เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/2)
America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม
ดร.มาโนชญ์ อารีย์
โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ช่วงต้นเดือน เมษายน ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา สถานการณ์โลกตึงเครียดมากหลังจากสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้แสดงแสนยานุภาพของกองทัพด้วยการปฏิบัติการทางทหารอย่างดุเดือดในหลายพื้นที่ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์
เริ่มจากวันที่ 7 เม.ษ. สหรัฐฯ ระดมยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์ก 59 ลูก โจมตีฐานทัพอากาศเชย์รัต ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองฮอมส์ โดยอ้างว่าระบอบอัซสาดได้ใช้ฐานทัพนี้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดเคมีโจมตีพลเรือนซีเรียในเขตอิดลิบ (เป็นการตอบโต้อย่างรวดเร็วโดยไม่รอการสืบหาข้อเท็จจริงจากองค์กรใด ๆ ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก) ทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นมาก ต่อมาวันที่ 9 เม.ษ. ทรัมป์ได้ออกคำสั่งการส่งเรือรบจู่โจมนำโดยเรื่อบรรทุกเครื่องบินคาร์ลวินสัน มุ่งหน้าสู่คายสมุทรเกาหลี หวังจะข่มขู่และปรามการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือซึ่งก็ทำให้สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง ต่อมาในวันที่ 14 เม.ย. ได้ทิ้งระเบิดา Mother of All Bombs หรือเจ้าแม่แห่งระเบิดถล่มกลุ่มไอเอสในเมืองนานการ์ฮาร์ ประเทศอัฟกานิสถาน
จากความเคลื่อนไหวต่าง ๆที่กล่าวมา ทำให้เกิดความกังวลไปทั่วโลก โดยเฉพาะความหวั่นวิตกว่าอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและสงครามโลกในที่สุดซึ่งมีชนวนสำคัญอยู่ที่ซีเรียกับคาบสมุทรเกาหลี นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่าสหรัฐฯ ต้องการข่มขู่และส่งสัญญาณไปถึงฝ่ายตรงข้ามอย่างรัสเซีย จีน และเกาหลีเหนือ รวมทั้งอิหร่าน (ให้ยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์) อีกด้านหนึ่งก็ถือว่าได้โชว์หรือจัดแสดงนิทรรศการอาวุธ ทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่ามาทดลองให้ลูกค้าได้เลือกซื้อเลือกหากันไป
อย่างไรก็ตาม หากมองจากปัญหาสำคัญที่สหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่หรือปัญหาพันธมิตรตีตัวออกห่าง (ตามที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว) เป็นผลมาตั้งแต่สมัยของโอบาม่าและนโยบาย America First ของทรัมป์ การแสดงแสนยานุภาพทางทหารอย่างดุเดือดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็อาจจะตอบโจทย์ในแง่ของการส่งสัญญาณถึงพันธมิตรหลักของสหรัฐฯในภูมิภาคต่าง ๆ และกลุ่มประเทศที่ยังลังเลกับบทบาทของสหรัฐฯ ว่าสหรัฐฯ ยังจะเป็นตำรวจโลกต่อไป ที่สำคัญเป็นสัญญาณที่บอกว่าทรัมป์ไม่เหมือนกับโอบาม่าที่เขามองว่าอ่อนแอและไม่สามารถคุ้มครองพันธ์มิตรของอเมริกาได้ แต่ต่อไปนี้จะแสดงบทบาทของพี่ใหญ่ที่สนับสนุนพันธมิตรของตน โดยไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลของรัสเซีย ทั้งหมดนี้คือการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนจากกลุ่มประเทศพันธมิตรหลัก มากกว่าเพียงแค่ส่งสัญญาณข่มขู่เกาหลีเหนือ อิหร่าน หรือขั้วอำนาจคู่แข่งอย่างจีน
ถ้าการขยับทางทหารของสหรัฐฯ ครั้งนี้มุ่งหวังที่จะสร้างความเชื่อมมั่นให้กับพันธมิตรโดยเฉพาะในตะวันออกกลางหรือต้องการปรับความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ก็ถือว่าได้ผลมากเพราะหลังจากนั้นไม่นานเจ้าชายมูฮัมมัด บิน ซัลมาน ทรงเยือนสหรัฐฯและพบปะหารือกับทรัมป์ แล้วถึงกับเอยปากว่า “ทรัมป์คือมิตรแท้ของมุสลิม” (a true friend of Muslims) นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเลือกเดินทางไปซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศแรกหลังรับตำแหน่ง โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมืนด้วยการต้อนรับอันยิ่งใหญ่จากกษัตริย์ซัลมาน ที่สำคัญที่สุดคือได้ลงนามซื้อขายอาวุธกันเป็นมูลค่า 3.5 แสนล้านดอลล่าร์ ในส่วนของเกาหลีใต้ก็เข้าไปติดตั้งระบบป้องกันทางอากาศ THADD เป็นที่เรียบร้อย
ทั้งหมดนี้ ไม่ได้สะท้อนเฉพาะเป้าหมายของสหรัฐฯที่ต้องการเรียกความเชื่อมั่นจากพันธมิตรเก่าแก่เท่านั้น หากแต่มันชี้ให้เห็นว่า นโยบาย America First ในลักษณะที่เคยเข้าใจกันว่าสหรัฐฯ จะมุ่งความสนใจกับกิจการภายใน โดยไม่ไปแทรกแซงหรือมีบทบาทภายนอกหรือแม้แต่โดดเดี่ยวตัวเองนั้น คงเป็นไปไม่ได้แล้ว พูดง่าย ๆ คือ การสำแดงฤทธิ์เดชทางทหารในซีเรีย อัฟกานิสถาน และคาบสมุทรเกาหลีถือเป็น “จุดจบหรือไม่ก็จุดเปลี่ยนของนโยบาย America First”
การชู America First ในมิตินโยบายต่างประเทศ อาจเป็นเพียงแค่กลวิธีหาเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง เพราะว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ริพบลิกันแพ้การเลือกตั้งที่ผ่าน ๆ มาคือคนอเมริกันเบื่อสงครามและไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงภายนอก ซึ่งพรรคริพับริกันในยุคนั้นมักก่อสงครามอยู่เรื่อย ๆ
การที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งหรือการกลับมาของริพับลิกันอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรมากนัก เพราะการเมืองสหรัฐฯ ก็จะหมุนเวียนในลักษณะนี้อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มีความน่ากลัวอยู่ที่การคว้าชัยชนะครั้งนี้มีต้นทุนสูงมากเพราะมาจากการปลุกปั่นความคิดชาตินิยมขวาจัด กีดกันทางการค้า และที่สำคัญที่สุดคือการขายความหวาดกลัว กระพือความเกลียดชัง ต่อต้านอิสลามและการแบ่งแยกทางสังคม ดังนั้น การขึ้นมาของทรัมป์จึงค่อนข้างน่าจับตาด้วยกับลักษณะของวิธีการขึ้นสู่อำนาจและพฤติกรรมเฉพาะตัว ประกอบกับนโยบายสายเหยี่ยวของริพับลิกัน ส่วนผสมเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่อโลกมุสลิมคือสิ่งที่ต้องจับตากันต่อไป
อ่านตอนที่แล้ว
เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)