Skip to main content

กว่าสามสัปดาห์ (13 มี.ค.2559) ภายหลังการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบยิงปะทะใส่ฐานปฏิบัติการร้อย ทพ.4816 กรมทหารพรานที่ 48 หมู่ 2 ต.จวบ อยู่ตรงข้ามกับ รพ.เจาะไอร้อง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และยังถือเป็นอีกหนึ่งใน 17 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันทั้งใน จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา ซึ่งตรงกับวันสถาปนาแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือที่รู้จักกันในนามกลุ่มขบวนการ "บีอาร์เอ็น" แม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบในครั้งนี้ แต่เหตุการณ์ที่ รพ.เจาะไอร้อง กลายเป็นที่จับตาจากหลายฝ่ายเพราะไม่บ่อยนักที่จะเกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่โรงพยาบาล

กองบรรณาธิการนักข่าวพลเมืองภาคใต้ ได้สัมภาษณ์ สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอทช์ ประจำประเทศไทย ในฐานะนักขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและรวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ความขัดแย้งชายแดนใต้ว่ามีมุมมองต่อ “เหตุปะทะที่ รพ.เจาะไอร้อง” อย่างไร และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สะท้อนความก้าวหน้าหรือความถดถอยในเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร

0000000

สุนัย กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น12 ปีในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการขัดกันด้วยอาวุธ ด้วยกำลังภายในประเทศ หรือที่เรียกว่า “Internal Arms Conflict - IAC” ซึ่งสามารถนำเอากติกาสงครามหรือกฎหมายแห่งสงคราม ที่เรียกว่า “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL)” มาเป็นกรอบกำกับพฤติกรรมของคู่ขัดแย้งว่า ใช้กำลังต่อกันในลักษณะใด รูปแบบใด และต่อเป้าหมายใดได้บ้าง ซึ่งได้กำกับให้กำลังรบของทั้งสองฝ่ายนั้นต่อสู้กัน โดยห้ามมิให้กระทำต่อพลเรือนและสถานที่ที่ไม่เป็นเป้าหมายทางทหาร

สิ่งที่เกิดขึ้นกับกรณีโรงพยาบาลเจาะไอร้องนั้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เป็นสิ่งที่ละเมิดสถานที่ที่ไม่ใช่เป้าหมายทางทหาร และยังมีความพิเศษที่เป็นสถานพยาบาลซึ่งได้รับความคุ้มครองเฉพาะเจาะจงในกติกาแห่งสงครามด้วย เพราะฉะนั้นการเข้ามาของกองกำลังติดอาวุธที่ใช้โรงพยาบาลเจาะไอร้องเป็นฐานที่มั่นในการโจมตีหน่วยทหารพรานที่อยู่ใกล้กันกับโรงพยาบาล และหลังจากนั้นก็ถอยกำลังกลับเข้ามาในโรงพยาบาลซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยจับเจ้าหน้าที่พยาบาลมัดและทำลายทรัพย์สิน จึงเป็นการละเมิดกติกาแห่งสงครามอย่างชัดแจ้งและสะท้อนเจตนาการละเมิดโดยจงใจด้วย

มองย้อนกลับไปนี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรก ก่อนหน้านี้ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา กองกำลังติดอาวุธได้ก่อเหตุต่อสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์หลายครั้ง มีถึงขั้นที่เข้าไปสังหารทำให้เสียชีวิต ทำให้บาดเจ็บ มีการเผาทำลายสถานพยาบาล มีการวางระเบิดใกล้สถานพยาบาล สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนว่า ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีบริบทรองรับ แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเจตนา และเป็นบรรทัดฐานว่าเคยทำมาแล้วและยังกระทำต่อเนื่องมาอีก เป็นหนึ่งในกรณีที่ทาง Human Rights Watch ถือว่าสะท้อนการละเมิดกติกาแห่งสงครามอย่างต่อเนื่องและจงใจโดยกองกำลังในพื้นที่

แต่ในขณะเดียวกันเราก็ย้ำว่า โรงพยาบาลและสถานที่พลเรือนต่างๆ นั้นจะต้องไม่ถูกนำมาใช้ในปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งนั่นหมายรวมทั้งฝ่ายกองกำลังติดอาวุธที่เข้ามาใช้โรงพยาบาล เป็นที่มั่นในการโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และการโจมตีโรงพยาบาลโดยตรงอันนั้นผิดชัดแจ้ง แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเองตั้งฐานที่มั่นอยู่บริเวณโรงพยาบาล โรงเรียน และวัด นั่นก็ถือว่าละเมิดกติกาแห่งสงครามในแง่ที่ทำให้เป้าหมายเหล่านั้นซึ่งเป็นสถานที่พลเรือนนั้นเปลี่ยนสถานะมาเป็น สถานที่สำหรับปฏิบัติการทางทหารและเป็นการดึงความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีเข้ามา กติกาแห่งสงครามจึงห้ามไม่ให้สถานที่ที่ได้รับความคุ้มครองรวมทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล วัด และสถานที่ทางศาสนาต่างๆ ถูกนำมาใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติการทางทหารด้วยเหตุผลนี้ จึงห้ามทั้งสองฝั่งว่าห้ามแตะต้อง ห้ามละเมิด ห้ามดึงเข้าไปเกี่ยวกับความขัดแย้งด้วยกำลัง

จากเหตุปะทะ ‘มัสยิดกรือเซะ’ ถึง ‘รพ.เจาะไอร้อง’ สะท้อนบรรทัดฐานการขัดกันด้วยอาวุธและ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ อย่างไร

สำหรับกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน ทางรัฐไทยยังถือว่านี่เป็นการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เพราะฉะนั้นรูปแบบการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ต้องถูกกำกับอยู่ด้วยแนวทางการใช้กำลัง และมีสาระสำคัญก็คือ แนวทางการใช้อาวุธปืนเพื่อรักษากฎหมายโดยสหประชาชาติซึ่งเป็นกติกาที่รัฐไทยเอามาอ้างอิงตั้งแต่ สมัยกรือเซะ[1] แล้วว่า เจ้าหน้าที่จะใช้อาวุธปืนได้ด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง สาระสำคัญก็คือ มาตรการการใช้กำลังอาวุธปืนนั้นจะต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วต่อเมื่อเห็นว่าบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นกำลังจะก่ออันตรายต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นจึงจำเป็นต้องใช้อาวุธปืนแล้วเมื่อใช้อาวุธปืนก็จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงการยิงถึงขั้นที่จะทำให้เสียชีวิต นั่นคือกฎหรือแนวทางการใช้อาวุธปืนเพื่อรักษากฎหมาย

เมื่อมีการเปลี่ยนกรอบการใช้กำลังจากการรักษากฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อย มาเป็น กติกาที่ควบคุมการสู้รบตามกติกาแห่งสงครามวิธีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ก็จะเปลี่ยนกรอบไป เป็นเรื่องที่ว่าจะสามารถยิงใครได้บ้าง ไม่ใช่ยิงเมื่อไหร่ ยิงแบบไหน ก็หมายถึงการยิงต่อสู้กับคนที่เป็นกำลังรบ โดยห้ามไปทำร้ายพลเรือน จากเดิมที่การใช้อาวุธปืนเป็นทางเลือกสุดท้ายในเรื่องของการรักษากฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อย นั่นการใช้อาวุธปืนจะไม่ใช่มาตรการสุดท้ายอีกต่อไปถ้าอยู่ในกรอบของกติกาสงคราม ถ้าอยู่ในกรอบของการสู้รบด้วยกำลังอาวุธ

เหตุการณ์ที่เจาะไอร้องเป็นเรื่องของการละเมิดกติกาในการสู้รบก็คือกติกาแห่งสงครามโดยทางฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ แต่ทางฝ่ายเจ้าหนาที่ก็ใช้กำลังตามวิถีของตนเองไป เรื่องของทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธด้วยวิธีการใด มันจะไปอยู่ในเรื่องของการปิดล้อมแล้วเจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้อาวุธ เราก็ต้องดูว่าอาวุธนั้นใช้สมแก่เหตุแลได้สัดส่วนหรือไม่ และใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายหรือไม่ มีทางเลือกอื่นให้พิจารณาไหม ก็จะมีกรณีปิดล้อมต่างๆ มากมาย ในกรณีที่ชัดเจนที่สุดและมีการสรุปผลออกมาแล้วจากกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รัฐบาลสมัยนั้นตั้งขึ้นมา การใช้อาวุธในกรณีเหตุการณ์กรือเซะนั้นขัดต่อแนวทางว่าด้วยการใช้อาวุธปืนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อรักษากฎหมายตามกติกาของสหประชาชาติ อันนี้ทางคณะทำงานที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์กรือเซะสรุปออกมาแล้ว

กรณีที่จริงๆ เป็นบรรทัดฐานได้ว่าสำหรับฝ่ายเจ้าหน้าที่การใช้อาวุธปืนในเงื่อนไขใดได้บ้าง แล้วใช้ในลักษณะใดได้บ้าง และใช้ได้รุนแรงแค่ไหน มีบรรทัดฐานมาตั้งแต่เหตุการณ์กรือเซะ วันนั้นข้อสรุปของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง ควรจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานว่านับจากเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมาน่าจะได้มีการเรียนรู้ จากการสรุปว่าการใช้กำลังอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ถ้าบอกว่าปฏิบัติการนั้นเป็นไปเพื่อรักษากฎหมายดูแลความสงบเรียบร้อยการใช้อาวุธปืนจะเป็นทางเลือกสุดท้ายแล้วเมื่อเลือกไม่ได้จริงๆ แล้วจำเป็นจะต้องพยายามรักษาชีวิตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จำเป็นต้องรักษาชีวิตให้ได้มากที่สุด

แต่เหตุการณ์เจาะไอร้องจะเป็นบรรทัดฐานที่สร้างมาบังคับฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐก็คือฝั่งกองกำลังว่า วิธีการที่เขาทำต้อเนื่องมา 12 ปี เป็นวิธีการที่ละเมิดกฎแห่งสงครามแทบจะทั้งสิ้น แล้วจะต้องไม่กระทำซ้ำอีกเพราะว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการประณามแทบจะเป็นเสียงเดียวกันโดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดเป็นการประณามจากภายในขบวนการด้วยกันเอง ไม่ใช่คนนอก ไม่ใช่องค์กรสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ฝ่ายรัฐมาประณาม ไม่ใช่สื่อมวลชน แต่เป็นคนของขบวนการด้วยกันเองและไม่ใช่การประณามในวงปิด แต่เป็นการประณามผ่านสื่ออกสู่พื้นที่สาธารณะว่า การใช้โรงพยาบาลเจาะไอร้องเป็นฐานสำหรับปฏิบัติการโจมตีผิดกติกาสงคราม นี่เป็นถ้อยคำของผู้อาวุโสในขบวนการด้วยกันเอง อันนี้จึงควรจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่กำกับพฤติกรรมของกองกำลังติดอาวุธ

 

[1] การปะทะกันที่มัสยิดกรือเซะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 ด้วยการบุกโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร โดยมีการยิงใส่ป้อมจุดตรวจกรือเซะ ที่ถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ม.3 ต.ตันหยงลุโละ อ.เมืองปัตตานี แต่กลุ่มผู้ก่อเหตุต้านการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ไม่ไหวจึงได้ล่าถอยกำลังเข้าไปหลบในมัสยิดแต่ก็เกิดความสูญเสียจากการรักษาความสงบที่เกินกว่าเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 คน