อาบีบุสตา ดอเลาะ
กลุ่มกิจกรรมนักศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมชายแดนใต้(KAWAN-KAWAN)
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมการเมืองที่มีความสามารถในการตัดสินใจกระทำการหรือเลือกสิ่งใด โดยใช้ความคิดเหตุผลของตัวเองเพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดหรือมีประโยชน์มากที่สุด การที่มนุษย์ยอมสละสิทธิเสรีภาพบางประการให้แก่รัฐ เพราะเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าจากรัฐ ดังนั้นหากการสละสิทธิเสรีภาพและการรวมตัวกันเป็นประชาคมภายใต้สิ่งที่เรียกว่า รัฐ ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสังคมให้ดีขึ้นจึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่มนุษย์จะต้องยอมจำนนต่อรัฐ มนุษย์แต่ละคนจึงมีสิทธิยึดอำนาจและสิทธิเสรีภาพของตนที่เคยมอบให้แก่รัฐกลับคืนมาได้
“ระบอบประชาธิปไตย” คือ การปกครองประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ภายใต้ระบอบนี้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มีนัยว่าประชาชนสามารถทำอะไรก็ได้ภายใต้รัฐนั้น ประชาชนสามารถเปลี่ยนระบอบการปกครองจากประชาธิปไตยเป็นระบอบอื่นได้ถ้าคนส่วนใหญ่ต้องการ ประชาชนสามารถแยกประเทศได้หากคนในพื้นที่หนึ่งต้องการแยกประเทศ แม้จะเป็นระบอบที่ให้เสรีภาพในการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่ประชาชน แต่ประชาธิปไตยก็ไม่ยอมให้ประชาชนมาล้มล้างประชาธิปไตยและรัฐด้วยอำนาจสูงสุดนี้ ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องมาควบคู่กับหลักนิติรัฐที่ประชาชนไม่สามารถตัดสินใจหรือกระทำการใดๆ หากสิ่งนั้นมีกฎหมายห้ามใว้ อันเป็นการจำกัดผู้มีอำนาจสูงสุดไม่ให้สามารถกระทำการต่างๆที่เป็นการปฏิปักษ์ต่อรัฐและระบอบประชาธิปไตย
การแบ่งอาณาเขตความเป็นรัฐโดยการลากเส้นแดนที่ชัดเจนภายหลังสงครามโลก ทำให้เกิดรัฐต่างๆมากมายทั่วโลก การแบ่งรัฐดังกล่าวนี้ เป็นการใช้วิธีการทางการเมืองที่แยบยลช่วงชิงไหวพริบที่ซับซ้อนของแต่ละรัฐโดยร่วมมือกันระหว่างรัฐที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในการกวาดต้อนผู้คนและขยายดินแดนให้กว้างที่สุด บางกรณีเกิดปัญหาการครอบดินแดนของรัฐหนึ่งมาเป็นส่วนหนึ่งของอีกรัฐหนึ่งและการทับซ้อนของเขตแดนระหว่างรัฐ โดยข้อจำกัดของพื้นที่โลกที่มีจำนวนจำกัด ทุกกลุ่มชาติพันธ์จึงมีความต้องการที่จะครอบครองดินแดนอันเป็นขอบเขตแห่งรัฐให้กว้างที่สุดและได้ผลประโยชน์จากรัฐอื่นมากที่สุด ประจวบเหมาะที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยกำลังเติมโต รัฐที่พึงพอใจต่อดินแดนอาณาเขตของตนที่มีอยู่จึงนำหลักนิติรัฐมาใช้เพื่อการดูแลรักษาดินแดนอาณาเขตของประเทศ กฎหมายห้ามมิให้มีการแบ่งแยกดินแดนจึงมีปรากฎในรัฐธรรมนูญของรัฐเกือบทุกรัฐ
การเติบโตขึ้นของรัฐดังกล่าวนั้นถือเป็นวิวัฒานาการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ปกติอันมีการต่อสู้และแข่งขันระหว่างรัฐตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ แต่ในความเป็นรัฐสมัยใหม่รัฐจะต้องจัดการกับความชอบธรรมบกพร่องในอดีตให้ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งภายในรัฐในอนาคต อาทิ การเข้าใจอัตลักษณ์วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ การให้การรับรองว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าภายใต้รัฐใหม่ การปกครองที่เป็นธรรม การปกครองแบบสหพันธรัฐ เป็นต้น กล่าวคือต้องจัดการให้ประชาชนกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆรู้สึกยอมสละอำนาจและสิทธิสรีภาพบางประการของตนให้แก่รัฐ สมัครใจที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขภายใต้การปกครองของรัฐเดียวกัน
หากไม่สามารถจัดการกับความบกพร่องเหล่านั้นได้แล้ว ความขัดแย้ง การต่อต้าน การต่อสู้ หรือแม้กระทั่งสงคราม จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังคำกล่าวของ”คานธี”ผู้นำการเปลี่ยนแปลงของอินเดียที่ว่า “รัฐบาลที่ไม่มีผู้ใดยอมให้ปกครองคือรัฐบาลที่ไร้อำนาจ” ส่วนมากจะเกิดจากกลุ่มชาติพันธ์ที่มีความเป็นรัฐที่เข็มแข็งในอดีตและมีความแต่กต่างอย่างสุดขั้วกับกลุ่มชาติพันธ์ส่วนใหญ่ของรัฐ
รัฐคือนวัตกรรมที่มนุษย์สมมุติขึ้นมาเพื่ออำนวยความง่ายดายและประโยชน์ให้แก่มนุษย์ แต่ปัจจุบันมนุษย์มีปัญหาความขัดแย้งกันเนื่องจากมนุษย์ให้ความสำคัญต่อความเป็นรัฐมากกว่าความเป็นมนุษย์ ดังนั้นแม้ว่ามนุษย์จะสร้างระเบียบกฎเกณ์และหลักการมาอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือความเป็นมนุษย์ ที่ทุกคนมีความสามารถมีเหตุผลในการเลือกตัดสินใจว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเอง ฉะนั้นในประวัติศาสตร์ การปกครองกลุ่มชนที่ไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของรัฐมีแต่จะสร้างความเสียหายและบั่นทอนความเจริญก้าวหน้า การพัฒนาของรัฐมาโดยตลอด