Skip to main content

หายไปนานเนื่องจากติดภารกิจหลายอย่าง กลับมาเกาะติดกันต่อครับ

.........................................

 

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่ 12/1 ):

สัมพันธ์สหรัฐฯ-อิสราเอล ในยุคทรัมป์

 

ดร.มาโนชญ์ อารีย์

โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

แม้อิสราเอลจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโลกมุสลิมและโลกมุสลิมส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมรับอิสราเอลมาตั้งแต่ต้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ทำให้โลกมุสลิมต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับอิสราเอลในแง่ของการต่อสู้เพื่อชาวปาเลสไตน์ตลอดมา ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลสำคัญต่อสถานการณ์ปาเลสไตน์และตะวันออกกลางมาอย่างยาวนานคือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิสราเอล ฉะนั้น ในซีรี่ตอนที่ 12 นี้ จึงอยากนำเสนอเกี่ยวกับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อิสราเอลในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะมีผลสะเทือนสูงมากไม่เฉพาะต่อชาวปาเลสไตน์และโลกมุสลิมเท่านั้น แต่ยังทำให้ประชาคมโลกทั่วไปหันกลับมาทบทวนจุดยืนต่อปัญหาอิสราเอลกับปาเลสไตน์อีกครั้ง โดยเฉพาะในประเด็นดินแดนอัลกุดส์ หรือเยรูซาเล็ม

หากจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ผ่านมาระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอลในยุคก่อนประธานาธิบดีทรัมป์ คงสรุปภาพรวมได้ไม่ยากเพราะเป็นที่ชัดเจนว่าทั้งสองประเทศนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นมายาวนาน อิสราเอลถือเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ มากเป็นอันดับต้นๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นความช่วยเหลือทางการทหารและงบประมาณเพื่อหนุนอิสราเอลในความขัดแย้งกับชาวปาเลสไตน์และอิหร่าน อันที่จริงก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะสหรัฐเองก็สนับสนุนอิสราเอลมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญหนึ่งมาจากการที่ชาวยิวในสหรัฐฯมีอิทธิพลสูงมากทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสื่อต่าง ๆ

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวยิวที่ใหญ่เป็นที่สองของโลกรองจากอิสราเอลหรือประมาณ 6 ล้านคน เรียกว่าอเมริกันเชื้อสายยิว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละประมาณ 1.7 ของประชากรอเมริกันทั้งหมด อิสราเอลใช้ตัวแทนเหล่านี้ทำหน้าที่ประสานผลประโยชน์ของตัวเองในสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่ายิวล็อบบี้ยิสต์ ทั้งในนามบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้ไปในทางที่หนุนอิสราเอลหรือสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอิสราเอล กลุ่มคนเหล่านี้มีทั้งที่เป็นพวกฆราวาสหรือเซคคิวล่าร์ คริสเตียน และอเมริกันยิว กลุ่มใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญ คือ กลุ่มคริสเตียนสามัคคีเพื่ออิสราเอล (Christians United for Israel) และกลุ่มคณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกัน-อิสราเอล (American Israel Public Affairs Committee)

อิทธิพลของอเมริกันยิวที่มีต่อแนวนโยบายของสหรัฐต่ออิสราเอลดูได้จากหลายกรณีตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นอกจากการให้การสนับสนุนทางการเงินและความมั่นคงให้กับอิสราเอล สหรัฐฯ ยังแสดงบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนอิสราเอลในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในสหประชาชาติที่สหรัฐฯมักแสดงจุดยืนที่สนับสนุนอิสราเอลเสมอมา การใช้สิทธิวีโต้ (veto) ของสหรัฐฯส่วนมากเป็นไปเพื่อยับยั้งมติที่จะมีผลลบกับอิสราเอล นอกจากนี้สหรัฐฯยังโหวตหรือแสดงจุดยืนปกป้องอิสราเอลในหลาย ๆ โอกาสที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปาเลสไตน์

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์สหรัฐฯกับอิสราเอลมีความขุ่นเคืองกันเล็ก ๆ แต่ก็ไม่ถึงกับบาดหมางถึงขั้นกระทบกระทั่งกันรุนแรง เช่น ในปลายสมัยของประธานาธิบดีโอบามา อิสราเอลค่อนข้างไม่พอใจโอบามาที่นำกลุ่มมหาอำนาจ P5+1 เซ็นข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์กับอิหร่าน ทั้ง ๆ ที่อิสราเอลคัดค้านเรื่องนี้มาก

หากย้อนมองการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯที่ผ่าน ๆ มา จะพบว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งไม่ว่าจะสังกัดพรรคไหนจะพยายามนำเสนอนโยบายที่ชูการสนับสนุนอิสราเอลเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์หาเสียง พอชนะการเลือกตั้งและเข้าสู่อำนาจบริหารก็ได้ผลักดันนโยบายที่สัญญาไว้ กรณีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็เช่นเดียวกัน ทรัมป์ได้หาเสียงชูนโยบายสนับสนุนอิสราเอลอย่างเปิดเผยในหลายโอกาส ทรัมป์เคยให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นก่อนปราศรัยต่อที่ประชุม AIPAC หรือกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ยิวที่มีอิทธิพลสูงในสหรัฐ ว่า เขาจะรับรองเยรูซาเล็มให้เป็นเมื่อหลวงของอิสราเอลและอยากย้ายสถานทูตสหรัฐฯจากเทลอาวีฟไปอยู่ที่นั้น ทรัมป์บอกว่าตัวเขามีความรักและสนับสนุนอิสราเอลมาตลอดทั้งชีวิต และบอกว่า “ไม่มีใครสนับสนุนอิสราเอลมากเท่าเขาอีกแล้ว เราต้องปกป้องอิสราเอล เพราะอิสราเอลสำคัญกับเรามาก”

อีกนโยบายที่สำคัญของทรัมป์คือกรณีอิหร่าน โดยเขาไม่เห็นด้วยกับการเจรจานิวเคลียร์กับอิหร่านที่นำไปสู่การยกเลิกมาตราการคว่ำบาตรอิหร่านในที่สุด ทรัมป์เห็นว่าควรยกระดับการคว่ำบาตรมากขึ้นเป็นสองเท่าด้วยซ้ำ เขามองว่าทางออกเดียวที่ต้องจัดการกับอิหร่านคือต้องเข้าไปเปลี่ยนระบอบการเมืองของอิหร่าน (regime change) ซึ่งตรงนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงของอิสราเอล

ตอนหน้ามาดูกันต่อครับว่าหลังจากเข้าสู่อำนาจในตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ มีความเคลื่อนไหวอะไรบ้างในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอิสราเอล

 

อ่านความเดิมตอนที่แล้ว

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 2: ปฏิกิริยาของนานาชาติและการโต้กลับของประเทศมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 3: Executive Order ปรากฎการณ์ “Solidarity with Muslims” เมื่อคนอเมริกันแสดงพลังปกป้องมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 4: Executive Order ถอดรหัสและนัยยะสำคัญบางประการ

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 5 : ตุลาการภิวัฒน์ฉบับอเมริกา “วันนี้รัฐธรรมนูญชนะ...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย แม้แต่ประธานาธิบดี”

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 6: นโยบายต่ออิหร่าน วัฏจักรการเมืองเรื่องนิวเคลียร์และการคว่ำบาตร

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 7: ทำไมสหรัฐไม่เปิดสงครามกับอิหร่าน มองอดีตวิเคราะห์ปัจจุบัน

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/1) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอน 8/2) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 8) America First นัยที่เปลี่ยนไปและนโยบายต่อโลกมุสลิม

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (9) : สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (จบตอนที่ 9): สหรัฐในวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับกับกาตาร์

ทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (10) : นัยยะของการบังคับใช้คำสั่งแบน 6 ชาติมุสลิมแบบครึ่งๆ กลางๆ

เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่11) : ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดิอาระเบีย และนโยบายของทรัมป์ (1)