ณรรธราวุธ เมืองสุข
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ผ่านพ้นมา 1 เดือนเต็มกับโศกนาฎกรรมมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เหตุการณ์คนร้ายกราดกระสุนเข้าใส่ชาวบ้านขณะประกอบพิธีละหมาดในมัสยิดยังไม่หายไปจากความทรงจำของผู้คนทั้งในสังคมไทยทั่วไปและชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการเฝ้ามองการทำงานของกระบวนการยุติธรรมอย่างจดจ่อ
ภาพ : ตูแวดานียา มือรีงิง
ในบริบทของเหตุการณ์ ยังมี ‘ปม’ ที่รอการสะสาง กะเทาะ หรือขุดคุ้ยเพื่อนำไปสู่ความจริงกันอีกมาก หลายประการยังอยู่ในความคลุมเครือที่แม้แต่ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้นก็ยังส่ายหน้าที่จะตอบคำถามว่า “ใครทำ?” และอีกบางประการที่ถูกละเลยที่จะเปิดเผย โดยเฉพาะเบื้องหลังชีวิตของคนตาย พวกเขาคือใคร? เหตุใดจึงกลายเป็นเหยื่อของห่ากระสุนจากมือสังหารปริศนา
ผ่านไปแล้วหนึ่งเดือนเต็ม แต่รอยกระสุนที่ฝังอยู่ในผนังมัสยิดยังปรากฏอย่างเด่นชัด เสมือนวัตถุพยานสะท้อนความแตกร้าวทางความคิดที่รอการปริแยกขยายกว้างขึ้น ระหว่างชาวบ้านผู้ไม่เชื่อว่าผู้กราดกระสุนคือขบวนการใต้ดิน กับผู้ซึ่งเชื่อว่าผู้ลงมือทำคือขบวนการใต้ดิน ที่พยายามปลุกให้ชาวบ้านลุกขึ้นสู้กับรัฐ
แต่ไม่ว่าฝ่ายไหนกระทำ ความคลุมเคลือยิ่งทำให้ผลสัมฤทธิ์ของความแตกแยกก่อตัวขึ้นช้าๆ ที่หมู่บ้านไอร์ปาแย
๐ ร่องรอยแห่งคืนทมิฬ
“เปลี่ยวสิ้นดี” ผู้ร่วมทางเอ่ยขึ้นขณะรถยนต์เคลื่อนไปบนถนนลาดยางสองเลนแคบๆ เส้นทางจากตลาดเจาะไอร้อง เพื่อไปยังหมู่บ้านไอร์ปาแย ห้วงระยะเกินห้านาทีที่ผ่านมาไม่มีรถราสวนทางมาให้เห็นแม้แต่คันเดียว รถผ่านหน้าโรงเรียนสัมพันธ์วิทยา ซึ่งอดีตครูของโรงเรียนแห่งนี้คนหนึ่ง คือ ‘มะแซ อุเซ็ง’ ถูกออกหมายจับฐานเป็นแกนนำในระดับผู้ควบคุมปฏิบัติการปล้นปืนค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อต้นปี 2547 ถนนเส้นนี้ ถ้าขับเลยหมู่บ้านเป้าหมายไปก็จะไปทะลุที่หมู่บ้านดุซงญอ อำเภอจะแนะ และทะลุไปสู่ อำเภอระแงะและหมู่บ้านอื่นๆอันมีชื่อเป็นที่คุ้นเคยของผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์ภาคใต้อย่างยิ่ง
จากบ้านเรือนผู้คนที่ยังพอมองเห็นก็เข้าเขตของความเปลี่ยวที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือไม่มีบ้านคน แต่สองข้างทางถูกโอบล้อมด้วยป่ารกทึบ ยิ่งเพิ่งเกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่แห่งนี้มาไม่นานก็ทำให้ความเปลี่ยวที่ว่ากลายเป็นความเปลี่ยวที่จับต้องได้ชัดมากขึ้น แต่ก็มีเหตุผลบางประการที่ทำให้คนในรถไม่รู้สึกมากไปกว่านั้น
“ผมคนพื้นที่ ผมบอกได้เลยว่าไม่มีอะไร รับรองได้ว่าไม่มีอะไรน่ากลัว พวกพี่ไปมาได้อย่างสะดวก มันไม่ใช่อย่างที่ข่าวเผยแพร่ออกไป คนละมุมกันเลย” เด็กหนุ่มมลายูมุสลิมจากหมู่บ้านใกล้ๆ กับ‘ไอร์ปาแย’ ซึ่งเป็นคนนำทาง เอ่ยขึ้นเมื่อความเงียบเข้าครอบคลุมบรรยากาศภายในรถนานเกินไป
เด็กหนุ่มบอกว่าหมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านสีเขียวไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงมาก่อน แต่หมู่บ้านรอบๆ ล้วนเคยเกิดเหตุมาแล้วทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเหตุการณ์นี้ทำให้ไอร์ปาแยกลายเป็นหมู่บ้านสีแดงโดยอัตโนมัติ แต่เขายืนยันเป็นมั่นเหมาะว่า ‘ไม่มีอะไร’ สีที่เปลี่ยนไปเป็นเพราะการมองจากสายตาภายนอกเท่านั้น
ภายในมัสยิดอัลฟุรกอน ‘อาหมัด มะฮะฮา’ บุตรชายของ ‘หะยียูโซ๊ะ มะฮะฮา’ หนึ่งในผู้เสียชีวิต 11 คนยืนรอรับอยู่
รอยพรุนจากห่ากระสุนปรากฏอยู่บนผนังด้านที่ผู้ละหมาดหันหน้าไป คาดเดาวิถีกระสุนได้ว่าคนร้ายยิงมาจากด้านหลัง ส่วนผนังบนสุดของด้านหลังก็มีรอยกระสุน แต่ดูเหมือนถูกกราดยิงมาจากด้านข้าง กระจกหน้าต่างแตกหายไป และยังได้กลิ่นคาวเลือดจางๆ
“เลือดล้างยังไงก็ไม่หมดกลิ่น มันติดทนนาน คงต้องรอเป็นปีจึงจะหายไปเอง แต่ถ้าเราไม่ลืม กลิ่นเลือดนั้นก็น่าจะยังอยู่” ตอลา แวมามุ ชายหนุ่มผู้สูญเสียอาไปในเหตุการณ์วันนั้นเอ่ยปากโดยไม่หันมาสบตา
แวนูซี กุเวกามา บุตรชายของโต๊ะอิหม่าม แวดอเลาะ กุเวกามา ซึ่งเสียชีวิตในคืนนั้น ย้อนความทรงจำกลับไปยังค่ำคืนแห่งฝันร้ายว่า เขาไม่ได้ไปละหมาดที่มัสยิด แต่อยู่ภายในบ้านซึ่งห่างไปจากมัสยิดแค่ไม่กี่ก้าวกระทั่งได้ยินเสียงปืนรัวขึ้น
“ตอนนั้นก็รู้ว่ามีการยิงกันแล้วที่มัสยิด เพราะใกล้กันมาก ผมใจสั่นเลย แต่ทำอะไรไม่ได้ ไม่กล้าออกไป”
วินาทีนั้นแวนูซีไม่คิดว่าเสียงปืนชุดนั้นจะคร่าเอาชีวิตของบิดาไป คิดเพียงว่า ‘เหตุการณ์ความไม่สงบ’ เดินทางมาเยือนหมู่บ้านของเขาแล้ว ชายหนุ่มหลบอยู่ในบ้านเกือบสิบนาที จนได้ยินเสียงตะโกนโหวกเหวกของชาวบ้านว่ามีคนถูกยิง เขาจึงตัดสินใจวิ่งเข้าไปในรั้วมัสยิด พบกับเพื่อนบ้านอีกหลายคนที่มุ่งหน้าเข้าไป เมื่อแต่ละคนเจอกับร่างจมกองเลือดก็ร่ำไห้ ตะโกนหาญาติพี่น้องตนเองกันจ้าละหวั่น
“เห็นพ่อนอนเลือดท่วมอยู่ ใจหายเหมือนหยุดหาย มีคนเจ็บร้องไห้ผมช่วยก็ต้องช่วยพาพวกเขาไปส่งโรงพยาบาล ยกใส่รถกระบะขับออกไป ไปสวนกับเจ้าหน้าที่ตรงตลาดเจาะไอร้องพอดี” ชายหนุ่มย้อนภาพวันนั้นให้ฟังพร้อมบอกว่า เหมือนภาพนั้นยังติดตาและฉายซ้ำไปซ้ำมาอยู่ในหัวของตนตลอดเวลา
“มีการยิงไล่จากข้างหน้าให้วิ่งออกมาทางประตูข้างหลัง แต่คนที่รอดบอกว่า ไม่มีใครวิ่งออกมาเลย คนที่ก้มละหมาดก็แทบไม่ขยับเขยื้อนเลย มีคนดักรอที่ประตูหลังกะว่าจะเก็บคนที่วิ่งออกมา พอคนไม่วิ่งเลยกราดยิงมาจากทางข้างหลัง โดนกระสุนล้มลงทีละคนๆ” อาหมัดฉายภาพที่เขาปะติดปะต่อจากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งรอดชีวิต
“มันไล่ต้อนเหมือนไก่ในกรงเลย” เขาสรุปภาพนั้นและส่ายศรีษะ
“อย่าลืมว่าคนละหมาดส่วนใหญ่คือคนแก่ทั้งนั้น เห็นรอยกระสุนทีไรก็นึกเห็นภาพนั้นทุกที” ตอลาเอ่ยขึ้น
๐ ความคลุมเครือเชื้อแห่งอคติ
วงสนทนาใกล้มัสยิดอัลฟุรกอน แวนูซี กุเวกามา ตอลา แวมามุ และ อาหมัด มะฮะฮา ชาวบ้านในหมู่บ้านไอร์ปาแย ปฏิเสธที่จะตอบคำถามระบุชี้ชัดว่า ใครเป็นผู้ลงมือก่อเหตุสะเทือนขวัญนี้ แต่หลากหลายความเห็นเริ่มพรั่งพรุเมื่อการสนทนาดำเนินไป
“ชาวบ้านพูดว่าเป็นคนไม่มีศาสนา” แวนูซีกล่าว
“อย่าว่าพวกไม่มีศาสนาเลย คนทำมันไม่ใช่คน ยิ่งถ้าเป็นมุสลิมนี่สุดยอดเลย มันสัตว์เดรัจฉานชัดๆ” อาหมัดกล่าวเสริมด้วยน้ำเสียงที่เริ่มแข็งขึ้น
แวนูซีแสดงความเห็นว่า คนที่ฆ่าคนกำลังละหมาดได้ไม่ใช่มุสลิมอย่างแน่นอน และชาวบ้านทุกคนก็เชื่อเช่นนั้น
“ถ้าเรื่องส่วนตัวก็ไม่มีใครกล้ากราดยิงในมัสยิดหรอก ทำไมไม่ไปเก็บเป็นรายๆ ไป และชาวบ้านเขาไม่เชื่อว่าเป็นโจรด้วยซ้ำ เพราะโจรใต้ที่เจ้าหน้าที่พูดถึงคือมุสลิมมลายู ไม่มีใครเชื่อว่าพวกนี้กล้าก่อเหตุฆ่าคนที่ละหมาดได้ แต่ปัญหามันคือกว่าเจ้าหน้าที่จะตามร่องรอยคนร้ายก็ปล่อยให้เวลาผ่านไปถึงสามวัน แล้วได้ข่าวว่าพบหลักฐานกองอยู่ในป่า มีขวดเบียร์อยู่ด้วย”
ทั้งหมดให้ข้อมูลตรงกับรายงานข่าวว่า ก่อนเกิดสถานการณ์ที่นี่เพียงหนึ่งวัน คนไทยพุทธหมู่บ้านข้างๆ ถูกยิงหมกสวนยาง 1 ราย หลังรู้ข่าวชาวบ้านในไอร์ปาแยทุกคนเตือนกันแบบปากต่อปากให้ระมัดระวังตัวกันมากขึ้น เช่นเดียวกับครั้งอื่นๆ ที่ได้ข่าวเหตุร้ายในหมู่บ้านข้างเคียง
“อยู่ดีๆ ไม่มีใครอยากเอามาโยงกันหรอก แต่ชาวบ้านก็คุยกันนะว่า ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า เหตุการณ์จะสลับกัน ระหว่างยิงคนไทยพุทธกับมุสลิม” แวนูซีให้มุมคิด
เมื่อสอบถามว่า ในหมู่บ้านมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หรือไม่ ทั้งหมดตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ามี แต่ก็ถูกต่อท้ายด้วยคำอธิบายที่น่าแปลกใจพอสมควร
“ชรบ.ไม่มีใครมีปืนเลย ไม่มีอะไรป้องกันตัวเองได้เลย ทุกคนไม่กล้าไปเอาปืนที่อำเภอ มีแต่จอบเสียมพร้าจะเอาไปทำอะไรได้ คนมุสลิมไม่ค่อยมีใครพกปืนหรอก ไม่เหมือนคนไทยพุทธ พกปืนได้สบายมาก มีกันเกือบทุกคน ยกเว้นเด็กๆ”
เสียงสะท้อนเรื่องอาวุธปืนดูเหมือนมีนัยซ่อนอยู่มากกว่านั้น เมื่อตอลาพูดเพิ่มเติมสั้นๆ อีกว่า มุสลิมไม่กล้าพกปืน เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้น กลัวถูกเข้าใจว่าเป็น ‘โจรใต้’ จึงไม่มีใครอยากหามาพก ทั้งที่กลัวตายพอๆ กับคนไทยพุทธ
“เจ้าหน้าที่มีทัศนคติว่าโจรคือคนมุสลิมมลายู ยิ่งถ้าไม่มีตำแหน่งเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือ อบต. คนธรรมดาลองพกปืนสิ ถูกจับแน่ ไม่เข้าใจเหมือนกัน ผมไปตลาดคนไทยพุทธธรรมดาๆ พกปืนกันเอวตุง มันหมายความว่าอะไร”
นัยยะของคนพูด ยังสะท้อนชีวิตภายหลังเหตุการณ์ด้วยว่า ในสวนยางฝั่งติดภูเขาชาวบ้านยังออกไปกรีดยางปกติ แต่ด้านที่อยู่ติดกับหมู่บ้านคนไทยพุทธ ไม่มีใครกล้าเข้าไป
“นี่ชาวบ้านว่ากันนะไม่มีใครกล้าไปกรีดตรงนั้น กลัวเจ้าหน้าที่ด้วย มีบางคนไปเจอทหารแล้วถูกไล่กลับมา เจอเข้าแบบนี้ก็ไม่มีใครกล้าออกไปกรีดยาง ต้องรอให้เวลามันผ่านไปก่อน”
เป็นความรู้สึกลึกๆ ว่า เพื่อนบ้านที่เคยอยู่ร่วมกันมาอย่างกลมกลืนเริ่มมีปฏิกิริยา แม้ยังไม่มีใครยืนยันด้วยพยานหลักฐานที่ชี้ชัดลงไปได้ แต่ซองปืนข้างเอวของเพื่อนต่างศาสนาที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน ทำให้ชาวมลายูมุสลิมจำนวนมากเชื่อว่าคนไทยพุทธลุกขึ้นตอบโต้โจรใต้ด้วยการเหวี่ยงแหว่าคนมุสลิมส่วนใหญ่ยืนอยู่ข้างเดียวกับขบวนการใต้ดิน มีข่าวแพร่สะพัดถึงคำประกาศของคนไทยพุทธที่มีทหารหนุนอยู่ข้างหลังว่า คนพุทธตายหนึ่งศพ ต้องแลกด้วยชีวิตคนมุสลิมสิบศพ เหตุการณ์ที่มัสยิดอัลฟุรกอนทำให้ความเชื่อนี้เริ่มแจ่มชัดขึ้น
“ผมได้แต่ขอดุอาร์ว่า อย่าให้ข่าวนั้นมันเป็นจริงเลย” มะเอ่ยด้วยสีหน้าที่เคร่งเครียด
๐ ทางออกอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม
เสียงเล่าปากต่อปากเรื่อง ‘ขวดเบียร์’ ในป่าทางเดินไปสู่หมู่บ้านคนไทยพุทธถูกโหมกระพืออย่างเงียบๆ แต่ไม่มีใครแสดงออกว่าอยากใช้ความรุนแรงตอบโต้ ทั้งที่เมื่อเทียบกับราคาของความสูญเสียแล้ว การลุกขึ้นมาใช้วิธีรุนแรงกับคนที่พวกเขาเข้าใจกันภายในว่า ‘ใช่’ เป็นเรื่องที่ ‘ปลุก’ ได้ง่ายยิ่งนัก ขณะนี้ทุกคนเฝ้ารอการทำงานของกระบวนการยุติธรรมอย่างใจจดจ่อ
“เราให้เวลาพวกเขาทำงาน แต่ขอว่าอย่านาน ชาวบ้านให้ความร่วมมือแล้ว ถ้าทำไม่ได้รัฐต้องตอบคำถามชาวบ้านอีกเยอะ” เป็นความรู้สึกที่ชาวบ้านไอร์ปาแยบอกผ่านมา
ความคลุมเคลือมิได้ส่งสัญญาณร้ายต่อความแตกแยกระหว่างสองศาสนาเท่านั้น แม้แต่ภายในชุมชน ในหมู่บ้านเดียวกันสัญญาณความขัดแย้งก็กำลังขยายตัว เพียงคำถามเรื่องการจัดการซ่อมแซมมัสยิด ก็ทำให้เห็นถึงสัญญารอันตรายดังที่ว่านี้
“ชาวบ้านส่วนใหญ่อยากเก็บรอยกระสุนนั้นไว้ ไม่อยากให้ลบออก” อาหมัดบอก “อยากให้รอยกระสุนนั้นอยู่ตลอดไป ละหมาดก็มองเห็น อยากเก็บให้ลูกหลานไว้ดูต่อ ให้รู้ว่าครั้งหนึ่งมีคนมายิงใส่คนกำลังละหมาดในมัสยิดตาย ถ้าใครจะลบเพื่อปรับปรุงมัสยิด เราอยากให้ไปสร้างมัสยิดอื่นเถอะ ที่เก่าอย่าลบเลย”
ขณะที่บทบาทของผู้นำชุมชน ‘สมาน ปะเงาะห์’ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 บ้านไอร์ปาแย กลับเห็นว่า “ร่องรอยต้องลบ ไม่ลบไม่ได้ ความเป็นมุสลิมไม่ได้อยู่ตรงนั้น ถ้าคิดถึงคนเสียชีวิตก็ต้องทำดีอุทิศให้เขา”
แม้จะใช้หลักศาสนาเป็นตัวอธิบาย แต่ผู้ใหญ่บ้านก็ยังเห็นท่าทีอันแข็งกร้าวของชาวบ้าน ซึ่งคนที่ต้องยืนฝั่งรัฐอย่างเขาก็ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งหากจะทำสิ่งใดลงไป เพราะฉะนั้นกรณีนี้ ผู้ใหญ่สมานจึงบอกว่า จะให้เวลากับชาวบ้านในการทำความเข้าใจและยอมรับความสูญเสียในครั้งนี้ เมื่อถึงเวลา จึงค่อยลบรอยกระสุนนั้นออก
ความเปลี่ยนแปลงของมัสยิดอัลฟุรกอนที่เห็นได้ชัด คือ อส.มุสลิมหนุ่มใหญ่ถือปืนกลประจำการอยู่ใกล้บันไดทางขึ้นมัสยิดและรั้วลวดหนามที่ล้อมมัสยิดเอาไว้ ผู้ใหญ่สมานบอกว่าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันแบบเฝ้าระวังเช่นนี้ แต่ในมุมของชาวบ้านอย่าง อาหมัดและตอลาที่สูญเสียพ่อและญาติไปในเหตุการณ์วันนั้นกลับเห็นต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อพวกเขาบอกว่า มัสยิดไม่ควรให้ใครเอาลวดหนามมาล้อมหรือให้คนถือปืนมายืนเฝ้า
“ถ้าทำกันอย่างนั้น ใครจะอยากมาละหมาด มัสยิดเป็นที่ที่ไม่มีอาวุธและสงคราม หากจะเกิดอะไรขึ้นมันคือพระประสงค์ของพระเจ้า” อาหมัดให้ความเห็นในมุมของชาวบ้าน
เต็นท์ที่กางไว้ด้านหน้ามัสยิดพร้อมทั้งโต๊ะเก้าอี้ เสมือนการเตรียมต้อนรับ แสดงให้เห็นว่ามีผู้มาเยี่ยมเยือนมัสยิดแห่งนี้ไม่น้อย
“คนมากันทุกวัน พวกมาเลย์ก็เข้ามาเยอะ มาบ่อยมาก เราต้องเลี้ยงพวกเขา เย็นๆ ก็มีเด็กวัยรุ่นมาอยู่กันเยอะมาละหมาดและกินอาหารเย็นกันที่นี่” ชาวบ้านรายหนึ่งที่ยืนอยู่ข้างๆ เอ่ยขึ้น
เราสงสัยว่าวัยรุ่นมาอยู่กันทำไมตั้งเยอะ แล้วก่อนหน้านั้นเด็กวัยรุ่นเหล่านั้นเคยมารวมตัวที่มัสยิดกันเช่นนี้หรือไม่ แต่ไม่ทันได้ถาม ชายหนุ่มก็เล่าให้ฟังว่า
“เมื่อก่อนพวกวัยรุ่นไม่สนใจมามัสยิดเลยนะ พวกนี้ไม่ค่อยมาละหมาดที่นี่ แต่พอหลังเหตุการณ์เด็กๆ พวกนี้ก็มารวมตัวกัน ไม่มีใครบอกให้มา พวกเขามากันเอง พอถามก็บอกว่าให้คนในหมู่บ้านอุ่นใจ คนนอกมาก็กล้าเข้าไปในมัสยิด เพราะถ้าไม่มีพวกเขา กลางคืนมันจะเงียบ ไม่มีใครกล้าเข้าไปละหมาด”
การต้อนผู้มาเยี่ยมเยือนก็เป็นประเด็นความไม่ลงรอยกันในชุมชน ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเตรียมจัดงานครบรอบ 7 วันของเหตุการณ์ นอกจากรำลึกถึงผู้เสียชีวิตแล้ว ชาวบ้านช่วยกันสร้างเวทีขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คนหลายกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีกราดยิงในมัสยิด แต่ผู้ใหญ่บ้านกลับสั่งให้รื้อเวทีทิ้งเสีย สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านที่มาช่วยงานในวันนั้นเป็นอย่างมาก และรวมถึงผู้คนจากหลายกลุ่มที่เข้ามาร่วมงานที่บ้านไอร์ปาแย
“เพราะเรากลัว คนเยอะ คนที่มามีความรู้สึกเสียใจ ถ้ามันมีอะไรเกิดขึ้น ผมบอกตรงๆ ว่าเราคุมไม่อยู่ ป้องกันอะไรไม่ได้ พื้นที่ของเราเกิดเหตุอย่างนั้นไม่ได้อีก” ผู้ใหญ่สมานอธิบายเหตุผล
เขาขยายความรู้สึกกลัวเรื่องการปลุกระดมชาวบ้านเพื่อให้ลุกขึ้นมาต่อสู้โดยฝีมือของคนบางกลุ่มอีกว่า ในอารมณ์ของคนสูญเสีย ใครมาพูดอะไรก็เชื่อทั้งหมด จะทำอะไรก็ทำได้ทั้งนั้นเพื่อระบายอารมณ์ออกไป ในขณะที่อีกฝั่ง เจ้าหน้าที่รัฐก็จับตามองอยู่ ซึ่งเขาบอกว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในจุดนี้ โดยเฉพาะครอบครัวของคนตาย ที่โจมตีเขาว่าเข้าข้างรัฐไปเสียทุกเรื่อง
ด้านฝ่ายความมั่นคง พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เปิดเผยว่า กองทัพภาคที่ 4 พยายามเข้าไปทำงานมวลชนในหมู่บ้านไอร์ปาแยกันอย่างหนักตลอดมา ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาก เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ
“เราเกาะติดดูแลมาโดยตลอด ชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มเข้าใจเจ้าหน้าที่มากขึ้น และเชื่อแล้วว่าเราไม่ได้ลงมือทำ เพราะเขาเห็นความตั้งใจตรงนี้ของเจ้าหน้าที่” พ.อ.ปริญญากล่าว ส่วนคืบหน้าทางคดีเขาบอกว่า เริ่มได้เค้าบ้างแล้ว มีเบาะแสที่สามารถโยงไปสู่ผู้กระทำผิดได้ ขอเวลาอีระยะ ตำรวจเร่งติดตามและสืบสวนสอบสวนอย่างหนัก เร็วๆ นี้คงจะเห็นผลที่ชัดเจน และตำรวจจะเป็นผู้ออกมาให้ข่าวเอง
ส่วนประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาวไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่นั้น พ.อ.ปริญญาให้ความเห็นว่า ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เป็นสิ่งที่คนนอกพื้นที่พูดและขยายความกันเอง ในระดับพื้นที่เองยังมีการไปมาหาสู่กันโดยตลอด และพี่น้องมุสลิมก็ไม่ได้ติดใจหรือหวาดระแวงคนไทยพุทธอย่างที่เป็นข่าว