ความเกลียดชังที่รวันดา
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
รวันดา ประเทศเล็กๆ ในแอฟริกากลาง สถานที่เกิดเหตุของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การเดินทางมาแอฟริกาครั้งแรกในชีวิตผมพวกเราเริ่มต้นจากเคนยา ก่อนจะบินข้ามทวีปมาที่กรุงคิกาลีเมืองหลวงของรวันดา จากหนึ่งสัปดาห์ที่มีความสุขมากที่สุดในชีวิต กับเรื่องราวความประทับใจที่ไม่มีวันลืม สู่การถ่ายทำอีกหนึ่งสัปดาห์กับเรื่องราวที่มืดมนที่สุดในชีวิตการทำงานสารคดี เป็นบทเรียนสำคัญบทหนึ่งที่ได้จากการเดินทาง
รวันดาเป็นประเทศเล็กๆ ที่โดนขนาบข้างด้วยประเทศยักษ์ใหญ่แห่งทวีปแอฟริกา คือแทนซาเนียทางตะวันออก และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกทางตะวันตก ผมมาที่นี่เพื่อถ่ายทำเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม ปี 1994 ในเหตุการณ์มีคนตายไปประมาณห้าแสนถึงหนึ่งล้านคนในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ประมาณร้อยวัน หรือคิดเป็นประชากรประมาณยี่สิบเปอร์เซ็นของประชากรในประเทศ แต่ตัวเลขที่น่าตกใจที่สุดในเหตุการณ์ครั้งนั้น ไม่ใช่จำนวนผู้ตาย แต่คือจำนวนผู้มีส่วนร่วมในการฆ่า ซึ่งประเมินว่ามีจำนวนตั้งแต่หลายแสนคนไปจนถึงหลักล้าน และคนเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ทหารหรือกองทัพ หากแต่มีประชาชนหรือคนธรรมดาจำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมด้วย
เมื่อคนกลุ่มหนึ่งหยิบอาวุธขึ้นมาฆ่าคนอีกกลุ่มราวกับเป็นแมลงหรือวัชพืช คำถามที่เกิดขึ้นในใจต่อคนทั้งโลกคือ ”ทำไม” การเดินทางครั้งนี้คือการเดินทางเพื่อทำความเข้าใจด้านมืดที่สุดของมนุษย์ ทำความเข้าใจ”ความเกลียดชัง”
ผมเดินอยู่ในห้องมืดๆ ที่ตั้งอยู่ในอนุสรณ์สถานเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ประจำกรุงคิกาลี (Kigali Genocide Memorial Centre) ที่นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ อนุสรณ์สถานที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ เหตุการณ์ครั้งนี้ได้สร้างความทรงจำอันเลวร้ายไว้แทบทุกแห่งหนในรวันดา และดูเหมือนว่ารวันดาเองก็ตั้งใจจะจำมันไว้หมด ทุกการกระทำ ทุกเรื่องราว ทุกความโหดเหี้ยม ถูกบันทึกไว้อย่างชัดเจน ทุกอย่างเริ่มจากการแบ่งแยกระหว่างเผ่าฮูตู (Hutu) กับเผ่าทุตซี (Tutsi) ที่ก่อนหน้านี้อยู่ร่วมกันที่ตอนนี้กลายเป็นประเทศรวันดามาหลายร้อยปี สิ่งที่บันทึกไว้อย่างชัดเจนก็คือโครงสร้างทางอำนาจของสังคมรวันดาที่เผ่าทุตซีเป็นชนกลุ่มน้อย มีอำนาจเหนือฮูตูอย่างชัดเจน ทุตซีถือเป็นชนชั้นปกครองที่ถือกุมอำนาจในรวันดาไว้ ในขณะที่ฮูตูเป็นเหมือนชนชั้นกรรมาชีพทำไร่ทำนา ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร
ในช่วงปี 1962–1990 เผ่าทุตซีโดนเอาคืนจากฮูตูอย่างสาหัสทั้งในเชิงการเมือง เชิงกานเข่นฆ่าล้างแค้น จนชาวทุตซีจำนวนมากต้องอพยพออกไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และในขณะเดียวกันชาวฮูตูที่โดนกดขี่มาจากประเทศเพื่อนบ้านก็อพยพเข้ามาในรวันดามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยชาวทุตซีที่อพยพไปอยู่ในอูกันดาก็ค่อย ๆ รวมตัวกันตั้งกลุ่มกบฏต่อต้าน รอวันเดินทัพกลับเข้ามารวันดาเพื่อทวงแผ่นดินของพวกเขาคืน
ครั้งหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่รวันดาหลุดจากมือเยอรมนีและตกเป็นของเบลเยียม กระทั่งปี 1962 ที่เบลเยียมออกไปจากรวันดา สิ่งที่ตามมาคือสามสิบปีแห่งการปลุกปั่น สามสิบปีแหงความเกลียดชัง สามสิบปีที่นำพาความคิดของชาวฮูตูทุกคนไปสู่จุดที่เต็มไปด้วยความโกรธเกลียด ความระแวง และความหวาดกลัวการแก้แค้น จนในที่สุดชาวฮูตูก็เริ่มมองอีกฝั่งเป็นเหมือนไม่ใช่คน เป็นเพียงแมลงสาบหรือวัชพืชที่ต้องกำจัด เป็นปีศาจร้ายที่รอวันกลับมาล้างแค้น และประเทศก็กลายเป็นระเบิดเวลาแห่งความโกรธเกลียดที่รอวันประทุ
วันที่ 6 เมษายน 1994 ไม้ขีดก้านสุดท้ายถูกจุดขึ้น เมื่อเครื่องบินของประธานาธิบดีชาวฮูตูโดนยิงตก ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ความผิดทั้งหมดจะไปตกที่ชาวทุตซี สิ่งที่ตามมาคือร้อยวันแห่งความโหดเหี้ยมที่คนที่นี่ไม่มีวันลืม
โบสถ์แห่งหนึ่งชื่อว่าเอ็นทาราม่า (Ntarama) เป็นที่เกิดเหตุการณ์น่าสยดสยองที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในร้อยวันแห่งการเข่นฆ่าที่เคยเกิดขึ้นในประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ ในวันที่ 15 เมษายน 1994 เพียงแค่ไม่กี่วันหลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มขึ้น ชาวทุตซีราวห้าพันคนตัดสินใจมาหลบภัยที่โบสถ์แห่งนี้ ที่ที่ก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ และไม่มีใครกล้าเข้ามาก่อเหตุอะไร แต่ในวันนั้นกองกำลังชาวฮูตูที่เรียกตัวเองว่า Interahamwe Militia ได้บุกเข้ามาในโบสถ์ด้วยการแงะก้อนหินออกจากตัวโบสถ์ทีละก้อน กลายเป็นรูขนาดใหญ่บนกำแพงที่แม้แต่ตอนนี้ก็ยังเห็นร่องรอยอย่างชัดเจน กระบองและมีดพร้าคืออาวุธที่ใช้เยอะที่สุด ผู้คนค่อยๆ ถูกฆ่าที่ละคนอย่างโหดเหี้ยม ศพค่อยๆ กองทับถมกันเป็นภูเขา เป็นทั้งภาพที่สยดสยองและเป็นทั้งหลุมหลบภัยให้หลายคนแอบซ่อนตัวอยู่ในกองศพจนรอดชีวิตมาได้ถึงทุกวันนี้ ผมมองบนกำแพง รอยเลือดยังคงอยู่บนนั้น
แต่สิ่งที่โหดร้านกว่าคือคนที่มาฆ่าไม่ได้มีเพียงกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น แต่มีชาวบ้านธรรมดา ๆ ร่วมด้วย ชาวนา ชาวไร่ ข้าราชการ พ่อค้า อาจารย์ ที่ครั้งหนึ่งต่างเคยเป็นเพื่อนบ้านหรือเคยรู้จักกับคนที่พวกเขากำลังฟาดฟันให้ดับดิ้นนั้นเป็นอย่างดี พวกเขาต่างเคยคุย เคยเล่น เคยกินข้าวด้วยกัน มาวันนี้เขามองว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่คนอีกต่อไป เป็นเพียงแค่สัตว์ร้ายที่ต้องกำจัดให้สิ้นไปจากโลกใบนี้
รอบโบสถ์มีเสื้อผ้าเปื้อนดินเปื้อนเลือดเก่าๆ แขวนอยู่ไม่ต่ำกว่าพันชุด กลิ่นอับแห่งความตายยังคงโชยมาจากทั่วทุกทิศ สิ่งที่โหดร้ายที่สุดหลังจากฆ่าทุกคนในโบสถ์เสร็จสิ้นแล้วทาง “ผู้จัดงาน” ได้ขอบคุณสมาชิกทุกๆ คน ที่ได้ “ช่วยกันทำงานอย่างแข่งขัน” และเลี้ยงสังสรรค์เฉลิมฉลองกันอย่างเอิกเกริก ล้มวัวเป็นสิบๆ ตัวให้เหล่าฆาตกรได้กินกันอย่างอิ่มหนำ คนเหล่านั้นนั่งดื่มนั่งกินแลกเปลี่ยนพูดคุยกันถึงอนาคตที่ดีกว่าของรวันดาในวันข้างหน้า ไม่มีใครรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป ไม่มีความรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาฆ่าเป็น “คน” นอกโบสถ์มีกองผ้าเก่าๆ ที่ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่ตอนนั้น ที่นี่คือที่ที่เหล่าผู้ฆ่าเอาไม้แหลม ๆ เสียบทะลวงอวัยวะเพศผู้หญิง และเอาเด็กทารกฟาดกับเสา นี่คือโฉมหน้าของ “ความเกลียดชัง” นี่คือห้วงลึกที่สุดของความชั่วร้ายที่ซ่อนอยู่ในใจมนุษย์
ผมเดินออกมาข้างนอก “Never Again” ป้ายกระดาษเล็ก ๆ แปะอยู่บนช่อดอกไม้แห้งๆ ที่วางอยู่บนสุสาน บอกความในใจของคนรวันดาทุกๆ คน “ไม่เอาอีกแล้ว” แต่สำหรับผมมันไม่ใช่แค่ว่าไม่ให้มีอีกแล้ว แค่มันเคยเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่สุดจะเชื่อ ความไร้เหตุผลของความตายที่รู้สึกได้ในทุกอณูของบรรยากาศรอบตัวนี้ทำให้ผมหยุดคิดกับตัวเองไม่ได้ ทำไมจึงเป็นแบบนี้
เหตุการณ์ที่รวันดาไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นบนโลก ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และไม่ใช่ครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ในรอบไม่กี่พันปีที่สังคมมนุษย์ขนาดใหญ่ดำรงอยู่ พวกเราหาเหตุผลในการฆ่ากันมาแล้วทุกรูปแบบ ทั้งชาติพันธุ์ วัฒนธรรม อุดมการณ์ ศาสนา ไปจนถึงสีผิว หากจะนับตามจำนวนผู้ตาย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายที่สุดที่เคยมีมา เกิดขึ้นใกล้ๆ ประเทศไทยนี่เอง นั่นคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่เขมรแดงเรืองอำนาจ มีคนตายไปถึง 1.7-3 ล้านคน เกือบหนึ่งในสามของประชากรทั้งประเทศ
“ความเกลียดชัง” ผมเชื่อว่าหากเราจะทำความเข้าใจความเกลียดชัง เราคงจะต้องทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้งเสียก่อน
หลังจากเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้ที่เข้ามาปกครองรวันดาก็คือรัฐบาลที่มาจากกองกำลังชาวทุตซีพลัดถิ่นที่บุกเข้ามาควบคุมสถานการณ์จากประเทศอูกันดาที่มีชื่อว่า Rwanda Patriotic Front ภายใต้การนำของพอล คากาเม (Paul Kagame) ผู้ที่ยังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงปัจจุบันนี้
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น รัฐบาลรวันดาดำเนินนโยบายลดความขัดแย้ง พยายามสร้างสังคมที่ทุกคนทุกเผ่าอยู่ร่วมกันได้ในขณะเดียวกันก็ดำเนินเอาผิดผู้กระทำอย่างจริงจัง แต่เนื่องจากจำนวนคดีมีเยอะมาก เป็นหมื่นเป็นแสนคดี จึงไม่สามารถเอาทุกคดีเข้าสู่ระบบตุลาการตามปกติได้ สุดท้ายเลยต้องใช้ระบบศาลชุมชนที่เรียกกันว่าระบบ Gacaca ที่ให้แต่ละชุมชนมารวมตัวกันตัดสินตามพยานหลักฐานเท่าที่มี นั่นแปลว่าย่อมมีผู้ร้ายหลายคนที่ไม่เคยถูกดำเนินคดี และบางคนที่เคยเข้าคุก ตอนนี้ก็ออกมาใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติแล้ว ใบหน้าอันหลากหลายที่อยู่รอบตัวพวกเขาในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนั้นเราไม่มีทางรู้เลยว่าใครที่เคยฆ่า ใครที่เคยถูกไล่ล่า เราไม่มีทางรู้ว่าลึกสุดในใจพวกเขามีสิ่งใดเก็บอยู่
ในการเดินทางครั้งนี้ ผมพยายามทำความเข้าใจความเกลียดชัง และทำความเข้าใจตัวเอง ว่าทำไมความเกลียดชังอย่างเข้มข้นถึงไม่เคยเกิดขึ้นในใจเราบ้าง ทำไมผมถึงไม่เคยไปด่าใครในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่เคยคิดอยากให้คนกลุ่มไหนหมดไปจากโลกนี้ ไม่เคยตัดสินใครจากเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ถิ่นฐาน
มันมีความแตกต่างกันอย่างมหันต์ ระหว่างการเรียนรู้เรื่องราวของใครผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ตำราเรียน ผ่านข่าว ผ่านโทรทัศน์ แม้กระทั่งผ่านหน้าจอโซเชียลในโทรศัพท์ของคุณ กับการรู้จักใครสักคนจริงๆ ด้วยการนั่งคุยกับเขา มองตาเขา ฟังน้ำเสียงเขา เข้าใจเขาผ่านความเป็นมนุษย์ของเขา
การได้เดินทางคือความโชคดีครั้งใหญ่ที่สุดของผม ไม่ใช่เพราะผมได้ท่องเที่ยวไปยังที่แปลกๆ หรือเห็นวิวสวยๆ เต็มไปหมด หากแต่เพราะมันสร้างสะพานให้ผมรู้จักคนที่มีความแตกต่างหลากหลายบนโลกใบนี้อย่างจริงจัง ผมได้นั่งลงกินข้าวกับพวกเขา มองตาพวกเขา ได้เห็นความรัก และความหวาดกลัวของพวกเขา ได้สัมผัสความเป็นคนของพวกเขา และเมื่อคุณได้เข้าใจคนอื่นมากพอ คุณจะยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เพียงเพราะว่าเขาเป็นเช่นนั้น
และเมื่อคุณเข้าใจและยอมรับผู้คนที่แสนจะแตกต่างกันเป็นจำนวนมากพอ ถึงตอนนั้นคุณจะไม่เห็นความต่างอีกต่อไป สิ่งที่เหลืออยู่ก็เพียงแค่ความเป็นคน เห็นสิ่งที่พวกเรามีร่วมกัน ไม่มาก ไม่น้อยไปกว่านั้นเลย
แต่แน่นอน เราไม่อาจมีชีวิตที่ไร้ความเกลียดชังกันได้ทุกคน คนส่วนใหญ่มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่แค่ในมุมของพวกเขา ไม่มีโอกาสได้เชื่อมโยง สัมผัส รู้จักกับคนที่แตกต่างจากพวกเขา ความห่างนำไปสู่กำแพง กำแพงนำไปสู่อคติ และอคตินำไปสู่ความเกลียดชัง นี่คือวงจรแห่งสงครามและความขัดแย้งที่เวียนวนไปพร้อมกับสังคมมนุษย์ที่เฟื่องฟูและล่มสลายมานานแสนนานแล้ว จะมีวันที่วงจรนี้จบสิ้นลงหรือไม่
บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี) วิทยากรโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, ฮาดีย์ หะมิดง, ยาสมิน ซัตตาร์ และ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน |
ดาวน์โหลดหนังสือ
การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย [หนังสือ]
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
การเดินทางของความประหลาดใจ โดย อับกอรี เปาะเดร์
ความเกลียดชังที่รวันดา โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
การเดินทางและสันติภาพ โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย โดย อัยมี่ อัลอิดรุส
การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง โดย ยาสมิน ซัตตาร์
การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งฯ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์
เริ่มแรก โดย รอมฎอน ปันจอร์
เมื่อสันติภาพเดินทาง โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ
คัชการ์ ฉันมาช้าไป โดย อาฎิล ศิริพัธนะ
คำถามจากการเดินทาง โดย อิมรอน ซาเหาะ
การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก โดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์
นิราศ โดย รอฮีมะห์ เหะหมัด
การเดินทาง การถูกกักตัว กับการได้รับรู้ และการได้กลับบ้าน โดย ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล
เก็บตกจากเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
เสียงจากเยาวชนผู้จัดงานเสวนากระเป๋าเป้และแว่นตาฯ โดย ริซกี มะสะนิง
"คำตอบเรื่อง ต้นทุนชีวิตที่ต่างกันและการเดินทาง" โดย อาฎิล ศิริพัธนะ
วงกลม 3 วง กับการเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดย มุลยานา ดะอุแม
ชะโงกทัวร์ที่อาร์เมเนีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง
โหดสัสรัสเซีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง
โคลอมเบีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง
ประมวลภาพงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย อิมรอน ซาเหาะ
อาทิตย์นี้แล้วน่ะ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” กับคนรุ่นใหม่ใฝ่สันติภาพ ในเวที‘กระเป๋าเป้และแว่นตาฯ’ที่ ม.อ.ปัตตานี โดย อิมรอน ซาเหา