สถิติล่าสุดเกี่ยวกับความรุนแรงในชายแดนใต้ในช่วง 12 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนมีนาคม 2559 แสดงให้เห็นว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรง 15,530 ครั้งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันประมาณ 18,654 คน ในบรรดาผู้เสียชีวิต 6,613 คน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม 3,891 คน หรือคิดเป็น 58.81% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยเป็นผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวพุทธ 2,543 คนหรือประมาณ 38.45% ในทางตรงข้าม ในบรรดาผู้บาดเจ็บประมาณ 12,041 คน ส่วนใหญ่จะเป็นคนพุทธจำนวนประมาณ 7,154 คนหรือ 59.41% และเป็นคนมุสลิม 3,907 คน หรือ ประมาณ 32.45%[1] สะท้อนว่าโดยภาพรวมทั้งคนพุทธและมุสลิมต่างก็เป็นเป้าหมายการใช้ความรุนแรง
จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในปี 2557-2559 มีลักษณะคงที่และบางครั้งดูคล้ายกับว่าจะลดลง แต่สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ‘ความผันผวนแปรปรวน (Variations)’ ความผันผวนไม่แน่นอนนี้ยังคงเป็นลักษณะพิเศษของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้ให้เห็นแนวโน้มใหม่ของปี 2558-2559 ซึ่งระดับความถี่ของความรุนแรงยังคงที่เหมือนกับปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2558 มีเหตุการณ์สูงในเดือนพฤษภาคมและกรกฏาคม 2558 แต่เดือนอื่นๆ มีแนวโน้มลดลงหรือมีค่าคงที่ ทำให้ปี 2558 เป็นปีที่มีเหตุการณ์ลดลงมากที่สุดในรอบ 12 ปี แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปในตอนต้นปี 2559 โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกุมพาพันธ์และมีนาคม ซึ่งพบว่าเหตุการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอีก ชี้ให้เห็นว่าพลังแห่งความรุนแรง และพลังถ่วงดุลความรุนแรงกำลังทำงานอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งริเริ่มขึ้นอีกครั้งในรอบที่สองตั้งเดือนมกราคมปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ผ่านความไม่แน่นอนมาโดยตลอด
ภาพที่ 1
ภาพที่ 2
แนวโน้มความรุนแรงที่กระตุกสูงขึ้นเป็นบางช่วงในปีที่ผ่านมา (2558) ได้เปลี่ยนเป็นลักษณะที่คล้ายกับจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับขั้น เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งมีการระเบิดด้วยรถยนต์ที่เมืองปัตตานีในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ตามมาด้วยเหตุการณ์ในวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งมีการโจมตี 3 จุดในอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส รวมทั้งการยึดโรงพยาบาลอำเภอเจาะไอร้องเพื่อโจมตีค่ายทหารพรานที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการก่อเหตุระเบิดในเขตเทศบาลยะหริ่งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ส่วนในเดือนเมษายนก็เกิดเหตุลอบวางระเบิดที่หน้าสถานีรถ ไฟอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในช่วงเย็นวันที่ 11 เมษายน 2559 รวมทั้งเหตุระเบิดและยิงเจ้าหน้าที่หลายจุดในช่วงเวลาดังกล่าว
ในที่นี้อาจจะสรุปการวิเคราะห์แนวโน้มของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 12 ปี มาจน ถึงปัจจุบันได้ดังต่อไปนี้
1. จากภาพรวมทั่วไป เหตุการณ์ความไม่สงบมีความถี่สูงในระยะแรกระหว่างปี 2547-2550 ประมาณ 160-200 ครั้งต่อเดือน นับตั้งแต่ปี 2551-2555 ความรุนแรงลดลงในระดับคงที่ประมาณ 80-100 ครั้งต่อเดือน
2. แนวโน้มในช่วงปี 2551-2555 ระดับความรุนแรงต่อเดือนลดลง แต่จำนวนการบาดเจ็บและเสียชีวิตรายเดือนสูงขึ้นกว่าจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบ แสดงว่าเกิดความรุนแรงเชิงคุณภาพขึ้นในช่วงนั้น
3. นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา เกิดแนวโน้มใหม่ที่ความรุนแรงมีระดับคงที่และลดต่ำลงในบางช่วง ทำให้ทิศทางของความรุนแรงดูเหมือนจะลดลง โดยเฉพาะในปี 2558 ระดับความรุนแรงลดลงต่ำที่สุดในรอบ 12 ปีนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
4. อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่านับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาเช่นกันที่เกิดสภาวะความแปรปรวน (Variances) ของความรุนแรงรายเดือนมากขึ้นอย่างชัดเจน ความแปรปรวนของเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นปรากฏการณ์ที่ซ้อนอยู่ในระดับของความนิ่งและลดลงของเหตุการณ์รายเดือน เหตุการณ์ความไม่สงบในเดือนหนึ่งที่ลดลงอาจจะตามมาด้วยเหตุการณ์ที่สูงโด่งขึ้นในเดือนถัดไป หรือเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะสูงขึ้นในเดือนหนึ่งๆ อาจจะตามมาด้วยการลดลงอย่างมากในอีกเดือนหรือสองเดือนถัดไป เรายังไม่สามารถหาความแน่นอนของแบบแผนดังกล่าวได้เลย
5. แต่ผลของความแปรปรวนก็คือความสามารถในการรักษาระดับความต่อเนื่อง และความยืดเยื้อเรื้อรังของการใช้ความรุนแรง และอาจจะเร่งให้สถานการณ์สูงขึ้นอีกในอนาคต ถ้าสถานการณ์อื่นๆ หรือตัวแปรอื่นที่ทำให้เกิดการนิ่งหรือตัวคงที่ (Constance) เกิดการเปลี่ยนแปลง
6. ในทางยุทธวิธี ฝ่ายทหารใช้วิธีการเสริมกำลังให้มากขึ้น เพิ่มกองกำลังมากถึงประมาณ 70,000 กว่านาย มีมาตรการนโยบายและแผนในการเพิ่มเอกภาพ บูรณาการ และประสิทธิภาพในการบังคับบัญชา (Unity of Command and Control) เช่น การจัดระบบการขับเคลื่อนนโยบายโดยใช้แผนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศ คสช. ที่ 98/2557 และใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตราที่ 44 โดยออกคำสั่งที่ 14/2559 กำหนดให้ ศอ.บต. ขึ้นกับ กอ.รมน. และเข้มงวดการในติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยหลัง ปฏิบัติการด้วยการใช้เทคโนโลยี่ เช่น การจับภาพด้วยกล้องซีซีทีวี การใช้หลักฐานจากนิติวิทยาศาสตร์ และการใช้การข่าวเชิงลึกไล่ติดตามจากบัญชีผู้ต้องสงสัย เป็นต้น
ภาพที่ 3
7. บีอาร์เอ็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับมาราปาตานีใช้ปฏิบัติการสองอย่าง คือ เร่งการโจมตีต่อกองกำลังฝ่ายรัฐสลับกับการก่อเหตุในวงกว้างในลักษณะประสานการโจมตี (Coordination of Attacks) เว้นวรรคเป็นช่วงๆ มีระยะห่างเป็นจังหวะหรือเป็นคลื่นการโจมตีที่คาดเดาจุดปฏิบัติการได้ยาก เพื่อต้านและรบกวนตัวชี้วัดของแผนบูรณาการของรัฐที่ต้องการให้ ‘จำนวนเหตุการณ์ลดลง’
8. เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าการก่อเหตุโจมตีในลักษณะประสานพร้อมกันในระยะหลังตั้งแต่ปี 2557 การใช้ระเบิดจะมีอัตราที่สูงขึ้นถึงประมาณ 45-60 จุดพร้อมกันในบางเดือนที่มีเหตุการณ์สูงมากเป็นพิเศษ ผลที่ตามมาก็คือการเร่งความแปรปรวนของเหตุการณ์และผลกระทบต่อเป้าหมายที่เป็นพลเรือน
ภาพที่ 4
9. ผลกระทบจากความแปรปรวนดังกล่าวก็คือความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นกลัวและเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย (Shock and Surprise Incident) ในขณะเดียวกันก็เสี่ยงที่จะเกิดการปฏิบัติการซึ่งมีความรุนแรงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนจากทั้งสองฝ่ายและยังเกิดความเสี่ยงที่จะมีการทำลายพื้นที่กลาง และส่งผลให้กระบวนการสันติภาพหยุดชะงัก ซึ่งผลที่ตามมาก็จะเกิดแรงเหวี่ยง (Momentum) ของความรุนแรงในพื้นที่ขึ้นมาอีก
10. อย่างไรก็ตาม แม้การก่อเหตุความไม่สงบจะมีปัจจัยของความแปรปรวน แต่ในระยะเฉพาะหน้านี้ (เหตุการณ์จนถึงก่อนเดือนเมษายน 2559) ระดับของความรุนแรงโดยทั่วไปยังอยู่ในระดับและขอบเขตที่จำกัดอยู่เช่นกัน ทั้งนี้ การเร่งก่อเหตุตามสถานการณ์เฉพาะหน้า แม้ฝ่ายขบวนการฯ จะมีศักยภาพที่สามารถทำได้ แต่ฝ่ายที่ก่อเหตุก็ยังตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน ทั้งในทางการเมืองและในทางการทหาร
11. ในทางการเมือง กระบวนการพูดคุยสันติภาพยังคงเดินหน้าไป แม้ความก้าวหน้าของการพูดคุยจะช้า แต่ก็ยังคงความต่อเนื่อง มีรูปธรรม และคืบหน้า จะเห็นได้จากการมีการพูดคุยของคณะประสานงานทางเทคนิคที่ผ่านมา 3 ครั้งระหว่างคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลและมาร่าปาตานี จนกระทั่งบรรลุร่างกติกาในการพูดคุย หรือ TOR (Term of Reference) แต่ล่าสุด การหาข้อตกลงไม่ได้เรื่อง TOR อาจจะเป็น 'การสับไก' (Trigger Event) ความแปรปรวนที่เป็นพิษได้ หากไม่ยึดแนวทางสันติและการหาทางออกทางการเมืองที่เหมาะสม ในแง่นี้ก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่พลังถ่วงดุลภายในบังเกิดการพลิกผันและนำไปสู่การเสียดุลในที่สุด ในทำนองเดียวกัน การก่อเหตุความไม่สงบที่กระทบต่อเป้าหมายพลเรือนและผู้บริสุทธิ์ เช่น การก่อเหตุระเบิดที่ทำให้เด็กเสียชีวิต การยิงผู้บริสุทธิ์ และการยึดโรงพยาบาล ก็เป็นการทำลายความชอบธรรมของการปฏิบัติการในสายตาประชาชนในท้องถิ่นเช่นเดียวกัน การรักษาแนวทางเจรจาสันติภาพและ ‘พื้นที่ทางการเมือง/พื้นที่ปลอดภัย’ ของเครือข่ายประชาสังคม จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยรักษาความสมดุลของพลังฝ่ายต่างๆ ในสนามความขัดแย้งเอาไว้ และเป็นแรงกดดันทางการเมืองให้การใช้ความรุนแรงลดลงในอนาคตบนฐานคติที่ว่าการพูดคุยสันติสุข/สันติภาพมีรูปธรรมที่เป็นจริงและมีผลลัพธ์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นกว่านี้
12. ในทางการทหาร ยุทธวิธีการป้องกันตาม ’โครงการรักษาความปลอดภัยในเขตเมือง 7 เมืองหลัก’ ยังคงสามารถป้องกันและสร้างความกดดันทางการทหารให้กับฝ่ายขบวนการฯ ได้พอสมควร นอกจากนี้การระดมสรรพกำลังมากกว่า 70,738 นายมาป้องกันและควบคุมพื้นที่ประกอบกับการสร้างแผนปฏิบัติการเชิงบูรณาการพร้อม ทั้งเม็ดเงินงบประมาณอีกประมาณ 30,176 ล้านบาท และสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) ออกสำรวจความต้องการของประชาชนในขนาดใหญ่โตมโหฬารโดยเอานักวิชาการบางคนไปช่วย ก็เป็นความพยายามอุดช่องโหว่และสร้างแรงต้านต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้มากขึ้นเช่นกัน
ภาพที่ 5
13. ถ้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้างต้นของรัฐเป็นไปตามสมมติฐานที่ว่าฝ่ายตรงข้ามคือกองกำลังของบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) และฝ่ายรัฐต้องเอาชนะทั้งทางการเมืองและในทางการทหาร จึงต้องประคองสถานการณ์ไว้ด้วยยุทธศาสตร์การเจรจา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่ศิวิไลซ์ แต่มีการปรับเปลี่ยนชุดวาทกรรมให้เป็น ‘การพูดคุยสันติสุข’ ซึ่งเน้นว่าเป็น ‘ปัญหาภายในประเทศ’ จึงยอมรับให้มีการพูดคุยกันได้อย่างสันติ พร้อมทั้งการบังคับใช้กฏหมาย ในทางปฏิบัติ กระบวนการเหล่านี้เป็นการสร้างสันติสุขก็จริง แต่ก็เป็นการยืดเวลาสันติภาพออกไปด้วยการสร้างกระบวนการและกำหนดเงื่อนไขใหม่ๆ ทำให้การสร้างข้อตกลงยากขึ้นในทางปฏิบัติ เช่น การกำหนดให้การพูดคุยสันติสุขมี 3 ระยะ 9 ขั้นตอน คือระยะของการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ ระยะของการลงสัตยาบันและระยะการสร้าง Roadmap ในขั้นตอนนี้รัฐบาลยังมีเงื่อนไขให้ทุกกลุ่มของขบวนการต่อสู้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว โดยนัยยะคือการไม่ยอมรับ 5 ข้อเรียกร้องเดิมของฝ่ายบีอาร์เอ็น และไม่ยอมรับเรื่องกระจายอำนาจแบบพิเศษ สาระของยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยความหมายก็คือการดึงเวลาเพื่อให้รัฐบาลจัดการควบคุมทางการทหารให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนกระทั่งฝ่ายกองกำลังของบีอาร์เอ็นอ่อนแอลง ทำให้พวกเขาไม่สามารถขยายกำลังคนระลอกใหม่หรือสร้างสมาชิกใหม่ด้วยการบ่มเพาะอุดมการณ์ และเป้าหมายทางยุทธศาสตร์คือ ‘เพื่อสลายโครงสร้างการจัดตั้งฐานมวลชนในลักษณะหมู่บ้านจัดตั้ง (AJAK: AhliJawatan Kampong) เพื่อสลายแนวความคิดสนับสนุน 'กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง' (ผกร.) หรือขบวนการบีอาร์เอ็น
14. จุดเน้นทางยุทธศาสตร์นี้ได้ถูกนำมาแปลงเป็นโครงการสำคัญในกรอบแผนปฏิบัติการฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งเรือธง (Flagship Projects) ของแผนดังกล่าวคือโครงการรักษาความปลอดภัยในเขตเมือง 7 เมือง หลัก การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชาชนมีส่วนร่วม การดำเนินงานในหมู่บ้านเสริมสร้างความมั่นคง การพา คนกลับบ้าน การเสริมสร้างความเข้าใจในสถานศึกษาและโครงการบูโดรักษ์สันติสุข โดยใช้งบประมาณรวมกัน ถึงกว่า 7,501 ล้าน จากงบประมาณบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งจำนวนเม็ดเงินสูงถึง 30,176 ล้านบาท
15. แต่แนวโน้มความรุนแรงรอบใหม่ที่กำลังทะยานขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2559 ก็อาจจะชี้ให้เห็นว่าฝ่ายขบวนการต่อสู้ โดยเฉพาะขบวนการบีอาร์เอ็นเองก็มีการปรับยุทธวิธีทางการทหารและพยายามเร่งกระแสความรุนแรงกลับขึ้นมาอีกเช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ใช้การทหารนำและเน้นที่ความมีเอกภาพและประสิทธิภาพนั้นยังมีจุดอ่อน แม้จะมีประสิทธิภาพแต่หลายจุดยังมีความไม่แน่นอนและไม่มีประสิทธิผล นี่อาจจะเป็นตัวอย่างคลาสสิคในวิชาการนโยบายสาธารณะ หลักที่สำคัญก็คือการกำหนดและการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะโดยทั่วไปนั้น ผู้วางแผนให้รัฐบาลทหารจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทั้งตามที่คาดหมายและที่ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย (Expected and Unexpected Consequences) นอกจากนี้ ในการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยนำเข้า (Inputs) ของประเด็นทางนโยบายก็ต้องคำนึงถึงทั้งตัวแปรที่อธิบายได้ และตัวแปรที่อธิบายไม่ได้ (Explained and Unexplained Variables) ในตัวแบบการวิเคราะห์ทางนโยบาย (Policy Model) เพราะพลวัตของสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งรบกวน (Noise) ซึ่งจะนำมาสู่พลวัตและความแปรปรวน (Variances) ของผลลัพธ์ที่ตามมา (Outcomes) จากระบบทางนโยบายดังกล่าว
ภาพที่ 6
ภาพที่ 7
16. นอกจากนี้ ตัวแปรภายนอกที่ควรต้องให้ความสนใจคืออิทธิพลจากประชาคมนานาชาติที่มีต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐมองว่าเป็นเรื่องของ ‘การสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ’ เป็นการป้องกันไม่ให้ประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหยิบยกเป็นวาระระหว่างประเทศ พยายามทำให้ประชาชนในโลกมุสลิมและต่างประเทศรวมทั้งองค์การระหว่างประเทศมีความเข้าใจและให้การสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานของภาครัฐ น่าสนใจว่าจุดที่อ่อนไหวที่สุดในเรื่องนี้คือมติของที่ประชุมโอไอซีหรือ Organization of Islamic Cooperation อย่างไรก็ดี โอไอซีได้ออกแถลงการเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2559 ในที่ประชุมอิสตันบุล ประเทศตุรกี โดยมีการขานรับรูปแบบการจัดตั้ง ‘กลุ่มตัวแทนชุมชนมุสลิมในภาคใต้’ ของประเทศไทยและการตัดสินใจเดินหน้ากระบวนการสันติภาพของรัฐบาลไทยภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย โอไอซียังได้เรียกร้องทั้งฝ่ายไทยและขบวนการมลายูมุสลิม ซึ่งเป็นตัวแทนของมุสลิมในภาคใต้เปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และร่วมมือทำงานด้วยเจตนาบริสุทธิ๋ ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ‘รับประกันความปลอดภัยในการเดินทางของสมาชิกกลุ่มดังกล่าวและคุ้มครองไม่ให้พวกเขาถูกคุมตัวและดำเนินคดีระหว่างเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ’ ข้อมติของโอไอซีเป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพที่กำลังเดินไปอยู่โดยมีนัยยะที่สนับสนุนสถานะของมาราปาตานีและอาจจะมีผลในทางบวกต่อการร่วมมือกันระหว่างมาราปาตานีกับกลุ่มอื่นๆ ในพื้นที่ในอนาคตอันใกล้ แต่ก็อาจจะเพิ่มแรงกดดันในทางการเมืองให้รัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน ดูเหมือนว่าภารกิจการป้องกันไม่ให้ประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหยิบยกเป็นวาระระหว่างประเทศนั้นจะไม่เข้าเป้าตามตัวชี้วัด
17. กล่าวโดยสรุป สภาวะเสถียรของความรุนแรงระหว่างปี 2555-2558 ทำให้แนวโน้มของเหตุความ ไม่สงบดูเหมือนจะคงที่และลดต่ำลงเล็กน้อย ตัวคงที่ยังมีอิทธิพลค่อนข้างมากด้วยการคง ‘นโยบายสันติภาพ/สันติสุข’ และการเปิดพื้นที่ทางการเมืองภาคประชาชน ประกอบกับปัจจัยทางการทหาร การสร้างเอกภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินรัฐประศาสโนบายนับแต่ช่วงหลังปี 2557 ทำให้ปี 2557-2558 เป็นช่วงที่ระดับความรุนแรงมีขอบเขตและแนวโน้มลดลงในบางช่วง แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดตัวคงที่ก็เป็นประเภทหนึ่ง ปัจจัยที่ทำให้เกิดความแปรปรวนก็เป็นตัวแปรอีกประเภทหนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นที่น่าสังเกตว่าความแปรปรวนของเหตุการณ์ก็เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ อยู่ตลอดเวลา ความแปรปรวนอาจจะทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพ ถ้าไม่มีการวิเคราะห์และทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง ดังนั้น ในตอนต้นปี 2559 อัตราเร่งแห่งความแปรปรวนนี้เริ่มแผลงฤทธิ์ แม้ว่าเหตุการณ์ในรอบเดือนที่ผ่านมาจะค่อนข้างสูงขึ้น แต่ระดับความถี่ของเหตุการณ์ก็ยังไม่ถึงระดับที่เลยเพดานเกินกว่าหนึ่งร้อยเหตุการณ์ต่อเดือนเหมือนเช่นช่วงที่เคยเกิดเหตุรุนแรงสูงในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ความแปรปรวนอาจจะมีระดับความถี่ขึ้นได้เช่นกัน ต้องสังเกตว่าในช่วงเดือนที่เกิดความรุนแรงสูง ในรอบสามปีที่ผ่านมา มักจะมีการก่อเหตุโดยใช้ระเบิดสูงมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะเดือนพฤษภาคม 2557 และเดือนพฤษภาคม 2558 สิ่งที่ควรระวังคือความแปรปรวนจะเป็นพิษร้ายทำให้ภาวะคงที่และความสมดุลของสถานการณ์เสียไปหากมีความถี่และมีระดับสูงมากขึ้นตลอดทั้งปี 2559 นี้ ซึ่งจะทำให้เส้นแนวโน้มระดับความรุนแรงโดยรวมแลดูเสมือนรูปเส้นเชือกตกท้องช้างที่มีระดับสูง-ต่ำลง-สูงขึ้นอีก
18. ความท้าทายก็คือความรุนแรงปกติเป็นการสะท้อนสัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่มีความหมายทางการเมืองหรือเป็นภาพตัวแทน (Representation) ของการต่อสู้ทางการเมืองในกระบวนการสันติภาพ ถ้ามันหยุดอยู่ในกรอบความหมายเพียงแค่นี้ แต่หากถูกจัดการไม่ถูกต้อง ความรุนแรงจะเป็นตัวแทนของความรุนแรงในตัวของมันเองหรือมีชีวิตของมันเอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งยากที่จะคาดคะเน จึงต้องระวังพิษของความแปรปรวนเช่นนี้ด้วย
19. จุดศูนย์ถ่วงของการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์คือการมีพื้นที่กลางทางการเมือง มีภาคประชาสังคมที่มีอิสระและการใช้เหตุผลอย่างสันติในสนามของความขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลงไปสู่การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสารทางการเมืองที่ต้องผ่านพื้นที่สาธารณะที่เป็นกลางและไม่ใช้ความรุนแรง มีแต่พลังส่วนนี้เท่านั้นที่เป็นสัญลักษณ์ซึ่งแสดงความเป็นตัวแทนอันชอบธรรม ที่สามารถถ่วงดุลกับการใช้ความรุนแรงทุกแบบและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน
ชุดภาพประกอบ: การกระจายความรุนแรงในพื้นที่ภูมิศาสตร์ในช่วงเดือนที่มีความรุนแรง 2556-2558
ภาพที่ 8
ภาพที่ 9
ภาพที่ 10
ภาพที่ 11
[1] ข้อมูลจาก “ฐานข้อมูลเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้” (Deep South Incident Database) ศูนยเฝ้าระวัง สถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี, เมษายน 2559