างปี 2547-2550 มีทั้งเหตุการณ์ปราบปราม การต่อต้าน และการบังคับใช้กฎหมายของรัฐอย่างรุนแรงเข้มงวด ซึ่งก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร หากแต่ยังส่งผลให้ความรุนแรงยิ่งสูงขึ้นอย่างมาก มีการส่งกำลังทหารเข้าไปประจำในพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งกำลังพลประมาณกว่า 60,000 นาย (ตามรายงานโครงสร้าง กอ. รมน.ในปี 2554)[33] ประกอบกับนโยบายลดความรุนแรงโดยใช้ การเมืองนำการทหาร และการจัดทำโครงการ พัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ในภาพรวมก็ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาโครงสร้างการกระจายความมั่ง คั่ง แต่ก็ได้ผลในแง่การเมือง ดังนั้น อิทธิพลร่วมกันจากปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้น่าจะส่งผลให้จำนวนเหตุการณ์รุนแรงลดลงได้ในอีกระดับหนึ่ง

แต่ในช่วงปี 2551-2554 ก็เป็นช่วงเริ่มต้นของ ความรุนแรงเชิงคุณภาพ กล่าวคือ ในตอนนั้นจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงจริงๆ ในขณะที่อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตยังมี ‘ค่าคงที่’ ความขัดแย้งที่รุนแรงในระหว่างปี 2555-2557 ยิ่งมีพลวัตเพิ่มมากขึ้น โดยมีเหตุการณ์รุนแรงที่ชัดเจนในบางครั้งบางช่วง และดูเหมือนจะนิ่งในบางช่วง ในช่วงแรกของปี 2558 เหตุการณ์ความรุนแรงก็อาจจะกลับมาอีก ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าแนวโน้มของการบาดเจ็บและเสียชีวิตกำลังจะสูงขึ้นไปอีก

ลักษณะทั่วไปของสถานการณ์ความไม่สงบก็ยังอยู่ในสภาวะของค่าคงที่ ขณะเดียวกันในช่วงนี้ก็มีจุดเด่นในความพยายามหาทางออกด้วยแนวทางสันติภาพเช่นกัน[34] ดังนั้น โดยทั่วไปแล้วในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2551 ถึงต้น ปี 2558 ข้อมูลบ่งชี้ว่าจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเดือนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัวหรือคงที่ ในระดับค่าเฉลี่ย 82.8 ครั้งต่อเดือนและยังมีลักษณะที่ทรงตัวแต่ก็อาจจะมีสิ่งที่เหนือความคาดหมายได้ ดังที่แสดงให้เห็นแล้วในภาพที่ 6

การที่เหตุการณ์ทั้งช่วงปี 2557 ลดลง (ดูภาพที่ 12) โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนั้น อาจจะเป็นเพราะมีเหตุการณ์เฉพาะบางอย่างมาแทรก เช่น การเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่รัฐกลันตันชายแดนฝั่งมาเลเซียและในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากความเห็นของฝ่ายทหารไทยที่ทำงานด้านชายแดนมองว่าการที่บีอาร์เอ็นปฎิบัติการลดลงในปีที่ 2557 นั้น ปัจจัยที่น่าจะมีความสำคัญคือท่าทีของมาเลเซีย เพราะเชื่อกันว่าตำรวจสันติบาลมาเลเซียมีบทบาทกดดันฝ่ายขบวนการและอาจจะใช้มาตรการการควบคุมกองกำลังในดินแดนมาเลเซีย มีการกวาดล้างอาวุธที่ซ่อนอยู่ด้วยข้ออ้างการป้องกันการเคลื่อนไหวของขบวนการ ISIS ในมาเลเซีย จึงมีการกดดันไม่ให้ใช้ความรุนแรงในฝั่งไทยด้วย ประกอบกับมีปัญหาน้ำท่วมในรัฐกลันตันของมาเลเซียมีสภาพปัญหาที่หนักมากส่งผลเสียหายในทางยุทธวิธีต่อการเคลื่อนไหวเพื่อก่อเหตุในจังหวัดภาคใต้ของไทย

อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญก็คือท่าที และบทบาทรัฐบาลมาเลเซียที่ต้องการแก้ปัญหาความมั่นคง แก้ปัญหาผู้ร้ายข้ามแดน และกลัวถูกว่าเป็นผู้สนับสนุนการก่อการร้ายสากล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้รัฐบาลไทยมีนโยบาย และความชัดเจนในการปฏิบัติเกี่ยวกับการพูดคุยเจรจาด้วย[35] ความชัดเจนของรัฐบาลไทยภายหลังจากการรัฐประหารคือการออก ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 98/2557’ ลงวันที่ 21 กรกฏาคม 2557[36] รวมทั้งคำแถลงอื่นๆ ในเวลาต่อมาอาจจะทำให้รัฐบาลมาเลเซียมีความมั่นใจมากขึ้น[37]

แม้จะมีความชัดเจนดังกล่าวก็ตาม แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากเจ้าหน้าที่ทางการไทยที่เคยทำงานในวงการพูดคุยเจรจากับมาเลเซียก็ยังสะท้อนภาพอีกด้านว่า “...มาเลเซียเขายังไม่ไว้ใจฝ่ายทหารของไทยว่าจะต้องการพูดคุยจริงๆ …” และ “…. ส่วนทางบีอาร์เอ็นก็ยังไม่ไว้ใจทหารเหมือนเดิม … เขาคิดว่าทหารต้องการเจรจาเพื่อระบุตัวคนของฝ่ายเขาเพื่อปราบต่อไป” และ ”โดยเฉพาะฝ่ายการทหารของขบวนการฯยังไม่ยอมรับการเจรจา …”[38]

ตัวชี้พลังถ่วงดุลจากภายใน (Intrinsic balancing forces)

จากการพิจารณาช่วงเวลาของความรุนแรงเผยให้เห็นพลังความรุนแรงที่เคลื่อนตัวด้วยความเร็วคงที่โดยมี ‘พลังถ่วงดุลภายใน’ ทำให้เกิดลักษณะที่ขึ้นๆ ลงๆ เมื่อใช้แบบจำลอง polynomial least-squares regression[39] เพื่อพิจารณาความผันผวนของเหตุการณ์และหาเส้นที่เป็นตัวแทนจะพบแนวโน้มที่ลดลงระหว่างปี 2547-2557 แม้ในช่วงปี 2557 ที่ผ่านมาจะมีแนวโน้มในลักษณะที่ลดลงจากปีละประมาณ 1,000 เหตุการณ์ มาเป็นประมาณ 793 เหตุการณ์ ตามภาพที่ 12 แต่เมื่อดูแนวโน้มในภาพรวมแล้วก็ยังมีลักษณะคงที่และทรงตัว อันชี้ให้เห็นว่าระดับความขัดแย้งที่รุนแรงได้รับการบรรเทาและเหนี่ยวรั้งจากพลังทางสังคมหลายประการไม่ว่าจะเป็นกระบวนการด้านการทหารของรัฐและกระบวนการทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นเหตุให้แนวโน้มความรุนแรงคงที่อยู่ในลักษณะเช่นนี้และอาจจะยกระดับสูงขึ้นได้ซึ่งเป็นผลตามมาจากพลังความรุนแรงตอบโต้ภายในเช่นกัน

จึงยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าแนวโน้มพัฒนาการของเหตุความไม่สงบที่คลุมเครือเช่นนี้จะปรากฏตัวหรือพัฒนาไปในรูปตัวอักษร U หรือจะเป็นรูปแบบพาราโบลา (Parabola) หรือจะรักษาสภาพความคงที่อยู่ต่อไปเรื่อยๆ เป็นเส้น สูงๆ ต่ำๆ เสมอกันดังที่แสดงให้เห็นในภาพที่ 13

แนวโน้มที่ค่อนข้างสับสนซึ่งมีลักษณะอ่อนไหว และคลุมเครือเช่นนี้จึงขึ้นอยู่กับอิทธิพลทางการเมืองของ นโยบายรัฐบาลทหารและการตอบโต้ของอีกฝ่ายในช่วงที่เหลือของปี 2558 นี้ แต่ภาพสะท้อนที่สำคัญของการสร้างพลังความสมดุลจากภายในนี้ หัวใจสำคัญก็คือกระบวนการทางการเมืองที่เรียกว่า กระบวนการสันติภาพเป็นจุดชี้ขาดว่าการเปลี่ยนแปลงของดุลภาพกระบวนการนี้จะเดินไปอย่างไร? ดังที่นายทหารผู้ที่มีบทบาทในกระบวนการเจรจาสันติภาพผู้หนึ่งอธิบายว่า การเจรจาสันติภาพและบทบาทประชาสังคมมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นจุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity) องการเปลี่ยนแปลงและพลวัตเหตุการณ์ในระยะต่อไป

ภาพที่ 12

 

ในขณะเดียวกัน ในภาพที่ 13 ได้แสดงแบบจำลอง polynomial least-squares regression อีกตัวก็จะสะท้อนให้ เห็นถึงอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่คงที่หรือทรงตัวเป็นแนวโน้มที่ต่อเนื่องระหว่างปี 2547-2558 ในทำนองเดียวกันก็ได้สะท้อนถึงจุดดุลยภาพภายในของความรุนแรงจากรัฐที่ส่งผลกระทบต่อระดับการบาดเจ็บล้มตายโดยรวม เส้นขนานแนวราบของจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอาจชี้ให้เห็นเส้นทางที่แสดงภาวะดุลยภาพของความรุนแรงและพลังจากภายในพื้นที่ทั้งสองด้านที่เป็นทั้งกระบวนการสร้างสงครามและสร้างสันติภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสะสมที่สะท้อนการทรงตัวอย่างมีพลวัตและไหวตัวอยู่ตลอดเวลาต่อปัจจัยภายนอกอีกหลายประการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น จะต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่พลังของดุลยภาพนี้มีประสิทธิผลในตลอดช่วงของกระบวนการทั้งหมด ทั้งนี้โดยการสร้างพื้นที่กลางและการสนับสนุนให้เกิดแนวทางแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างสันติ

ภาพที่ 13

 

ภาพที่ 14

 

ปัจจัยที่เพิ่มแรงถ่วงอีกด้านหนึ่งก็คือการทุ่มทรัพยากรของรัฐเข้ามาในพื้นที่ความรุนแรงเพื่อบรรเทาผลกระทบที่ เสียหายของความรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วว่าหน่วยงานของรัฐได้ปรับรื้อแนวคิดของวิธีการ การเมืองนำการทหาร โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและแผนพิเศษเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ มีการทุ่มงบประมาณให้กับหลายโครงการเพื่อสร้างรายได้และพัฒนามาตรฐานการครองชีพ การฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ การลงทุนและการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมี ศอ.บต.เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันและประสานงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณให้กับภูมิภาคชายแดนใต้เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนหลายประการโดยง ประมาณประเทศเพื่อ ‘แก้ปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้’ ระหว่างปี 2547-2558 เพิ่มสูงขึ้นจนแตะ ที่ระดับ 231,780 ล้านบาทซึ่งนับเป็นจำนวนเงินมหาศาล[40]

จากภาพที่ 15 แสดงว่าปีที่มีการทุ่มงบประมาณลงไปมากสุดได้แก่ปี 2552 คิดเป็นจำนวน 27,144.91 ล้านบาท อันเป็นเวลาสองปีหลังจากการรัฐประหาร การปราบปรามการก่อความไม่สงบขนานใหญ่ในภาคใต้ และการลดลงของระดับความรุนแรง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบต้องใช้งบประมาณและต้นทุนสูงเป็นอย่างมาก การทุ่มงบประมาณครั้งใหญ่เป็นอันดับสองเกิดขึ้นในปี 2558 นี้ซึ่งคิดเป็นจำนวนประมาณ 25,686 ล้านบาท ภายหลังกระบวนการสันติภาพและนโยบายพูดคุยสันติภาพที่ใช้เวลานานและนำโดย ศอ.บต. และมาจบลงที่การรัฐประหารและการมีอำนาจของรัฐบาลทหาร ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าสันติภาพจึงเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนสูงอย่างมากเช่นกัน แต่จุดที่สำคัญก็คือการเพิ่มงบประมาณต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะพุ่งสูงโด่งหลังจากปีที่มีการรัฐประหารและในช่วงมีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเช่นในปี 2551-2552 และในปี 2557-2558  

ภาพที่ 15

 

ฐานคติอันย้อนแย้งหรือเสริมต่อกัน: พลังถ่วงดุลภายในกับสมมุติฐานข้าศึก?

จากข้อมูลข้างต้น ข้อสมมุติฐานที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงและพลวัตสถานการณ์ความรุนแรงคือ ด้านหนึ่ง ข้อสมมุติฐานในการขยายกำลังทางทหาร ใช้งานการเมืองขณะที่ใช้กำลังกดความรุนแรงในทางการทหาร และอีกด้านหนึ่งก็คือ ข้อสมมุติฐานเรื่องการสร้างพลังในการถ่วงดุลความรุนแรงจากภายในเพื่อสร้างพื้นที่สันติภาพหรือพื้นที่ทางการเมือง ข้อสมมุติฐานแรกเป็นการวิเคราะห์ทางการทหารซึ่งอาจจะอาศัยการตีความมาจากตัวแบบ การวิเคราะห์สมมุติฐานข้าศึกของฝ่ายทหารที่กำลังต่อสู้กับสงครามการก่อความไม่สงบในขณะนี้[41]

ในการวิเคราะห์บนฐานคติดังกล่าว อาจจะเป็นไปได้ว่าฝ่ายทหารมีสองยุทธศาสตร์ ซึ่งดูเหมือนจะดำเนินการควบคู่กันไปในตอนนี้ ในทางการทหารมีการเพิ่มกำลังทหาร/ทหารพราน/อาสาสมัครรักษาดินแดนในจำนวนมากจนหนาแน่นเต็มพื้นที่ ประมาณกันแต่เดิมว่ามีกองกำลังติดอาวุธของรัฐ (ไม่นับ ชรบ. ที่เป็นพลเรือนติดอาวุธ) ประมาณ 60,000 คน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2556 แต่ในปี 2557-2558 ตัวเลขอย่างเป็นทางการของกองกำลังแห่งรัฐเพิ่มขึ้นถึงหลัก 70,000 คน[42] โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายกองกำลังทหารพรานเพื่อใช้ในการควบคุมพื้นที่ตั้งด่านตรวจจับ ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุมคนในบัญชีดำ ตามจับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนในขบวนการฯ เป้าหมายคือทำลายแหล่งการบ่มเพาะกำลังเพื่อสร้างคนใหม่ของขบวนการบีอาร์เป็น จึงอาจจะมีการจับกุมคนเป็นจำนวนมากขึ้นโดยอำนาจพิเศษตามกฏอัยการศึก ซึ่งจะเห็นได้จากข่าวการปะทะในระหว่างการจับกุมและวิสามัญฆาตกรรมมากขึ้น ความมุ่งหมายของยุทธศาสตร์นี้คือการกดดันด้วยกำลังทหารและการเมืองอย่างหนัก แต่ทำอย่างเงียบๆ ช้าๆ เพราะการใช้กฏอัยการศึกในตอนนี้สะดวกมากกว่าเนื่องจากไม่มีกฏหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

จากข้อมูลจากองค์กรเอกชนในพื้นที่ซึ่งทำงานด้านกฏหมายและความยุติธรรม ได้ยืนยันว่ามีการจับกุมผู้ต้องสงสัยมากขึ้น ในขณะที่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากฝ่ายทหารก็ยืนยันว่าได้มีการดำเนินการเพื่อลดความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดและพยายามไม่ใช้กฎหมายพิเศษมาใช้แก้ปัญหา การติดตาม ปิดล้อม ตรวจค้นขนาดใหญ่ได้ยุติลงแล้ว คงดำรงไว้เพียงการใช้กำลังชุดเล็กเข้าไปบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มบุคคลที่มีหมายศาลเท่านั้นโดย อ้างว่าใช้วิธีดำเนินการเริ่มจากเบาไปหาหนักเพื่อหลีกเลี่ยงการวิสามัญโดยสิ้นเชิง “เราพยายามใช้กระบวนการพูดคุยกับผู้มีหมายเพื่อให้ออกมาแสดงตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม[43] แต่การที่ศาลปัตตานียกคำร้องเรื่องละเมิดสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ 2557 ใน มาตราที่ 4 ในเรื่องการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่เป็นสัญญาณที่แสดงว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยยืนยันว่าการที่ฝ่ายทหารยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550 เป็นการชอบธรรมในการที่หลักการสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย จะถูกยกเลิกโดยอำนาจรัฐฎาธิปัตย์แม้ผู้ร้องจะอ้างหลักการสากลเรื่องสิทธิของบุคคลก็ตาม  

อีกด้านหนึ่งเป็นยุทธศาสตร์การเจรจา 'สันติสุข' แต่ไม่ใช่ 'สันติภาพ' ดูเหมือนเป็นงานการเมืองนำการทหารโดยความหมายก็คือทหารรู้ว่าการเจรจาสันติภาพในรัฐบาลที่แล้วแม้จะไม่สำเร็จตามเป้าหมายแต่มีผลดีในทางการเมืองในสองด้าน ด้านหนึ่งก็คือลดแรงกดดันจากประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่เติบโตและมีบทบาทมากขึ้นในการสร้างพื้นที่กลางสนับสนุนสันติภาพที่มีความชอบธรรมและอีกด้านหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ เพื่อป้องกันการรุกตอบโต้ทางการเมืองด้วยการแทรกแซงจากต่างประเทศ เพราะว่าประเด็นภาคใต้นี้หากมองอย่างทฤษฎีการเมืองสัจนิยม (Real Politics) ความผิดพลาดของรัฐอาจจะนำไปสู่การเสียดินแดนหรือถูกเข้าแทรกแซงอย่างชอบธรรมจากต่างประเทศซึ่งมีทั้งโอไอซี อียู ยูเอ็น อาเซียน และกลุ่มประเทศตะวันตก

ในประเด็นเรื่องภาคใต้นี้ องค์กรระหว่างประเทศและประเทศตะวันตกอาจมีพลังประสานกันในทางสากลหนักหน่วงกว่าประเด็นเรื่องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในเงื่อนไขการเมืองระดับประเทศ ฝ่ายทหารจึงกลัวแนวรบทางการเมืองระหว่างประเทศในเรื่องนี้มาก ดังคำอธิบายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงผู้หนึ่งที่ว่า “…ยุทธศาสตร์ของฝ่ายบีอาร์เอ็นคือการเอาชนะจากข้างนอกและให้รัฐแพ้จากภายใน

การแก้ทางตามสมมติฐานข้าศึกจึงต้องประคองไว้ด้วยยุทธศาสตร์การเจรจาซึ่งดูเป็นวิธีการที่ศิวิไลซ์แต่มีการปรับเปลี่ยนชุดวาทกรรมให้เป็น การพูดคุยสันติสุขซึ่งเน้นว่าเป็นการตกลงภายในประเทศ และอาจจะทำให้มีการพูดคุยกันได้อย่างสันติ แต่ว่าในทางปฏิบัติจะทำการยืดเวลาสันติภาพออกไปด้วยการสร้างกระบวนการ และกำหนดเงื่อนไขใหม่ๆ ทำให้การสร้างข้อตกลงยากขึ้นในทางปฏิบัติ เช่น กำหนดให้การพูดคุยสันติสุขมี 3 ระยะ 9 ขั้นตอน คือระยะของการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ ระยะของการลงสัตยาบัน และระยะการสร้าง Roadmap[44]  มีเงื่อนไขให้ทุกกลุ่มของขบวนการต่อสู้แยกดินแดนรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งการไม่ยอมรับ 5 ข้อของฝ่ายบีอาร์เอ็น และไม่ยอมรับเรื่องกระจายอำนาจแบบพิเศษ ซึ่งโดยนัยก็ดูเสมือนการดึงเวลาเพื่อให้รัฐบาลจัดการ ควบคุมทางการทหารให้ได้มากที่สุดจนกระทั่งฝ่ายกองกำลังของบีอาร์เอ็นอ่อนแอลง ไม่สามารถขยายกำลังคนใหม่ หรือสร้างสมาชิกใหม่ด้วยการบ่มเพาะอุดมการณ์ และทำลายโครงสร้างการจัดตั้งของบีอาร์เอ็นในหมู่บ้านและชุมชน (อาเจาะ) ซึ่งในที่สุดก็จะรักษาสภาพเช่นนี้ให้เหมือน ‘การกวาดขยะเข้าใต้พรม’ จนนานๆ เข้าก็จะเป็นเรื่องง่ายที่จะจัดการแกนนำของขบวนการฯ แต่แนวโน้มความรุนแรงรอบใหม่ที่กำลังทะยานขึ้นในระยะหลังนี้ อาจจะชี้ให้เห็นว่าฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นเองก็ปรับยุทธวิธีทางการทหารและพยายามเร่งกระแสความรุนแรงกลับขึ้นมาอีกเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่ายุทธวิธีทางการทหารนำนั้นไม่มีความแน่นอน ไม่มีประสิทธิผล

แต่อีกข้อสมมุติฐานที่ต่างกันก็คือการสร้างพลังถ่วงดุลภายในจากภาคประชาสังคมทำให้มีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากพอสมควรซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าร่วมในการสร้างสันติภาพอย่างเท่าเทียมกัน ข้อสมมุติฐานนี้ถูกเสนอมาจากภาคประชาสังคมและนักวิชาการสันติภาพที่ถอดบทเรียนจากการทำงานในพื้นที่ความขัดแย้ง[45]  ในข้อเสนอนี้ ภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญต่อภาวะสันติสุข/สันติภาพ ในฐานะพลังถ่วงดุลภายในซึ่งมีความสำคัญมากต่อทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐในปัจจุบันด้วย อาจจะเป็นไปได้ที่ภาวะเสถียรและทรงตัวของความรุนแรงทำให้ฝ่ายทหารในพื้นที่บางส่วนยังไม่แน่ใจว่าการกดดันทางการทหารจะลดอำนาจฝ่ายขบวนการฯได้จริงหรือไม่? นอกจากนี้พลังถ่วงดุลภายในก็ยังทำให้ฝ่ายทหารกลุ่มที่มีแนวคิดสันติในกองทัพภาคที่สี่ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีบทบาทมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนตำแหน่งหลังจากการรัฐประหาร 

ปัญหาก็คือ ดุลกำลังทางการทหารสองฝ่ายระหว่างฝ่ายบีอาร์เอ็นกับรัฐที่นำโดยฝ่ายทหารเปลี่ยนไปเพราะทหารใช้โอกาสในช่วงหลังการรัฐประหารขยายกำลังและรุกฆาตอย่างเงียบๆ หรือเป็นเพราะว่าพลังของฝ่ายที่สามคือภาคประชาสังคมขยายตัวมากขึ้นจนมาถ่วงดุลกับความรุนแรงจากทุกฝ่าย? หรือเป็นผลจากการผสมผสานกันของปัจจัยทั้งสองนี้?

ความย้อนแย้งของข้อสมมุติฐานก็คือพลังถ่วงดุลจากหลายฝ่ายในการสร้างสันติภาพ/สันติสุขจะช่วยลดเงื่อนไขความรุนแรงตอบโต้และลดโอกาสที่ความรุนแรงจะขยายตัวไปในทิศทางที่เกินกว่าความคาดหมาย จุดนี้ทำให้ฝ่ายทหารในพื้นที่พยายามยืนยันว่า ”… ที่ผ่านมาแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เตรียมพื้นที่ของกองทัพในการรองรับการขับเคลื่อนสันติสุขโดยดำเนินการลดความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดก่อนและพยายามไม่ใช้กฎหมายพิเศษมาใช้แก้ปัญหาเหตุ[46] ในทางกลับกัน ความอยู่รอดของนโยบายสันติภาพ/สันติสุขรวมทั้งฝ่ายที่ประดิษฐสร้างและสนับสนุนนโยบายนี้ในกองทัพยังคงขึ้นอยู่กับดุลยภาพระหว่างการใช้ความรุนแรงและการใช้แนวทางสันติที่ผลักดันให้เกิดขึ้นโดยการเปิดพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและมีพลังในการสร้างสันติภาพอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิด สภาพแวดล้อมที่นิ่งในการดำเนินนโยบายให้บรรลุผล

ข้อสมมุติฐานข้าศึกจึงกลับกลายเป็นตัวสนับสนุนข้อสมมุติฐานเรื่องการสร้างพลังถ่วงดุลจากภายในเพื่อถ่วงดุลความรุนแรงและแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยสันติภาพ กล่าวให้ชัดเจนก็คือความอยู่รอดของผู้ที่สนับสนุนกระบวนการสันติสุขขึ้นอยู่กับพลังของกระบวนการสันติภาพและการรักษาพื้นที่สาธารณะเพื่อการสร้างพลังถ่วงดุลจากภายใน ทั้งๆ ที่สมมุติฐานข้าศึกและการสร้างพื้นที่กลางจากคนในด้วยการถ่วงดุลพลังทางสังคมอาจจะมีความแตกต่างกันในเป้าหมายสุดท้ายก็ตาม

ภาพสะท้อนการคงอยู่ร่วมกันระหว่างสองข้อสมมุติฐานที่ต่างกันแสดงให้เห็นจากข้อเรียกร้องจากส่วนหนึ่งของผู้มีความเห็นต่างซึ่งดูเหมือนจะยอมรับเงื่อนไขของการพูดคุยสันติภาพแต่ก็ยืนยันว่า “กระบวนการพูดคุยสันติภาพควรเริ่มต้นด้วยมาตรการเสริมสร้างความไว้วางใจและการร่างโรดแมปร่วมกัน ตามด้วยข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นพื้นฐานและประเด็นสำคัญที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในขั้นตอนต่อไป หลังจากลงนามในข้อ ตกลงหยุดยิงชั่วคราวแล้ว การพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจังสามารถดำเนินต่อในบรรยากาศสันติ ซึ่งในท้ายที่สุดจะนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพและการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล[47] รูปธรรมของแนวทางดังกล่าวปรากฏในการก่อตั้ง MARA Patani อันเป็นการรวมตัวกันของ 6 องค์กรที่ต่อสู่เพื่อปาตานี และเปิดรับตัวแทนจากผู้มีส่วนได้เสียจากกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมเพื่อจะได้พิจารณาถึงแนวทาง เป้าหมายและข้อเรียกร้องทางการเมืองร่วมกันของฝ่ายต่างๆในพื้นที่ความขัดแย้ง[48] ตัวแบบสันติภาพในท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังมีความไม่แน่นอน ควรจะเป็นการสร้างสันติสุขที่ไม่ใช่ชัยชนะของฝ่ายเดียวแต่เป็นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน

จุดชี้ขาดของข้อสมมุติฐานเรื่องพลังถ่วงดุลจากภายในก็คือการยอมรับความจริงที่ว่าการเจรจาสันติภาพและ บทบาทของภาคประชาสังคมมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นจุดศูนย์ถ่วง (Center of Gravity) องการเปลี่ยนแปลง และพลวัตของเหตุการณ์ในระยะต่อไป กระบวนการนี้จะเกิดได้จริงหรือไม่คือสิ่งท้าทายในปัจจุบัน

 



[1] จากหนังสือบันทึกประสบการณ์ของ พลเอกสำเร็จ ศรีหร่าย, ศึกใต้: ไม่ลับลวงพราง ภาค 1 (ไม่ปรากฏแหล่งพิมพ์), 2557, หน้า 146-147 

[2] Adam Burke et al., The Contested Corners of Asia: Subnational Conflict and International Development Assistance, The Case of Southern Thailand, The Asia Foundation, 2013, p. 3. ในที่นี้ระบุความขัดแย้งที่รุนแรงว่า Armed Conflict

[3] Duncan McCargo, Tearing Apart the Land: Islam and Legitimacy in Southern Thailand, Cornell University Press, 2008. หรือ ดันแคน แม็กคาร์โก, ฉีกแผ่นดิน: อิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ ประเทศไทย, กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2555.

[4] Don Pathan, Negotiating the Future of Patani, PATANI FORUM, 2014, p. 93.

[5] Adam Burke, op. cit. p. 2.

[6] ดูรายละเอียดใน อิสมะรูปายดะห์ ดอเลาะ, “ไทยยอมรับมาเลเซียเป็นคนกลางสร้างสันติภาพ”, โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ), http://www.deepsouthwatch.org/dsj/6468; และรายงานข่าวสำนักข่าว Bernama ใน http://www.bernama.com/bernama/v8/newsindex.php?id=1089807 (ดูเนื้อหาที่แปลเป็นไทยใน “นาจิบและหลักการพื้นฐานสามข้อ: ประเทศไทยยอมรับบทบาทของมาเลเซียในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้”, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, http://www.deepsouthwatch.org/node/6475   

[7] Insider Peacebuilders Platform (IPP), “How can the Peace Process Be Taken Forward?,” Deep South Watch (DSW), Retrieved on June 6, 2557, from http://www.deepsouthwatch.org/en/node/5446

[8] Duncan McCargo, “Southern Thailand: From Conflict to Negotiation?,” Lowy Institute for International Policy, 2557, p. 14

[9] Dennis J. D. Sandole, Capturing the Complexity of Conflict: Dealing with Violent Ethnic Conflicts of the Post–Cold War Era (London: Frances Pinter, 1999), p. 201

[10] อ้างจากบทสัมภาษณ์ความเห็นต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้  Zachery Abuza ณ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ 13 February, 2015

[11]ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และรอมฎอน ปันจอร์, “ไฟใต้กับการริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน 2556: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อจะต้องถ่วงดุลด้วยพลังสันติภาพเท่านั้น,” ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW), เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557, http://www.deepsouthwatch.org/node/4570; http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/dsw_analysis_-_southern_violence_and_rpi2013_th_0.pdf

[12] ข้อมูลจาก “ฐานข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Deep South Incident Database) ศูนยเฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี, พฤษภาคม 2558

[13] การปิดล้อมและเชิญตัวผู้ต้องสงสัยตามอำนาจในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเริ่มใช้ครั้งแรกโดยใช้หน่วยขนาดใหญ่ประมาณ 500 คนเข้าปิดล้อมและเชิญตัวผู้ต้องสงสัยหลายหมู่บ้านพร้อมกัน ครั้งแรกวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 ตำบลบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาสและวันที่ 23 ธันวาคม 2548 ที่ตำบลจะกั๊ว อำเภอรามัน จังหวัดยะลา หลังจากนั้นก็ไม่ใช้ปฎิบัติการใหญ่แบบนี้อีกเลยจนถึงปี พ.ศ. 2551 ดูรายละเอียดใน พลเอกสำเร็จ ศรีหร่าย, ศึกใต้: ไม่ลับลวงพราง ภาค 1, หน้า 77-78

[15] Srisompob Jitpiromsri and Duncan McCargo, “The Southern Thai Conflict Six Years on: Insurgency, Not Just Crime,” Contemporary Southeast Asia: A Journal of International and Strategic Affairs, Volume 32, Number 2, สิงหาคม 2010, pp. 156-183.

[16] ประมาณการโดยใช้ตัวเลขครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบครอบครัวละประมาณ 5 คน

[17] “วัตถุทุกชนิดจะรักษาสภาพคงที่ทรงตัวหรือเคลื่อนที่อย่างสม่ำเสมอในแนวเส้นตรงเสมอยกเว้นเสียแต่ว่ามีแรงภายนอกมา กระทำให้เปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่” หนึ่งในกฏการเคลื่อนที่สามข้อของ Newton ดูใน Stephen Hawking Ed., On the Shoulders of Giants, The Great Works of Physics and Astronomy, London: Running Press, 2002, p. 730.

[18] ดูรายละเอียดใน International Crisis Group (ICG), Thailand: The Evolving Conflict in the South, Asia Report N°241 – 11 December 2012. 

[19] Insider Peacebuilders Platform (IPP), “How can the Peace Process Be Taken Forward?,” Deep South Watch (DSW), Retrieved on June 6, 2557, from http://www.deepsouthwatch.org/en/node/5446

[20]  รอมฎอน ปันจอร์, เลือกอนาคต: บทสังเคราะห์การพิจารณาทางเลือกเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในเวทีนโยบายสาธารณะ 'ชายแดนใต้จัดการตนเอง' นนทบุรี: สำนักงานประสานการพัฒนาสังคมสุขภาวะ, 2556 ดูฉบับออนไลน์ที่เว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ . http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/200_self_governance_report.pdf หรือ http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/booklet_choosingfuture.pdf; Duncan McCargo, “Autonomy for Southern Thailand: Thanking the Unthinkable?,” Pacific Affairs, Volume 83, No. 2 June 2010. Pp. 261-281; ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ, ทางเลือกกลางไฟใต้: เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร? นนทบุรี: สำนักงานปฏิรูป, 2555. ดูฉบับออนไลน์ที่  http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/issuebook_solutions_am_southern_violence_th.pdf

[21] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และคณะ, “มุมมองของประชาชนชายแดนใต้: ความหวังในสถานการณ์ความรุนแรงอันยืดเยื้อใต้ร่มเงา แห่งสันติภาพ,” สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2556. เข้าถึงเมื่อ 8 มิถุนายน 2557 http://www.deepsouthwatch.org/node/4147

[22]Srisompob Jitpiromsri, “The Protracted Violence amidst the Unstable Political Situation after 2554 Elections,” Deep South Watch (DSW), Retrieved on June 13, 2557, http://www.deepsouthwatch.org/node/2343; ดูการวิเคราะห์ patterns ของความรุนแรงใน International Crisis Group (ICG), Thailand: The Evolving Conflict in the South, Asia Report N°241 – 11 December 2012.

[23] Srisompob Jitpiromsri and Duncan McCargo, “The Southern Thai Conflict Six Years on: Insurgency, Not Just Crime,” op. cit., p. 165-6.

[24] สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2556 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 2,006 ราย จากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรุณาดูรายละเอียดที่http://www.deepsouthwatch.org/node/4397

[25] Srisompob Jitpiromsri, “The New Challenge of Thailand’s Security Forces in the Southern Frontiers,” op. cit., p. 569.

[26] Duncan McCargo, “Southern Thailand: From Conflict to Negotiation?.”, op. cit, p.1.

[27] นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส, “ปาฐกถาไอพีพีในบริบทของพีพีพี: พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจาก 'คนใน' ภายใต้บริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานี,” ใน กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน, ปัตตานี: โครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์, 2556, pp.23-41 [ดูฉบับออนไลน์ที่ http://www.deepsouthwatch.org/ sites/default/files/ deepbooks_ppp_pattanipeaceprocess.pdf]; Norbert Ropers, “Govt must strive to build ‘positive peace’ in South,” Bangkok Post, Published: 29 Apr 2013 retrieved from http://www.bangkokpost.com/news/local/347484/govt-must-strive-to-build-positive-peace-in-south.; นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส, “รัฐบาลต้องมุ่งสร้างสันติภาพเชิงบวกในชายแดนใต้,” ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW), เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2557, http://www.deepsouthwatch.org/node/4219..

[28] สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี, การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคม 2556 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,870 รายจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้; สถานวิจัยความขัดแย้งและความ หลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี การสำรวจความคิดเห็นของ ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2556 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 2,006 ราย จากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

[29] Don Pathan, Negotiating the Future of Patani, op. cit., pp.72-85.

[30] Srisompob Jitpiromsri and Anders Engvall, “A Meaningful Peace: Ramadan Ceasefire Assessment,” http://www.deepsouthwatch.org/node/4720 หรือดูฉบับภาษาไทยที่ ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และแอนเดอร์ส เองวอลล์, "สันติภาพที่มีความหมาย: การประเมินผลการหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอน," http://www.deepsouthwatch.org/node/4719

[31] ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และรอมฎอน ปันจอร์, “ไฟใต้กับการริเริ่มสันติภาพแห่งเดือนรอมฎอน 2556: ความรุนแรงที่ยืดเยื้อ จะต้องถ่วงดุลด้วยพลังสันติภาพเท่านั้น,” ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW), p. 6, เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557, http://www.deepsouthwatch.org/node/4570

[32] Marcus Nilsson and Joakim Kreutz, “Protracted conflicts:Issues or dynamics at stake?,” New Routes, A Journal of Peace Research and Action, 4/2010, Volume 15, pp.3-6

[33]  คำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 32/2554 เรื่องโครงสร้างการจัดอัตรากำลัง กองอำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ประจำปี 2554 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 29 ง วันที่ 14 มีนาคม 2554 มีอัตรา กำลังพลรวม 64,272 นาย

[34] ดูใน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ. นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.. 2555-2557, http://www.deepsouthwatch.org/sites/default/files/nsc_deepsouthpolicy12-14.pdf

[35] สัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ทำงานในพื้นที่ วันที่ 1 กุมพาพันธ์ 2558   

[36] โดยเฉพาะคำสั่งที่ว่าให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติรับผิดชอบในการประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นการสร้างหลักประกันความต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกกลุ่มในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุย มีการเชื่อมโยงกับบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคมและการสนับสนุนจากส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทางด้านเครื่องมือ ทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็น ดูใน  http://www.army3.mi.th/army3_internet/pluginfile.php/84/mod_book/ chapter/271/kct98.pdf

[37] จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ การออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 เรื่องการจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ทำให้การพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับมาเลเซียในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557 มีความชัดเจนมากขึ้น

[38] สัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ทางการไทยที่เคยทำงานด้านความมั่นคงในการพูดคุยเจรจาสันติภาพในปี 2556 วันที่ 17 กุมพาพันธ์ 2558

[39] Regression model เป็นเครื่องมือทางสถิติที่หาทางให้ข้อมูลเข้ากันได้พอดีกับเสันตรง แต่ข้อมูลบางอย่างเช่นเหตุการณ์ความไม่สงบอาจจะไม่เป็นเส้นตรง และเข้ากันได้ดีกับเส้นโค้งในแบบ polynomial curve ค่าสถิติและภาพเส้นโค้งนี้เป็น model ที่สร้างขึ้นโดย Excel program 

[40] ข้อมูลจากสำนักงบประมาณ พ.ศ. 2558; การเน้นความหมายการเมืองนำการทหารในความหมายการพัฒนาเศรษฐกิจเกิดขึ้นใน ช่วงรัฐบาลนายกรัฐมนครีอภิสิทธิ์     

[41] ‘สมมุติฐานข้าศึก’ เป็นคำที่ถูกใช้โดย พลเอกสำเร็จ ศรีหร่ายอดีตผู้บัญชาการกองกำลังศรีสุนทรและรองแม่ทัพภาคที่ 4  ปรากฏในหนังสือของพลเอกสำเร็จ ศรีหร่าย, ศึกใต้: ไม่ลับลวงพราง ภาค 1 (ไม่ปรากฏแหล่งพิมพ์)  ซึ่งเป็นกรอบการวิเคราะห์ ของทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษที่ลงมาทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้

[42] คำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 560/2557 เรื่อง โครงสร้างการจัดและอัตรากำลังของกองอำนวย การรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ประจำปี 2558 ณ วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557 อัตรากำลังรวม 70,738 นาย

[43] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงานองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านกฏหมายและสิทธิมนุษยชน และคำแถลงของฝ่ายทหารอ้างจาก พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ใน“ดุลยปาฐกว่าด้วย “ภาพ” การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่” ในงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2” สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ Visible/Visionary Peace มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 28 กุมพาพันธ์ 2558 ดูรายละเอียดใน อิมรอน สาเหาะ และกองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้, “จะสันติสุขหรือสันติภาพ? ดุลยปาฐก ‘พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช - อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม’” www.deepsouthwatch.org/dsj/6886

[44]  แม้จะมีการกำหนดวางแผนและยุทธศาสตร์โดยละเอียด แต่ข้อมูลทุกอย่างทางฝ่ายทหารจะถือเป็นความลับ ไม่มีการเปิดเผย เอกสารรายละเอียดขั้นตอนต่อสาธารณะ ขั้นตอนต่างๆ ในที่นี้จะอ้างมาจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยตัวเองใน สำนักข่าวอิศรา, “ประยุทธ์"แจงบันได 3 ขั้นพูดคุยดับไฟใต้ ลดป่วน-ลงสัตยาบัน-ไม่แยกกลุ่ม” เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 http://www.isranews.org/เรื่องเด่น-สำนักข่าวอิศรา/ item/36154-ladder_36154.html ในขั้นการออก Roadmap ไม่มีการกล่าวถึงข้อเสนอเดิมที่คุยกันก่อนหน้านี้มีแต่สี่ข้อคือการเดินตามโรดแม็พ ซึ่งกำหนดขั้นต้นไว้คือ 1.ยุติความรุนแรง 2.หารือ ถึงเรื่องกฎหมายกระบวนการยุติธรรม 3.เรื่องการพัฒนาลดความเหลื่อมล้ำและ 4.เรื่องของอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม และยัง มีเรื่องอื่นๆ รวมถึงเรื่องกฎหมายอิสลาม ดูใน เดลินิวส์, “นายกฯ เผยถกคณะอำนวยการพูดคุยสันติสุข,” http://www.dailynews.co.th/politics/297175

[45] ดูข้อสรุปจากประสบการณ์ของปัญญาชนและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาผ่านมุมมองของ นักวิชาการชาวเยอรมัน คือ Norbert Ropers ซึ่งชี้ให้เห็นความสำคัญของคนในและการสร้างพื้นที่กลางในกระบวนการสันติภาพ ใน ฟารีดา ปันจอร์ บรรณาธิการ, คู่มือกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี: เราจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร? ความคิดของ ดร. นอร์เบิร์ต โรเปอส์, ปัตตานี: สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้และโครงการดีพบุ๊คส์, 2558. 

[46] อ้างแล้วใน http://www.deepsouthwatch.org/dsj/6886; คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณี ทุ่งยางแดงก็เป็นความพยายามพิสูจน์ให้เห็นแนวทางนี้ของกองทัพภาคที่สี่ ดูใน “กรรมการสอบยึนยัน 4 ศพทุ่งยางแดงไม่ใช่แนว ร่วม ปืนของกลางไม่เกี่ยวผู้ตาย” โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้, 7 เมษายน 2015  http://www.deepsouthwatch.org/dsj/7032

[47] อาบูฮาฟิซ อัลฮากีมใน“ดุลยปาฐกว่าด้วย ‘ภาพ’ การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่” ในงานวันสื่อสันติภาพ ชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 “สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ Visible/Visionary Peace” ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 28 กุมพาพันธ์ 2558 ดูรายละเอียดที่ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้, “จะสันติสุขหรือสันติภาพ? ดุลยปาฐก พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช - อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม” http://www.deepsouthwatch.org/dsj/6886

[48] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ MARA Patani ใน โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้, “อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม: MARA PATANI คืออะไร?” http://www.deepsouthwatch.org/dsj/7212 รายงานชิ้นนี้แปลมาจากบทความต้นฉบับของอาบูฮาฟิซที่เขียนลงในบล็อกของเขาเป็นภาษามลายู กรุณาดูที่ “APAKAH DIA MARA PATANI ?”  http://www.deepsouthwatch.org/node/7204