Skip to main content

จรัญ มะลูลีม

 

          แนวคิดการจัดตั้งนครปัตตานีมิได้มีความขัดแย้งกับนโยบายของรัฐว่าด้วยการจัดองค์การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เน้นการสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด การจัดตั้งนครปัตตานีอาจถือได้ว่าเป็นการใช้การเมืองนำการทหาร โดยเน้นไปที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการบริหารในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างการเสริมสร้างความเข้าใจเพื่อเป็นเครื่องมือดำเนินการเป็นด้านหลัก

          การจัดตั้งนครปัตตานีเป็นเหมือนการสร้างนครแห่งสันติสุข ที่ชาวบ้านอยากได้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ภายใต้เอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และดูแลความมั่นคงปลอดภัยในชุมชนของตนเอง เช่น

          ทำอย่างไรที่จะให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปอเนาะและตาฎีกาที่มีอยู่ 2,497 แห่ง โรงเรียนทั่วไป 1,072 โรง วัด 334 วัดและมัสญิด 1,851 แห่ง ได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขบนพื้นฐานของการเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีศาสนิกสนทนา( I n te r f a i th ) มีการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเข้าด้วยกัน

          ที่สำคัญคือ การเสริมสร้างศักยภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและเลือกทางออกให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ฯลฯ

          ที่ผ่านมาสำหรับประเทศไทย แม้รัฐบาลจะพยายามให้สิทธิแก่พลเมืองในชาติเท่าเทียมกันแต่ประเทศไทยก็มิได้เป็นพหุสังคมอย่างแท้จริงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่มีศูนย์รวมอยู่ที่ส่วนกลางของประเทศยังคงต่อต้านเอกลักษณ์ทางสังคมของชาวไทยเชื้อสายมลายูอยู่ในหลายรูปแบบ

          ดังนั้น การค้นหาเอกลักษณ์ร่วมของคนในพื้นที่เช่นความเป็นคนพื้นที่ดั้งเดิมเหมือนกันและเน้นย้ำเอกลักษณ์ดังกล่าวให้เป็นเสมือนอุดมการณ์ที่สามารถทำให้ชนทุกกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่มีความรู้สึกร่วมกันว่าเป็นพวกพ้องเดียวกันจึงเป็นเรื่องจำเป็น

          อุดมการณ์ดังกล่าว จะผลักดันให้ชนทุกกลุ่มมีความต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ของตน

          นอกจากนี้ การส่งเสริมให้มีการยอมรับความเป็น "คนมลายู" ของชาวไทยเชื้อสายมลายูในพื้นที่ ทั้งที่เป็นการยอมรับในลักษณะที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

          อาทิ การส่งเสริมให้มีการยอมรับการใช้ภาษามลายูถิ่นในพื้นที่ให้มากขึ้น ส่งเสริมเรื่องความเข้าใจในวิถีชีวิตแบบอิสลาม การแสดงการยอมรับดังกล่าว จะเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่บรรยากาศแห่งการการสื่อสารที่ดีระหว่างกันก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน รวมทั้งจะต้องมีการส่งเสริมให้คนในพื้นที่และคนในส่วนอื่นของประเทศไทยมองความแตกต่างทางวัฒนธรรมและสังคมของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในลักษณะที่เป็นจุดเด่นมากกว่าจุดด้อย โดยมุ่งไปที่การชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างสามารถนำมาซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันได้

          ด้วยเหตุนี้ แนวคิดนครปัตตานีที่มุ่งหวังให้คนในพื้นที่มีโอกาสใช้วิถีชีวิตตามที่พวกเขาเลือกจึงได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง แม้ว่ารายละเอียดในเรื่องนี้ยังมิได้มีการนำเสนอให้เห็นอย่างเด่นชัดก็ตาม ในความเป็นจริงแนวคิดที่เป็นไปในแนวทางที่คล้ายคลึงกันนี้ได้ถูกนำเสนอมาแล้วในรูปของเขตการบริหารพิเศษ แต่ออกมาในรูปของข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาของสามจังหวัดภาคใต้

          ซึ่งในที่นี้ ผมขอนำเอาแนวคิดของคณะอนุกรรมาธิการสามัญ ยกร่างรายงานการศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้ของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้ของวุฒิสภา (ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง) มานำเสนอ

          ซึ่งถ้าความจำของผมยังดีคณะกรรมการชุดนี้มี พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพเป็นประธาน มี คุณทองใบ ทองเปาด์ เป็นประธานอนุกรรมาธิการสามัญ มีนักวิชาการหลายคนรวมทั้งตัวผมเองและอดีตนายทหารรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญรวมอยู่ด้วย

          ซึ่งผมพยายามจะนึกถึงชื่อของบุคคลเหล่านี้เพื่อนำมากล่าวถึง แต่ก็ยังนึกไม่ออกมาจนถึงปัจจุบัน

          แต่จำได้ว่านักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้มี รศ.ดร.อารง สุทธาศาสน์ รวมอยู่ด้วย ซึ่งเนื้อหาสำคัญแบ่งเป็นประเด็นได้ดังนี้สถานการณ์ทั่วไป

          ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คได้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว รัฐบาลทุกชุดและสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พยายามแก้ปัญหานี้มาโดยตลอด โดยการใช้งบประมาณกำลังคนและอุปกรณ์เครื่องมือเป็นจำนวนมากแต่การก่อความรุนแรงก็ยังไม่ทุเลาเบาบาง

          กลับตรงกันข้าม ในระยะหลังนี้สถานการณ์ต่างๆ ทวีความรุนแรงเข้มข้นเรื่อยๆ จนกระทั่งก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งในฝ่ายของรัฐและของประชาชนอย่างมากมายนับค่าไม่ถ้วน ดังที่ประจักษ์ชัดในขณะนี้แล้ว และในปัจจุบันนี้ไม่มีผู้ใดสามารถคาดการณ์อย่างมั่นใจได้ว่าปัญหาดังกล่าวจะทุเลาเบาบางหรือคลี่คลายกลับคืนสู่ภาวะปกติเมื่อใด โดยวิธีอะไร

          การที่สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทวีความรุนแรงเป็นลำดับ ทั้งๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทุ่มเทความพยายามในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอดนั้นย่อมแสดงให้เห็นอย่างกระจ่างชัดอย่างน้อยประการหนึ่งว่าวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ได้ปฏิบัติตลอดมานั้นใช้ไม่ได้ผล

          เมื่อเป็นเช่นนี้ถ้ายังใช้แนวทางการแก้ปัญหารูปเดิมต่อไป นอกจากจะไม่สามารถนำความสงบมาสู่ภูมิภาคนี้แล้ว ปัญหาความรุนแรงอาจจะทวีขึ้นเป็นลำดับ และในที่สุดอาจจะไปถึงขั้นแตกหักดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วหลายแห่งในโลก คือการแยกดินแดนหรือการแยกตัวเป็นอิสระ

          เมื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าแนวทางการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาไม่ประสบผล ย่อมมีความจำเป็นอยู่เองที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ปัญหาหาให้แตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืนถาวร ทางฝ่ายรัฐบาลเองนั้น นอกจากจะได้พยายามเปิดแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาแล้ว ยังได้ส่งเสริมให้ฝ่ายต่างๆ นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ดีและได้ผลอย่างกว้างขวางเสมอมา

          ด้วยความตระหนักในความสำคัญของปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ต่อประชาชนและประเทศชาติโดยรวม คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้วุฒิสภา จึงแต่งตั้ง "คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญยกร่างรายงานการศึกษาปัญหาความมั่นคงในจังหวัดภาคใต้" เพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวและนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่จะได้ผลยั่งยืนถาวรต่อรัฐบาลต่อไป

          ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยปัญหาสามจังหวัดภาคใต้อย่างทั่วถึงและครบถ้วนสมบูรณ์ตามกระบวนขั้นตอนที่เหมาะสมแล้ว คณะกรรมาธิการจึงได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาพร้อมด้วยรายละเอียดที่จำเป็นต่างๆดังต่อไปนี้วัตถุประสงค์

          คณะกรรมาธิการจะได้นำเสนอแนวทางการคแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามลำดับหัวข้อดังต่อไปนี้

          1. วิเคราะห์ความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจนของปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          2. วิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงที่นำไปสู่ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          3. วิเคราะห์กรอบทางกฎหมายและหลักการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          4. เสนอแนวทางการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืนถาวรบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้างต้นความหมายและขอบเขตของปัญหามจังหวัดชายแดนภาคใต้อันได้แก่จังหวัดสปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆของแผ่นดิน แต่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และมีเชื้อชาติและภาษาเดิมเป็นมลายู อีกทั้งเคยเป็นหน่วยอิสระทางการเมืองของตนเอง ดังนั้น ประชาชนคนไทยในสามจังหวัดภาคใต้จึงมีเอกลักษณ์ 2 ระดับพร้อมๆ กัน นั่นคือ

          เอกลักษณ์แห่งชาติซึ่งเป็นเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยเยี่ยงคนไทยโดยทั่วไป และเอกลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีชาติพันธุ์และภาษามลายู

          นี่เป็นข้อเท็จจริงพื้นฐานซึ่งไม่อาจที่จะปฏิเสธได้และบนข้อเท็จจริงข้อนี้เป็นที่มาของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นและจะเป็นพื้นฐานในการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 เม.ย. 2553