แม้การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนั้นเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่สำหรับชายแดนใต้ การเลือกตั้งรอบนี้อาจมีความหมายพิเศษหลายเด้ง ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ ชวนกลับมาเพ่งมองความพิเศษที่แตกต่างนี้อย่างจงใจและจริงจัง
ดวงยิหวา อุตรสินธุ์
ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการเลือกตั้งอย่างที่หลายฝ่ายมักเข้าใจ แต่มันยังรวมถึงการที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ประชาธิปไตยจะต้องเอื้อให้ประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิด มีพื้นที่ให้สื่อมีสิทธิ์เสรีภาพและมีจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว มีพื้นที่ให้คนแสดงความคิดเห็นที่เห็นต่างจากรัฐบาล
ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยมักเป็นเรื่องที่คนชนชั้นกลางในเมืองมองว่าชาวบ้านหรือคนในชนบทด้อยความเข้าใจเรื่องนี้ มองว่าไม่มีการศึกษา จึงขาดความรู้ความเข้าใจในการตัดสินใจที่จะเลือกผู้แทน ขนาดประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา คนในเมืองใหญ่ ๆ อย่างรัฐนิวยอร์ค หรืออย่างรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่เลือกพรรคเดโมแครต (Democrat Party) เป็นส่วนใหญ่ ก็จะคอยดูถูกคนที่อยู่ตามรัฐแถบตอนใต้หรือรัฐแถบภาคตะวันตกตอนกลางว่าไม่ฉลาด เป็นชาวไร่ชาวสวน โลกทัศน์แคบ การศึกษาน้อยที่เลือกพรรครีพลับบลิกัน (Republican Party) หรือเลือกทรัมพ์
เมื่อปี 2398 รัฐสภาของรัฐคอนเนคติคัต สหรัฐอเมริกา ยังไม่วางใจว่าคนอเมริกันจะเข้าใจหรือมีความรู้เพียงพอที่จะลงคะแนนเสียง จึงจัดให้ผู้มีสิทธิ์ที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งต้องสอบวัดผลเพื่อวัดว่ามีศักยภาพและความเข้าใจเพียงพอที่จะมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (Voter Literacy Test) ในระยะเวลาห้าสิบปี การสอบเพื่อวัดผลทางความรู้เพื่อมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ขยายไปทั่วอเมริกา จนสภาคองเกรสเพิ่งประกาศยกเลิกเมื่อปี 2518[1] ซึ่งเพิ่งยกเลิกเมื่อสี่สิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง เพราะมีการทักท้วงว่าเป็นการกีดกันตัดโอกาสคนระดับชนชั้นแรงงานที่จะใช้สิทธิ์ในเลือกตั้ง
หันมาดูประเทศไทย ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ยังต้องเรียนรู้เรื่องการเลือกตั้ง แม้จะมีโอกาสพัฒนาเป็นระลอก ๆ คนไทยก็ยังได้มีโอกาสในการใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งได้บ้างแม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะอยู่ภายใต้ยุคการนำของทหารเสียเป็นหลัก พัฒนาการของความเข้าใจคำว่าประชาธิปไตยจึงยังไม่เต็มที่นัก อย่างไรก็ดี ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่ามีความกระตือรือร้นเรื่องประชาธิปไตยและให้ความสนใจในการมีส่วนร่วมทางการเมืองสูง ตัวอย่างสำคัญไม่ว่าการประท้วงใหญ่ที่ปัตตานีเมื่อปี 2518 หรือการประท้วงให้มีการเปิดคูหาเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปี 2557 และล่าสุดคือผลจากการลงประชามติปี 2559[2] ทำให้เห็นว่า แม้จะอยู่ในพื้นที่ความรุนแรง ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็ยังเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย
สำหรับช่วงนี้ การเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้คึกคัก มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ ๆ การตั้งชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ที่ล้วนชวนให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงพากันสับสน ต้องตั้งสติกันดี ๆ เพื่อที่ว่าจะไม่จำชื่อพรรคสลับกัน ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ชาติ พลัง ใหม่ ประชา อนาคต ธรรม รัฐ สันติ เพื่อ รวม เพียงแค่จัดคำดังกล่าวเหล่านี้สลับกันไปมา จับกลุ่มวางคำหน้าบ้างวางไว้หลังคำบ้าง ก็จะได้ชื่อพรรคใหม่กันเป็นทิวแถว นอกจากนี้ยังมีผู้ลงสมัครเลือกตั้งหน้าใหม่ ๆ และคนรุ่นใหม่ ๆ ที่เหมือนจะเป็นกลยุทธสำคัญที่แต่ละพรรคต่างพากันชูเป็นประเด็นหลักเพื่อหวังใช้เป็นการดึงดูดคะแนนเสียงจากคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยได้ใช้สิทธิ์ในการละคะแนนเสียง และเพื่อหวังที่จะล้างภาพนักการเมืองหน้าเก่า ๆ รุ่นลายครามที่ก็ยังปรากฏกันอย่างคลาคล่ำในแวดวงการเมือง
การเลือกตั้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้รอบนี้มีสองประเด็นให้ขบคิด ประเด็นที่หนึ่งคือความน่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของการรวมตัวกันของกลุ่มวาดะห์ภายใต้นามของพรรคประชาชาติ แต่คือความน่าสนใจของผลที่จะตามมาจากการแตกตัวกันของกลุ่มสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่มากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เดิมต่างพากันแตกตัวแยกย้ายไปสู่พรรคพลังประชารัฐส่วนหนึ่ง กับพรรครวมพลังประชาชาติไทยอีกส่วนหนึ่ง กลุ่มผู้ที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐมีทั้งกลุ่มนักธุรกิจนายทุนในพื้นที่และข้าราชการรุ่นเก๋า กับกลุ่มผู้ที่สนับสนุนพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่เป็นกลุ่มที่อยู่ภายใต้มุ้งของสุเทพ เทือกสุบรรณ เนื่องเพราะรูปแบบการเลือกตั้งแบบใหม่[3] ซึ่งพรรคขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์จะเสียเปรียบต่อพรรคขนาดกลางเพราะสูตรการคำนวณจำนวนที่นั่งแบบใหม่ เลยทำให้ทั้งฝ่ายวาดะห์และฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ต่างต้องใช้ยุทธศาสตร์ ‘แยกทัพตีเมือง’
แล้วทำไมการแตกตัวของพรรคประชาธิปัตย์ถึงน่าสนใจกว่าการรวมตัวของกลุ่มวาดะห์?
เป็นเพราะว่าถ้าย้อนดูทุกการเลือกตั้งที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2529 การเลือกตั้งในส่วนของชายแดนใต้มักจะแบ่งเป็นสองขั้วหลัก ๆ นั่นคือฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มวาดะห์ และฝ่ายที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งการเลือกตั้งที่ผ่านมา ฐานเสียงของกลุ่มวาดะห์จะไม่ค่อยคงตัว มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะไม่นิ่ง เนื่องจากการแตกตัวของสมาชิกภายในกลุ่มเองบวกกับการย้ายพรรคการเมืองบ่อยครั้ง เหตุผลเป็นเพราะเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มวาดะห์ และเนื่องด้วยเหตุที่ว่าเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนขนาดเล็กที่จำเป็นต้องพึ่งพาพรรคการเมืองขนาดใหญ่เพื่อที่จะเล่นการเมืองระดับชาติได้ ขณะที่ฐานคะแนนเสียงพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่สามจังหวัดค่อนข้างที่จะคงตัว ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่มากนัก ดูตัวอย่างได้จากคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ที่มักครองเสียงข้างมากอย่างการเลือกตั้งในเขต 1 จังหวัดยะลา กับเขต 2 จังหวัดปัตตานี[4]
ดังนั้นการแตกตัวของพรรคประชาธิปัตย์นั้นจึงน่าสนใจเพราะว่าการเลือกตั้งรอบนี้จะเป็นการวัดผลว่า ที่เคยเข้าใจกันมาโดยตลอดว่าประชาชนที่เชียร์พรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่สามจังหวัด โดยกล่าวว่าเน้นการเลือกพรรคแต่ไม่เน้นบุคคลนั้น แท้จริงแล้วจะเป็นการเชียร์พรรคการเมืองเป็นหลักหรือเป็นการเชียร์บุคคลเป็นหลักกันแน่ ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์อดีตผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง ซึ่งบอกว่ารักพรรคประชาธิปัตย์มากถึงขนาดที่ว่าแม้ทักษิณ ชินวัตรลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็จะเลือกทักษิณ เพราะทักษิณลงสมัครพรรคประชาธิปัตย์ การหวังผลเพื่อเน้นการตีเมืองอย่างเดียวของทางฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ อาจทำให้ภาพของกลุ่มผู้ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดในพื้นที่สามจังหวัด ที่ว่าจริง ๆ แล้วกลุ่มนี้รักพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่ได้เป็นความจริงเลย เพราะอย่างไรเสียก็เน้นบุคคล ไม่ได้เน้นพรรค
ประเด็นที่สองที่เราต้องขบคิดให้หนักคือประชาชนที่อยู่ภายใต้สภาวะความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มามากกว่าสิบปีจะคาดหวังอะไรได้บ้างจากการเลือกตั้งในครั้งนี้?
สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะอุบัติขึ้นใหม่ภายใต้สภาวะเดิม ๆ ไม่ว่าจะลักษณะของพื้นที่ที่ยังมีความขัดแย้งและความรุนแรงคุกรุ่นอยู่ การคุมพื้นที่โดยกองกำลังทหารเป็นหลัก บวกกับการที่ยังมีกฎอัยการศึก มีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ขยายกันมาทุกสามเดือน สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้นั่งคิดว่าแบบทีเล่นทีจริงถึงผลการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า หากฝ่ายที่ชูประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะ จะมีการให้ความสำคัญกับการพูดคุยเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายขบวนการจับอาวุธมากขึ้นหรือไม่ แล้วถ้าฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทหารขณะนี้ชนะการเลือกตั้ง หนทางที่การเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายขบวนการจับอาวุธจะมีคุณภาพหรือไม่อย่างไร เพราะอาจจะนำไปสู่มิติของการใช้ความเข้มงวดและการรวมศูนย์อำนาจไปที่รัฐส่วนกลางมากขึ้น ทำให้การพูดคุยขาดความยืดหยุ่น และขาดอิสระในการตัดสินใจในเรื่องที่จำเป็นต้องตัดสินใจแบบเฉพาะหน้า ซึ่งจะทำให้การพูดคุยเจรจายืดเยื้อออกไปอย่างไม่มีวันรู้จบ สังเกตได้จากความคืบหน้าในการเดินหน้าเรื่องความพยายามที่จะเจรจาสันติภาพภายใต้รัฐบาลที่ผ่านมาระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหาร
หากว่ารอบนี้ไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้ง (กันอีก) การเลือกตั้งทั่วประเทศจะเป็นการแข่งกันหลักของ ๆสองฝ่าย คือฝ่ายที่เลือกที่จะสนับสนุนทหารและฝ่ายที่ไม่สนับสนุนทหาร หากมองผิวเผิน แนวทางอุดมการณ์การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากภูมิภาคอื่น นั่นคือฝ่ายที่เชียร์ทหารจะเป็นฝ่ายที่มองว่าตัวเองเป็นฝ่ายรักชาติ แล้วมองว่าฝ่ายที่ไม่เชียร์ทหารว่าเป็นฝ่ายที่ไม่รักชาติเท่าพวกตน ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เอาทหารคือฝ่ายที่มองว่าตัวเองเป็นฝ่ายที่ชูหลักการทางประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ แล้วมองฝ่ายที่เชียร์ทหารว่าไม่มีจุดยืนทางการเมืองเนื่องจากเชียร์เผด็จการ เป็นกลุ่มที่ไม่สนใจเรื่องของความเป็นไปของระบอบประชาธิปไตยหรืออาจจะหมดศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย
แต่ทว่าพื้นที่สามจังหวัดมันมีช่วงชั้นที่ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นอีกขั้นชั้นที่ภูมิภาคอื่นของประเทศไทยไม่มี นั่นคือฝ่ายที่เข้าข้างรัฐไทย และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐไทย โดยที่แนวทางการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนทหารคือฝ่ายที่มองว่าตัวเองรักชาติ จะเป็นฝ่ายที่เชื่อมโยงกับการเข้าข้างฟากรัฐไทย และมองว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายที่สนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เอาทหารคือฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย จะเป็นฝ่ายที่อยากให้มีการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่นั้น ผู้เขียนมองว่าเราไม่ควรที่จะนำมาใช้เป็นข้อกล่าวหาฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร
เอาเป็นว่าระดับขั้นของการมองการเมืองของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีสองชั้น คือชั้นแรกเป็นชั้นที่ต้องมองมุมการเมืองที่ต้องขึ้นอยู่กับความเป็นไปของการเมืองจากส่วนกลาง กับชั้นที่สอง ซึ่งเป็นชั้นที่ต้องมุมมองของการเมืองว่าด้วยเรื่องการ อัตลักษณ์ ศาสนา ความรุนแรง รวมทั้งข้อพิพาทกล่าวหาว่าด้วยเรื่องการฝ่ายถกกันเรื่องปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ชายแดนสามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้เขียนจึงจะเห็นว่าการเมืองในพื้นที่นี้ถือว่าซับซ้อน หากมองแค่ชั้นเดียวจะตีความหรือวิเคราะห์ได้ไม่แตก เพราะมันยังมีลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งให้นั่งพินิจพิเคราะห์ตามอย่างที่ว่าต้องเชื่อมโยงไปด้วยกัน ทุกครั้งที่มีรัฐบาลเผด็จการ ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มักเข้าใจเป็นอย่างดีว่าตัวเองจะต้องถูกปกครองทับซ้อนสองชั้นนั่นคือ ระบบเผด็จการกับระบบความเป็นประชาธิปไ(ท)ย หรือระบบที่เน้นการปกครองโดยเน้นความเป็นชาตินิยมไทยจากส่วนกลางเป็นหลัก
กลับมาที่ว่าทำไมเราถึงต้องขบคิดกับประเด็นที่สอง ที่ต้องขบคิดเพราะผลของการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าประชาชนจะเข้าข้างฝ่ายรัฐมากกว่า หรือจะเข้าข้างฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนมากกว่า หากจะว่าไปแล้วรัฐไทยแพ้มาแล้วสองครั้ง รอบแรกคือสนามเลือกตั้งปี 2554 ทุกพรรคชูนโยบายเขตการปกครองพิเศษ[5] และเน้นการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวที่จะยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้ นอกจากนี้แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะชูนโยบายการกระจายอำนาจดังเช่นพรรคอื่น ๆ แต่ตัวนโยบายก็ดูเสมือนว่าจะเพิ่มอำนาจให้ ศอ.บต.มากขึ้น และยังจะสงวนท่าทีที่จะปล่อยให้อำนาจการตัดสินใจหลุดเป็นอิสระจากการควบคุมจากส่วนกลาง[6] ในปีนั้น หากนับคะแนนโดยคร่าว ๆ รวมกันของพรรคทุกพรรคที่ชูนโยบายเขตการปกครองพิเศษ และตั้งใจจะยกเลิกการใช้พรก.ฉุกเฉินรวมกันจะได้ประมาณ 49.77% กับคะแนนผลการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ประมาณ 41.08%[7] พูดได้ว่าเป็นการทำประชามติย่อม ๆ ส่วนรอบที่สองคือผลการทำประชามติในปี 2559 ฉะนั้นรอบนี้จึงเสมือนเป็นสนามเดิมพันระหว่างฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐไทย โดยรอบนี้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสิน ไม่ใช่เป็นแค่การพูดคุยกันหรือเจรจากันเองโดยตัวแทนจากกลุ่มของกลุ่มประชาสังคม นักวิชาการ ทหาร และฝ่ายที่เป็นขบวนการแนวร่วม แต่มันจะเป็นการลงคะแนนเสียงที่เป็นเสียงของประชาชนเอง
อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้รอบนี้น่าจะมีการใช้อำนาจโดยมิชอบจากฝ่ายรัฐเพื่อหวังผลชนะในการเลือกตั้ง ในระดับประเทศที่เห็นหลัก ๆ คือการพยายามจัดการแบ่งเขตการเลือกตั้งเพื่อให้ตัวเองชนะ (gerrymandering) มีการแจกเงินผ่านบัตรคนจนล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งสองเดือน แจกคนละห้าร้อยบาท ถ้าจะนำมาพูดในบทความนี้ทั้งหมดก็เกรงว่าจะยืดเยื้อ ส่วนระดับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เห็นมีการตั้งกล้องแบบทันสมัย มีเครื่องดักฟัง และตั้งซุ้มโดยทหารเพื่อสังเกตการณ์คนเข้าออกจากบ้านของนักการเมืองฝ่ายวาดะห์แกนนำหลัก ๆ ถึงห้าคน ในอดีตไม่เคยมีการจับตามองจากทางฝ่ายรัฐบาลขนาดนี้ แม้ในช่วงการเลือกตั้งในปี 2548 ซึ่งเป็นหนึ่งปีให้หลังจากการเกิดเหตุการณ์หลังเกิดเหตุที่กรือเซะและตากใบในปี 2547 เองก็ตาม
นอกจากนี้ ผลจากการเก็บข้อมูลโดยผู้เขียนเองเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการทำวิทยานิพนธ์เมื่อปี 2555 มีกำนันผู้ใหญ่บ้านหลายที่ได้ให้สัมภาษณ์ว่าปีการเลือกตั้ง 2554 ทหารเข้ามามีบทบาทในการช่วยพรรคการเมืองหาเสียง ผู้ใหญ่บ้านท่านนี้เล่าให้ฟังว่า ทหารใช้วิธีกักตัวหัวคะแนนของพรรคฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยตามหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในคืนวันหมาหอน เป็นวิธีกีดกันหัวคะแนนของพรรคฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ออกไปหาเสียงในคืนวันสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ในช่วงที่เก็บข้อมูล ไม่ได้มีแต่ผู้ใหญ่บ้านท่านนี้ แต่ยังมีผู้ให้สัมภาษณ์อีกหลายคนที่ต่างก็ยืนยันว่ามีวิธีการเช่นนั้นจริง จริงเท็จอย่างไรเราพิสูจน์ไม่ได้ ก็ได้แต่หวังว่ารอบนี้คงไม่มีการใช้วิธีการแบบนี้ในการหาเสียง ยิ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้เป็นรัฐบาลที่มีผู้นำที่มาจากทหาร ยิ่งต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีความบริสุทธิ์ใจที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยไม่ใช้วิธีทางการเมืองที่สกปรกเพื่อจะคงอำนาจตัวเองและพรรคพวกเอาไว้
ขออย่าให้ได้ชื่อว่าเป็นการเล่นปาหี่ว่ารักและเชิดชูระบอบประชาธิปไตย แต่ขอแสดงความจริงใจให้ประชาชนเห็นว่าเป็นการตั้งใจทำเพื่อประชาชนจริง ๆ ยิ่งพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ความรุนแรงอย่างพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โอกาสที่จะบิดเบือนและหาทุกวิถีทางเพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองในพื้นที่สีเทานี้ยิ่งทำได้ง่าย การเลือกตั้งครั้งนี้ในพื้นที่สามจังหวัดดูแล้วจึงน่าเป็นห่วงและเกรงว่าฝ่ายที่ต้องสู้กับฝ่ายรัฐไทยจะเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบและเหนื่อยเปล่า.
หมายเหตุ: ดวงยิหวา อุตรสินธุ์ เป็นนักวิจัยอิสระและอดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เธอสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย โดยมีดุษณีนิพนธ์ในหัวข้อ “Voices and Votes amid Violence: Power and Electoral Accountability in Thailand's Deep South” (เสียงและคะแนนเสียงในห้วงความรุนแรง: กรณีศึกษาชายแดนใต้ของประเทศไทย)
[1] Caleb Crain, November 7, 2016, The Case Against Democracy, https://www.newyorker.com/magazine/2016/11/07/the-case-against-democracy
[2] ข่าวไทยพีบีเอส, 8 สิงหาคม 2559, ‘ทำไม "3 จังหวัดชายแดนใต้" ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ’, ที่: https://news.thaipbs.or.th/content/254731
[3] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, 10 ตุลาคม 2018, “เลือกตั้ง 2562: พลิกสูตรคำนวณยอด ส.ส. กับยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ที่: https://www.bbc.com/thai/thailand-45781654
[4]ดวงยิหวา อุตรสินธุ์, ‘อวสานของ “เอกภาพ”: การเลือกตั้ง 3 กรกฎากับบทเรียนของชนมลายู’ : https://deepsouthwatch.org/th/node/2108
[5] Deep South Watch, 12 มิถุนายน 2554, “แผนภาพเปรียบเทียบ "นโยบายพรรคการเมืองต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติโครงสร้างการกระจายอำนาจ", ที่: https://deepsouthwatch.org/th/node/2021?fbclid=IwAR38z6lN2pyEAtgDpE3YntrjwYh9IdXcNV51fyov0U4Ed0u8YSnJ31p0uSY
[6] จาก ข่าวMthai, 20 มิถุนายน 2554, “ประมวล นโยบายแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ของพรรคการเมือง, ที่: https://news.mthai.com/politics-news/118978.html
[7] จากตารางที่สามซึ่งเป็นข้อมูลผลการเลือกตั้งระบบแบ่งเขตแบบเบอร์เดียวต่อหนึ่งเขต ปี2554 เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงที่ได้โดยคำนวณจากจำนวนบัตรดีทั้งหมดกับคะแนนเสียงที่ได้ของผู้สมัครแต่ละท่านในเขตการเลือกตั้งของเขตนั้นๆ ระหว่างคะแนนของผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ และคะแนนรวมของพรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธรรม พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทยของแต่ละเขต ในพื้นที่ของจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี และ ยะลา , ดวงยิหวา อุตรสินธุ์, ‘อวสานของ “เอกภาพ”: การเลือกตั้ง 3 กรกฎากับบทเรียนของชนมลายู’ : https://deepsouthwatch.org/th/node/2108