ไชยยงค์ มณีพิลึก
“คาร์บอมม์” ที่หน้าร้านอาหาร “สวนกล้วย” กลางใจเมือง และใกล้ศูนย์ราชการ จ.นราธิวาส ซึ่งส่งผลให้มีคนเจ็บจำนวน 42 ราย ตามด้วยการวางระเบิด ฆ่ารายวัน เผาโรงเรียน สถานีอนามัย และ สถานที่อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงของเดือน “รอมฎอน” เดือนแห่งการถือศีลอดของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นการบ่งบอกข้อเท็จจริงของการดับไฟใต้ต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในหลายเรื่องด้วยกัน
1. ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต ยังยึดมั่นในการใช้ยุทธวิธีเดิม ในการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ด้วยการใช้ความรุนแรง เพื่อสร้างความเสียหายให้กับภาครัฐ บ้านเมือง และสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ และ “บีอาร์เอ็นฯ” ยังคงใช้ช่วงวัน และเทศกาลสำคัญๆ ของ “มุสลิม” ซึ่งเป็นลักษณะ “สัญลักษณ์” ในการก่อการร้าย เช่น วันสถาปนา วันครบรอบปี และวันต่างๆ เพื่อเป็นการปลุกเร้าประชาชน เพื่อผลทางจิตวิทยา
2. ยุทธวิธีการปิดล้อม ตรวจค้น ของเจ้าหน้าที่ ที่มีต่อเป้าหมาย และกลุ่มบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะยัง ทำให้ “แนวร่วม” เคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ทั้งการก่อวินาศกรรม วางเพลิง และฆ่ารายวันอย่างได้ผล
3. การข่าวของ “หน่วยข่าว” ในพื้นที่มากว่า 10 หน่วย ยังคงทำได้เพียงพื้นผิว เช่นการเตือนให้มีการป้องกัน การวิเคราะห์ว่าน่าจะมีเหตุการณ์อย่างนั้น อย่างนี้ ในช่วงนั้นช่วงนี้ แต่ไม่มีข่าวชนิดที่ “ลึก”พอที่จะป้องกัน หรือจับกุมได้ทันท่วงที ซึ่งลักษณะ “การข่าว” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด
ต้องเข้าใจว่า การที่ ตำรวจ หรือทหาร สามารถตรวจค้น จับกุม และยึดได้ สิ่งของต่างๆของฝ่ายตรงข้ามนั้น ส่วนใหญ่มาจากการ “รีด”ความลับจากกลุ่มคนที่ถูกนำตัวมาสืบสวนสอบสวน โดยวิธีการต่างๆ เกือบทั้งสิ้น ส่วนข่าวที่ได้มาจาก “สายข่าว”นั้น เป็นเพียงส่วนน้อย
4. การเข้าถึงมวลชน และการแย่งชิงมวลชนของ กอ.รมน.ภาคที่ 4 ส่วนหน้า ยังไม่ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้น เป็นเพียงแต่สามารถแยก “แกนนำ แนวร่วม” ออกจากหมู่บ้านชั่วคราว และพร้อมจะกลับมาเมื่อกำลัง “ทหาร” ถอนออกไป ซึ่งชาวบ้านต่าง “ไหวรู้” ในเรื่องดังกล่าว จึงยังไม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะสิ่งที่ชาวบ้านเห็นทุกวันคือ “สายข่าว” ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เสียชีวิตเป็นใบไม้ร่วง จากฝีมือของ “แนวร่วม” เมื่อคนในพื้นที่ยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย ทุกคนจึงอยู่แบบเอาตัวรอดคือ วันที่ทหาร ตำรวจ ยังอยู่ในพื้นที่ ก็ทำตัวเป็นแนวร่วมของรัฐ แต่วันไหนที่ อำนาจรัฐอ่อนแอ ก็ทำตัวเป็นมวลชนของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ นี่คือวิธีเอาตัวรอดของประชาชนที่อยู่กลาง “เขาควาย”
5. กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังคง “ล้มเหลว” ในการสกัดกั้นการใช้ศาสนามาบิดเบือนของ”แนวร่วม”ต่อมวลชนในพื้นที่ เพราะขณะนี้มีการปลุกระดมจาก”แนวร่วม”ต่อประชาชนในพื้นที่ให้ลุกขึ้นมาก่อความไม่สงบในเดือน “รอมฎอน” ว่าจะได้บุญถึง 2 เท่า
ดังนั้น “คาร์บอมบ์” ครั้งล่าสุดนั้น บนความสูญเสียที่เกิดขึ้นจึงยังนับว่ามีประโยชน์ที่แฝงอยู่ด้วย เพราะอย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ชี้ชัดให้กับสังคม และให้กับหน่วยงานของรัฐ ที่มี กอ.รมน.เป็นผู้นำว่า การทำงานหนักของพวกท่าน ยังไม่บรรลุผล แม้พวกท่านจะพร่ำบอกกับสังคมว่า ยุทธศาสตร์ และยุทธการ ที่ท่านใช้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเดินมาถูกทางแล้ว แต่เพิ่งจะเริ่มต้นในการเดินทางไกลเท่านั้น และบนเส้นทางที่ บอกว่าเดินมาถูกทางแล้วนั้น ยังเต็มไปด้วย หลุมขวาก ระเบิด และอุปสรรคนานานัปการ โดยมีชีวิตของประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และแผ่นดินในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น “เหยื่อ” และเป็น “เดิมพัน” ที่ กอ.รมน. จะต้องระดมมันสมองในการป้องกันชีวิต ทรัพย์สินของผู้คน พร้อมทั้งจับกุมกลุ่มผู้ทำผิด และเปลี่ยนแนวคิดของมวลชน ที่ยังเป็นเครื่องมือให้กับขบวนการ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะจบลงได้ด้วยการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น และต้องชนะในสงครามแย่งชิงมวลชน
สำรวจความเคลื่อนไหวล่าสุดของขบวนการบีอาร์เอ็นฯ คือขณะนี้ กำลังของ “แนวร่วม” ที่อยู่นอกประเทศ ลักลอบเดินทางกลับเข้าพื้นที่แล้วไม่ต่ำกว่า 200 คน ซึ่งเป็นกำลังหลักที่จะเข้ามาก่อความไม่สงบ ส่วนแนวร่วมในพื้นที่มีการเตรียมระเบิดในรูปแบบต่างๆ ทั้ง “คาร์บอมบ์” และ “จจย.บอมบ์” ไปป์บอมบ์ และระเบิดในรูปแบบต่าง เอาไว้ในทุกพื้นที่ ที่ขบวนการได้รับการสนับสนุน เพื่อก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะสิ้นสุดเดือน “รอมฎอน”
และภารกิจทางการเมืองของ “แนวร่วม” ที่ต้องติดตามคือ การให้ความช่วยเหลือ คนของขบวนการที่สมัครรับเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 3 จังหวัด 4 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบ 100 แห่ง ในขณะนี้ ซึ่งเป็นแผนการหนึ่งของ “บีอาร์เอ็นฯ” ในการสถาปนาความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านที่เข้าไปยึดครอง
และ กอ.รมน.จะต้องป้องกันหมู่บ้าน สีเหลือง และหมู่บ้าน สีเขียว ที่ “บีอาร์เอ็นฯ” มีแผนที่จะก่อความรุนแรงให้เกิดขึ้น เพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่ ที่ส่งกำลังเข้าไปกดดัน “แนวร่วม” ในพื้นที่ยึดครองของ “แกนนำ” เนื่องจากหมู่บ้าน สีเหลือง และ สีเขียว ไม่มีการป้องกันจากเจ้าหน้าที่อย่างเข้มแข็ง และการก่อเหตุในหมู่บ้าน สีเหลือง และ สีเขียว จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องแบ่งกำลังจากพื้นที่ “อันตราย” มาป้องกันหมู่บ้านเหล่านั้น จึงจะทำให้เป็นโอกาสก่อความไม่สงบของ “แนวร่วม” ทั้งหมดคือ “การบ้าน” ที่ กอ.รมน. ต้องเร่งทำ และต้องทำให้ได้ผล ก่อนที่สถานการณ์ความไม่สงบจะขยายตัวเพิ่มขึ้น
สุดท้าย กอ.รมน. ต้องทบทวนการ “ดับไฟใต้” ที่ใช้นโยบาย “ เข้าใจ เข้าถึง และ พัฒนา”นั้น เพราะเท่าที่ติดตามการแก้ปัญหาของทุกภาคส่วนพบว่า หน่วยงานเกือบทุกหน่วยมีความ “เข้าใจ” ในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่หน่วยงานที่ “เข้าถึง” เป้าหมายที่ต้องการนั้นไม่มี และที่ทุกหน่วยงานแย่งกันทำกันขนาดใหญ่ในขณะนี้คือ การ “พัฒนา” เพราะการพัฒนาคือการใช้ “เม็ดเงิน” จำนวนมหาศาล ที่หากไม่มีการตรวจสอบที่ดี สิ่งที่ติดตามมาคือการ “ฉ้อราษฎร์ บังหลวง” อย่างมโหราฬนั่นเอง
ตราบใดที่การดับไฟใต้ มีเพียงการ “เข้าใจ” และ “พัฒนา” โดยไม่ “เข้าถึง” หรือ “เข้าไม่ถึง” เป้าหมายที่แท้จริง สุดท้ายรัฐจะได้เพียง “วัตถุ” แต่ไม่ได้ “มวลชน” ซึ่งจะเป็นดัชนีชี้วัดความ “ล้มเหลว” อีกครั้งของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น