Skip to main content

 

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่11) :

 

ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดิอาระเบีย และนโยบายของทรัมป์ (1)

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

แม้สหรัฐอเมริกากับซาอุดิอาระเบียจะเป็นพันธมิตรคู่หูกันมาอย่างยาวนาน แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นเสมอไป บางช่วงมีขึ้นมีลงซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นไปในทิศทางที่เป็นบวกมากกว่า ประเด็นที่น่าสนใจคือลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศนี้มีผลอย่างมากต่อสถานการณ์ในภูมิภาค เช่น กรณีที่ซาอุดิอาระเบียมีปัญหากับสหรัฐฯในช่วงปลายสมัยของโอบาม่า ก็ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียต้องใช้นโยบายพึงพาตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงที่กำลังเผชิญกับการขยายอิทธิพลของอิหร่าน ผลคือซาอุดิอาระเบียเริ่มแข็งกร้าวและนำชาติพันธมิตรปฏิบัติการทางทหารอย่างหนักหน่วงถล่มเยเมน หรือหลังจากปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯในสมัยของทรัมป์ ก็ส่งผลในอีกลักษณะหนึ่งคือการนำพันธมิตรในอ่าวอาหรับตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์อย่างที่เห็น

จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ในบทความตอนนี้จึงอยากทบทวนภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบียตั้งแต่อดีตจนถึงยุคของทรัมป์และกษัตริย์ซัลมาน

ก่อนจะย้อนดูภาพความสัมพันธ์ในอดีต ผมขอเริ่มจากท่าทีที่กลับไปกลับมาของทรัมป์ต่อซาอุดิอาระเบียในช่วงระหว่างหาเสียงเลือกตั้งกับหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งนี้เพื่อให้เห็นความผันผวนที่อาจยากต่อการคาดเดาในอนาคต

สำนักข่าวอัลญาซีเราะห์ภาคภาษาอังกฤษได้นำเสนอคำพูดและท่าทีของทรัมป์ที่เกี่ยวข้องกับซาอุดิอาระเบียในหลายโอกาสที่เขาปราศรัยหาเสียงหรือให้สัมภาษณ์สื่อต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกับการกล่าวสุนทรพจน์ของเขาในฐานะประธานาธิบดีระหว่างเยือนซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศแรกในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 ซึ่งทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อนโยบายของทรัมป์ในตะวันออกกลางชัดเจนยิ่งขึ้น โดยอัลญาซีเราะห์ได้ยกบางช่วงบางตอนมาเปรียบเทียบ

สุนทรพจน์ของทรัมป์ ณ กรุงริยาด เขาได้แสดงความเป็นมิตรกับซาอุดิอาระเบียและโลกมุสลิมอย่างเปิดเผย โดยกล่าวต่อหน้าผู้นำประเทศมุสลิมมากกว่า 50 ประเทศว่า “ผมมายืนที่นี้ต่อหน้าพวกท่านในฐานะตัวแทนของประชาชนชาวอเมริกา พร้อมกับสาส์นแห่งมิตรภาพ ความหวัง และความรัก” คำพูดนี้พยายามสื่อให้เห็นถึงการหยิบยื่นมิตรภาพให้ซาอุดิอาระเบียอย่างจริงใจ

แต่ในช่วงหาเสียง ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์นักข่าวในรายการ Meet The Press ของ David Gregory ทรัมป์ถูกถามถึงข้อเขียนของตัวเองที่เคยเขียนเกี่ยวกับซาอุดิอาระเบียในปี ค.ศ. 2011 ว่า “เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ที่สุดของโลกต่อกลุ่มการก่อการร้ายต่าง ๆ แล้วเงินเหล่านั้นก็ไม่ได้มาจากไหนแต่เป็นเงินที่ได้มาจากการขายน้ำมันให้เรา เป็นเงินของเราทั้งนั้นที่ถูกนำไปสนับสนุนการก่อการร้ายที่มุ่งจะทำลายคนอเมริกัน ในขณะที่เราต้องปกป้องคนของซาอุดิอาระเบีย” ทรัมป์แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ (ในระหว่างที่ยังเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งปธน.)ว่า “ เหตุผลหลักที่เราอยู่กับซาอุดิอาระเบียก็เพราะเราต้องการน้ำมัน แต่ปัจจุบันเราไม่ได้ต้องการน้ำมันในปริมาณที่มากมายนัก (เพราะสหรัฐฯ หันไปพึงเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือกมากขึ้น) เราใช้จ่ายงบประมาณมหาศาลเพื่อปกป้องซาอุดิอาระเบียทั้งที่เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ในขณะที่พวกเขาก็มีรายได้วันละหลายพันธ์ล้านดอลล่าร์”

ทรัมป์พูดในตอนหาเสียงเสมือนไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับซาอุดิอาระเบียอีกต่อไป แต่ในสุนทรพจน์ตอนหนึ่งของทรัมป์ที่ซาอุดิอาระเบีย เขาพูดถึงความสำเร็จที่สามารถบรรลุข้อตกลงกับซาอุดิอาระเบียอย่างภาคภูมิใจว่า “ได้ลงนามในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์กับราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนระหว่างกันที่มีมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ”

หากย้อนมองการปราศรัยของทรัมป์ในหลาย ๆ โอกาส จะพบว่าเขาพยายามชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาสหรัฐฯเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากการดำเนินความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย ทรัมป์เคยพูดว่า “ลองคิดภาพดูก็แล้วกัน เราปกป้องดูแลประเทศซาอุดิอาระเบียมาตลอด ถ้าไม่มีเราซาอุดิอาระเบียก็ไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้......แต่เราก็ยังจะต้องมาจ่ายค่าเช่าในการตั้งฐานทัพสหรัฐฯในซาอุดิอาระเบีย....เราต้องควักเงินตัวเองจ่ายค่าเช่าให้ซาอุดิอาระเบียเพื่อปกป้องซาอุดิอาระเบีย... คิดว่าเป็นค่าโง่จะดีกว่า”

ในด้านภาพลักษณ์ของประเทศซาอุดิอาระเบีย จะเห็นความแตกต่างชัดเจนในการแสดงออกของทรัมป์ระหว่างก่อนและหลังเป็นประธานาธิบดี โดยในสุนทรพจน์ที่ริยาด เขากล่าวถึงซาอุดิอาระเบียอย่างยกย่อง ว่า “ผมได้ยินได้ฟังถึงเรื่องราวอันงดงามขอประเทศคุณมาโดยตลอด พลเมืองก็มีจิตใจที่งดงามมีเมตตา”

แต่ถ้าย้อนกลับไปดูครั้งที่ทรัมป์ดิเบตกับฮิลลารี่ คลินตัน ในศึกชิงตำแหน่งปธน. ทรัมป์พูดถึงซาอุดิอาระเบียอย่างสาดเสียเทเสีย ว่า “คนพวกนี้ (คนซาอุดิอาระเบีย) คือพวกที่ชอบจับเกย์โยนออกจากตึก พวกเขาฆ่าผู้หญิงและปฏิบัติกับผู้หญิงอย่างโหดเหี้ยม แล้วคุณ (ฮิลลารี่ คลินตัน) ก็ยังรับเงินจากพวกเขาอีก”

นอกจากนี้ เมื่อพูดถึงการก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ เพราะในสุนทรพจน์ของทรัมป์ที่กล่าวในกรุงริยาดสะท้อนให้เห็นความย้อนแย้งในคำพูดและทัศนคติของทรัมป์ต่อซาอุดิอาระเบียอย่างเห็นได้ชัด ทรัมป์กล่าวว่า “เรายืนยันว่าจะช่วยซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นเพื่อนของเรา โดยเรามีเป้าหมายร่วมกันคือการรวบรวมชาติพันธมิตร ที่มีจุดหมายร่วมกันในการกำจัดความคิดสุดโตง”

ทรัมป์พูดถึงซาอุดิอาระเบียในฐานะเพื่อนและหุ้นส่วนในการต่อสู้กับการก่อการร้ายต่าง ๆ แต่เมื่อกลับไปดูทัศนคติของทรัมป์ที่มีต่อซาอุดิอาระเบีย จะพบว่าทรัมป์มองซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศสนับสนุนการก่อการร้ายอย่างชัดเจน เขาพูดในโอกาสต่าง ๆ ด้วยประโยคดังต่อไปนี้ “เราไปทำสงครามที่อิรัก ทั้งที่ ๆ อิรักไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับการถล่มตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์..... แล้วใครละที่ระเบิดตึกเวิลด์เทรด ไม่ใช่อิรัก แต่เป็นซาอุดิอาระเบีย เปิดเอกสารลับทั้งหมดซิแล้วจะพบว่าใครคือคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้ คุณอาจจะพบว่าซาอุดิอาระเบียคือตัวการที่แท้จริง”

ทั้งหมดที่ยกมาเป็นตัวอย่าง ก็คงพอที่จะทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในการแสดงออกทางคำพูดของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อซาอุดิอาระเบียในช่วงเวลาและสถานะที่ต่างกัน กล่าวคือระหว่างนายทรัมป์ที่เป็นแค่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี กับ ฯพณฯ ท่านโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45ของสหรัฐอเมริกา

ซาอุดิอาระเบียเองก็คงไม่สบายใจกับความไม่อยู่กับร่องกับรอยของทรัมป์ และคงเอาความจริงอะไรกับประธานาธิบดีคนนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาต่างๆ ที่มีต่อซาอุดิอาระเบีย

 

อ่านความเดิมตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3: Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4: Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 5 : ตุลาการภิวัฒน์ฉบับอเมริกา “วันนี้รัฐธรรมนูญชนะ...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี”

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6: นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 7: ทำไมสหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่าน มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/1) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/2) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 8) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (9) : สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 9): สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

ทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (10) : นัยยะของการบังคับใช้คำสั่งแบน 6 ชาติมุสลิมแบบครึ่งๆ กลางๆ