มาร์ค แอสคิว
นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เป็นเวลาเกือบเก้าเดือนแล้วที่พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำได้ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศ (ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา) ในขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้พบกับวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่จากสาธารณะ เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2552 และมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนซึ่งเป็นช่วงเดือนรอมฎอนหลายครั้ง โดยมีการวางระเบิดในตัวจังหวัดนราธิวาส, ปัตตานี และยะลา จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า เหตุใดจึงมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในคอลัมน์ต่างๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงและจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็น ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวแทนจากภาคใต้ แต่เราต้องอย่าลืมว่า ในระหว่างการรณรงค์เพื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้ให้คำมั่นแก่ชาวใต้ว่า ทางพรรคจะให้ความสำคัญแก่การแก้ไขปัญหาภาคใต้เป็นอย่างแรก แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลแล้ว ปัญหาภาคใต้ได้ถูกลดความสำคัญลงเป็นลำดับที่สามเมื่อเทียบกับนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล
นโยบายสำหรับการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลในปัจจุบันไม่มีอะไรพิเศษ มาตรการหลักของสำหรับการแก้ปัญหาภาคใต้ในวันนี้นอกจากจะไม่แตกต่างจากของรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรไปสักเท่าใดแล้ว การระบุ “ปัญหา” ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นการขาดแคลนด้านการพัฒนาและการศึกษา ยังเป็นแนวทางเดียวกันอีกด้วย รวมไปถึงนโยบายในการเคร่งครัดต่อตัวบทกฎหมาย, การให้ความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคกัน และการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสไว้ ล้วนเป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลชุดรัฐประหารของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ได้วางไว้ทุกประการ
พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเสนอ “นโยบายที่ไม่มีอะไรพิเศษ”ในการแก้ปัญหาภาคใต้ภายใต้สโลแกนที่ลอกเลียนมาว่า “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งมักจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างตรงตามตัวอักษรเป็น “Politics Leading the Military” ซึ่งคำแปลนี้เป็นคำแปลที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดียวตามความหมายที่แท้จริงของประโยคนี้ เนื่องจากคำว่า “การทหาร” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง “ทหาร” แต่หมายถึง “การปฏิบัติการทางการทหาร” โดยนักข่าวไทยจำนวนมากก็เข้าใจความหมายของประโยคนี้ผิดไปด้วยเช่นกัน
แท้ที่จริงแล้ว คำแปลที่ถูกต้องของ “การเมืองนำการทหาร” ก็คือ “การดำเนินการทางการเมืองนำหน้าการปฏิบัติการแบบใช้อาวุธและยุทธวิธีการรบ” และยังมีนัยถึงหลักการรับมือกับการก่อความไม่สงบแบบสงครามเย็นของกองกำลังทหารของประเทศไทย วลีนี้มีที่มาจากหลักการในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 66/23 (พ.ศ. 2523) ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และคำสั่งต่อเนื่องจากนั้น ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางด้านการทหารสำหรับการรับมือต่อการก่อความไม่สงบโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แนวทาง “การเมืองนำการทหาร” นี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนหลักการ ภาพลักษณ์ และกำลังใจของทหารของไทยอย่างสิ้นเชิง โดยหลักการนี้ได้เปลี่ยนเป้าหมายการปฏิบัติการจากการปราบปรามการก่อความไม่สงบไปเป็นการเปลี่ยนผู้ก่อความไม่สงบให้กลายเป็นพลเมืองที่มีความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเทศชาติ
สโลแกน “การเมืองนำการทหาร” ที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้อยู่ทุกวันนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารรู้สึกกังวลใจเนื่องจากนักการเมืองแสดงความไม่เข้าใจเรื่องที่มาและความหมายที่แท้จริงของประโยคนี้ อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้สโลแกนนี้ในความหมายของเขาก็คือ “การเมือง–นำ–ทหาร” เพื่อโยกย้ายดุลอำนาจในการจัดการด้านนโยบายและงบประมาณสำหรับชายแดนภาคใต้จากกองทัพไปยังนักการเมืองและข้าราชการ
จากมุมมองโดยทั่วไป อาจมองได้ว่าทหารไม่พอใจกับแนวความคิดนี้เนื่องจากฝ่ายทหารจะได้รับงบประมาณซึ่งเคยให้โอกาสในการหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ มาตั้งแต่ กอ.รมน. ครองอำนาจในการดำเนินนโยบายความมั่นคงในชายแดนได้ (นั่นคือตั้งแต่ปี 2549) แต่ฝ่ายทหารถือว่า ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าคุณต้องการชนะใจประชาชนเพื่อต่อสู้กับการก่อความไม่สงบนั้น จะไม่สามารถแยกปฏิบัติการเพื่อความมั่นคงจากการพัฒนาของฝ่ายทหารได้เลย ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา “การพัฒนา” ได้เป็นเครื่องมือที่ฝ่ายทหารใช้ในการสร้างความสัมพันธ์และเปลี่ยนฝ่ายตรงข้ามให้กลับมาเป็นพลเมืองที่ดีมาโดยตลอด แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนอาจเถียงว่า แนวทางการดำเนินการของทหารนี้ประสบความล้มเหลวมาเป็นเวลานานแล้ว โครงการ “ทักษิณพัฒนา” ที่เริ่มขึ้นในปี 2531 (หรือชื่อเดิมคือ โครงการฮารับปันบารู) และดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปี 2548 ซึ่งได้ใช้งบประมาณไปหลายล้านบาทในโครงการพัฒนาต่างๆ ของทหาร แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนเท่าไรนักใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรก็ตาม วิธีการใช้การพัฒนาในการสร้างความเชื่อใจเป็นแนวทางที่กองทัพใช้มาตลอด และในพื้นที่เสี่ยงในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เมื่อพิจารณาจากชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นี้แล้ว ก็ถือว่ากองทัพได้ผลลัพธ์พอสมควร
กระสุนมหัศจรรย์ของพรรคประชาธิปัตย์
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการรัฐมนตรีพิเศษ” สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว คณะกรรมการนี้ก็เป็นเพียงคณะกรรมการรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ในการ “พัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ไม่มีอะไรโดดเด่นเท่าไรในเรื่องนี้ นอกจากเพียงแค่แย่งหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เท่านั้นเอง บทบาทของคณะกรรมการชุดนี้ก็คือการวางแผนโครงการต่างๆ เพื่อรวบรวมเงินทุน 63 พันล้านบาทสำหรับส่งไปยังห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่างพระราชบัญญัติตามนโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ การเปลี่ยนศูนย์บริการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในปัจจุบันให้เป็นหน่วยงานอิสระภายใต้ พ.ร.บ. เฉพาะของตัวเองเพื่อสร้าง “เอกภาพ” ในการดำเนินนโยบาย นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2547 เป็นต้นมา กี่ครั้งแล้วที่เราได้ยินการอ้างถึง “เอกภาพ” ในการดำเนินนโยบาย ของเล่นชิ้นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์นั่นคือ ศอ.บต.ในฐานะหน่วยงานอิสระ จะทำให้เกิดความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้นอย่างนั้นหรือ? หรือนี่ก็แค่หมายถึงอำนาจที่มากขึ้นของฝ่ายข้าราชการเท่านั้นเอง?
พรรคประชาธิปัตย์ได้บ่นถึงเรื่อง ศอ. บต. มาอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้ถูกยุบไปในปี 2545 ภายใต้การบริหารของนายทักษิณ ชินวัตร โดยทางพรรคได้แย้งว่า หน่วยงานนี้เป็นสะพานเชื่อมความแตกแยกระหว่างชาวมุสลิมในเขตชายแดนและรัฐไทย อีกทั้งยังทำหน้าที่โยกย้ายเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติตัวอย่างไม่เหมาะสมออกจากพื้นที่ และดำเนินการโครงการต่างๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู อย่างไรก็ตาม คำโต้แย้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าการสิ้นสุดของ ศอ.บต. (จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2524) ได้เปิดช่องว่างให้แก่การก่อความไม่สงบที่ประทุขึ้นในปี 2547 นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่น่าสงสัยอยู่ ถ้า ศอ.บต. เป็นองค์กรที่สามารถสร้างความกลมเกลียวที่มีประสิทธิภาพมาเป็นเวลากว่ายี่สิบปีตามที่พรรคประชาธิปัตย์และคนอื่นๆ อ้างแล้ว ทำไม เพียงแค่สองปีเท่านั้นหลังจากการยุบ ศอ.บต. ในปี 2545 ความรุนแรงต่างๆ ก็เริ่มปะทุขึ้นอีกครั้งในเขตชายแดน ความจริงก็คือ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มใหม่นี้ ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นใต้จมูกของ ศอ.บต. และหน่วยความมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นอย่างต่ำ
อันที่จริงแล้ว การดำเนินการของ ศอ.บต. ในช่วงปีแรกๆ นั้นมีประสิทธิภาพอย่างมาก เนื่องจากมีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) ผ่านทางคณะกรรมการพิเศษตรงไปยังผู้อำนวยการ ศอ.บต. ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย สายการบังคับบัญชาที่แข็งแกร่งนี้ได้เริ่มอ่อนแรงลงในปี 2539 จากการตัดสินใจของรัฐบาล
ศอ.บต. ไม่ใช่องค์กรที่เป็นประโยชน์ในทุกยุคเท่าที่บางกลุ่มพูดมาตลอด เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่มีประสบการณ์มองว่า ศอ. บต. รุ่นแรกว่าเป็นอู่ข้าวอยู่น้ำสำหรับการกระจายยรายได้ไปสู่เครือข่ายพรรคพวก ยิ่งไปกว่านั้น พรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยพยายามที่จะยุบ ศอ.บต. มาแล้วในปี 2540 หลังจากที่การดำเนินการของ ศอ.บต. ไม่สามารถป้องกันการเพิ่มขึ้นของโจมตีด้วยการการลอบวางเพลิงและการวางระเบิดได้
หลังจากการปฏิวัติในปี 2549 รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้นำ ศอ.บต. กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้โครงสร้างแบบเดียวกับ ศอ.บต. ยุคก่อนหน้าทุกประการ ยกเว้นแต่ในครั้งนี้ จะอยู่ในสังกัดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่โดยทำหน้าที่ในเสนองบประมาณและออกนโยบาย “สันติภาพ” ในความเป็นจริง โครงการพัฒนาต่างๆ ของฝ่ายทหารก็ส่งเสริมขอบเขตการดำเนินงานของ ศอ.บต. อยู่แล้ว แต่ฝ่ายข้าราชการได้ร้องเรียนว่า งบประมาณของฝ่ายข้าราชการไม่ควรผูกมัดอยู่กับฝ่ายทหาร ในปี 2552 งบประมาณสำหรับโครงการต่างๆ ของ ศอ.บต. คิดเป็น 13.7% ของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมทั้งหมดของ กอ.รมน. ภาค 4 ซึ่งมีมูลค่า 8.5 พันล้านบาท
เนื่องจากในปี 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้เคยเรียกร้องให้ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานอิสระเต็มรูปแบบมาแล้ว ดังนั้นเพียงไม่นานหลังจากที่พรรคได้เป็นแกนนำรัฐบาล นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยจากพรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงว่าท่านกำลังร่างพระราชบัญญัติสำหรับ ศอ.บต. แบบถาวร อันที่จริง นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญของนายถาวรในพื้นที่จังหวัดสงขลา) ได้เคยนำเสนอร่างพระราชบัญญัติมาแล้วในปี 2551 โดยโครงสร้างของนายนิพนธ์ได้จัดหน่วยงานนี้ให้ขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ในกรุงเทพมหานครมีการประชุมเพื่อแถลงร่างพระราชบัญญัตของนายถาวร ได้รับการอภิปรายใน โดยนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. ระบุว่าการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากคณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. ได้ร้องขอให้จัดขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งๆ ที่ได้มีการยกประเด็นที่น่าเป็นห่วงขึ้นหลายประเด็นในการประชุมครั้งนี้ แต่ร่างพระราชบัญญัตินี้ก็ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พระราชบัญญัตินี้ได้จัดให้ ศอ.บต. ยุคใหม่อยู่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งใกล้เคียงกับสายการบังคับบัญชาของ ศอ.บต. ในยุคก่อนหน้านี้ (ก่อนการเปลี่ยนแปลงในปี 2539) โดยสังกัดสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติในด้านนโยบายด้วย สำหรับขอบเขตอำนาจจะยังคงครอบคลุมพื้นที่เดิม นั่นคือ พื้นที่สามจังหวัดที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม พร้อมด้วยจังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล ประเด็นข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ได้รับการกล่าวถึงในการประชุมที่กรุงเทพมหานคร และการประชุมเพิ่มเติมที่คณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต. จัดขึ้นในจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 1 กันยายน ได้บ่งชี้ถึงความกังวลใจเกี่ยวกับโครงสร้าง, หน้าที่ความรับผิดชอบ และขอบเขตการดำเนินงานของหน่วงงานนี้หลังจากการปรับโครงสร้างใหม่อย่างชัดเจน
รูปแบบโครงสร้างของ ศอ.บต. (หรือ “สบ.ชต”) ใน พ.ร.บ.ร่างของนายถาวรนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประชาชนทั้งชาวไทยมุสลิมและชายไทยพุทธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำชุมชนและผู้ประกอบการต่างวิตกกังวลว่าการอยู่ใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทยจะเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงทางการเมือง รวมไปถึงการใช้เส้นสายทางการเมืองและการติดสินบนอีกด้วย พวกเขาต้องการสายงานที่ทำให้ ศอ.บต. สามารถติดต่อโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีได้มากกว่านี้ นายนิพนธ์ได้เน้นย้ำว่า ถ้าไร้ซึ่งอำนาจสั่งการโดยตรงจากนายกรัฐมนตรีแล้ว การดำเนินงานของ ศอ.บต. จะถูกปิดกั้นด้วยระบบการทำงานระหว่างหน่วยงานที่ล่าช้าของกระทรวงมหาดไทย
ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งจะเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงสร้างที่เสนอนั้นจะมีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยที่ปรึกษาระดับสูงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หลายคนต้องการให้มีการจัดตั้งกลุ่มพลเรือนเพื่อทำหน้าที่สอดส่องดูแลการดำเนินงานของ ศอ.บต. โครงสร้างที่นำเสนอนี้ ทำให้นึกถึงข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติในปี 2549 ซึ่งไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร และหลังจากนั้นก็ได้ถูกเก็บอยู่ในลิ้นชักในช่วงรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธิ์ จุลานนท์ คำถามที่สำคัญที่สุดอีกคำถามหนึ่งก็คือ ขอบเขตอำนาจของ ศอ.บต. ใหม่นี้ ควรครอบคลุมพื้นที่ทั้งห้าจังหวัดเหมือนเช่นเดิม หรือควรจำกัดให้เฉพาะพื้นที่สามจังหวัดและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่ประสบและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงอยู่ในขณะนี้หรือไม่
ในการประชุมที่จังหวัดยะลา ผู้นำชุมชนและนักธุรกิจอย่างเป็นเอกฉันท์ในการคัดค้านแนวคิดการครอบคลุมพื้นที่ห้าจังหวัด พวกเขาได้โต้แย้งว่า นั่นคือการเปิดโอกาสให้มีการหาผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างไม่ถูกต้องในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยการเอาเปรียบสิทธิพิเศษในการลดภาษี อะไรคือสาเหตุที่จำเป็นต้องรวมพื้นที่จังหวัดสตูลและพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสงขลาไว้ในขอบเขตการดำเนินงานของ ศอ.บต. ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลพื้นฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง หรือทางวัฒนธรรม ที่จำเป็นต้องครอบคลุมพื้นที่ทั้งห้าจังหวัดแต่อย่างใด
ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา นายอาซิส เบ็ญหาวันได้แสดงความเห็นชอบในการทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ใหม่ และเสนอแนะให้ ศอ.บต. ในอนาคตควรครอบคลุมเฉพาะพื้นที่สามจังหวัด นั่นคือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาเท่านั้น
ศอ.บต. ใหม่จะช่วยลดความรุนแรงลงได้หรือไม่?
นายอาซิส เบ็ญหาวัน ได้กล่าวอย่างเปิดอกในการสรุปการประชุมในกรุงเทพมหานครว่า ศอ.บต. ที่ได้รับการจัดโครงสร้างใหม่นี้ จะไม่สามารถลดระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ แต่จะเป็นการเอื้อต่อการจัดตั้งหน่วยงานบริหารที่เกี่ยวข้องซึ่งจะอยู่ในโครงสร้างของระบบเป็นระยะเวลานาน เจ้าหน้าที่เกษียณอาวุโสท่านหนึ่งซึ่งได้ทำงานกับ ศอ.บต. มาเป็นเวลา 8 ปีได้ กล่าวว่า “ศอ.บต. ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการในพื้นที่ซึ่งมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว''
ถ้าคำกล่าวนี้เป็นจริง อะไรคือสาเหตุที่ต้องลดบทบาทของฝ่ายทหารในโครงการพัฒนา และมอบอำนาจทั้งหมดให้แก่ข้าราชการ จริงอยู่ว่าเจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. ก็ดำเนินโครงการต่างๆ ที่มีอยู่มากมายอย่างขยันขันแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยโครงการที่อาจถือได้ว่าเป็นโครงการที่ดีที่สุดก็คือการดำเนินการโดยสำนักงานยุติธรรมของ ศอ.บต. ในการช่วยสร้าง “เครือข่ายยุติธรรมชุมชน” ตามหมู่บ้านต่างๆ อันมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน รวมถึงการสร้างความมั่นใจให้แก่กลุ่มในพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมของตนเอง แต่โดยมาก การทำงาน ศอ.บต. ก็อาจไม่เพียงพอที่จะสามารถชนะใจชาวบ้านได้ และไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐไทยในทุกวันนี้ได้ ลักษณะและรูปแบบของกิจกรรมจำนวนมากของ ศอ.บต. ได้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานไม่เต็มใจที่จะเข้าถึงชาวบ้านในพื้นที่ของเขา นั่นคือในหมู่บ้านของเขาเอง โดยโครงการและการประชุมเชิงปฏิบัติการส่วนมากจะจัดขึ้นในตัวจังหวัดหรือตัวอำเภอ ซึ่งเป็นที่ที่เจ้าหน้าที่รู้สึกปลอดภัยจากการก่อความไม่สงบมากกว่า โดยได้มีการจองห้องพักตามโรงแรมชั้นนำอย่างเช่น โรงแรม ซี เอส ปัตตานี เพื่อใช้ในการประชุมสัมนาอยู่เป็นประจำ ในขณะนี้ ชาวบ้านหลายคนได้ร้องเรียนว่าพวกต้องเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการกับเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. อย่างหนักจนรู้สึกเหนื่อยล้าเกินไป
สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ รัฐบาลซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำได้เริ่มแนวคิดตามสโลแกน “การเมืองนำการทหาร” (นั่นคือ ลดบทบาทของทหารลง) ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า หน่วยทหารเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เข้าไปในหมู่บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชน 217 ชุมชนที่ยังคงได้รับการจัดให้เป็นพื้นที่อันตรายหรือพื้นที่ซึ่งมีการแทรกซึมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่ ศอ.บต. จะเข้าไปในหมูบ้านแบบนี้ เฉพาะเมื่อพวกเขาได้รับการคุ้มกันอย่างแน่นหนาจากทหารเท่านั้น
หมู่บ้านจำนวนมากยังคงมีความรู้เกี่ยวกับ ศอ.บต. น้อยมาก ถึงแม้จะมีป้ายประกาศพร้อมรูปถ่ายที่ยิ้มแย้มของนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการ ศอ.บต. ตั้งอยู่ที่บริเวณทางแยกของถนนสายหลัก แต่ก็ไม่มีอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลแต่อย่างใด ประชาชนใน “หมู่บ้านสีแดง” ได้รับการตั้งชื่อใหม่อย่างชาญฉลาดว่าเป็น “หมู่บ้านเสริมสร้างสันติสุข” ยอมรับว่า พวกเขาคุ้นเคยกับโครงการพัฒนาที่ดำเนินการโดยทหารพรานและหน่วยทหารราบมากกว่า
ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ปัญหาใดที่ ศอ.บต. ที่สวยหรูของพรรคประชาธิปัตย์จะทำการแก้ไข ถ้ายังไม่สามารถรับมือกับปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน นั่นคือ ความไม่ปลอดภัยและการสังหารรายวันได้ ปัญหาเหล่านี้จะย้อนกลับไปเป็นหน้าที่ของฝ่ายทหาร ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของ ศอ.บต. วุ่นวายอยู่กับการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่ชาวบ้านในโรงแรมชั้นนำหรือในตัวอำเภอที่ปลอดภัย ถ้าเจ้าหน้าที่ข้าราชการต้องการอิสระและงบประมาณเพิ่มขึ้น พวกเขาก็ต้องทำงานหนักขึ้น และเข้าถึงชาวบ้านให้มากขึ้น เพื่อให้สมควรกับงบประมาณที่มากขึ้น
แน่นอนว่า รัฐไทยไม่สามารถขึ้นอยู่กับฝ่ายทหารในการรักษาความชอบธรรมของรัฐ และก็อาจเป็นไปได้ว่า กองทัพก็มี “โครงการพัฒนา” ที่ควรดำเนินการโดยพลเรือนอยู่มากเกินไป แต่ในขณะนี้ ดูเหมือนว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดและในอำเภอไม่สามารถทำอะไรเพิ่มเติมมากกว่าที่ได้ทำไปแล้วเท่าไรนัก นอกจากว่าพวกเขาจะพบปะกับชาวบ้านในหมู่บ้านของเขาเองให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ที่เสียสละและปฏิบัติงานได้อย่างยอดเยี่ยมนั้นอยู่จำนวนมาก
แต่ความคิดเรื่องการ “เข้าถึง” ดูเหมือนจะไม่ตรงกันกับความหมายของคำว่า “เข้าถึง” ของชาวบ้านทั่วไป หรือถ้าจะพูดอย่างง่ายๆ ก็คือ สำหรับทุกๆ 200 บาทต่อคนที่ ศอ.บต. จ่ายเป็นค่าอาหารสำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในโรงแรมชั้นนำ ศอ.บต. สามารถจ่าย เพียงแค่คนละ 15 บาทในการนั่งพูดคุยกับชาวบ้าน 10-20 คนในร้านน้ำชาในหมู่บ้านของเขาเอง โดยได้ผลการประชุมอย่างมากหลายเท่า เพราะอะไร? เพราะว่าชาวบ้านแถบนี้ไม่ต้องการ “การพัฒนา” แต่พวกเขาต้องการไว้ใจในฝ่ายรัฐ ซึ่งเขาก็ไม่สามารถไว้ใจรัฐได้ถ้าเขาไม่สามารถมองเห็นในรูปของบุคคล ในฐานะเพื่อนนอกห้องสัมมนาหรือพิธีกรรมข้าราชการ ทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่เข้าในในสิ่งนี้ หรือมันเร็วเกินไปที่จะพูดถึง “การพัฒนา” ในตอนนี้ ในขณะเดียวกันชาวบ้านต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวว่า เขาอยากเห็นเจ้าหน้าที่เข้ามาในหมู่บ้านมากขึ้น ข้าราชการจะมาหรือไม่ถ้าเขาได้รับงบประมาณมากขึ้น หรือเจ้าหน้าที่จะเกณฑ์ชาวบ้านเข้าไปร่วมประชุมในโรงแรมมากขึ้นกว่าเดิม
ศอ.บต ได้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังทำอะไรอยู่ในตอนนี้ สังเกตได้จากการที่สัญลักษณ์ของพรรคได้ปรากฏอยู่หน้าเว็บไซต์ของ ศอ.บต.! การสร้างฐานเสียงการรักษาบริวารและดูแลพรรคพวก สร้างเครือข่ายและอิทธิพลในบรรดาข้าราชการ คือหัวใจหลักของ “การเมือง” ไทย และ "การเมือง” นี้เองที่เป็นตัวนำที่ชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีของพรรคสำหรับสถานการณ์ภาคใต้และในที่อื่นๆ
มาร์ค แอสคิว (Marc Askew) เป็นนักวิจัยอาวุโสของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเป็นผู้ประพันธ์หนังสือมากมาย อาทิเช่น Conspiracy, politics, and a disorderly border: the struggle to comprehend Insurgency in Thailand's Deep South (สมคบคิด การเมือง และชายแดนไร้ระเบียบ: การต่อสู้ในการทำความเข้าใจการก่อความไม่สงบในชายแดนใต้ของไทย) และ Performing Political Identity: The Democrat Party in Southern Thailand (การแสดงอัตลักษณ์ทางการเมือง: พรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ของไทย)