Skip to main content
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
 
 
          การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไปดูจะสำคัญโดดเด่นกว่าการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาหลายประการ เพราะในด้านหนึ่งมันเกิดขึ้นในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติชนิดที่สังคมการเมืองไทยไม่เคยประสบมาก่อน ผู้กำชัยชนะที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาบริหารการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จึงถูกคาดหวังทั้งให้ทำและไม่ทำบางอย่างจากแทบทุกฝ่าย
 
ความขัดแย้งที่ชายแดนใต้ก็เช่นกัน แม้ดูเหมือนว่าจะถูกจัดวางให้มีความสำคัญในระดับรองลงมา แต่บทบาทของรัฐบาลในการจัดการกับความรุนแรงก็สำคัญเสียจนกระทั่งว่าหลายพรรคการเมืองจำต้องหยิบยกนโยบายขึ้นมาประชันขันแข่งกันก่อนหน้าวันเลือกตั้ง กระทั่งสร้างประเด็นอภิปรายไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะบทสนทนาว่าด้วยการปรับโครงสร้างอำนาจการบริหารปกครอง การพูดคุยเพื่อสันติภาพ และการรื้อฟื้นและสถาปนาความยุติธรรมให้ผู้คนในพื้นที่สามารถสัมผัสได้จริง
 
ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่สัมพันธ์กับทิศทางของ “กระบวนการสันติภาพ” แทบทั้งสิ้น
 
          ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นใคร และจะเดินหน้าการดับไฟใต้อย่างไร จังหวะก้าวต่อจากนี้ เรื่องสำคัญอาจไม่ใช่การตั้งรับวิกฤตความรุนแรงเฉพาะหน้าและผลักดันการพัฒนาอย่างแยกส่วนดังที่ผ่านมา หากแต่คือเจตนารมณ์ทางการเมืองที่มุ่งมั่นผลักดัน “กระบวนการสันติภาพ” อย่างแน่วแน่ ซึ่งสิ่งนี้จะสะท้อนผ่านการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ภาคส่วนของสังคมได้ร่วมกันมีบทบาทหาทางออก อันเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดดัชนีของสันติภาพในอนาคต
 
          ก่อนวันเลือกตั้งราว 1 สัปดาห์ (27 มิถุนายน) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และเครือข่ายได้ร่วมกันจัดงานเสวนาผสมนิทรรศการ “แสงเงากลางไฟใต้; ภาพอนาคตและการเมืองชายแดนใต้” (คลิกดูกำหนดการ) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นการเปิดตัวหนังสือภาพ In Between; Restive South ของเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ ในขณะที่ช่วงท้ายก็มีวงเสวนาที่มีหัวข้อว่า “ไฟใต้หลังเลือกตั้ง: ภาพอนาคตที่ควรเป็น” ก็มีเนื้อหาแหลมคมน่าสนใจ เนื่องจากเป็นการเปิดอภิปรายโดยผู้คลุกคลีกับการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายสาธารณะคนสำคัญ โดยสะท้อนประเด็นแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ควรเพ่งพิจารณา
 
          ข้อเสนอและบทสนทนาที่เกี่ยวกับการสถาปนาความยุติธรรม การผลักดันการกระจายอำนาจ และกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ไม่ว่าใครจะนั่งตำแหน่งหัวโต๊ะขององค์กรฝ่ายบริหารควรต้องสนใจวางอยู่บนสมมติฐานเบื้องต้นว่า ประเด็นเหล่านี้นี่เองที่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะคลี่คลายความขัดแย้งที่รุนแรงให้ทุเลาลงไป หรืออย่างน้อยก็นำพาความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันไปยังพื้นที่การต่อสู้ต่อรองด้วยหนทางที่ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธห้ำหั่นกัน
 
          รายงานชุดนี้เป็นการเก็บประเด็นที่นำเสนอในการอภิปรายครั้งดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยในตอนแรกจะเป็นการนำเสนอของผู้อภิปรายเป็นรายคน ส่วนในตอนหลังจะเป็นการแลกเปลี่ยนขัดเกลาประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น
 
 
-กระจายอำนาจ-
 
 
 
เมธัส อนุวัตรอุดม
นักวิชาการประจำสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
คณะทำงานฝ่ายวิชาการ เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
 
ผมพูดในฐานะที่เป็น “คนนอก” แต่เป็นคนนอกที่เข้าไปทำงานกับเครือข่ายฯ ซึ่งอาจารย์ศรีสมภพ ก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ทำงานเรื่องการกระจายอำนาจ หลักๆ เรา (สถาบันพระปกเกล้า) อยากเข้าไปสนับสนุนให้ “คนใน” ทำงาน ถ้าทำอะไรได้ก็จะสนับสนุนกันไป วันนี้ผมจะพูดอยู่ 2-3 ประเด็น คือ ภาพในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจจะเป็นอย่างไร การกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีอนาคตหรือหมดอนาคต? ภาพอนาคตดังกล่าวนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ภาพ ได้แก่ ภาพแรก คือ ภาพการเคลื่อนไหวภายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอง ภาพที่สอง คือ ภาพของการเคลื่อนไหวของคู่ขัดแย้งในที่นี้ คู่ขัดแย้งหลักก็คือ รัฐกับกลุ่มขบวนการ และภาพสุดท้าย ภาพของการเคลื่อนไหวที่เชื่อมต่อกับสังคมใหญ่
 
๐ ปัตตานีมหานครและประชาสังคม
 
ก่อนที่จะพูดถึงภาพของการเคลื่อนไหว ผมอยากพูดถึงที่มาของการขบวนการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน ว่าเริ่มต้นมาได้อย่างไร มีสมมติฐาน และฐานคิดอย่างไร มุมมองหนึ่งที่มาจากการศึกษาของคนที่ทำงานเรื่องกระจายอำนาจ เรามองว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น หลักๆ แล้วเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา คู่ขัดแย้งหลักในที่นี้ก็คือรัฐไทยกับกลุ่มขบวนการฯ 
 
เมื่อเรามองความขัดแย้งเป็นแบบนี้ คำถามในใจของเรา คือ คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คิดอะไร? ต้องการอะไร? อยากจะได้อะไร? และอยากจะเห็นการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร? สิ่งนี้เป็นคำถามตั้งต้น
 
หลังจากนั้นเราก็เปิดเวที 50 เวที มีผู้เข้าร่วม 1,427 คน ทั้งพุทธและมุสลิม มีเครือข่ายจากหลายกลุ่มที่ร่วมกันทำ เราพยายามที่จะเข้าถึงและรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ทั้งกลุ่มเยาวชน อุสตาส โต๊ะครู ทหาร ตำรวจ ปกครอง ฯลฯ โดยหลักการที่ว่า “คนในทำ คนนอกหนุน”
 
สิ่งที่เราได้จาก 50 เวที คือ ความต้องการของประชาชน 8 ประการ (ดูร่างรายงานฉบับเต็มที่ เอกสารเพื่อการปรึกษาหารือ ร่างที่ 7 - ปัตตานีมหานครภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความพยายามในการแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) สิ่งนี้เราจะใช้เป็นฐานในการมองภาพอนาคต แต่ก็ต้องเน้นย้ำด้วยว่านี่คือความต้องการส่วนหนึ่งของประชาชนในพื้นที่ เพราะว่าเราทราบดีว่าการฟังความคิดเห็น 50 เวทีเองก็ก็มีข้อจำกัดหลายประการ ความต้องการของประชาชนทั้ง 8 ข้อ มีดังนี้
 
ประการแรก พวกเขาต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังอยู่ภายใต้รัฐไทย
 
ประการที่สอง คือ มีความเป็นธรรม มีการปกครองที่เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติคำนึงถึงอัตลักษณ์ ทั้งของคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อยในพื้นที่
 
ประการที่สาม เกี่ยวกับผู้บริหารสูงสุด เสียงที่สะท้อนในเวทีบางส่วนไม่ได้บอกว่าเขาอยากจะให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีบ้างที่บอกว่าอยากเลือกตั้งผู้ว่าหรือผู้บริหารสูงสุด แต่หัวใจก็คืออยากได้คนในพื้นที่เป็นผู้นำของพวกเขา ซึ่งจะต้องเป็นคนที่เข้าใจวิถีชีวิตและความต้องการของท้องถิ่นจริงๆ นอกจากนี้ ยังต้องการให้จำนวนข้าราชการในท้องถิ่นนั้นสอดคล้องกับสัดส่วนของคนในพื้นที่
 
ประการที่สี่ มีกลไกทีเอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ จริงๆ กลไกเรามีอยู่แล้ว ในแง่นี้คือการกระจายอำนาจปกติอยู่แล้ว แต่พวกเขาต้องการเน้นก็คือต้องเป็นกลไกที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของอำนาจจริงๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขามีอำนาจในการจัดการจริงๆ นี่คือจุดที่ต่างและเป็นจุดที่เราได้จากเวที
 
ประการที่ห้า มีระบบการคัดเลือก คัดกรอง ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่สามารถที่จะคัดให้บุคคลที่มีคุณธรรมเข้าสู่ระบบได้
 
ประการที่หก มีการใช้ 2 ภาษา เป็นข้อเสนอที่มีมานานแล้ว ทั้งภาษาไทยและภาษามลายูควบคู่กันไป เป็นข้อเสนอส่วนหนึ่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ด้วย
 
ประการที่เจ็ด หลักสูตรการศึกษาบูรณาการสายสามัญและสายศาสนา รวมถึงมีการสอนวิชาภาษามลายูอย่างเป็นระบบ ถามว่าต้องสอนเป็นภาษามลายูหรือไม่ ข้อมูลจากเวทีที่ได้มาตอบว่าไม่จำเป็น อาจสอนเป็นภาษาไทยได้ แต่อยากให้มีวิชาภาษามลายูในหลักสูตรอย่างเป็นระบบ
 
และประการสุดท้าย บังคับใช้กฎหมายอิสลามเฉพาะกับคนมุสลิม
 
เมื่อเครือข่ายฯ ได้สังเคราะห์ผลออกมาเป็นอย่างนี้ ปรากฏว่าไปสอดคล้องกับข้อเสนอของหะยีสุหลง ที่เคยเสนอมาตั้งแต่ 60 ปีที่ผ่านมาโดยไม่ได้ตั้งใจ มีคนถามว่า 60 ปีผ่านไปมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง มีอะไรที่เกิดขึ้นจริงได้แล้วบ้าง ก็ได้แต่หวังว่านี่คือภาพอนาคตในเชิงเนื้อหาว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการ
 
อย่างไรก็ตาม เราตระหนักดีว่านี่คือเสียงส่วนหนึ่ง คำถามก็คือแล้วเสียงส่วนใหญ่ จะเหมือนหรือต่างกับเสียงส่วนหนึ่งที่เราได้จาก 50 เวทีหรือไม่? แล้วเราจะขยายวงจากเสียงส่วนหนึ่งไปเป็นเสียงส่วนใหญ่ได้อย่างไร? เป็นคำถามที่ทางเครือข่ายฯ ตั้งคำถามกับตัวเองพยายามผลักดันให้เกิดจากเสียงส่วนหนึ่งให้เป็นเสียงส่วนใหญ่ให้ได้
 
ถัดไปคือรูปแบบการปกครองใดสามารถตอบสนองกับสิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชนได้ทั้ง 8 ข้อ (กรุณาคลิกดูแผนภาพข้อเสนอโครงสร้างปัตตานีมหานคร) เราไม่ได้มีรูปแบบการปกครองใดเป็นพิเศษในใจ เราเอาฐานของความต้องการของประชาชนเป็นตัวตั้ง แล้วรูปแบบใดค่อยมาออกแบบกันและร่วมคิดกัน สิ่งที่เครือข่ายเสนอ คือ “ปัตตานีมหานคร” ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเพียงตุ๊กตาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงซึ่งกันและกัน ถกเถียงในส่วนของคนที่เกี่ยวข้อง ถกเถียงในส่วนของสังคม เปิดประเด็นให้มองว่า นี่อาจจะเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ถามว่าความเป็นไปได้ในอนาคตของปัตตานีมหานคร ในฐานะที่เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ นั้นมีอยู่ 4 หนทาง นั่นคือ ทางแรก ยังเป็นข้อเสนอที่อยู่บนกระดาษเหมือนเดิม ทางที่สอง ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายให้สภาพิจารณา ทางที่สาม ให้รัฐบาลเสนอร่างกฎหมายเอ หรือทางสุดท้าย ให้ ส.ส. รวมตัวกันเข้าชื่อเสนอ ที่จริงแล้วก็มีความเป็นไปได้เพียงเท่านี้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
 
๐ กระจายอำนาจที่ชายแดนใต้ในอนาคต
 
ก่อนที่จะมองภาพอนาคต ผมมองว่าปัจจุบันมันเป็นภาพแบบนี้ ปัจจุบันเป็นภาพที่มันวุ่นวาย (ภาพประกอบที่ 1) เหมือนที่ทุกท่านเห็น มองว่าเป็นภาพที่มันวุ่นวาย ไร้ระเบียบ แต่ก็ยังมีกลุ่มประชาสังคมอยู่ข้างนอก ที่ทำหน้าที่คอยตบให้เข้ารูปได้ ประชาสังคมที่ว่านี้จะก่อรูปอะไรบางอย่างที่ทำให้ความยุ่งเหยิงเหล่านี้ไปในทิศทางที่ควรจะเป็น
 
ภาพประกอบที่ 1

ความยุ่งเหยิงที่เป็นเส้นสีแดงๆ นั้นอาจหมายถึงความหวาดระแวงของสังคมใหญ่ในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า “ปัตตานีมหานคร” คืออะไร? “นครปัตตานี” คืออะไร? “นครรัฐปัตตานี” คืออะไร? ส่วนที่เขียนไว้ว่า “อนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม” นั้น คือ ความขัดแย้งแย่งชิงกันระหว่างกลุ่มอำนาจ นอกจากนี้ ยังมีบริบทของ “การเมือง 2 ขั้ว ไร้เสถียรภาพ” และ “ผู้เกี่ยวข้องยังเห็นต่าง” ซึ่งอย่างหลังหมายถึงความเห็นที่แตกต่างกันในกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนนอกพื้นที่และคนในพื้นที่ เห็นต่างทั้งภายในภาครัฐเองและภายในขบวนการ ตลอดจนภายในกลุ่มประชาสังคมด้วยกันเอง ทั้งหมดเหล่านี้ยังเห็นแตกต่างกันอยู่ว่าข้อเสนอในทำนองนี้เป็นทางออกจริงหรือไม่? และที่สำคัญภายในขบวนการฯ บางส่วนก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้
 
เมื่อกล่าวถึงภาพอนาคตของการเคลื่อนไหวภายใน ดังที่เกริ่นไปแล้วว่าผู้เกี่ยวข้องยังมองปัญหาด้วยมุมที่ต่างกัน สิ่งที่ภาคประชาสังคมต้องทำ คือต้องขยายวงการถกเถียงในเรื่องนี้ให้ครอบคลุมในทุกภาคส่วนให้ได้ สื่อสารกับสังคมใหญ่ให้เริ่มเห็นว่าทางการกระจายอำนาจเป็นทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหา
 
ประเด็นถัดไปก็คือ เสียงสะท้อนจากกลุ่มขบวนการฯ บางส่วนที่มองว่าการเคลื่อนไหวผลักดันข้อเสนอนี้เป็นการฉวยโอกาส พวกเขาเป็นคนปลูกต้นไม้ แต่เครือข่ายเหล่านี้เข้ามาเก็บเกี่ยวผลเอาไปกิน ซึ่งไม่แปลกที่พวกเขาจะคิดอย่างนี้ แต่สิ่งที่เครือข่ายประชาสังคมจะต้องทำก้นคือการเปิดพื้นที่ที่จะสื่อสารกับกลุ่มขบวนการฯ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน เปิดพื้นที่ให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการและรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มขบวนการฯ เท่านั้น แต่ต้องทำให้ทุกๆ คน ที่เกี่ยวข้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งและเป็นเจ้าของที่ว่าด้วยเช่นกัน
 
เราจะทำอย่างไรที่จะเปิดพื้นที่ให้กลุ่มขบวนการฯ เข้ามาในกระบวนการได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่อาจารย์ศรีสมภพจะคุยกันต่อไป ซึ่งก็คือการพูดคุย (dialogue)
 
ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงและข้อท้าทายของกลุ่มประชาสังคม ก็คือ การเคลื่อนไหวตรงนี้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวของกลุ่มชนชั้นนำ (elite) เท่านั้น ทั้งที่เป็นอาจารย์หรือเป็นปัญญาชน ในขณะที่ชาวบ้านเองก็ไม่รู้เรื่องเลย ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่เครือข่ายและคนที่ทำงานต้องขยับขยายเพื่อสร้างพื้นที่ถกเถียงให้ครอบคลุมมากที่สุดและลงไปถึงฐานชุมชนให้ได้ ไม่เช่นนั้นพลังการต่อรองจะไม่เกิดขึ้นเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น
 
ประเด็นถัดมาที่สำคัญ คือ หลายฝ่ายไม่เชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริง ทั้งกลุ่มขบวนการฯ บางส่วนเองที่แม้จะเห็นว่าข้อเสนอนี้น่าจะเป็นทางออกได้ แต่ก็มองไม่เห็นความเป็นไปได้ในความเป็นจริง ปัญหาตรงจุดนี้ภาคประชาสังคมคือทางออก โดยเราจะต้องเกาะกลุ่มกันให้แน่นและหนุนเสริมกันและกัน ถ้ามันระเบิดจากข้างในออกมา ข้างนอกก็ต้องฟัง ในขณะเดียวกันต้องมีการสื่อสารในวงเล็กกับกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม เพื่อให้เห็นว่าข้อเสนอนี้ไม่ได้หลุดไปจากกรอบรัฐธรรมนูญหรือหลุดไปจากประเทศไทย
 
นอกจากนี้ เราจะผลักดัน “พื้นที่เย็น” ให้เป็นมหานครก่อนก็เป็นไปได้ เช่น เชียงใหม่มหานคร หรือในกรณีของมหานครราชสีมา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยเสนอไว้ ประเด็นสุดท้ายที่การเคลื่อนไหวภายในที่เครือข่ายประชาสังคมต้องคิด คือ ปัตตานีมหานครถูกมองว่าเป็นงานที่รับมาจากนักการเมืองและขยับคู่กันไป จริงๆ คงไม่ต้องพูดอะไรมาก ใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการทำงานขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมตรงจุดนี้จะมีความต่อเนื่องและยั่งยืนมากน้อยเพียงใด อย่างที่เรียนว่าปัตตานีมหานครไม่ได้เป็นรูปแบบที่ตายตัว เป็นตุ๊กตาที่เปิดโอกาสให้ถกเถียงกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่เป็นงานของเครือข่ายที่จะหมุนไปได้เรื่อยๆ
 
๐ คู่ขัดแย้งหลักและพื้นที่กลาง
 
ในส่วนของการเคลื่อนไหวภายในระหว่างคู่ขัดแย้ง การเคลื่อนไหวระหว่างคู่ขัดแย้ง เราจะเห็นว่ารัฐกับขบวนการเป็นขั้วขัดแย้งหลัก และมีตัวที่สำคัญคือภาคประชาสังคมอยู่ตรงกลางข้างล่าง (ภาพประกอบที่ 2) จะเห็นว่าปีกหนึ่งคือ การรวมศูนย์อำนาจ อีกฝั่งหนึ่งคือ เอกราช แต่ละคู่ขัดแย้งยืนกันคนละฝั่ง แน่นอนตอนนี้เป็นแบบนี้ สิ่งที่ภาคประชาสังคมพยายามทำ คือ พยายามที่จะให้เกิดพื้นที่ตรงกลางขึ้นมา เราจะเห็นมีตั้งแต่การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ขั้วหนึ่ง แต่ตรงกลางจะไล่มาตั้งแต่การกระจายอำนาจตามระบบปกติที่ยังคงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามปกติ ต่อจากนั้นก็มีการกระจายอำนาจที่มีลักษณะเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และต่อจากนั้นคือเขตปกครองพิเศษ ในขณะที่อีกขั้วหนึ่งคือ คือ เป็นเอกราช
 
ภาพประกอบที่ 2

ตามแผนภาพนี้ ขบวนการฯ ยืนอยู่ฝั่งเอกราช อย่างน้อยก็เป็นอุดมการณ์ที่ประกาศ รัฐยืนอยู่ฝั่งรวมศูนย์ เราจะเห็นเส้นสีแดงที่วางเป็นกรอบซึ่งก็คือ พื้นที่ต่อรอง พื้นที่ต่อรองดังกล่าวนี้อยู่ระหว่างการกระจายอำนาจในองค์กรปกครองท้องถิ่นธรรมดา รูปแบบพิเศษ หรือเขตปกครองพิเศษ เหล่านี้ คือ ขอบเขตพื้นที่การต่อรองระหว่างรัฐกับขบวนการ สิ่งที่ภาคประชาสังคมทำ ก็คือ เปิดพื้นที่ทางการเมือง คือ เส้นสีเขียวด้านล่าง ผมคิดว่าภาคประชาสังคมต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้หมด รวมถึงเอกราชด้วยก็ได้ ถ้าอยากจะพูด ถ้ารู้สึกว่าพูดแล้วนี่คือสิ่งที่ตัวเองต้องการ ภาคประชาสังคมต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้พูด
 
แม้ว่าในความเป็นจริงการเปิดพื้นที่ดังกล่าวก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อย กล่าวคือคงไม่มีพื้นที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถึงอย่างนั้น หากภาคประชาสังคมทำได้ โดยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้หมด ตั้งแต่ขั้วหนึ่งไปสุดอีกขั้วหนึ่ง สิ่งนี้จะทำให้พื้นที่แต่ละฝ่ายเลือกจะใช้ความรุนแรงหดไป ความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรงก็จะหมดไป น้อยลง ลดน้อยลง มีพื้นที่ที่ให้พูดอย่างสันติ และมีพื้นที่ที่ภาคประชาสังคมจะขับเคลื่อนผลักดันไปได้ พร้อมทั้งสร้างอำนาจต่อรองกดดันทั้งรัฐและขบวนการฯ ให้หันมาใช้สันติวิธี
 
เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน (ก่อนวันเลือกราวตั้ง 1 สัปดาห์) หากเราลองพิจารณาว่าแต่ละพรรคการเมืองอยู่ตรงไหนในมุมมองดังกล่าว เราจะพบว่า ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา จะเอียงมาทางด้านรวมศูนย์และกระจายอำนาจตามปกติ ในขณะที่เพื่อไทยจะอยู่โดดออกมา โดยมีความหวังใหม่ แทนคุณแผ่นดินอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกัน ส่วนมาตุภูมิและชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินจะอยู่กึ่งกลาง (ภาพประกอบที่ 3) ตำแหน่งของนโยบายพรรคเหล่านี้สะท้อนว่าพรรคการเมืองนั้นมีความโน้มเอียงไปทางไหน จะมีพื้นที่ต่อรองจะอยู่ตรงไหน
 
ภาพประกอบที่ 3

จะเห็นว่าเพื่อไทยจะโดดออกมา เนื่องจากเพื่อไทยเสนอนครปัตตานี เช่นเดียวกับพรรคความหวังใหม่ ในขณะที่พรรคมาตุภูมิยังก้ำๆ กึ่งๆ เพราะเสนอให้มีการจัดตั้งทบวงชายแดนใต้ โดยให้มีผู้บริหารมาจากคนในพื้นที่ แต่ก็ไม่ปฏิเสธเรื่องมหานคร ส่วนพรรคประชาธรรมอยู่อีกมุมหนึ่งพร้อมมีเครื่องหมายคำถาม เพราะไม่แน่ใจว่ามีนโยบายอย่างไร เพราะดูจากนโยบายที่ระบุว่ามีการบริหารการปกครองที่ต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นได้กว้างมาก
 
๐ การขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อกับสังคมใหญ่
 
การเคลื่อนไหวกับสังคมใหญ่มักจะเชื่อมโยงกับคำถามที่ว่าข้อเสนอที่ว่าด้วยการกระจายอำนาจในลักษณะนี้ (ปัตตานีมหานคร) จะเป็นได้จริงหรือไม่? จริงๆ แล้ว หากมองเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เราอาจพบว่าจะติดล็อคเยอะแยะไปหมด แต่หากเราเปิดออกไปและมองไปทั่วประเทศจะพบว่ามีการเคลื่อนไหวอยู่ทั่วประเทศ เช่น เครือข่ายจังหวัดจัดการตัวเอง 26 จังหวัด ภาคเหนือมี 8 จังหวัด ภาคอีสานมี 8 จังหวัด ภาคกลางมี 5 จังหวัด และในภาคใต้เองอีก 5 จังหวัด ซึ่งยังไม่รวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เครือข่ายเหล่านี้เคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้ “จังหวัด” หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ “ท้องถิ่น” สามารถจัดการตนเองได้ ซึ่งในแง่ของการนิยามความหมายแล้วคงมีอยู่อย่างหลากหลาย แต่โดยพื้นฐานการคิดเรื่องนี้เพื่อการขับเคลื่อนแล้วก็คือความต้องการให้ประชาชนมีสิทธิ มีเสียง มีส่วนจริงๆ ในการใช้อำนาจ บางคนก็บอกว่าต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่า ซึ่งไปสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (ดูรายงาน ปรับตัวเพื่อรับมือ: เปิดรายงานคณะกรรมการปฏิรูป "ข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ") ที่ต้องการที่จะยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค เช่นเดียวกับเครือข่ายประชาสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องการกระจายอำนาจในชายแดนใต้ สื่อมวลชน และสภาพัฒนาการเมือง ภาพเหล่านี้สามารถทำให้เห็นอย่างคร่าวๆ ได้ว่าการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ล้วนเชื่อมโยงกันหมด และกระจายตัวไปในขอบเขตทั่วประเทศ
 
ในเวทีที่เกี่ยวกับนโยบายการกระจายอำนาจก่อนหน้าการเลือกตั้งวันเลือกตั้ง (ในรายการนับถอยหลังเลือกตั้ง ’54 หัวข้อ “กระจายอำนาจ กระจายโอกาสทำกิน” ดูเนื้อหาข่าวที่ “กก.ปฏิรูปจี้ พรรคการเมืองทำให้จริงเรื่องการกระจายอำนาจ”) ทางพรรคประชาธิปัตย์ โดยคุณชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ที่จะนำเสนอมหานครราชสีมา มหานครขอนแก่น มหานครหาดใหญ่ ในขณะที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสนอมหานครปัตตานี ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคมก็เสนอเชียงใหม่มหานคร อำนาจเจริญมหานคร และในกรณีปัตตานีมหานครก็เช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้คือทิศทางที่มุ่งไปสู่การจัดการตัวเอง ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประชาสังคม
 
ผมอาจจะมองโลกในแง่ดีไปนิดนึง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและมีความเคลื่อนไหวจริง ทางเครือข่ายเชียงใหม่มหานครตั้งเป้าที่จะยื่นร่างกฎหมายเข้าสู่สภาปี 2555 ถ้าพื้นที่อื่นๆ เกิดไปก่อน ในกรณีปัตตานีที่จะเกิดตามมาอาจมีความเชื่อมั่นในระดับหนึ่ง
 
สุดท้ายคือภาครัฐต้องสนับสนุนภาคประชาสังคม อย่าดึงเรื่องเหล่านี้ไปทำเอง แต่ต้องเปิดให้ประชาสังคมยื่นกฎหมายเข้าสภา ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยก็ปล่อยให้ประชาชนจัดการกันเอง จังหวัดไหนอยากได้ก็เดินหน้าไป แต่จังหวัดไหนไม่พร้อมก็ไม่ต้องทำอะไร
 
(อ่านบทสนทนาแลกเปลี่ยนในตอน 2)
 
 
-พูดคุยเพื่อสันติภาพ-
 
 
 
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)
ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)
 
 
ผมจะพูดใน 3 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ ประเด็นแรก เริ่มจากสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องของความขัดแย้งความรุนแรงที่จะนำมาสู่การประนีประนอม หรือนำมาสู่การลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ประเด็นที่สอง เกี่ยวกับกระบวนการในแง่ของการเจรจาในฐานะที่เป็นการหาทางออก และประเด็นที่สาม บทบาทของภาคประชาสังคมในกระบวนการเจรจา
 
๐ ถึงปัจจุบัน: คุณภาพของความรุนแรง
 
เริ่มจากประเด็นแรก สรุปสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อจะทำให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมดก่อน ฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ที่ได้รวบรวมไว้ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึง 16 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นแล้ว 10,891 ครั้ง มีคนตายบาดเจ็บประมาณ 12,536 ราย (ภาพประกอบที่ 4) เฉพาะผู้เสียชีวิต 4,750 ราย และผู้ที่บาดเจ็บ 7,786 ราย
 
ภาพประกอบที่ 4

นอกจากนี้ ภาพรวมของการประมวลเหตุการณ์ล่าสุด จากข้อมูลชี้ให้เห็นแนวโน้มเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่ภาพรวมเหตุการณ์หลังปี 2550 ถึงปี 2551 เหตุการณ์ความไม่สงบดูเหมือนว่าจะลดลง (ภาพประกอบที่ 5) รัฐบาลเองก็พูดอย่างนั้นและข้อมูลก็ชี้ให้เห็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งเราก็ต้องยอมรับ อาจเนื่องมาจากมีมาตรการหลายอย่างทั้งทางการทหาร กฎหมาย และการควบคุมอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มของจำนวนเหตุการณ์จะลงมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้หายไป กลับเป็นลักษณะของการลงแล้วกระดกขึ้น หรือขึ้นๆ ลงๆ ปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้น บางครั้งก็จะสูงโด่งขึ้นมา อันนี้เป็นลักษณะที่เกิดขึ้น
 
ภาพประกอบที่ 5

ภาพประกอบที่ 6

ถ้าดูอีกแง่หนึ่ง โดยมองในจากจำนวนผู้ไดรับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งก็จะพบว่ามีความสูญเสียทุกฝ่ายพลเรือน ทหาร และตำรวจ และจากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เราจะพบว่าการแกว่งไกวของจำนวนผู้ที่สูญเสียทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตนั้นมีอยู่สูงกว่าการแกว่างไกวของจำนวนครั้งของเหตุการณ์ กล่าวคือ มีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ ที่สูงกว่า (กรุณาเปรียบเทียบภาพประกอบที่ 5 และ 6)
 
เมื่อดูสัดส่วนของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ (ภาพประกอบที่ 7) จากภาพจะเห็นได้ว่าส่วนที่เป็นสีแดง คือ จำนวนของผู้ที่ที่เสียชีวิต จำนวนผู้เสียชีวิตรายเดือนปกติแล้วจะมีความคงที่ไม่ค่อยเปลี่ยนมากนัก ไม่ว่าจะหลังปี 50 หรือ 51 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พบว่าจำนวนเหตุการณ์ลดลง ในขณะที่จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บก็แกว่งมากขึ้น (ส่วนที่เป็นลายเส้นสีน้ำเงิน) เนื่องจากยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอดเวลา ในแง่ของการวิเคราะห์เราจึงมองว่าเป็นความรุนแรงเชิงคุณภาพที่เกิดขึ้นในระยะหลัง
 
ภาพประกอบที่ 7

ในขณะเดียวกัน เราก็พบว่าความไม่แน่นอนของสถานการณ์ยังเห็นภาพอยู่ตลอดเวลา ข่าวการยิง การระเบิด และการฆ่ารายวันจากเหตุการณ์ความไม่สงบจะเกิดขึ้นตลอดเวลาในระยะหลัง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการการป้องกัน การใช้กำลังทหาร การใช้กฎหมายพิเศษ และให้อำนาจเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมากในการจัดการนั้นควบคุมเหตุการณ์ได้ในระดับหนึ่ง จากนั้นแล้วยังมีสภาพการณ์ของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขึ้นๆ ลงๆ
 
ภาพถัดไปเป็นจำนวนเหตุการณ์ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตเป็นรายเดือน (ภาพประกอบที่ 8) จะเห็นได้ว่าเส้นสีน้ำเงินที่เป็นจำนวนเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มลดลง แต่จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ยังไม่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังคงแกว่งขึ้นแกว่งลงอยู่ ถึงแม้ว่าจะลดลงมาส่วนหนึ่ง แต่ว่ามันก็ไม่เห็นภาพที่ชัดเจน ผมเคยลองวิเคราะห์ในทางสถิติถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้พบว่ายังไม่ค่อยสัมพันธ์กันมากนักกับเหตุการณ์ก่อนและหลังปี 50 แสดงให้เห็นว่าความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ยังมีอยู่
 
ภาพประกอบที่ 8

อีกภาพหนึ่ง จะพบว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตจะเป็นพลเรือน (ภาพประกอบที่ 9) ในขณะเดียวกัน เมื่อดูการสูญเสียของพลเรือนเป็นรายปีแล้ว จะพบว่าจำนวนผู้สูญเสียยังแกว่งไปแกว่งมาเช่นกัน (ภาพประกอบที่ 10) เมื่อดูโดยภาพรวมแล้วก็สะท้อนให้เห็นข้อคิดที่ว่าในสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อหรือในภาษาวิชาการจัดการความขัดแย้งที่เรียกว่า Protracted Conflicts ซึ่งหมายถึงความขัดแย้งที่ไม่ว่าเกิดที่ไหนในโลก เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มีความน่ากลัวตรงที่ไม่สามารถหยุดได้และพร้อมจะกลับมาอยู่เรื่อยๆ สถานการณ์จะขึ้นๆ ลงๆ (ภาพประกอบที่ 11)
 
ภาพประกอบที่ 9

ภาพประกอบที่ 10

ภาพประกอบที่ 11

มาตรการที่รัฐทำตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา คือ ความพยายามจะลดความเข้มข้นของเหตุการณ์ความรุนแรง (de-escalate) แต่ก็สามารถลดได้ในระดับหนึ่ง เพราะก็ยังมีภาวะที่ขึ้นๆ ลงๆ ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้องมองย้อนกลับไปว่าตัวปัญหาของความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากอะไร และจะแก้อย่างไร ถ้าหากเราลดความรุนแรงไม่ได้ ก็ต้องดูว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหาจริงๆ
 
๐ มุ่งไปยังสาเหตุรากเหง้า
 
ดูจากสถิติการเสียชีวิตของพลเรือน (ภาพประกอบที่ 12) และสถิติของการใช้ระเบิด (ภาพประกอบที่ 13) แล้ว จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มขึ้นๆ ลงๆ อยู่กระทั่งถึงปัจจุบัน เราอาจเรียกว่าลักษณะของความขัดแย้งทำนองนี้ว่าเป็น ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรัง (Protracted Conflicts) คือ เป็นความขัดแย้งที่ไม่หยุดลง ความยืดเยื้อเรื้อรังของสิ่งเหล่านี้ดูจากการที่เหมือนจะมีเส้นๆ หนึ่งที่เคลื่อนไปแล้วตกลง หลังจากนั้นก็กระดกขึ้น เป็นเส้นที่มีความต่อเนื่องบนพื้นฐานของความคงที่ของสถานการณ์ความรุนแรง
 
ภาพประกอบที่ 12

ภาพประกอบที่ 13

การแก้ไขปัญหาจะต้องเป็นการแก้ปัญหาเชิงรากเหง้า หรือว่าสิ่งที่เป็นสาเหตุรากเหง้า(root cause) ของเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมด ที่คุณเมธัสพูดถึงประเด็นปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ฯลฯ เป็นเรื่องใหญ่ที่ถือว่าเป็นปมของปัญหาอีกหลายๆ อย่าง ที่จะต้องแก้จากจุดนี้ แต่ดูโดยภาพรวมแล้วประเด็นปัญหาอัตลักษณ์กลายเป็นเรื่องใหญ่กลายเป็นสิ่งที่เป็นสาเหตุรากเหง้าของปัญหาใหญ่ๆ อื่นๆ ที่ตามมา ความพยายามในการแก้ไขปัญหาต้องดูที่รากเหง้านี้
 
ปัญหารากเหง้าทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาที่สำคัญ คือว่า ในแง่ของการจัดการของรัฐที่ตามมา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม โครงการเศรษฐกิจ โครงการพัฒนา ไม่ว่าอะไรต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะลดความรุนแรง หรือแม้แต่ใช้มาตรการทางกฎหมายที่ลงไปควบคุมไม่สามารถลดความรุนแรงได้ เพราะว่ามันจะกลายเป็นเรื่องของความไร้ความชอบธรรมของรัฐในการจัดการปัญหา
 
๐ จุดเปลี่ยนและช่องทางทั้งสาม
 
โมเดลของการจัดการความขัดแย้งซึ่งเป็นของ ดร.โนเบิร์ธ โรเปอร์ส (Norbert Ropers) ที่เคยใช้ในหลายๆ ประเทศ (ภาพประกอบที่ 14) เราก็เห็นว่าหากเหตุการณ์ความขัดแย้งมันเกิดขึ้น โดยมีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ แล้วจะพบว่ามีอยู่จุดหนึ่งที่เราเรียกว่าจุดเปลี่ยน (turning point) ของเหตุการณ์จะนำมาสู่การที่ทุกๆ ฝ่ายของความขัดแย้งถูกบีบจากสถานการณ์ให้หาทางออกร่วมกัน
 
ภาพประกอบที่ 14

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการที่มีข้อเสนอเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับปัญหาหลายทาง (Tract) แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหลักใหญ่อยู่ 3 ทาง (แทร็ค) ด้วยกัน การใช้วิธีการนำเสนอทางเลือกของการแก้ปัญหาที่มีอยู่หลายช่องทางเหล่านี้จะนำไปสู่การเจรจาหรือการพูดคุยกัน เพื่อจะหาทางออก และเพื่อลดความขัดแย้งหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้น หลังจากขั้นตอนการเจรจาแล้ว ก็จะมีการตกลงกันหาทางที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน
 
นี่คือขั้นตอนที่โดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นในทุกประเทศ ไม่ว่ากระบวนการเหล่านั้นจะล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จก็ตาม ในส่วนของบ้านเรา จริงๆ แล้วยังอยู่ในขั้นตอนก่อนที่จะถึงจุดเปลี่ยนที่ว่านี้ หรืออาจจะอยู่ในช่วงนี้ก็ได้ ซึ่งเรายังไม่รู้ จนกว่าภายในปีสองปีนี้เราถึงจะเห็น มันจะเข้าไปสู่ “กระบวนการเจรจาพูดคุย” (peace dialogue) หาทางออกเพื่อจะนำไปสู่ “การเจรจา” (peace negotiation) อีกทีหนึ่ง
 
ในตอนนี้หากว่ามีการพูดคุยในลักษณะอย่างนี้ เราอย่าเพิ่งเรียกว่ามีการเจรจา จริงๆ แล้วยังไม่มีการเจรจาจริงๆ เกิดขึ้น จะมีก็แต่การเตรียมการเพื่อนำไปสู่การเจรจาจริงๆ ซึ่งเราเรียกว่าเป็นช่วง pre-negotiation เราไม่รู้ว่าเรามาถึงจุดนี้หรือเปล่า อาจจะยังไม่ถึงก็ได้ แต่ว่าเราพยายามผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ คือ การเดินไปพร้อมกันทั้ง 3 เส้นทางด้วยกัน (ภาพประกอบที่ 15)
 
ภาพประกอบที่ 15

สามเส้นทางที่พูดถึงนี้ ได้แก่ แทร็คที่ 1 (Track 1) คือ การพูดคุยเจรจากับตัวแสดงหลักของความรุนแรงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายขบวนการใต้ดิน หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ทั้งสองฝ่ายเป็นคู่ต่อสู้หลัก สองฝ่ายนี้ต้องพูดคุยกันเพื่อจะหาทางออก ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง โดยจะมีมาตรการที่ตกลงกันว่าจะจัดการอย่างไร
 
ส่วนแทร็คที่ 2 คือ กระบวนการที่องค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มผู้นำ ปัญญาชน เอ็นจีโอ หรือกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ที่เป็นภาคพลเมืองหรือภาคสังคมจะเป็นคนที่สร้างพื้นที่ในการเจรจาหรือการพูดคุยกัน โดยจะเป็นเส้นทางหรือพื้นที่ที่สอง โดยที่แทร็คที่ 1 เองนั้นเมื่อพูดคุยกันไปก็อาจจะประสบความสำเร็จก็ได้หรือล้มเหลวก็ตาม แต่แทร็คที่ 2 ที่จะเป็นตัวที่ควบคุมให้แทร็คที่ 1 ให้เดินไปสู่หนทางที่ควรจะเป็นตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ของสังคม
 
คุณเมธัสพูดถึง “พื้นที่กลาง” ปีกหนึ่ง คือ รัฐจะรวมศูนย์อำนาจ อีกปีกหนึ่ง คือ ขบวนการต้องการแยกดินแดน เอกราช แล้วตรงกลางคือคนส่วนใหญ่ต้องการอะไร กระบวนการตรงนี้กำลังก่อเกิดขึ้นผ่านขั้นตอนหลายๆ อย่างที่เราทำกันมาภายในปีสองปีที่ผ่านมา โดยการสร้างกลไกเครือข่ายภาคประชาสังคมและมีการขับเคลื่อนข้อเสนอในเรื่องของการการจัดการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ที่เราเรียกว่า การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ หรือว่า เขตปกครองพิเศษ หรือทบวงปกครองพิเศษ หรือจะเรียกอย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นอะไรสักอย่างที่เป็นรูปแบบพิเศษที่จัดการในพื้นที่ภาคใต้ในเรื่องของการปกครอง ซึ่งมีข้อเสนอที่เกิดขึ้น
 
ในบริบททั้งหมดที่ข้อเสนอซึ่งเราพูดกันในเรื่องของการจัดการปกครองของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างโดดๆ หากแต่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขของกระบวนการพยายามลดเงื่อนไขของความรุนแรงหรือความขัดแย้งในพื้นที่โดยจะนำไปสู่สันติภาพ โดยกระบวนการเหล่านี้เราเรียกว่าการเปลี่ยนความขัดแย้งให้ไปสู่ความขัดแย้งที่ใช้วิธีการที่ไม่รุนแรงหรือลดความรุนแรงที่เกิดขึ้น (Conflict Transformation) เพื่อจะหาทางไปสู่สันติ นี่คือแทร็คที่ 2 ที่เรากำลังทำ
 
แต่ถ้าหากว่ากลุ่มผู้นำ ปัญญาชน หรือกลุ่มประชาสังคมนั้นกลับลอยจากพื้น ทำกันแต่กลุ่มของตัวเองโดยขาดฐานล่างจากรากหญ้าก็หมายความว่ากระบวนการสันติภาพที่ว่านี้ขาดช่องทางในแทร็คที่ 3 ซึ่งก็คือ ประชาชนในระดับรากหญ้า หรือองค์กรชุมชน หรือกลุ่มคนต่างๆ ที่เป็นประชาชนตัวเล็กตัวน้อยทั้งหลายที่มีอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ซึ่งก็ต้องการแสดงออกด้วยเหมือนกัน ทำอย่างไรถึงจะให้แทร็คที่ 2 และแทร็คที่ 3 เดินไปด้วยกันได้
 
ความจริงแล้วงานของเครือข่ายช่างภาพข่าวชายแดนใต้ ก็คือ ความพยามยามที่จะให้เกิดแทร็กคที่ 3 ด้วยเหมือนกัน คือ ให้คนธรรมดาสามัญสามารถที่จะแสดงออกได้ซึ่งภาพชีวิต อารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการอันจะนำไปสู่สังคมที่ดี สังคมที่มีสันติภาพ ซึ่งมีกระบวนการหลายอย่างที่จะทำให้เกิดแทร็คที่ 3 รวมไปถึงกระบวนการที่ทำให้คนในระดับรากหญ้า ทั้งคนไทยพุทธและคนมุสลิมให้เข้าใจกระบวนการสันติภาพและมีศักยภาพมีความเข้มแข็ง
 
ถ้าแทร็คที่ 2 และแทร็คที่ 3 พัฒนาไปด้วยกัน ก็จะสามารถดึงหรือเหนี่ยวรั้งแทร็คที่ 1 ให้เดินไปสู่วิถีทางของสันติภาพ โดยมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในการจัดการปัญหามากยิ่งขึ้นรวมทั้งกรณีความเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดความยุติธรรม เช่น สิ่งที่ทางกลุ่มทนายความกำลังทำอยู่ คนสามัญธรรมดาชาวบ้านทุกข์ยากเดือดร้อนที่ต้องการยุติธรรม พวกเขาจำนวนมากถูกทำร้าย ถูกละเมิดสิทธิ และต้องการทางออกในการแก้ปัญหาเพื่อความยุติธรรม ไม่ว่าสิ่งที่ถูกกระทำเหล่านั้นจะมาจากทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการฯ ซึ่งในแง่นี้แล้วก็ไม่ใช่ฝ่ายรัฐทำอย่างเดียว แต่โดนด้วยกันทั้งคู่จากทั้งสองฝ่าย
 
เราจะทำอย่างไรให้แทร็คที่ 3 ตื่นขึ้นมา และร่วมกับแทร็กที่ 2 ทำให้เกิดพลังในการควบคุมความปั่นป่วนโกลาหลต่างๆ ที่เกิดขึ้น นี่เป็นกระบวนการหรือขั้นตอนต่อไปที่เราพยายามจะทำให้เกิดขึ้น ความจริงเราทำไปบ้างแล้วในแทร็คที่ 2 และ 3 ซึ่งก็เกิดความตื่นตัวของประชาชนอยู่ไม่น้อย
 
การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งในแง่นี้รวมถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ และคนที่ก่อเหตุความรุนแรงหรือคนที่เป็นตัวเงื่อนไขของความรุนแรงกระทำจริงๆ หลัก ๆ ก็มี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ กับ ฝ่ายขบวนการฯ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องถูกควบคุม ถูกตรวจสอบ และถูกแปรเปลี่ยนเงื่อนไขของความขัดแย้งให้ยอมรับกระบวนการที่นำไปสู่การไม่ใช่ความรุนแรง กระบวนการทั้งหมดนี้สำคัญมากในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรากำลังทำกันอยู่หลายๆ อย่างในขณะนี้
(อ่านบทสนทนาแลกเปลี่ยนในตอน 2)
 
 
-ยุติธรรม-
 
 
 
อนุกูล อาแวปูเตะ
ประธานคณะทำงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
ประจำจังหวัดปัตตานี
 
 
ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน ผมในนามของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ต้องขอขอบคุณศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ที่เชิญเข้าร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสภาพของปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเราจะไปข้างหน้าอย่างไร มีส่วนในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในตอนนี้อย่างไร เนื่องจากศูนย์ทนายความมุสลิมทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางคดี ในการทำงานเรามีการวางแนวทางการทำงานอยู่ 3 ส่วน เพื่อให้เข้าถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ เราจะมีส่วนทนายความทำหน้าที่ว่าความในศาล ในคดีที่เป็นคดีความมั่นคง คดีก่อการร้าย โดยเราให้ความช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้กลุ่มทนายความ เราจะมีสำนักงานอยู่ทั้ง 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของสงขลา
 
นอกจากมีกลุ่มทนายความ ยังมีกลุ่มทนายความผู้ช่วย คนกลุ่มนี้เรียนจบทางนิติศาสตร์บัณฑิต และกำลังขอใบอนุญาตในการว่าความ เราจะฝึกฝนให้เค้าว่าความได้ด้วยตัวเองให้ได้ ส่วนกลุ่มที่ 3 มีความใกล้ชิดกับพื้นที่มากที่สุด คือ กลุ่มผู้ช่วยทนายความ กลุ่มนี้ไม่ใช่นักกฎหมาย ไม่ได้จบทางกฎหมาย แต่ว่าพวกเขาคืออาสาสมัครที่จะมาร่วมช่วยกันทำงาน บางคนก็พ่อถูกจับ ญาติเดือดร้อน เคยมาร้องเรียนกับเรา เห็นเราทำงานก็อยากทำงานด้วย กลุ่มนี้ก็จะมีเครือข่ายอยู่ในพื้นที่ เป็นเครือข่ายผู้ช่วยทนายความ
 
ทั้ง 3 ส่วนมีการทำงานสัมพันธ์กัน ไม่ว่าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนของผู้ช่วยทนายความ หรือว่าตัวแทนในพื้นที่ นอกเหนือจากการทำงานเราแล้ว ยังมีองค์กรเครือข่าย เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ สิ่งที่เราทำและสามารถทำงานอย่างนี้ได้เพราะส่วนใหญ่เราอยู่ในพื้นที่ เป็นมุสลิมที่สามารถสื่อสารกับชาวบ้านที่ไม่เข้าใจภาษาไทยได้ ทำให้มีคนมาร้องเรียนกับเราเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อถือในองค์กรของเรา ทั้งๆ ที่หน่วยงานของรัฐก็มี อย่างในส่วนของ ศอ.บต. มีส่วนที่รับเรื่องร้องทุกข์อยู่ต่างๆ แต่ชาวบ้านบางทีต้องเข้าใจว่าไม่สามารถที่จะพูดภาษาไทยได้ พอไปแล้วต้องพูดภาษาไทยทำให้เกิดอุปสรรคและปัญหา นั่นคือประเด็นหนึ่ง
 
อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่าช่องว่างระหว่างรัฐกับชาวบ้านมีสูงมาก ทุกอย่างที่รัฐทำ ชาวบ้านจะไม่ไว้วางใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ พวกเขามองว่ารัฐไม่มีความจริงใจ อันนี้เป็นความคิดของพวกเขาที่ถูกปลูกฝังมานานกับเรื่องอย่างนี้ ดังนั้น เมื่อเราตั้งองค์กรขึ้นมา เราก็สามารถทำการช่วยเหลือเค้าได้ เมื่อพวกเขาเชื่อถือในตัวองค์กรของเรา พวกเขาก็มีความเชื่อมั่นที่จะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม หลายต่อหลายคนพอโดนหมายจับก็อยากจะหนีไปอยู่มาเลเซีย แต่ด้วยความที่เราดึงไว้พวกเขาก็สามารถเข้ามอบตัวและต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว เราก็ให้ความช่วยเหลือกับเค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
 
จากการทำงานของเราตรงนี้ ทำให้เราสามารถเข้าถึงในปัญหากระบวนการยุติธรรม การทำงานของเราสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทางฝ่ายศาลก็ดี อัยการก็ดี และก็ทางฝ่ายทหาร กอ.รมน. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เราพยายามอธิบายการทำงานของเราให้พวกเขาเหล่านี้เข้าใจว่าเรากำลังช่วยเหลือทางรัฐในการช่วยดึงมวลชนให้เข้ามาอยู่ในแนวทางดีกว่าในชาวบ้านหันหลังให้เรา นึ่คือภารกิจของเรา
 
๐ ปัญหาของ (กระบวนการ) ยุติธรรม
 
สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดของกระบวนการยุติธรรม ก็คือการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ปัจจุบันกฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในพื้นที่ คือ กฎอัยการศึก (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457) กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548) กฎหมาย 2 ฉบับนี้ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่สามารถเอาตัวบุคคลที่สงสัยเข้าไปทำการควบคุมหรือกักตัวได้ เมื่อบุคคลถูกควบคุมก็เท่ากับว่าเขาได้สูญเสียอิสรภาพ ถึงแม้จะบอกว่าไม่ใช่ตัวผู้ต้องหายังไม่ถูกคดีเพียงแต่ผู้ต้องสงสัย แต่ว่าสูญเสียอิสรภาพแล้ว มองในมุมของชาวบ้าน พวกเขาก็จะมองว่ากลุ่มพวกนี้เป็นคนร้ายแล้ว คือ เป็นคนทำผิดกฎหมายแล้ว อันนี้คือสิ่งที่พวกเขาได้รับผลกระทบที่เห็นได้ชัด
 
กระบวนการของการใช้กฎหมายพิเศษที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ตัวกฎหมาย เช่น กฎอัยการศึก เอาตัวไปกักได้ 7 วัน ไม่ว่าจะไปกักไว้ที่ไหนที่ฐาน ฉก. ที่ต่างๆ ได้ กฎหมายให้กักตัวได้ในฐานะที่เขาเป็นคนหนึ่งที่ถูกสงสัย และคือส่วนหนึ่งของแหล่งข่าวของเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เวลาเจ้าหน้าที่ซักถาม พวกเขาก็ให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่ก็บันทึกคำซักถาม คำซักถามของพวกเขาคือส่วนหนึ่งของข้อมูลของเจ้าหน้าที่ ในการที่จะไปดำเนินการแสวงหา จะให้ค่าความเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่กลับใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง เพราะกฎอัยการศึกไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายหรือซ้อมทรมานเขาได้ แต่วิธีการที่เจ้าหน้าที่ทำปฏิบัติต่อเขา มันเป็นผลที่ทำให้ตัวเค้าได้รับความเสียหาย
 
และที่สำคัญก็คือว่า สิ่งที่พวกเขาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ สมมติว่าเขาคือคนที่อยู่ในขบวนการจริง มีความคิดจริง รับสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่กลับเอาเอกสารที่รับสารภาพในชั้นกฎอัยการศึกมาใช้เป็นพยานหลักฐาน ดำเนินคดีกับเค้า อันนี้คือปัญหา เพราะอย่าลืมว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงมีความแตกต่างกับคดีทั่วๆ ไป เพราะคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงนั้นเกี่ยวข้องกับแนวความคิดหรืออุดมการณ์ ลำพังมีแนวความคิดหรือมีอุดมการณ์ นั้นไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าลงมือกระทำความผิด ถึงจะผิดกฎหมาย ถ้าผิดกฎหมายการดำเนินการทางกฎหมายก็ต้องใช้วิธีการสอบสวน ศาลจะพิพากษาก็ต้องแสวงหาพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุต่างๆ เหล่านี้ นำมารวบรวมเพื่อให้ศาลลงโทษตัวผู้กระทำความผิด
 
แต่ที่ผ่านมา เราไม่สามารถแสวงหาพยานหลักฐาน แล้วคนที่ทำก็ไม่ได้ถูกจับ คือ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่กลับนำเอาข้อมูลที่มีการซัดทอดก็ดี ข้อมูลที่ได้จากการซักถามก็ดี คิดว่าคนนี้อยู่ในกลุ่มไหนมาเอาตัวพวกเแล้วมาบีบบังคับให้รับสารภาพ แล้วมาดำเนินคดีกับพวกเขานับหลายร้อยคน
 
ข้อมูลศูนย์ทนายความมุสลิมตอนนี้ใน 3 จังหวัดมีประมาณ 448 คดี ทั้งหมดนี้กระจายอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา (ศาลจังหวัดอำเภอนาทวี) คดีเหล่านี้บางคนไม่ได้ถูกคดีเดียว บางคนถูกหลายข้อหา เช่น คนหนึ่งถูกดำเนินคดี 4-5 คดี ในข้อหาซ้ำๆ ก็คือ ก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร เพราะข้อหาเหล่านี้กล่าวหาได้ง่ายมาก แล้วไม่มีมาตรฐานหรือบรรทัดฐานที่มันชัดเจน แต่พอมาสืบในชั้นศาล ไม่มีพยานหลักฐานอะไรเลย ยกเว้นผลซักถามที่เขาสารภาพ ในชั้นของการควบคุมของกฎหมายพิเศษ ซึ่งไม่ใช่ชั้นสอบสวน เพราะจริงๆ แล้ว กฎหมายจะรับฟังแต่ชั้นสอบสวนเท่านั้น แต่ชั้นการควบคุมตามกฎหมายพิเศษนั้น เช่น กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ถือว่าไม่มีมีคุณค่าในทางพยานหลักฐานที่จะรับฟังได้ เพราะไม่ได้ผ่านกระบวนการสอบสวนตามกระบวนการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
ในส่วนของกระบวนการยุติธรรม ณ ปัจจุบัน จำเป็นที่ต้องเร่งสะสางคดีที่มันมีปัญหาอยู่ในศาลตอนนี้ คือ จะใช้วิธีอะไรก็แล้วแต่ จะเพิ่มจำนวนผู้พิพากษา จะเพิ่มจำนวนของอัยการก็แล้วแต่ เราก็ต้องทำ จำเป็นต้องทำ ที่ผ่านมาคดีล่าช้าเพราะหลายเหตุ บางครั้งพอนัดแรกที่มีการสืบพยานต้องสืบพยานเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ บางทีก็ขอเลื่อนคดีบ้าง อ้างเหตุว่าต้องไปอบรมติดราชการ ทำให้คดีต้องเลื่อนไปเหตุล่าช้าไป การเข้มงวดคดีให้มันจบโดยเร็วเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ นั่นคือประเด็นที่หนึ่ง
 
ประเด็นที่สอง วันนี้ทางการมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงใช้ไม่ได้แล้ว และเล็งที่จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551) แต่รายละเอียดและปัญหาใน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ใช่ว่าจะไม่มี วันนี้ที่ยังไม่ประกาศใช้เป็นทางการก็เพราะว่าเรายังถามถึงเรื่องข้อห่วงใย เราไม่อยากให้เกิดซ้ำเหมือน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะในช่วงก่อนที่จะเริ่มใช้ในในสมัยรัฐบาลทักษิณ เราไม่ได้ตั้งคำถามว่าเราจะคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกเอาตัวไปอย่างไร ตอนนี้ก็ใช้กันแบบเละเทะ
 
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความมุสลิมและองค์กรในเครือข่ายก็มีข้อเสนอต่อทางการมาโดยตลอด โดยเฉพาะข้อเสนอต่อศาลฏีกาที่สุดท้ายทำให้มีข้อแนะนำของศาลฏีกา [กรุณาดูเอกสาร คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 21 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) และกรณีหมาย ฉฉ. (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)] เหตุผลหนึ่งที่ศาลอยากจะเข้ามามีบทบาทการที่จะคุ้มครองสิทธิของคนที่ถูกควบคุมตัว ก็เพราะการยอมรับว่า มีการปฏิบัติตัวต่อบุคคลเหล่านี้ไม่ถูกต้องตามวิธีการของกฎหมาย หลายต่อหลายครั้งที่เรายื่นคำร้องต่อศาล บางครั้งศาลก็ไม่ได้ทำการไต่สวน
 
อย่างเช่น มีกรณีที่ผมเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัว เพราะว่ามีเหตุว่ามีการไปซ้อมทำร้ายทรมาน พอในวันรุ่นขึ้นก็ถูกแจ้งข้อหาเลย ไม่ได้ควบคุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ แล้ว พอแจ้งข้อหา กระบวนการขอปล่อยตัวก็สิ้นสุดไป สิ้นผลไปตามกฎหมาย แต่หากว่าศาลอยากใช้บทบาทในการคุ้มครองสิทธิจริงๆ ศาลควรจะไต่สวนให้ได้ความก่อนว่า เจ้าหน้าที่ไปซ้อมทำร้ายร่างกายหรือไม่ นั่นคือประเด็นที่หนึ่ง ในส่วนของการดูแลคนที่ถูกควบคุมตัวเค้าก็ใช้อำนาจของศาล เพราะเวลาควบคุมตัวตามกฎหมาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต้องใช้หมายศาล แต่ว่าขอหมายของศาล เวลาเอาไปควบคุม กลับเอาไปควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธฯ หรือไม่ก็ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอยู่นอกเหนือสายตาของศาล
 
ในส่วนของ พ.ร.บ.ความมั่นคง วันนี้ที่ยังไม่มีการใช้อย่างเป็นจริงเป็นจัง แม้ว่าใน 4 อำเภอของสงขลาเริ่มใช้บังคับแล้ว แต่ว่าแนวทางปฏิบัติยังไม่ชัด ประเด็นที่เราเป็นห่วงก็เพราะว่า บุคคลที่ถูกออกหมายจับหรือว่าเป็นผู้ต้องหา กฎหมายบอกว่า ถ้าเขาคนนั้นกลับใจเข้ามามอบตัวหรือพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นผู้หลงผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พนักงานสอบสวนสามารถที่จะเสนอคำร้องต่อศาล ให้ศาลพาตัวบุคคลเข้ารับการอบรมแทนการดำเนินคดีตาม ป.วิอาญา
 
ดูอย่างนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหามันจะมีอยู่ว่า คนนี้ตกเป็นผู้ต้องหาแล้ว เมื่อไหร่ที่เขากลับใจ เข้ามามอบตัว เขาจะมีทางเลือกสองทาง ทางที่หนึ่ง เลือกที่จะไปอบรม ทางที่สอง เลือกที่จะถูกดำเนินคดี ถ้าเลือกที่จะไปอบรม เขาต้องรับสารภาพในข้อหานั้น แต่ว่าถ้าเลือกที่จะถูกดำเนินคดีก็ต้องให้การปฏิเสธ ต้องว่าไปตามกระบวนการของกฎหมายไป ปัญหาก็มีอยู่ว่า ถ้าเขารับสารภาพ โดยเลือกที่จะเข้ารับการอบรม มีการเอาตัวไปอบรมตามโครงการหกเดือน เพราะว่ากฎหมายกำหนดหกเดือน อบรมเสร็จแล้วต้องมีการประเมินด้วย ว่าคนเหล่านี้ผ่านหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องกลับเข้าไปสู่กระบวนการการดำเนินคดี
 
คำถาม ก็คือว่า ที่เขารับสารภาพตั้งแต่ตอนแรกจะทำอย่างไร เพราะในทางคดีเขารับสารภาพไปแล้ว อันนี้คือปัญหาของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
 
เวลาเราสอบข้อเท็จจริง เราก็ต้องดูข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาให้ข้อมูลกับเรา ในกรณีที่เขาบอกว่าเขาทำผิดจริง เราต้องให้เขารับสารภาพ แต่ว่าในคดีความมั่นคงบางครั้ง มันยากมากที่จะให้รับหรือไม่รับ เพราะในบางคดี เขาอาจจะไม่ได้ทำผิดก็ได้ แต่ไปมีส่วนร่วมในส่วนใดส่วนหนึ่ง อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ก็มาคลุมว่าเขามีส่วนร่วมกัน เราต้องแนะนำ ถ้าเขาทำผิดจริงต้องให้การรับสารภาพ แต่ถ้ายืนยันที่จะปฏิเสธก็เป็นสิทธิของเขา เพราะว่าทางกฎหมายนั้นจะตั้งสันนิฐานในเบื้องต้นว่าเขาบริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา
 
ในกรณีที่มีผู้ต้องหาตามหมายจับ พอเห็นว่าตัวเองมีทางเลือกอยู่สองทาง หนึ่ง คือ เข้าอบรม กับสองคือ ถูกดำเนินคดี ถ้าเกิดทำผิดจริง เขายอมรับว่าทำผิดและยินดีที่จะเข้าอบรม เราก็ไม่มีปัญหาตรงนั้น แต่บางคนไม่ได้ทำผิด แต่เลือกที่จะเข้าอบรมเพราะว่าถ้าถูกดำเนินคดีจะต้องไปหาประกัน ต้องถูกขัง อยู่ในเรือนจำ เป็นเรื่องที่น่าคิดมากในทางกฎหมาย มันเหมือนคดียาเสพติดเมื่อก่อนที่บอกว่าฟื้นฟู เยียวยา ให้ทางเลือก บางครั้งจำเป็นจำใจต้องรับสารภาพ ทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิด เพราะว่าถ้าไม่รับสารภาพจะต้องถูกคุมขัง หลักทรัพย์ก็ไม่มีที่จะประกันตัว ผมเกรงว่าจะมีลักษณะอย่างนี้ ลักษณะว่าถูกบังคับให้รับสารภาพ เหมือนลักษณะของการต่อรอง
 
แต่ถึงอย่างนั้น ในแง่หลักการแล้ว เราก็เห็นด้วยที่จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง อย่างน้อยมันก็เบากว่ามาตรการของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ข้อห่วงใยของเราก็มีอยู่เหมือนกัน
 
ผมยกตัวอย่าง อย่างคดีที่ออกหมายจับเป็นกลุ่มในอำเภอสายบุรี ประมาณ 40 คน ที่ออกหมายจับ ตาม ป.วิ อาญา ข้อหา อั้งยี่ ซ่องโจร คดีนี้มีคนไปมอบตัวสู้คดี 35 คน อีก 5 คนหนี ไม่ได้เข้ามอบตัว 35 คนสู้คดีในชั้นศาล ปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้อง อัยการไม่อุทธรณ์ คดีก็จบ แล้วอีก 5 คนล่ะ ถูกคดีเดียวกัน เพราะว่าออกหมายจับเดียวกัน พยานหลักฐานก็ชุดเดียวกัน ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ที่มาเบิกความก็คนเดียวกัน ผลของคดีถ้าเขามอบตัว มันก็ต้องยกฟ้องอยู่ดี แต่ถามว่าตัวเขาตราบใดที่ยังมีหมายจับ มันก็คาอยู่อย่างนั้น กลับบ้านก็ไม่ได้ ต้องหนีระหกระเหิน มีทางเดียวคือต้องหาหลักทรัพย์เตรียมไว้เพื่อมอบตัวและประกันตัวเองออกมา แต่ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ เขาต้องยอมที่ต้องอยู่ในห้องขัง ในเรือนจำ กว่าที่ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการ กว่าที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเค้า ถ้าอัยการสั่งฟ้องก็เป็นปัญหาแก่เค้าอีก เพราะถูกขังระหว่างพิจารณาคดี
 
(อ่านบทสนทนาแลกเปลี่ยนในตอน 2)
 
 
 
File attachment
Attachment Size
mathus_ps_decent.ppt (2.31 MB) 2.31 MB
pattanicitystructuredraft7.pdf (32.01 KB) 32.01 KB
srisompob_ps_southern_violence_june2011.ppt (3.84 MB) 3.84 MB