Skip to main content

 

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย

 

อัยมี่ อัลอิดรุส

 

 

       ฉันจำ ได้ขึ้นใจ ว่าครั้งวัยเยาว์ฉันได้บอกเล่าความฝันให้กับเพื่อนๆ ความฝันของฉันได้ถูกบรรจงเขียนลงในกระดาษที่ตกแต่งด้วยลวดลายการ์ตูนสวยงาม สิ่งที่เด็กในวัยของฉันนิยมและรู้จักกันดีในนามของสมุดเฟรนด์ชิพ ฉันไม่สามารถจำรายละเอียดของทุกอย่างที่เขียนลงได้ แต่ที่ฉันจดจำได้ขึ้นใจก็คือ ประโยคใจความกระชับที่ฉันเขียนกรอกลงไปในเส้นตรงยาวๆ หลังข้อความ ‘ความใฝ่ฝันในชีวิต’ ว่า “ฉันอยากเดินทางไปท่องเที่ยวรอบโลก” ซึ่งฉันอาจจะเขียนลงไปตามประสาเด็กวัยสิบสองปี ไม่ได้คำ นึงเลยว่าสิ่งนี้จะกลายไปเส้นทางที่ฉันจะเลือกเดินในภายภาคหน้า มันอาจจะเป็นสิ่งที่จิตใต้สำนึกของฉันพร่ำบอกกับสมองเสมอมา เสริมสร้างเป็นตัวฉันที่มีบุคลิกหลงใหลและชื่นชอบการเดินทางไปยังสถานที่แปลกใหม่ ฉันชอบพาตัวเองไปสัมผัสกับสถานที่ไม่คุ้นเคยตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้น้อยมากในเด็กวัยเดียวกัน

       นิยามคำ ว่า ‘ชีพจรลงเท้า’ น่าจะเป็นคำสั้นๆ ที่เหมาะสำหรับการบรรยายชีวิตของฉันได้เป็นอย่างดี เพราะกราฟชีวิตของฉันมันไม่เคยหยุดนิ่งเลย เริ่มตั้งแต่เมื่อก้าวเข้าอายุสิบปี ฉันก็ได้ตัดสินใจมาอยู่บ้านคุณป้าที่จังหวัดปัตตานี ย้ายมาเรียนต่อมาใช้ชีวิตแบบชนบทที่มีความเรียบง่ายสามัญธรรมดา มาเรียนรู้วิถีชีวิตแบบมลายูมาเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งสำหรับฉันแล้วสิ่งนี้เป็นความสดใหม่ อีกทั้งกระตุ้นต่อมความใคร่รู้ซะเหลือเกิน แต่เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นทางบ้านฝ่ายคุณแม่เลยอ้อนวอนให้ลาออกจากโรงเรียนกลางคันในช่วงประถมศึกษาปีที่ 6 ฉันจึงต้องกลับไปอยู่กับคุณตาคุณยายและเข้าเรียนต่อโรงเรียนเดิมที่เคยย้ายมาก่อนหน้านี้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

       จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ฉันต้องการออกเดินทางไปเรียนรู้ชีวิต ที่สำคัญสุดคือฉันต้องการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และซึมซับภาษาต่างประเทศอย่างภาษาอังกฤษ เลยวางแผนขอเงินจากคุณพ่อและทำ การเดินทางไปเรียนต่อที่โรงเรียนนานาชาติ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นการเดินทางด้วยตัวเอง จัดการดำเนินการธุระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหาที่พักหรือสมัครเรียนด้วยตัวเองเช่นกัน ช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการมาใช้ชีวิตโดยลำพังก็ว่าได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการออกจากบ้านมาใช้ชีวิตด้วยตัวคนเดียวครั้งแรกและในวัยสิบห้าปีก็คงจะดูเป็นวัยที่วุฒิภาวะยังน้อยอยู่มาก ถึงกระนั้นประสบการณ์ได้สอนให้ฉันบอกตัวเองเสมอว่าเราต้องมีความคิดแบบผู้ใหญ่นั่นคือคิดรอบคอบและมีสติอยู่เสมอ เป็นเวลาราวสองปีในการใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนครั้งแรก หลังจากนั้นไม่นานชีวิตก็ไม่หยุดนิ่งตามสเต็ป

       มรสุมชีวิตทำ ให้ต้องกลับมาเรียนต่อที่ประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นคือการที่ต้องกลับมายังพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเอาตัวเองหนีออกมาเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่คราวนี้ดันเลือกกลับไปอีก นั้นคือจังหวัดปัตตานี ครั้งนี้อาศัยอยู่นานกว่าครั้งแรก เป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ในการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เรียกได้ว่ามีความผูกพันและเข้าใจวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ได้ดีระดับหนึ่ง เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แรกเริ่มสามารถสอบเข้าศึกษาต่อได้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ เป็นนิสิตได้ช่วงเวลาหนึ่งก็มีจดหมายตอบรับผ่านการคัดเลือกทุนการศึกษาเต็มจำนวนเพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศตุรกี ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเด็กที่หลงใหลในการเดินทางอย่างฉันจะตัดสินใจแบบไหน แน่นอนฉันเลือกที่จะทำตามเสียงเรียกร้องจากก้นบึ้งของหัวใจคือ ออกเดินทางไปเรียนรู้สิ่งที่สายตาไม่เคยเห็น หัวใจไม่เคยสัมผัส’

       เมื่อเครื่องบินลงจอดสู่ท่าอากาศยานนานาชาติอตาเติร์ก ผ่านการบินข้ามน้ำข้ามทะเลข้ามทวีปมายังปลายสุดของทวีปยุโรป ผ่านเส้นทางหลายพันไมล์ หัวใจดวงน้อยดวงนี้ก็เต้นไม่เป็นจังหวะเท่าไหร่นัก ความรู้สึกในตอนนั้นมีทั้งความสุข ความตื่นเต้นและกังวลถาโถมมาพร้อม ๆ กัน มันคือการไปรอดเอาดาบหน้าดี ๆ นี่เอง แม้ว่าที่ผ่านมาจะเคยออกไปใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นเวลาสั้น ๆ แล้วก็ตาม แต่ด้วยกับความที่เป็นประเทศเพื่อนบ้าน วัฒนธรรมเลยใกล้เคียงโดยไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมายนัก แต่นี่มันเป็นประเทศคนละโซน ใจก็เลยหวั่น ๆ อยู่บ้าง ทำ ได้เพียงให้กำลังใจตัวเองและคิดในแง่ดีไว้ก่อน ชีวิตในประเทศตุรกีช่วงแรกๆ ไม่ได้ง่ายดั่งใจคิดการเรียนรู้ที่จะปรับตัวคือวิชาเอกในการเอาชนะบททดสอบในครั้งนี้ ตุรกีเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย มีความผสมผสานทางวัฒนธรรม ทางความคิดที่สูงเข้มข้นเอาเสรีมากๆ โดยเฉพาะเมื่อฉันได้มาอยู่ตรงใจกลางระหว่างทวีปยุโรปและเอเชีย ซึ่งเคยเป็นอดีตคริสตจักรตะวันออกที่เคยรุ่งเรืองอย่าง ‘กรุงคอนสแตนติโนเปิล’ ถ่ายโอนมาสู่ยุคทองช่วงอาณาจักรออตโตมันของอิสลาม ที่รู้จักกันดีในนามปัจจุบันว่านครอิสตันบูล

       ความหลากหลายนี้เองเป็นเสน่ห์ที่สำคัญมากของพื้นที่แห่งนี้ การดำรงอยู่ของความเป็นอิสลามในระบบเซคคิวลาร์ (secularism) และชาตินิยมขวาจัดของคนตุรกียิ่งทำ ให้ฉันไม่เคยเบื่อเลยที่จะเรียนรู้แนวคิดของผู้คนทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างการพูดคุยและอ่านหนังสือ ชีวิตกว่าหนึ่งปีเต็มในพื้นที่แห่งนี้ได้สอนบทเรียนในการใช้ชีวิตและมุมมองต่อชีวิตให้ฉันอย่างมาก ที่สำคัญที่สุดคือ การเรียนรู้ที่จะรับฟังแนวคิดที่หลากหลาย เปิดใจให้กว้าง ยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็นโดยปราศจากซึ่งอคติและการตัดสิน ฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนและอาจารย์ที่มีแนวคิดหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือศาสนาทำ ให้ฉันได้เห็นมุมมองที่แตกต่างและเข้าใจได้ว่า “คนบนโลกใบนี้มีความหลากหลายในเรื่องความเชื่อ แนวคิด ทัศนคติ ในการดำรงชีวิต” หากเรามองเขาเพียงแค่ด้านเดียวผ่านมิติเดียวความขัดแย้งคงอยู่ไม่ไกลนักสิ่งเดียวที่จะผสานความแตกต่างเหล่านี้ได้คือการยอมรับในความต่าง เปิดใจ เรียนรู้ที่จะยอมรับในความเป็นเขา เป็นเรา

       หลังจากใช้ชีวิตได้ไม่นานนักเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ได้เกิดความพยายามทำ การรัฐประหารในประเทศตุรกีขึ้น อ้างว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มาจากการวางแผนของกลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งในกองทัพตุรกี กลุ่มทหารดังกล่าวได้ออกมายึดอำนาจในช่วงที่ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) อยู่ระหว่างการพักร้อน โดยได้นำกองกำลังรถถัง และเฮลิคอปเตอร์เข้ายึดสถานที่สำ คัญ เช่น สถานีโทรทัศน์ ท่าอากาศยาน สะพานต่างๆ ในกรุงอังการา และนครอิสตันบูล เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นช่วงเวลาราวเที่ยงคืน ฉันอาศัยอยู่ฝั่งเอเชียของประเทศตุรกีซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากตัวสะพานที่เกิดเหตุมากนัก ในตอนนั้นกำลังจะได้เวลาเข้านอนก็รู้สึกแปลกใจที่เฟสบุ๊คไม่สามารถใช้งานได้ เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ใช้งานไม่ได้ ก็เตรียมตัวไว้เลยว่าต้องมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการก่อการร้าย การลอบวางระเบิด หรือเหตุการณ์ความไม่มั่นคงเกิดขึ้น และครั้งนี้ก็เช่นกัน ฉันได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์บินต่ำในระยะที่หูของฉันไม่สามารถรับฟังเสียงรอบตัวใด ๆ ได้ ไม่นานนักไฟก็ดับ มีเสียงปะทะยิงกันเป็นระยะๆ

        ถึงแม้ว่าฉันจะเคยอยู่ในเหตุการณ์รัฐประหาร รวมถึงปฏิวัติในประเทศบ้านเกิด แต่ด้วยกับความที่เป็นชาวต่างชาติในพื้นที่นี้ เหตุการณ์เลยเพิ่มระดับความรุนแรงทวีคูณ ความรู้สึกไม่มั่นคงในการใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศแห่งนี้เริ่มมีเข้ามาในสมอง ไม่นานเมื่อประธานาธิบดีได้ประกาศผ่านสื่อเรียกร้องให้ประชาชนออกมารวมตัวกันตามท้องถนนเพื่อต่อต้านรัฐประหาร ฝูงมวลมหาประชาชนพร้อมเพรียงกันเดินขบวนออกมาตะโกนเสียงดัง ธงชาติตุรกีโบกสะบัดตามท้องถนน เสียงแตรรถดังเคล้าเป็นช่วงจังหวะทำนอง รุนแรงสุดคือการปะทะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่อย่างดุดัน ดังที่เห็นในสื่อข่าวนานาชาติว่าประชาชนได้ปีนไต่ขึ้นไปบนรถทหารเพื่อต่อสู้ด้วยมือเปล่าเหมือนในภาพยนตร์เพียงแค่สิ่งนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งต่อเนื่องยาวนานหลายสัปดาห์

       เหตุการณ์ครั้งนี้ก็สอนบทเรียนที่สำคัญให้ฉันอีกครั้งนั่นคือ “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” ชีวิตไม่เคยมีอะไรที่แน่นอนตามที่เราคาดเดาได้นั่นเอง และด้วยกับความไม่มั่นคงในประเทศตุรกีทำให้ฉันตัดสินใจย้ายประเทศ ไปทำการศึกษาต่อที่ประเทศโปแลนด์ ซึ่งตอนนี้ก็ยังคงทำการศึกษาอยู่ และใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศนี้อย่างปกติสุข ถึงแม้จะมีเรื่องราวให้ต้องเรียนรู้ปรับตัว แต่ประสบการณ์ที่เคยสะสมมาก่อนหน้านี้ก็ทำ ให้สิ่งนี้ง่ายดายไปโดยปริยาย และฉันเชื่อว่าเส้นทางชีวิตของฉันคงมีเรื่องราวน่าตื่นเต้นให้เรียนรู้อีกมาก ตราบเท่าที่ฉันยังคงไม่หยุดที่จะออกเดินทาง....

 

 

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี) วิทยากรโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, ฮาดีย์ หะมิดง, ยาสมิน ซัตตาร์ และ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน 

 

ดาวน์โหลดหนังสือ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย [หนังสือ]

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางของความประหลาดใจ โดย อับกอรี เปาะเดร์

ความเกลียดชังที่รวันดา โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การเดินทางและสันติภาพ โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย โดย อัยมี่ อัลอิดรุส

การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง โดย ยาสมิน ซัตตาร์

การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งฯ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์

เริ่มแรก โดย รอมฎอน ปันจอร์

เมื่อสันติภาพเดินทาง โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ

คัชการ์ ฉันมาช้าไป โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

คำถามจากการเดินทาง โดย อิมรอน ซาเหาะ

การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก โดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

นิราศ โดย รอฮีมะห์ เหะหมัด

การเดินทาง การถูกกักตัว กับการได้รับรู้ และการได้กลับบ้าน โดย ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล

เก็บตกจากเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

เสียงจากเยาวชนผู้จัดงานเสวนากระเป๋าเป้และแว่นตาฯ โดย ริซกี มะสะนิง

"คำตอบเรื่อง ต้นทุนชีวิตที่ต่างกันและการเดินทาง" โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

วงกลม 3 วง กับการเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดย มุลยานา ดะอุแม

ชะโงกทัวร์ที่อาร์เมเนีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โหดสัสรัสเซีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โคลอมเบีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

ประมวลภาพงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย อิมรอน ซาเหาะ

อาทิตย์นี้แล้วน่ะ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” กับคนรุ่นใหม่ใฝ่สันติภาพ ในเวที‘กระเป๋าเป้และแว่นตาฯ’ที่ ม.อ.ปัตตานี โดย อิมรอน ซาเหาะ