ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ
ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้
บทนำ
ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังย่างเข้าเป็นปีที่ 9 ระยะ 8 ปีที่ผ่านมา (2547 – 2554)
สถานการณ์ความรุนแรงยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองหรือการทหาร ในห้วงเวลาดังกล่าว หากสังเกตติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก็จะพบว่าทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายก่อความไม่สงบต่างก็ใช้ปฏิบัติการทางทหารเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะฝ่ายก่อความไม่สงบมุ่งสร้างผลงานที่เน้นการลอบสังหาร การวางระเบิดบุคคลและสถานที่สาธารณะเพื่อหวังให้เกิดเงื่อนไขใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตน ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐก็เน้นการควบคุมพื้นที่โดยเฉพาะบนถนนสายหลักและพื้นที่ย่านธุรกิจสำคัญในเขตเมืองเพื่อจำกัดเสรีภาพการเคลื่อนไหวก่อเหตุของฝ่ายก่อความไม่สงบ การหาข่าว การปิดล้อม ตรวจค้น และติดตามจับกุมคนร้าย ในช่วงปี 2551- 2554 เริ่มมีความชัดเจนและสามารถจับทางการเคลื่อนไหวของแกนนำและแนวร่วมฝ่ายก่อความไม่สงบได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายก่อความไม่สงบ ต่างก็เกาะติดอยู่กับการขับเคลื่อนงานยุทธวิธีทางทหารเป็นสำคัญ งานการเมืองของแต่ละฝ่ายยังก้าวไปได้น้อยมากและหากพิจารณาในระดับยุทธศาสตร์ก็ยิ่งเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐงานการเมืองในประเทศยังหยุดอยู่กับที่ แต่ในระดับนานาชาติ พอจะพูดได้ว่าประสบความสำเร็จพอสมควรในการสื่อสาร ให้ประเทศพันธมิตรและองค์กรระหว่างประเทศเห็นว่า ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย ส่วนฝ่ายก่อความไม่สงบได้ยกระดับการก่อเหตุให้รุนแรง สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินแก่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ล่าสุดประมาณเดือนมีนาคม ปี 2555 ระบุว่าได้เกิดเหตุร้ายทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปแล้วกว่า 14,000 คน ส่วนงานการปลุกระดมบ่มเพาะผู้ปฏิบัติงาน เข้าองค์กรการต่อสู้ของขบวนการฯ ก็ยังดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่งานแนวร่วมในระดับสากลยังไม่ก้าวหน้าเท่าใดนัก
บทวิเคราะห์นี้จะลองตรวจสอบการขับเคลื่อนงานในระดับยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ทั้งด้านการเมืองและการทหารของแต่ละฝ่ายว่ากำลังดำเนินไปในทิศทางใด และแนวโน้มของสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2555 – 2557 จะเป็นอย่างไร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันอาจจะเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจทั่วไป ดังนี้
สถานการณ์ในห้วง 8 ปี (2547 – 2554)
สถานการณ์ความไม่สงบในห้วง 8 ปีที่ผ่านมา ผู้วิเคราะห์จัดแบ่งเวลาเป็น 3 ระยะ ตามความเปลี่ยนแปลงสำคัญของแต่ละฝ่าย คือ
ฝ่ายรัฐไทย
ระยะที่ 1 (2547 – 2549) เป็นระยะที่ฝ่ายรัฐกำลังสับสนและตกตะลึงกับเหตุความไม่สงบที่ประทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กรณีปล้นปืนที่ค่ายทหารกองพันพัฒนาจังหวัดนราธิวาส กรณี 28 เมษายน และกรณีชุมนุมประท้วงที่บริเวณสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลในขณะนั้นได้ตัดสินใจดำเนินการควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามโดยใช้ยุทธวิธีตรึงพื้นที่ด้วยกำลังทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร กดดันไม่ให้ฝ่ายก่อความไม่สงบมีเสรีในการเคลื่อนไหว พร้อมกับคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนไปพร้อมกัน บรรยากาศทั่วไปคล้ายสงครามกลางเมือง โดยภาพรวมระยะนี้ ฝ่ายรัฐพยายามแก้ปัญหาเพียงหาทางยับยั้งเหตุร้ายรายวันไปตามสถานการณ์เท่านั้น
ระยะที่ 2 (2550 -2552) เป็นระยะที่ฝ่ายรัฐโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน.ภ.4) เริ่มปะติดปะต่อสถานการณ์เหตุร้ายรายวัน จากข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พบในที่เกิดเหตุและข้อมูลการซักถามผู้ต้องหาที่จับตัวได้และเข้ารายงานตัวกับกองบัญชาการผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร จนสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวจนได้ภาพค่อนข้างชัดเจนว่า ปัญหาความไม่สงบเกิดจากปฏิบัติการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม BRN Co-ordinate เป็นแกนนำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งแยกดินแดนออกจากรัฐไทยไปตั้งเป็นรัฐเอกราชปกครองตนเอง โดยอาศัยเงื่อนไขประวัติศาสตร์ปัตตานี อัตลักษณ์ความเป็นมลายูและศาสนาอิสลามซึ่งมีวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากสังคมไทยทั่วไปและ ได้ยึดโยงกับปัญหาในมิติอื่นๆ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาความยากจน ปัญหาด้านการศึกษา และปัญหาไม่เป็นธรรม
เพื่อให้การแก้ปัญหาสอดคล้องกับสภาพดังกล่าวและสถานการณ์ความไม่สงบได้คลี่คลายไป กอ.รมน. ภาค 4 จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะ 4 ปีขึ้น โดยกำหนดภาระงานทางยุทธศาสตร์ขึ้น 2 ด้าน ดังนี้
1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ปฏิบัติการและควบคุมการปฏิบัติโดยกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) การปฏิบัติให้ถือหลัก การเมืองนำการทหาร แบ่งการปฏิบัติออกเป็น 3 กลยุทธ์ คือ
1.1 กลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
1.2 กลยุทธ์ด้านข่าวกรองและการต่อต้านข่าวกรอง
1.3 กลยุทธ์ด้านการปฏิบัติการด้านข่าวสาร
2. ยุทธศาสตร์การพัฒนา ปฏิบัติการและควบคุมการปฏิบัติโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) การปฏิบัติให้ถือหลัก แนวพระราชดำรัสเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งภารกิจออกเป็น 5 กลยุทธ์ คือ
2.1 กลยุทธ์ด้านการเมืองการปกครอง
2.2 กลยุทธ์ด้านการศึกษาและกีฬา
2.3 กลยุทธ์ด้านสังคมจิตวิทยา
2.4 กลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจ
2.5 กลยุทธ์ด้านการต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ซึ่งประกอบด้วยหนทางปฏิบัติ 3 กลยุทธ์ กลยุทธ์ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กลยุทธ์ด้านข่าวกรอง และต่อต้านข่าวกรอง เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการประสบผลสำเร็จในระดับน่าพอใจ สังเกตได้จากจำนวนครั้งการก่อเหตุลดลง ทรัพย์สินของราชการและประชาชนถูกทำลายน้อยลง จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลง อีกทั้งสามารถสืบสวนติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้มากขึ้น สามารถแจ้งเตือนการเฝ้าระวังเหตุร้ายได้รวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ส่วนกลยุทธ์การปฏิบัติการด้านข่าวสารนั้นมีความคืบหน้าน้อย สังเกตได้จากการดำเนินการในประเด็น การต่อสู้ทางความคิดที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่กลับไม่มีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันมีบ้างก็เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่ค่อยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความคิดหรือทัศนคติของฝ่ายก่อความไม่สงบมากนัก
ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนา ซึ่งประกอบด้วยกลยุทธ์ด้านการเมืองการปกครอง กลยุทธ์ด้านการศึกษาและกีฬา กลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจ รัฐประสบผลสำเร็จค่อนข้างน้อย สังเกตได้จากการรุกทางการเมืองเชิงคุณภาพยังไม่คืบหน้า คุณภาพการศึกษายังต่ำ ส่วนด้านเศรษฐกิจถึงแม้ประชาชนจะมีรายได้เนื่องจากราคายางที่สูงขึ้น แต่การผลิตก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะยังรู้สึกหวาดระแวงในความไม่ปลอดภัย หากมองไปถึงโครงการต่างๆ ที่รัฐพยายามสนับสนุนด้านเงินทุนก็เป็นเพียงโครงการระยะสั้นที่ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการส่งเสริมยังทำได้ไม่เต็มที่นั่นเองส่วนกลยุทธ์ด้านสังคมจิตวิทยา รัฐสามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่ากลุ่มก่อความไม่สงบมีอยู่จริง ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่จึงเริ่มมีมากขึ้น ส่วนกลยุทธ์ด้านการต่างประเทศนั้นรัฐทำได้ดี สามารถทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน องค์กรเอกชนระดับสากลและประเทศพันธมิตรเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นบวกกับฝ่ายรัฐและไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย
ระยะที่ 3 (2553 – 2554) ในห้วงปลายปี 2553 เป็นระยะที่ฝ่ายรัฐปรับเปลี่ยนผู้นำทางทหารระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพและแม่ทัพภาค กองทัพบกได้เปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารบกและแม่ทัพกองทัพภาคคนใหม่ โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 4 พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพแทน พลโทพิเชษฐ์ วิสัยจร ซึ่งขยับเลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ก็เริ่มประกาศใช้นโยบายสานใจสู่สันติ เป็นแนวทางหลักในการปฏิบัติงานของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ประจำปี 2554 ทันที
นโยบายสานใจสู่สันติ ประกอบด้วย
1. นโยบายทั่วไป
1.1 น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา
1.2 ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายหลักของรัฐ คือ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 206 / 2549 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
2. นโยบายเฉพาะหน้า
2.1 อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบได้เดินทางกลับมาอยู่อาศัยในภูมิลำเนาเดิมอย่างปกติสุข
2.2 เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็นต่างกับรัฐได้มีช่องทางสามารถแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
2.3 ขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรงอันส่งผลให้เกิดความไม่สงบในสังคมให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม
2.4 สนับสนุนประชาชนและภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วด้าน
2.5 ฟื้นฟูและส่งเสริมวิถีชีวิตตามหลักคุณธรรมที่ดีงามของสังคมอันหลากหลายบนพื้นฐานของความเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกันและกันให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
2.6 รณรงค์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
การประกาศนโยบายสานใจสู่สันติของแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่นั้นได้ย้ำอย่างชัดเจนในเนื้อหาของนโยบายว่านับแต่นี้ไปกองทัพภาคที่ 4 ที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยยุทธศาสตร์เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งจะต้องขึ้นต่อนโยบายหลักของรัฐบาล นั่นคือนโยบายเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 206/2549 ลงวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เป็นสำคัญ
การขานรับนโยบายตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวของกองทัพภาคที่ 4 ดูเหมือนว่าจะสร้างความพอใจให้สภาความมั่นคงแห่งชาติค่อนข้างมาก ยิ่งเมื่อแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เรียกประชุมผู้นำหน่วยทหารและผู้ปฏิบัติงานระดับนำของพลเรือนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ โดยได้เชิญเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มาบรรยายซักซ้อมความเข้าใจการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายของนโยบายก็ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ว่าคงจะแก้ปัญหาความไม่สงบได้สำเร็จภายในเวลาไม่นานนัก
หากแต่เมื่อได้สำรวจความรู้สึกของผู้นำหน่วยระดับปฏิบัติในพื้นที่และผู้นำมวลชน ตามตำบล หมู่บ้าน ดูแล้วกลับพบว่าพวกเขามีความรู้สึกที่ไม่ค่อยมั่นใจ เนื่องจากรู้สึกว่าเป็นนโยบายเดิมๆ ที่ทำกันอยู่แล้ว แม้จะสามารถลดจำนวนครั้งของเหตุร้ายลงได้บ้างแต่จำนวนคนบาดเจ็บล้มตายโดยเฉลี่ยแล้วยังไม่ลดลง
โดยสรุป ก็คือการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2547 – 2554 เป็นเวลา 8 ปี ของรัฐยังคงเป็นนโยบายตั้งรับทั้งทางการเมืองและทางการทหารจะรุก ก็แต่ทางด้านการสร้างงานแก่ประชาชน ยังไม่ใช่การรุกทางการเมืองเพราะถ้าเป็นการรุกทางการเมืองที่ได้ผลรัฐก็จะต้องได้จิตใจความรู้สึกเชิงบวกจากประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่นี้มาก แต่เท่าที่สัมผัสได้ ดูเหมือนว่าจะไม่คุ้มกับงบประมาณที่รัฐได้ทุ่มเทลงไป ซึ่งหากรวมเงินเดือน ค่าจ้าง กับเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบและงบพัฒนาสังคมด้านต่าง ๆ ด้วยแล้ว จำนวนเม็ดเงินก็มีจำนวนเกือบสี่แสนล้านบาทเลยที่เดียว
ฝ่ายก่อความไม่สงบ
ระยะที่ 1 (ก่อนปี 2546 - 2547) เป็นที่รับรู้กันในแวดวงของหน่วยงานด้านความมั่นคงว่า กลุ่มก่อความไม่สงบหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ได้ดำเนินการต่อสู้กับรัฐไทย มาอย่างยาวนานก่อนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เสียอีก ในห้วงเวลานั้นขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีสถานะเป็นเพียงกองกำลังติดอาวุธที่เคลื่อนไหวอยู่ในเขตป่าเขาและพื้นราบ มียุทธศาสตร์และยุทธวิธีคล้ายกับกลุ่มติดอาวุธที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐของประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะนั้น
ระยะที่ 2 (2547–2553) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้ปรับขบวนการต่อสู้ทั้งการจัดตั้ง ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี อย่างขนานใหญ่ จนมีความเข้มแข็งมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่ม BRN Co-ordinate สามารถจัดตั้งสภาองค์กรนำ องค์กรมวลชน และโครงสร้างการเมืองการปกครองทับซ้อนโครงสร้างการปกครองของรัฐไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ การต่อสู้ทางการเมืองใช้วิธีบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การชูประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การประพฤติผิดเรื่องชู้สาวของข้าราชการทหารตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ หากไม่มีเหตุดังกล่าวก็จะจัดฉากสร้างเรื่องใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ เช่น การสร้างคลิปวีดีโอเรื่องราวที่หมิ่นเหม่ต่อความรู้สึกทางวัฒนธรรมเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชน การต่อสู้ทางทหารจะใช้การต่อสู้แบบจรยุทธ์ทั้งในเขตเมืองและเขตป่าเขาดำเนินการก่อสงครามสามระดับ ทั้งสงครามก่อความไม่สงบ สงครามก่อการร้ายและสงครามปฏิวัติ เพื่อให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กลายเป็นพื้นที่แห่งความล้มเหลวของอำนาจรัฐไทย เมื่อพื้นที่กลายเป็นพื้นที่อำนาจรัฐล้มเหลว ก็จะเป็นเงื่อนไขเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น UN OIC และองค์กรอื่นๆเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เมื่อสถานการณ์พัฒนามาถึงระดับนี้เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะกลายเป็นสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยให้เกิดเงื่อนไข ที่อาจนำไปสู่กระบวนการขอประชามติจากประชาชน เพื่อให้กลุ่มชนที่มีเอกลักษณ์จำเพาะทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม ต่างจากสังคมใหญ่ได้สิทธิ์ในการปกครอง มีเอกราชและอธิปไตยเป็นของตนเองอย่างที่เคยเกิดขึ้นในประเทศตีมอร์ตะวันออก
ระยะที่ 3 (2554) ระยะนี้ สถานการณ์โดยทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะวางน้ำหนักการต่อสู้ที่งานการเมืองมากกว่างานการทหาร โดยจะเน้นการต่อสู้ในทางสากลเพื่อขยายผลให้องค์กรระหว่างประเทศเห็นจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายว่ามิได้ลดลงจากปีก่อนๆ แต่กลับเพิ่มมากขึ้นเร่งทำงานแนวร่วมกับองค์กรตรวจสอบทางสังคมระดับต่างๆ สร้างสถานการณ์ให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐไทยเป็นรัฐล้มเหลวในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนด้านการทหารก็ยังคงใช้การก่อเหตุด้วยยุทธวิธีลอบยิง วางระเบิดและก่อวินาศกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อกดดันต่อรองกับกลไกรัฐและสังคมไทยส่วนใหญ่ให้เปิดเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์สำหรับการรุกทางการเมืองที่นำไปสู่การได้มาซึ่งอำนาจการปกครองตนเองและยกระดับการมีเอกลักษณ์จำเพาะทางสังคมให้สูงขึ้นเพื่อบรรลุสภาวการณ์ที่คนไทยต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ต้องอพยพออกนอกพื้นที่ไปให้มากที่สุด
เมื่อพิจารณาภาพรวมการเคลื่อนไหวต่อสู้ในห้วง 8 ปี ที่ผ่านมา (2547 - 2554) จะเห็นได้ชัดเจนว่า ฝ่ายรัฐยังคงเป็นฝ่ายตั้งรับในทางยุทธศาสตร์และทางยุทธวิธี ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนยังเป็นฝ่ายรุกในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทั้งในด้านการเมืองและด้านการทหาร
สถานการณ์โดยรวมในปี 2555 - 2557
ในปี 2553 ความพยายามในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของรัฐไทย ทั้งในด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา นับว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากงานความมั่นคงที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง คือ งานการต่อสู้ทางความคิด ยังไม่คืบหน้าโดยที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนความคิดแกนนำและแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้กลับมาเป็นพลเมืองที่ดีของรัฐไทยได้ ส่วนงานพัฒนาที่ได้ทุ่มเทงบประมาณลงไปในพื้นที่จำนวนหลายแสนล้านบาทนั้น ประสบผลสำเร็จบ้างก็ในทางวัตถุ ส่วนด้านจิตใจ ผู้ที่ทำงานในพื้นที่จริง ๆ จะสัมผัสได้ว่ายังไม่ได้ทั้งความรู้สึกเชิงบวกและใจของประชาชนเท่าใดนัก
ในปี 2554 การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รัฐบาลยังคงใช้ยุทธศาสตร์สันติวิธีต่อเนื่องจากปี 2553 โดยเน้นการปฏิบัติงานด้านมวลชนตามแนวพระราชดำรัสเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินชีวิตตามวิถีศาสนาเป็นแนวนำในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคม ดำเนินการเยียวยาทางสังคมด้วยแนวทางสมานฉันท์เน้นหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนในการพัฒนาได้ใช้วิธีบูรณาการในทุกมิติทั้งด้านการเมือง สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษา โดยในส่วนของงานความมั่นคง แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศชัดเจนทั้งนโยบายทั่วไปและนโยบายเฉพาะหน้า ครอบคลุมสภาพปัญหาและทิศทางการแก้ไขไว้ค่อนข้างครบถ้วน ซึ่งขณะนี้ ถ้าสังเกตบทบาทของ กอ.รมน.ภาค 4 และบทบาทของ ศอ.บต. ก็จะเห็นความพยายามในการสร้างความเข้าใจนโยบายใหม่แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนและความพยายามที่จะให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีบทบาทร่วมในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น
สำหรับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนในปี 2554 พวกเขายังคงปฏิบัติการทางทหาร ด้วยยุทธวิธีที่ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก แต่จะเน้นการวางระเบิด การซุ่มโจมตี และการสังหารบุคคลที่ปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และ อาสาสมัครประเภทต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมทุกประเภทเพื่อรวมศูนย์ความคิดของปัญญาชนและมวลชนให้เป็นเอกภาพและมีทิศทางการต่อสู้ที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน การต่อสู้ทางสังคมจะเน้นการปฏิบัติการช่วงชิงพื้นที่ทั้งที่อยู่อาศัย เรือกสวนไร่นาและสถานประกอบการ ปัจจุบันเริ่มมีการกีดกันคนต่างเชื้อชาติและศาสนา แม้แต่ผู้ที่นับถือศาสนาเดียวกันหากมีใจฝักใฝ่ให้การช่วยเหลือสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐก็จะถูกกีดกันหรือกำจัดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คนอื่นๆ ในระดับสากลยังคงเพิ่มความพยายามในการสร้างแนวร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศโดยพยายามให้องค์กรเหล่านั้นเห็นว่าการปกครองของรัฐไทยล้มเหลวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถปกป้องให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ตลอดระยะเวลา 8 ปี (2547-2554) ซึ่งยอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็มีจำนวนมากพอที่จะทำให้ UN/OIC และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องจับตาสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเพิ่มมากขึ้น
สถานการณ์ปลายปี 2554 - ต้นปี 2555
ฝ่ายรัฐไทย
ในปี 2555กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในได้ใช้ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนยุทธศาสตร์ 6 ประการ ซึ่งจัดทำโดย กอ.รมน. ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความเข้าใจ การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การป้องกันและแก้ไขปัญหาแทรกซ้อน การดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการมีส่วนร่วมของทุกๆ ภาคส่วน
นอกจากยุทธศาสตร์ดังกล่าวแล้ว กอ.รมน. ก็ยังประกาศนโยบายเฉพาะหน้าเร่งด่วน เพื่อสนองยุทธศาสตร์อีก 6 ข้อ คือ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบ เดินทางกลับมาอยู่อาศัยในภูมิลำเนาเดิมอย่างปกติสุข เปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นต่างกับรัฐ ได้มีช่องทางแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง อันส่งผลให้เกิดความไม่สงบในสังคม ให้เกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม ฟื้นฟูและส่งเสริมวิถีชีวิตตามหลักคุณธรรมที่ดีงามของสังคมอันหลากหลายบนพื้นฐาน การเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกันให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนประชาชนและภาคประชาสังคม ให้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วด้าน และรณรงค์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของงานยุทธศาสตร์ การปฏิบัติได้กำหนดกลยุทธ์ โครงการรับมาดำเนินการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์สุดท้าย / ของทุกๆ ยุทธศาสตร์
ในส่วนของงานนโยบาย ก็ได้กำหนดเป็นแผนงานที่สนองนโยบายต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน
จึงทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่ายคาดหวังว่า น่าจะทำให้สถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลาย เกิดความสงบสันติมากขึ้นโดยลำดับ
ฝ่ายก่อความไม่สงบ
ในห้วงเวลาปลายปี 2554 – ราวๆ ต้นปี 2555 ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีขบวนการ B.R.N - Coordinate เป็นแกนนำดำเนินการต่อสู้โดยใช้การทหารนำการเมือง ยุทธวิธี คือ การลอบยิงประชาชนและวางระเบิดสถานที่สาธารณะ ถ้าเป็นมุสลิมก็จะพุ่งเป้าไปที่ส่วนที่เป็นกลไกของรัฐหรือไม่ก็คนที่อยู่ฝ่ายรัฐให้ความร่วมมือกับรัฐ เนื่องจากการแบ่งแยกมวลชนได้จัดประเภทคนเหล่านี้ว่าเป็นพวกโลเลกลับกลอกหรือที่เรียกว่า มูนาฟิก หากเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่นับถือศาสนาพุทธหรือคนไทยพุทธทั่วไปก็จะจัดแยกประเภทคนเหล่านี้ว่า เป็นซีแย (สยาม) เป็นกาเฟร์หรือเป็นคนนอกศาสนา ซึ่งนับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2547 – เดือนมีนาคม 2555 มีผู้เสียชีวิตไปแล้วจำนวน 5,142 คน แยกเป็นมุสลิม 3,023 คน และเป็นไทยพุทธ 1,979 คน
โดยขบวนการฯ ได้ประเมินว่า การใช้การทหารนำการเมืองจะทำให้ขบวนการฯ มีฐานะความเป็นตัวตนขององค์กรการต่อสู้เพิ่มมากขึ้น การปฏิบัติการทางทหารอย่างกรณีระเบิดย่านธุรกิจการเมืองในเขตเทศบาลนครยะลาและลานจอดรถโรงแรมลีกาเดนท์พลาซ่า กลางเมืองหาดใหญ่ ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ผลสะเทือนที่ได้มาก็คือสังคมใหญ่ในระดับประเทศและระดับสากลได้รู้จักตัวตนของขบวนการฯ และที่สำคัญพันธมิตรองค์กรก่อการร้ายหลักๆ ของโลก ก็จะให้การยอมรับองค์กร B.R.N - Coordinate ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมากขึ้น
สำหรับจุดอ่อนเชิงจริยธรรมที่มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บนั้น เป็นความจำเป็นของผ่านที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของการปฏิวัติทั้งมวล แต่เมื่อรายงานการสำรวจของ ผศ.ดร. ศรีสมภาพ จิตรภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ ประเมินน้ำหนักผลได้ผลเสียแล้ว ผลได้จะมีมากกว่า ซึ่งถือว่าที่แล้วมาปฏิบัติการทางทหารเพื่อเสริมฐานะทางการเมืองให้องค์กรการต่อสู้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ส่วนการเบนประเด็นให้องค์กรงานความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของรัฐบาลไทยเกิดความสับสน ขาดเอกภาพทางความคิดและทางการปฏิบัติ จนความเข้มแข็งกลายเป็นความอ่อนแอก็ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามเช่นกัน เนื่องจากรัฐไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ กำลังเดินไปสู่ความเป็นพื้นที่อำนาจรัฐล้มเหลวในอัตราเร่งที่รวดเร็วมากขึ้นทุกขณะ
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่กลางปี 2555 มีความเป็นไปได้ ที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่ม B.R.N - Coordinate จะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการทหารนำการเมืองไปเป็นการเมืองนำการทหาร เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าแกนนำของขบวนการทุกกลุ่มได้จัดประชุมร่วมกันเมื่อ 13 มีนาคม 2555 และมีมติว่าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจะใช้ชื่อองค์กรปฏิวัติว่า ขบวนการ B.R.N เพียงอย่างเดียว และภารกิจการต่อสู้ทางการเมืองก็จะเน้นหนักไปที่การเตรียมประชาชนให้มีความพร้อมและการยอมรับ การลงประชามติแยกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไป ตั้งเป็นรัฐใหม่ที่มีเอกราชและอธิปไตยเป็นของตนเองที่ชื่อว่าปาตานีดารุสลาม
เนื่องจากขบวนการฯ เชื่อว่า เมื่อสามารถทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นพื้นที่อำนาจของรัฐไทยล้มเหลวได้แล้ว องค์กรระหว่างประเทศพร้อมที่จะเข้ามาแทรกแซง เพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชนที่มีเอกลักษณ์ทางเชื้อชาติ มีวัฒนธรรมจำเพาะ และมีความไม่มั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หลังจากนั้น กระบวนการจัดการทางสังคมก็จะขับเคลื่อนไปเอง โดยกลไกขององค์กรสหประชาชาตินำไปสู่การจัดการลงประชามติเพื่อก่อตั้งประเทศใหม่ตามแนวทางของตีมอร์เอสเตที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว
คำตอบของเหตุการณ์ 31 มีนาคม 2555 และแนวโน้มของสถานการณ์ความไม่สงบ ตั้งแต่กลางปี 2555 – 2557
· สถานการณ์ลอบวางระเบิดย่านเศรษฐกิจกลางเมืองนครยะลาและลานจอดรถโรงแรมลีการ์เดนท์พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม B.R.N - Coordinate เป็นแกนนำ มีเป้าหมายเพื่อการยกระดับความเป็นตัวตนขององค์กรต่อสู้ปฏิวัติของประชาชนชาวมลายูปาตานี ในการแยกพื้นที่ออกไปก่อตั้งประเทศปาตานีดารุสลาม และเพื่อให้เกิด การยอมรับจากองค์กรลักษณะเดียวกันในระดับโลก และให้นานาชาติเห็นว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกำลังเป็นพื้นที่อำนาจรัฐล้มเหลว
· ในระยะ 3 ปี นับจากนี้เป็นต้นไป คือ ตั้งแต่กลางปี 2555 – 2557 ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม B.R.N - Coordinate เป็นแกนนำจะไม่มีทางยอมเจรจากับกลไกระดับต่างๆ ของรัฐไทย โดยเฉพาะกลุ่มติดอาวุธ B.R.N - Coordinate เนื่องจากพวกเขายังไม่พร้อมในการสร้างประชาชนให้มีอุดมการณ์ยอมรับการลงประชามติแยกตัวไปก่อตั้งรัฐใหม่ได้ ซึ่งขบวนการฯ เชื่อว่าการสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นและเป็นเอกภาพในหมู่ประชาชนยังต้องใช้เวลาขั้นต่ำ 3 ปี
· การต่อสู้ทางทหาร เช่น การโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ การวางระเบิดในพื้นที่ ใจกลางระบบเศรษฐกิจ พื้นที่สัญลักษณ์อำนาจรัฐและการลอบยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์จะยังคงมีต่อไปควบคู่กับการต่อสู้ทางการเมือง และการปฏิบัติการดังกล่าว จะมีจำนวนครั้งไม่มาก แต่จะรุนแรงและเข้มข้นในเชิงคุณภาพมากขึ้น
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
ข้อสังเกต
· หากพิจารณาประเด็นยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐไทย ตั้งแต่ปี 2547 – 2554 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยังไม่ใช่ยุทธศาสตร์และนโยบายที่เป็นการตั้งหลักต่อสู้เพื่อเอาชนะต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม B.R.N - Coordinate เป็นแกนนำอย่างแท้จริงแต่อย่างใด เป็นเพียงยุทธศาสตร์และนโยบายที่มาจากการตั้งสมมติฐาน เหตุแห่งความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ผิดมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาจึงไม่เคยเป็นการต่อสู้เพื่อยุติการปลุกระดมบ่มเพาะ การสร้างแกนนำและแนวร่วมของขบวนการฯ ได้ ไม่เคยได้ทำลายโครงสร้างองค์กรการปฏิวัติของขบวนการ ไม่เคยมีโครงการปฏิบัติการจิตวิทยาที่เป็นเรื่องเป็นราวในการเข้าถึงประชาชนมลายูมุสลิม จนก่อให้เกิดความคุ้นเคย ความไว้วางใจต่อรัฐและมาอยู่ร่วมกัน ภายใต้อัตลักษณ์ที่ต่างกันได้ และไม่เคยมีกุศโลบายทางการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อทำลายความชอบธรรมของกลุ่มก่อความไม่สงบในเวทีประชาคมระหว่างประเทศแต่อย่างใด
· ยุทธศาสตร์และนโยบายดังกล่าวจึงไม่มีผลต่อการยับยั้งการขยายตัว ทั้งในด้านปริมาณและ ด้านคุณภาพของการก่อความไม่สงบ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม B.R.N - Coordinate เป็นแกนนำ การก่อเหตุร้ายที่จะทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บล้มตาย จึงเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง อยู่ตลอดไป
· ปัจจุบันปี 2555 รัฐไทยได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งสำคัญ โดยการยกระดับนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายระดับชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบและใช้เป็นนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2555 – 2557 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หากพิจารณาสาระสำคัญของนโยบายอย่างละเอียดก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐไทยกำลังเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างก้าวกระโดด จากที่เคยมองปัญหาอย่างผิวเผิน หยุดนิ่ง และคิดว่าจะแก้ได้ด้วยอำนาจทางทหารเพียงอย่างเดียวได้ ก็เปลี่ยนมาเป็นมองอย่างลุ่มลึก มีพลวัตรและคิดไกลสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ ในบริบทของการเมืองมากขึ้น อาทิเช่น
o เน้นการจัดทำนโยบาย โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง
o มีการระบุได้ค่อนข้างชัดเจนถึงผู้ใช้ความรุนแรงและเงื่อนไขของความรุนแรงว่ามีทั้งระดับบุคคล ระดับโครงสร้าง และระดับวัฒนธรรม
o มีกรอบคิด มีวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ และนโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การดำเนินนโยบายที่มีพื้นฐานของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การเปิดพื้นที่ต่อสู้ในแนวทางสันติ การสร้างสมดุลของโครงสร้าง อำนาจการเมืองการปกครอง การเคารพในสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม เคารพในความแตกต่างหลากหลายและให้เกียรติอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ การมุ่งให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ปราศจากเงื่อนไขของความรุนแรง เหล่านี้ล้วนเป็นหลักการสำคัญของการแก้ปัญหาที่ก้าวหน้าอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งสิ้น และหากมองลึกลงไปถึงรายละเอียดของวิธีดำเนินการในแต่ละวัตถุประสงค์ของนโยบายแต่ละข้อ ก็จะพบอีกว่าล้วนเป็นสิ่งที่ปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงเช่นกัน
· ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ได้ปรับเปลี่ยนทั้งภายในองค์กรและทิศทางการต่อสู้ของตนเช่นกัน เช่น การเปลี่ยนชื่อขบวนการต่อสู้ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย มาเป็นชื่อขบวนการ B.R.N แต่เพียงชื่อเดียว เพื่อความเป็นเอกภาพและป้องกันความสับสน การปฏิบัติการทางทหารที่มีเป้าหมายเฉพาะหน่วยติดอาวุธของฝ่ายรัฐ การทำงานแนวร่วมกับองค์กรระดับสากล และการเริ่มตระเตรียมประชาชนเพื่อรองรับการลงประชามติ แยกตัวออกไปตั้งเป็นรัฐเอกราชเหล่านี้เป็นต้น
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะต่อไปนี้ เป็นข้อเสนอต่อทั้งสองฝ่ายที่เป็นปรปักษ์คู่สงคราม คือ ฝ่ายรัฐไทยและฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม BRN Co-ordinate เป็นแกนนำ เป็นความเห็นที่เกิดจากการประมวลแนวโน้มของสถานการณ์โลก สถานการณ์ในภูมิภาคอาเซียน สถานการณ์ระดับประเทศ และสถานการณ์เฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วนำมาสู่การพิจารณาช่องทางและโอกาสที่แต่ละฝ่ายควรจะรีบฉกฉวย เพื่อการสร้างสภาวะแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการที่นำไปสู่เป้าประสงค์ของแต่ละฝ่ายดังนี้
· สถานการณ์และแนวโน้มทั่วไป
ระดับโลก
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระดับสากล ความร่วมมือกันของนานาชาติ กำลังมุ่งไปสู่การร่วมกันต่อสู้กับภัยธรรมชาติ ความร่วมมือในลักษณะพหุภาคี เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจ ชาติตะวันตกได้เปลี่ยนนโยบายหันมาร่วมมือกับโลกมุสลิมมากขึ้น การขยายอิทธิพลแทรกแซงประเทศต่างๆ ของชาติมหาอำนาจ เป็นไปในวงจำกัดและทำได้ยากขึ้น ปัญหาการแตกตัวไปก่อตั้งรัฐใหม่ในประเทศต่างๆ เป็นสิ่งที่ยากจะเกิดขึ้นและโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติมีน้อย เนื่องจากความสูญเสียมีมากมายหลายมิติ จนหลายฝ่ายไม่อาจยอมรับได้ กระแสสุดโต่งไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายใด ก็ไม่อาจสร้างให้เหนือกว่ากระแสการประนีประนอม และกระแสประชาธิปไตยได้
ระดับภูมิภาคอาเซียน
ปัจจุบันกลุ่มชาติอาเซียนกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ 2 เรื่องสำคัญ คือ การจัดตั้งประชาคมให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 และเรื่องทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ซึ่งมีประเด็นที่ท้าทายความเป็นอาเซียนอยู่อีกหลายประการ เช่น การเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงาน ความมั่นคงและกลไกกระบวนการเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นแนวโน้มความร่วมมือในอาเซียนก็จะเป็นเรื่องของความเป็นเอกภาพของกลุ่มประเทศสมาชิก เรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง ที่ไม่เป็นการสร้างปัญหาให้แก่กันและกัน สิ่งใดที่เป็นเรื่องสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันก็จะร่วมมือกัน สิ่งใดเป็นปัญหาในแต่ละประเทศก็จะไม่แทรกแซงและสร้างปัญหาให้แก่กัน
ระดับประเทศ
สถานการณ์ในประเทศขณะนี้เป็นระยะที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามหาทางออกให้กับอนาคตของประเทศ ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ระยะสั้น คือ การหาทางยุติการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มที่มีวิธีคิดต่างกัน และนำไปสู่บรรยากาศการปรองดอง ระยะปานกลาง คือ เป็นเรื่องการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ระยะยาว คือ จัดเป็นเรื่องของการวางโครงสร้าง แก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาอารยะประเทศ อันเป็นพื้นฐานของการกำหนดทิศทางอนาคตของสังคมไทยที่เหมาะสมต่อไป
ระดับพื้นที่
สถานการณ์ในพื้นที่ด้านหลักของความมั่นคง ก็คือ การต่อสู้ของฝ่ายแบ่งแยกดินแดน กับกลไกของรัฐไทย การดำเนินการที่เต็มไปด้วยการช่วงชิงการได้เปรียบ ทั้งในด้านยุทธศาสตร์และยุทธวิธี เพื่อให้ตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบและเป็นฝ่ายกระทำ การต่อสู้ดำเนินมาเกือบหนึ่งทศวรรษ ฝ่ายรัฐ แม้จะได้เปรียบเชิงปริมาณ มีอำนาจกำลังรบที่เหนือกว่า แต่กลไกรัฐในพื้นที่ ยังไม่มีความเป็นเอกภาพในการต่อสู้อย่างแท้จริง ทั้งในความคิดและทางการปฏิบัติยังไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อปัญหาความรุนแรงและการจัดการกับความรุนแรงนั้นอย่างเหมาะสม ในเชิงนโยบายรัฐเพิ่งจะประกาศใช้นโยบายที่เปิดกว้างและมีความเหมาะสมในหลายมิติ ส่วนการปฏิบัติจริง ยังไม่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม
ฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ยังคงเร่งปฏิบัติการทางทหารอย่างเข้มข้น เท่าที่โอกาสเปิดให้ เพื่อให้ผลการปฏิบัติการไปเสริมฐานะทางการเมือง อันเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเตรียมมวลชนให้มีความพร้อมในการแสดงประชามติแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปตั้งเป็นรัฐใหม่ จากการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มทั่วไปดังกล่าวทำให้เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ทิศทางที่ดำรงอยู่ทางภาววิสัย ซึ่งไม่ขึ้นต่อเจตน์จำนงของฝ่ายใดนั้น มีให้เห็นอยู่อย่างน้อย 4 ประการ คือ
1. ความร่วมมือของประชาคมโลกมีแนวโน้มที่จะร่วมมือกันมากขึ้นในเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม พลังงาน การต่อสู้กับภัยธรรมชาติ และการแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจ
2. แต่ละประเทศมีจุดยืนที่จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันโดยเฉพาะปัญหาทางสังคมและความมั่นคง
3. กลุ่มประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันและมีลักษณะทางสังคมคล้ายคลึงกัน มีแนวโน้มที่จะรวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอื่นๆ เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป กลุ่มอาเซียน และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำเหล่านี้เป็นต้น แนวโน้มนี้จะเป็นตัวชี้ว่าในอนาคต พรหมแดนระหว่างประเทศจะค่อยๆ ลดความสำคัญและความจำเป็นลงโดยลำดับ แต่จะเพิ่มความสำคัญของการรวมตัวกันในลักษณะพหุภาคีเพิ่มขึ้น
4. ความสัมพันธ์ทางอำนาจของรัฐต่างๆ ในทุกภูมิภาค มีแนวโน้มที่จะค่อยๆ เปลี่ยนจากการรวมศูนย์ไปเป็นการกระจายอำนาจจากความสัมพันธ์แนวดิ่ง จะกลายเป็นความสัมพันธ์แนวราบ แต่ละกลุ่มที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเองในทางเชื้อชาติ ความเชื่อและวัฒนธรรม จะค่อยๆ มีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการสังคมของตนเองเพิ่มมากขึ้น
จากแนวโน้มดังกล่าว รัฐไทยและฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ควรปรับบทบาทของแต่ละฝ่าย ในลักษณะต่อไปนี้
· จุดร่วมพื้นฐานที่ทั้งสองฝ่ายควรยึดถือร่วมกัน
1. ประโยชน์สูงสุดของประชาชนและสังคม ทั้งที่เป็นเฉพาะส่วนและที่เป็นส่วนทั้งหมด เฉพาะส่วน หมายถึง มวลชนที่มีเชื้อชาติศาสนาและวัฒนธรรมเดียวกัน ส่วนทั้งหมด หมายถึง ลักษณะประชาชาติของมวลชนที่รวมทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรมเข้าด้วยกันเป็นสังคมใหญ่ ทั้งสองส่วนนี้ รัฐและนักทำงานเพื่อสังคมจะต้องคำนึงถึงจะแยกทำเพื่อส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้ ถ้าแยกก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมยึดถือคณะย่อยและคับแคบ ไม่ใช่จิตใจสากลนิยมเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง
2. ต้องเชื่อว่าทุกคนมีความคิดมีเหตุมีผล ถึงแม้จะมีที่มา สภาวะแวดล้อมที่ต่างกัน กรอบคิดที่ติดตัวทุกคนมาแตกต่างกัน แต่เมื่อได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ความคิดและเหตุผลส่วนหนึ่งที่มีลักษณะสากล ก็จะสามารถเป็นจุดร่วมกันได้อย่างแน่นอน
3. ทั้งสองฝ่ายต่างก็คิดว่า ตนเองมีภาระหน้าที่เพื่อสังคมไม่ใช่เพื่อตนเอง ฉะนั้น การทำงานเพื่อผลักดันงานสังคมให้ก้าวรุดหน้าไป จะมีสองแนวทาง แนวทางแรกจะเป็นลักษณะการเมืองหรือแนวทางสันติ แนวทางที่สอง จะเป็นลักษณะการทหารหรือแนวทางรุนแรง ตราบใดที่ลักษณะทางการเมืองหรือแนวทางสันติยังเดินต่อไปได้ ลักษณะทางการทหารหรือแนวทางรุนแรง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ เพราะงานการทหารเป็นเพียงเครื่องมือทำลายจุดอับหรือผ่าทางตัน ให้แก่ฝ่ายการเมืองเดินต่อไปได้เท่านั้น หากใช้สองแนวทางนี้ไม่ถูกที่ถูกเวลา และไม่เป็นไปเพื่อเหตุและผลดังกล่าว ความผิดพลาดในการต่อสู้ทางสังคมก็จะเกิดขึ้นทันที
การใช้การเมืองและการทหารให้ถูกต้องเหมาะสมกับกาลเทศะจึงเป็นความแหลมคมอย่างหนึ่ง ที่รัฐไทยและฝ่ายนำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะต้องมี
4. ทุกฝ่ายจะต้องมีความเชื่อมั่นว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอในทุกมิติ ทุกเวลา หากผู้เกี่ยวข้องกับปัญหาทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังเหตุและผลของกันและกันอย่างจริงจังและจริงใจ
· ทิศทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมของรัฐไทย
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ดังนี้
ต้องแก้ไขปัญหาหลักหรือปัญหาใจกลางให้ดีเสียก่อน ส่วนปัญหารองและปัญหาเสริมก็ควรดำเนินการแก้ไปพร้อมกัน แต่การวางน้ำหนักต้องเริ่มที่ปัญหาหลัก แล้วลงไปสู่ปัญหารอง และปัญหาเสริมตามลำดับ
การแก้ปัญหาหลักหรือปัญหาใจกลาง
คือการยุติการก่อเหตุร้ายรายวันของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม BRN Co-ordinate เป็นแกนนำ ซึ่งสามารถทำได้ด้วย 2 มาตรการ คือ
1. มาตรการด้านการเมือง ประกอบด้วย
1) สร้างอุดมการณ์
(1) วิถีชีวิตภายในกรอบของหลักการทางศาสนา
(2) การเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม
(3) การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
(4) ยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ
2) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์
(1) ขยายประชาธิปไตย
(2) ดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
(3) พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
(4) สนับสนุนส่งเสริมอัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรมของประชาชนทุกชนชาติ
3) วิธีดำเนินการ
ออกเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้
(1) จัดทำนโยบายแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
(2) ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความมั่นคงด้านการเมือง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2556 – 2560) ให้สอดคล้องกับนโยบายสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(3) การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์
· กอ.รมน./ศอ.บต./สตช. จัดทำแผนใหญ่ด้านความมั่นคงที่มีสาระครอบคลุมเรื่องราวการแก้ปัญหาทั้งหมด
· ให้ 2 หน่วยงาน คือ ศอ.บต. กับ สตช. แยกกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการประจำปี โดย ศอ.บต. จัดทำแผนการพัฒนากับแผนปฏิบัติการด้านจิตวิทยา ส่วน สตช. จัดทำแผนรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตเมืองและเขตชานเมือง
2. มาตรการด้านการทหาร ประกอบด้วย
1) แนวทางระดับยุทธศาสตร์
(1) เร่งทำให้กลไกรัฐทุกภาคส่วนมีความเป็นเอกภาพ ภายในกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านการทหาร 4 ประการ คือ
· ยุติการปลุกระดมบ่มเพาะแกนนำและมวลชนจัดตั้งของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
· สลายโครงสร้างองค์กรของขบวนการแบ่งแยกดินแดนภายใต้นโยบายการเมืองนำการทหาร
· ปฏิบัติการทางจิตวิทยาให้ประชาชนมีความใกล้ชิดไว้วางใจ และร่วมมือกับรัฐในการแก้ปัญหาความรุนแรง
· ดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ อย่าให้บทบาทของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่นิยมความรุนแรง ซึ่งได้คุกคามชีวิตและทรัพย์สินของสาธารณะ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีความชอบธรรมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
(2) กำหนดเป้าหมายและทิศทางของแต่ละยุทธศาสตร์ให้มีความชัดเจนทั้ง 4 ประการ
(3) ดำรงความมุ่งหมายตามเป้าหมายและทิศทางของยุทธศาสตร์ โดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสสังคมและสถานการณ์ที่ผันแปรไป
2) แนวทางระดับยุทธวิธี
(1) ปฏิบัติการเชิงรุก โดยการเร่งทำการศึกษาวิจัย ให้รู้จักองค์กรของกลุ่มก่อความไม่สงบโดยเร็ว เช่น องค์กรนำ องค์กรแนวร่วม องค์กรทางทหาร โดยเฉพาะยุทธศาสตร์และยุทธวิธี และควรมีภารกิจประกอบช่วยอย่างน้อย 3 ประการ คือ
· งานเกาะติดพื้นที่และมวลชน
· งานการบังคับใช้กฎหมาย
· งานใช้กำลังทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครทหารพราน เป็นหน่วยจรยุทธลาดตระเวนควบคุมพื้นที่ รปภ. สาธารณะสถานและประชาชน
(2) ปฏิบัติการเชิงรับ โดยการปฏิบัติการคุ้มครองรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ฝ่ายก่อความไม่สงบกำหนดเป็นเป้าหมายปฏิบัติการไว้ 3 ประเภท คือ
· บุคคลที่เป็นไทยพุทธ คนไทยเชื้อสายจีน และคนมลายูมุสลิมที่ฝักฝ่ายเข้าข้างฝ่ายรัฐ
· ชุมชนเขตเมืองที่เป็นย่านธุรกิจสำคัญ
· สถานที่สำคัญของทางราชการ
การดำเนินการแก้ปัญหาของรัฐจะต้องดำเนินการภายในกรอบคิดที่ว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบเป็นคนไทยตามกฎหมาย แม้เจ้าตัวจะยอมรับหรือไม่ก็ตามในฐานะที่เป็นรัฐ การใช้กำลังจะต้องเป็นไปเพื่อปกป้องตนเอง คุ้มครองสาธารณะสมบัติ ตลอดถึงชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และจะต้องดำเนินการภายในกรอบเขตของกฎหมายโดยเคร่งครัดเท่านั้น
· ทิศทางการต่อสู้ที่เหมาะสมของกลุ่มก่อความไม่สงบหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน
หากขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกลุ่ม BRN Co-ordinate เป็นแกนนำดำเนินการต่อสู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อแบ่งแยกดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไปก่อตั้งเป็นประเทศใหม่ที่มีเอกราชและอธิปไตยเป็นของตนเองหรือที่เรียกกันในหมู่แกนนำและแนวร่วมของขบวนการว่าเพื่อปลดปล่อยดินแดนปาตานีให้เป็นอิสระจากการปกครองของรัฐไทย
หากเป้าหมายของการเคลื่อนไหวต่อสู้เป็นเช่นนี้จริง ก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่แกนนำและพลพรรคของขบวนการฯ จะต้องขบคิดและพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน ความเป็นไปได้ต่างๆ อย่างรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วนและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ปัจจัยจำเป็นพื้นฐานดังกล่าวอย่างน้อยที่ควรนำมาพิจารณา น่าจะเป็นประเด็นต่อไปนี้
1. เป้าหมายของการต่อสู้
เป้าหมายของการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ในบทความของ รศ.ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมาน ได้กล่าวถึงเรื่องปัญหาการต่อสู้ของขบวนการปลดปล่อยปาตานีไว้ว่า มี 3 แนวทางด้วยกัน คือ
1.1 เพื่อแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยออกไป สถาปนาเป็นรัฐใหม่ที่ตั้งอยู่บนแนวทางแห่งอิสลามและหลักการประชาธิปไตย จะเป็นแบบสาธารณรัฐหรือแบบกษัตริย์ก็ได้ แต่ผู้ปกครองต้องเป็นชาวมลายูมุสลิม
1.2 เพื่อให้มีสถานะของรัฐบาลท้องถิ่น ที่สามารถบริหารจัดการตนเองได้ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ในองค์กรปกครองระดับท้องถิ่น
1.3 เพื่อรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชนชาวมลายูมุสลิม และปกป้องสถานะของการเป็นประชากร ส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของตนไว้
ทั้ง 3 แนวทาง แนวทางไหนมีความเป็นไปได้เหมาะสม และสอดคล้องกับความเป็นจริงในสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด เป็นภาระของขบวนการฯ ที่จะต้องเลือกอย่างรอบรู้ รอบคอบ และรอบด้าน เพราะหากเลือกผิด นอกจากจะทำให้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมาได้ด้วยความยากลำบากไปอย่างไร้ประโยชน์แล้ว โอกาสที่จะได้รับชัยชนะหรือบรรลุเป้าหมายในระยะยาวก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกด้วย
2. ยุทธศาสตร์การต่อสู้
ยุทธศาสตร์ คือ หนทางใหญ่อันเป็นทิศทางหลักของการต่อสู้ ซึ่งจะต้องตอบสนองเป้าหมาย หากเป้าหมายไม่ชัดเจน หนทางที่กำหนดขึ้นก็จะพร่าเลื่อน สับสน จนทำให้หลงทางได้ หากหลงในหนทางหลักเสียแล้ว หนทางรองระดับตรอกซอกซอยก็ไม่ต้องพูดถึง
3. ยุทธวิธี
ยุทธวิธี เป็นวิธีเดินในหนทางใหญ่ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ผู้เดินทางจะเลือกใช้วิธีเดินด้วยเท้า ขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือโดยสารรถประจำทางก็แล้วแต่เงื่อนไข ความยากลำบากของเส้นทาง เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ยุทธวิธีก็จะเป็นตัวชี้ขาดได้เหมือนกันว่าการเดินทางจะมีผู้เข้าร่วมมากหรือน้อยเพียงใด จะถึงเป้าหมายช้าหรือเร็ว หรืออาจไม่ถึงเป้าหมายเลยก็ได้ ขึ้นอยู่ที่การเลือกวิธีเดินด้วยเหมือนกัน
กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ผู้นำขององค์กรการต่อสู้เพื่อชาวมลายูปาตานีและแผ่นดินปาตานี จะต้องซื่อตรงต่อความเป็นจริงว่าในห้วงปัจจุบันเป้าหมายการต่อสู้ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดคือแนวทางไหน เอกราช บริหารจัดการตนเอง หรือธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชนชาวมลายู เพราะแนวทางที่เลือกจะส่งผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการต่อสู้อย่างแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวไม่สามารถแยกส่วนให้ขาดจากกันได้
ที่กล่าวมาเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนความเห็นในฐานะภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีส่วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในมิติต่างๆ มาตลอดระยะเกือบ 9 ปี จึงอยากมีสิทธิ์มีส่วนในการฉายภาพสถานการณ์ และนำเสนอทางออกที่เหมาะสมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้พิจารณา เราไม่ใช่กลไกของรัฐและเราก็ไม่ใช่กลไกของขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่เราคือผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ถูกต้องเหมาะสม และจากปฏิบัติการของฝ่ายต่อต้านรัฐ ที่กำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์และยุทธวิธีผิดพลาดเช่นกัน การปฏิบัติของทั้งสองฝ่าย ได้ทำให้ผู้คนทุกเชื้อชาติทุกศาสนา บาดเจ็บล้มตายไปประมาณ 14,000 คน ทรัพย์สินสาธารณะเสียหายไปแล้วนับแสนล้านบาท
เราจึงอยากเสนอว่า ทุกฝ่ายควรใช้สติปัญญา ประสบการณ์ และความอดทนอดกลั้นในระดับสูงสุด เพื่อให้อุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายได้บรรลุเป้าหมาย โดยในระยะผ่าน ทำให้ผู้บาดเจ็บ ล้มตาย และทรัพย์สินสาธารณะเสียหายน้อยที่สุด