เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (9) :
สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์
ดร.มาโนชญ์ อารีย์
โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
หลายวันมานี้ ผมได้มีโอกาสอ่านบทความและได้ฟังการวิเคราะห์จากหลายแหล่งมากเกี่ยวกับปัญหาที่หลายประเทศประกาศตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ โดยภาพรวมก็วิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกัน ต่างกันแค่วิธีการดำเนินเรื่องและรายละเอียดปลีกย่อย
บทความนี้ก็คงไม่ต่างอะไรมากกับบทวิเคราะห์อื่น ๆ และอาจจะไม่ได้เก็บลายระเอียดอะไรมากนัก เพียงแต่จะใช้ “สหรัฐฯ” เป็นตัวเอกในการเล่าเรื่องเท่านั้นเอง เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อเรื่อง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่กาตาร์ถูกโดดเดี่ยวหรือถูกตัดความสัมพันธ์อย่างสิ้นเชิงจากลุ่มประเทศอาหรับทั้งหลายส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทรัมป์เองก็อ้างเช่นนั้น แต่หากมองในรายละเอียดก็จะเห็นว่ามันมีชนวนปัญหาภายในที่สะสมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่การเยือนของทรัมป์คือจุดที่ทำให้ปัญหาเหล่านั้นปะทุขึ้นมาในลักษณะที่สมประโยชน์กันหลายฝ่าย
หากย้อนกลับไปดูนโยบายของทรัมป์ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จะเห็นว่าทรัมป์ไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนต่อภูมิภาคตะวันออกกลางเลย พูดถึงเรื่องการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายก็ไม่ได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมนัก แต่มีสองประเด็นที่ทรัมป์ให้ความสำคัญมากคือ 1) ต่อต้านและสกัดกั้นอิทธิพลของอิหร่าน 2) สนับสนุนอิสราเอล โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง
ทรัมป์ไม่ค่อยให้ความสำคัญอะไรมากกับซาอุดีอาระเบีย ยิ่งไปกว่านั่นยังแสดงทัศนะคติที่ไม่ดีกับซาอุดีอาระเบียด้วย แต่ถ้ามองในแง่ยุทธศาสตร์แล้ว หากปราศจากซาอุดีอาระเบีย ทรัมป์ก็ไม่น่าจะบรรลุเป้าหมายทั้งสองข้อนี้ได้เลย
ดังนั้น จึงน่าจะเป็นเหตุผลหนี่งของการหันกลับมาให้ความสำคัญกับซาอุดีอาระเบียอีกครั้งและเลือกที่จะเยือนประเทศนี้เป็นที่แรก พร้อมกับร่วมประชุมกับบรรดาผู้นำประเทศมุสลิม 55 ประเทศ ทรัมป์ไม่รีรอที่จะใช้โอกาสนี้พูดกับผู้นำประเทศมุสลิมอย่างเปิดเผย โดยตอกย้ำและให้ความสำคัญมากในสองประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือความร่วมมือต่อต้านแนวคิดสุดโต่งและการปราบปรามการก่อการร้าย ให้ร่วมกันสกัดกั้นยับยั้งการสนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ที่สำคัญคือทรัมป์เชื่องโยงประเด็นนี้กับอิหร่านและชี้ให้เห็นว่าอิหร่านคือตัวการสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งกำลังบ่อนทำลายเสถียรภาพของภูมิภาค เช่นพูดว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิหร่านคือผู้ที่ก่อไฟสงครามระหว่างกลุ่มต่าง ๆ และได้สนับสนุนการก่อการร้ายอีกด้วย.....รัฐบาลอิหร่านมักจะพูดถึงแต่เรื่องการสังหารหมู่ ข่มขู่อิสราเอล ไล่อเมริกาไปตายซะ และสาปแช่งให้ผู้นำหลายชาติที่นั่งอยู่ในห้องนี้ให้พบกับความวิบัติ”
ทรัมป์ ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดว่าต้องการให้กลุ่มประเทศมุสลิมโดยเฉพาะในตะวันออกกลางสร้างพันธมิตรที่เหนียวแน่นเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายที่มีเป้าหมายอยู่ที่อิหร่าน ในขณะเดียวกันก็รวมไปถึงการขจัดอิทธิพลของกลุ่มภารดรภาพมุสลิมหรือกลุ่ม Muslim Brotherhood ที่ถูกซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ มองว่าเป็นขบวนการก่อการร้าย ทั้ง ๆ ที่ในสายตาของมวลชนส่วนใหญ่ในโลกอาหรับรวมทั้งในอีกหลาย ๆ ประเทศค่อนข้างนิยมชมชอบกลุ่ม MB ในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ซึ่งระยะหลังได้ขยายฐานมวลชนมากขึ้นในหลายประเทศโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์อาหรับสปริง นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนปาเลสไตน์และกลุ่มฮามาสในการต่อสู้กับอิสราเอล อิสราเอลถือว่าฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามอย่างมากต่ออิสราเอล อิหร่านก็เช่นกันที่ให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาส
เพราะฉะนั้น การจัดกลุ่ม MB เป็นกลุ่มก่อการร้ายเหมือนกับกลุ่มอื่น ๆ อย่างไอเอส อัลกออิดะห์ และฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน ตลอดจนข้อกล่าวหาที่ว่าอิหร่านสนับสนุนการก่อการร้ายในภูมิภาค ก็จะสอดรับกับเป้าหมายของสหรัฐฯในสองข้อที่กล่าวมา ในด้านหนึ่งได้พันธมิตรต่อต้านอิหร่าน อีกด้านหนึ่งคือสกัดกั้นอิทธิพลของกลุ่ม MB ที่กำลังขยายตัวในตะวันออกกลางและจะกระทบต่อความมั่นคงของอิสราเอล
การสร้างพันธมิตรที่เหนียวแน่นที่มีจุดร่วมกันในการต่อต้านอิหร่านและการก่อการร้าย จึงเป็นวาระสำคัญที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยมีซาอุดีอาระเบียเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนในฐานะพี่ใหญ่ที่ต้องสร้างความเป็นเอกภาพและกำหนดจุดยืนที่ชัดเจนในกลุ่มประเทศอาหรับ โดยเฉพาะในกลุ่มอ่าวเปอร์เซียที่เน้นให้สมาชิกต้องหยุดสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและตัดความสัมพันธ์กับอิหร่านอย่างสิ้นเชิง
ถ้ามองประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม GCC คงไม่ค่อยมีปัญหามากนักเพราะทุกประเทศพร้อมที่จะดำเนินนโยบายตามซาอุดีอาระเบียอยู่แล้ว แต่สำหรับกาตาร์ที่มีความระหองระแหงกับหลายประเทศโดยเฉพาะกับซาอุดีอาระเบีย กลายเป็นประเทศที่แตกแถวหรือดำเนินนโยบายอิสระที่สร้างความไม่พอใจให้กับหลาย ประเทศในตะวันออกกลาง
ตัวอย่างประเด็นที่เป็นปมปัญหาระหว่างกาตาร์กับประเทศอาหรับอื่น ๆ เช่น
- จุดยืนทางการเมืองต่อการเปลี่ยนผ่านในตะวันออกกลางกรณีเหตุการณ์อาหรับสปริง กาตาร์ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้มวลชนที่ลุกฮือประท้วงโค่นล้มผู้นำเผด็จการในหลายประเทศ โดยใช้สื่อใหญ่อย่าง Al-Jazeera เสนอข่าวสารในมุมที่สนับสนุนการต่อสู้ของประชาชน รวมทั้งกลุ่ม MB ที่เคลื่อนไหวในประเทศต่าง ๆ ทำให้หลายประเทศไม่พอใจกาตาร์และสำนักข่าว Al-Jazeera เป็นอย่างมาก บางประเทศที่การปฏิวัติสำเร็จรัฐบาลที่มีตัวแทนของ MB ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกาตาร์ เช่น กรณีอียิปต์ และตูนีเซีย โดยเฉพาะอียิปต์ในสมัยของประธานาธิบดีมุร์ซีที่เป็นตัวแทนของกลุ่ม MB ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกาตาร์ แต่พอถูกรัฐประหารโดยนายพลอัลซีซี กลุ่ม MB ก็ถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายโดยอียิปต์และซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองประเทศนี้ยังปราบปรามกลุ่ม MB ในประเทศของตัวเองอย่างหนัก ในขณะที่กาตาร์ยังคงสนับสนุนกลุ่ม MB ต่อไป อีกทั้ง สำนักข่าว Al-Jazeera ยังนำเสนอข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย และบาห์เรน เป็นต้น
- ในขณะที่การเมืองระหว่างประเทศและสงครามตัวแทนในภูมิภาคซึ่งนับวันยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยขั้วซาอุฯ ที่เป็นซุนนี่ มีพันธมิตรหลัก ๆ อย่างบาห์เรน อียิปต์ ยูเออี คูเวต กำลังขับเคี้ยวกับขั้วอิหร่านที่เป็นชีอะห์ซึ่งมีซีเรียและฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอนเป็นพันธมิตร แต่กาตาร์ที่อยู่ในกลุ่ม GCC กลับลอยตัวเหนือความขัดแย้งนี้และไปมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับอิหร่าน มีผลประโยชน์ด้านพลังงานและทรัพยากรทางทะเลร่วมกัน แม้ในสมรภูมิซีเรียจะอยู่ตรงข้ามกันก็ตาม จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจอย่างมาก
- การทำหน้าที่สื่อของสำนักข่าว Al-Jazeera ที่นำเสนอข่าวของประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลางอย่างเจาะลึกและตรงไปตรงมา ทำให้หลายประเทศไม่พอใจโดยมองว่า Al- Jazeera กำลังแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ
อ่านความเดิมตอนที่แล้ว
เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)