Skip to main content
ทวีพร คุ้มเมธา
 
ข้อดีนั้นคือ แนวโน้มที่วิถีทางแบบประชาธิปไตยเริ่มเข้ามากำกับการใช้ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ในบทความนี้ พูดถึงวิธีการแบบประชาธิปไตย ไม่ได้พูดถึงระบอบประชาธิปไตย) 
 
ในขณะที่ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี หรือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างกล่าวอ้างว่าตนเองเป็นผู้แทนและต่อสู้เพื่อประชาชนชาวปาตานี แต่ทำไมประชาชนจำนวนมากไม่รู้สึกเช่นนั้น
 
แน่นอนในสถานการณ์เช่นนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ประชาชนปาตานีเลือกตั้งผู้แทนที่ไม่ผ่านกลไกรัฐไทย ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม แต่สิ่งหนึ่งที่อาจพอทำให้ฝ่ายขบวนการอ้างถึงการเป็นตัวแทนหรือผู้นำอย่างมีความชอบธรรม (justified) มากกว่าที่เป็นอยู่ คือการใช้วิธีแบบประชาธิปไตยที่พอทำได้ คือการฟังเสียงประชาชน และยอมรับภาระการรับผิดชอบและการตรวจสอบได้ (accountability) 
 
ความเป็นตัวแทน และความเป็นผู้นำ มาพร้อมกับ ภาระการรับผิดชอบและการตรวจสอบได้ ถ้าหากคุณปฏิเสธภาระนั้น ความเป็นตัวแทนหรือผู้นำของคุณก็จะไม่ได้รับการยอมรับ หรือไม่ชอบธรรม (ยกเว้นแต่ว่า จะมีกฎหมายห้ามการวิจารณ์หรือตรวจสอบ หรือ จับกุมคนวิจารณ์ด้วยอำนาจเผด็จการ เหมือนในบางกรณีในประเทศไทย)
 
สิ่งที่เกิดขึ้น แทบจะตลอดหลายสิบปีของความไม่สงบในปาตานี คือการที่ฝ่ายขบวนการเงียบงัน ไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งยังไม่ออกมาพูดถึง ภาพอนาคตปาตานีที่มุ่งหวังและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ในความคิดของของพวกเขา
 
ไม่ว่าเหตุผลของการเงียบคืออะไร มันคือการปฏิเสธภาระการรับผิดชอบและการตรวจสอบได้จากสาธารณะ ซึ่งทำให้ขบวนการห่างเหินจากความเป็นตัวแทนของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
หลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 59 นักรบที่เชื่อว่าเป็นนักรบกลุ่มบีอาร์เอ็น บุกโรงพยาบาลเจาะไอร้อง เพื่อใช้เป็นที่มั่นในการโจมตีค่ายทหารพรานซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิต่างออกมาประณามความรุนแรงดังกล่าว และมีการเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายนักรบเพื่อเอกราช และฝ่ายทหารไทย เคารพหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามปฏิบัติการทางทหาร และการตั้งค่ายทหารในพื้นที่โรงพยาบาล โรงเรียน ศาสนสถาน และพื้นที่ชุมชน
 
เรียกได้ว่าปฏิบัติการเพื่อแสดงศักยภาพของบีอาร์เอ็นในวันครบรอบ 56 ปีของการสถาปนาองค์กร เกือบจะไปได้สวย หากไม่มีการบุกโรงพยาบาลเจาะไอร้อง ถ้าหากว่านี่เป็นความตั้งใจส่งสัญญาณดิสเครดิตมารา ก็กลายเป็นบีอาร์เอ็นเสียเองที่ถูกดิสเครดิต จากทุกกลุ่มองค์กรภาคประชาชน
 
ไม่กี่วันหลังจากนั้น ตัวแทนมารา ปาตานี อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า พร้อมยอมรับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) และประณามทั้งสองฝ่ายว่า ทำผิดหลัก IHL การตอบรับต่อ IHL ของมารา ย่อมเป็นที่ถูกใจภาคประชาสังคมอย่างยิ่ง ได้ใจประชาชน ทั้งยังเกิดผลบวก ในแง่ที่ว่า หากมาราประกาศใช้ IHL จริง จะได้รับการยอมรับทางการเมืองจากประชาคมโลก (ส่วนความสามารถที่จะทำตามหลักกฎหมายนั้น ยังเป็นที่สงสัยอยู่) อย่างไรก็ตาม มีผู้วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ามารากำลังช่วงชิงจังหวะทางการเมืองอย่างเห็นแก่ตัว 
 
ไม่ว่ามารา จะจริงใจและจริงจังต่อการประกาศเช่นนี้หรือไม่ เห็นได้ชัดว่านี่คือการ เล่นการเมือง ซึ่งเป็นผลดีต่อกระบวนการสันติภาพโดยรวม
 
กระบวนการสันติภาพได้บีบให้ขบวนการต้องเล่นการเมืองมากขึ้น เพราะในขณะที่ขบวนการกำลังอ้างกับไทย และกับโลกว่า เป็นตัวแทนของประชาชนปาตานี การออกมาพูดเพื่อเอาใจฐานเสียง (constituency) ซึ่งคือประชาชนในสามจังหวัด เพื่อสร้างคะแนนนิยม และเกิดความยอมรับที่กว้างขวาง เป็นสิ่งจำเป็น 
 
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากจากปรากฎการณ์การเล่นการเมืองนี้คือ การที่ขบวนการแต่ละกลุ่ม (หรืออาจะเป็นแต่ละปีก?) ออกมาตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์กันเอง ถึงการใช้ความรุนแรงที่ไม่เหมาะสมและกระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชนมากเกินไป ซึ่งเหมือนกับที่พรรคการเมืองในสภาในระบอบประชาธิปไตยตรวจสอบการทำงานของกันและกัน ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชนนั่นเอง
 
เช่นเดียวกับประชาธิปไตยทั่วโลก นักการเมืองบางคนอาจพูดเก่ง แต่ทำงานน้อย แต่กลับได้รับความนิยมมากกว่านักการเมืองอีกคนที่ทำงานเยอะ แต่พูดโฆษณาตัวเองน้อย แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป ประชาชนจะรับรู้ เพราะการตรวจสอบของสื่อและภาคประชาสังคม
 
การเมืองจึงไม่เข้าใครออกใคร มารา ปาตานีจะถูกประชาชนปาตานีและประชาคมโลกติดตาม และตรวจสอบ ว่าจะทำได้จริงอย่างพูดหรือไม่
 
ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ไม่มีใครสามารถปฏิเสธการสื่อสารและการถูกตรวจสอบ วิธีของขบวนการแบบเดิมๆ กำลังถูกท้าทายด้วยวิถีทางแบบประชาธิปไตย ที่ “ผู้แทน” หนีไม้พ้นที่จะถูกประชาชนตรวจสอบ การต่อสู้โดยการใช้ความรุนแรง ก็จะถูกเรียกร้องให้ใช้อย่างมีความรับผิดชอบและโปร่งใสมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
 
แก้ไขเมื่อ 19 มี.ค. 59 เวลา 9.48น.  
 
File attachment
Attachment Size
cover_amy.jpg (168.8 KB) 168.8 KB