เกาะติดทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ (ตอนที่ 11/3):
ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดิอาระเบีย และนโยบายของทรัมป์
ดร.มาโนชญ์ อารีย์
โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ด้วยลักษณะของความสัมพันธ์ที่ต้องพึงพาอาศัยกันแบบน้ำพึงเรือเสือพึ่งป่าหรือความสัมพันธ์แบบ “oil for security” ทำให้สหรัฐอเมริกากับซาอุดิอาระเบียยังคงรักษาความเป็นพันธมิตรกันมาได้เรื่อย ๆ แม้จะมีหลายปมปัญหาที่บันทอนความสัมพันธ์ระหว่างกันหนักขึ้น ๆ โดยเฉพาะในปลายสมัยของโอบาม่า ซึ่งมีหลายประเด็นที่ทำให้เกิดความระหองระแหงหนักสุดในรอบหลายปี ในตอนนี้จึงอยากทบทวนปมปัญหาและความร้าวฉานระหว่างริยาดกับวอชิงตันที่ดำเนินมาก่อนถึงยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยแยกเป็นประเด็น ๆ ดังนี้
1) ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ การตอกย้ำจุดยืนของกษัตริย์ซัลมาน
ปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เป็นความไม่ลงรอยกันตั้งแต่ต้นหรือตั้งแต่พบกันครั้งแรกระหว่างประธานาธิบดีรูสเวลท์และกษัตริย์อับดุลลอฮ์ ในค.ศ. 1945 และในช่วงการลุกฮือครั้งที่ 2 (Intifada) ริยาดได้เสนอความริเริ่มสันติภาพอาหรับ (Arab Peace Initiative) โดยให้ประเทศอาหรับปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอล แลกกับการให้อิสราเอลถอนออกจากดินแดนยึดครอง และเพื่อเป็นทางออกสำหรับปัญหาผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ขณะที่กษัตริย์ซัลมานหลังขึ้นครองราชย์ได้ย้ำชัดเจนว่าการเดินหน้าตามแผนสันติภาพอาหรับโดยให้อิสราเอลถอนออกจากพื้นที่ยึดครองของปาเลสไตน์ยังเป็นวาระสูงสุดของเขา
2) สหรัฐวิจารณซาอุดิอาระเบียเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน
ที่ผ่านมาแม้จะมีกระแสข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในซาอุดิอาระเบีย แต่สหรัฐก็ไม่หยิบยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็นให้ต้องขุ่นเคืองกัน จนกระทั่งช่วงต้นปีค.ศ. 2016 สหรัฐได้วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในซาอุดิอาระเบีย คัดค้านการประหารชีวิตหมู่โดยเฉพาะการประหารนักวิชาการและผู้นำทางจิตวิญญาณของชีอะฮ์ในซาอุดิอาระเบียหรือนายนิมร์ อัล นิมร์ (Nimr al Nimr) สหรัฐมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซาอุดิอาระเบียถึงกับตอบโต้ว่าอาจจะต้องทบทวนการดำเนินความสัมพันธ์สหรัฐใหม่
สหรัฐยังแสดงความกังวลในการจำกัดสิทธิการทำกิจกรรมของประชาชนโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยชีอะฮ์ รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและการรณรงค์ต่อต้านการจับกุมในข้อหาการเมืองและความมั่นคง การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องสงสัยในคดีก่อการร้าย
ในรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในซาอุดิอาระเบีย ระบุถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติบนฐานของความแตกต่างทางเพศ โดยอ้างว่าผู้หญิงยังคงถูกเลือกปฏิบัติภายใต้กฎหมายและขนบธรรมเนียม และยังมีอีกมากที่ไม่ได้รับรู้สิทธิของตนเอง ในรายงานยังระบุถึงปัญหาการถูกกีดกันของผู้หญิงในการใช้ชีวิตในสาธารณะ แม้ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างช้าและถูกมองว่ามีสถานะด้อยกว่าเพศชาย
3) บทบาทของสหรัฐในช่วงอาหรับสปริง กรณีอียิปต์
ซาอุดิอาระเบียรู้สึกผิดหวังอย่างมากต่อบทบาทของสหรัฐที่ปล่อยให้ฮุสนี มุบาร็อก (Hosni Mubarak) ถูกโค่นล้มใน ค.ศ. 2011 จากการกระแสการปฏิวัติอาหรับในอียิปต์ โดยมองว่าสหรัฐฯไม่ให้การสนับสนุนเขาเท่าที่ควร ซาอุดิอาระเบียมองว่าเป็นการหักหลังเพื่อนเก่า เพราะว่าซาอุดิอาระเบียต้องการให้สหรัฐฯสนับสนุนมุบาร็อกและต้องการให้อียิปต์เป็นพันธมิตรในการคานอำนาจกับอิหร่าน
4) กรณีความสัมพันธ์อิรัก-อิหร่าน
แม้ว่าซาอุดิอาระเบียและสหรัฐจะมีเป้าหมายเดียวกันคือสกัดกั้นอิทธิพลและโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่กลับมีกลวิธีที่ต่างกันจนทำให้ไม่เข้าใจกัน ซาอุดิอาระเบียมองว่าสหรัฐดำเนินนโยบายผิดพลาดที่ทำให้อิรักไปอยู่ในวงอิทธิพลของอิหร่าน ในขณะที่สหรัฐมองว่าซาอุดิอาระเบียพยายามจุดปัญหาซุนนี่-ชีอะฮ์ ให้ขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น
5) วิกฤตซีเรียกับบบทบาทของสหรัฐอเมริกา
นับตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองในซีเรีย ซาอุดิอาระเบียพยายามเรียกร้องมาตลอดให้สหรัฐเพิ่มบทบาทในการโค่นประธานาธิบดีอัสซาด ที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เหตุการณ์โจมตีด้วยแก๊สพิษในซีเรียเมื่อ ค.ศ. 2013 ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอ้างว่าเป็นฝีมือของอัสซาดที่โจมตีประชาชนของตัวเอง สหรัฐทำทีท่าจะเข้ามาโจมตีซีเรียโดยตรง แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนใจไม่โจมตี ทำให้ซาอุดิอาระเบียรู้สึกผิดหวังและไม่พอใจ โดยมองว่าเป็นความอ่อนแอที่ส่งผลให้ซีเรียเสียหายย่อยยับมากขึ้นเรื่อย ๆ เหตุการณ์นี้ทำให้ซาอุดิอาระเบียมองว่าสหรัฐไม่จริงใจในการยุติความขัดแย้งในซีเรีย ซาอุดิอาระเบียจึงหันไปหาแนวร่วมเป็นพันธมิตรกับตุรกีและประเทศอาหรับซุนนี่ รวมไปถึงกลุ่มติดอาวุธในการเดินยุทธศาสตร์โค่นระบอบอัสซาดเอง ในขณะเดียวกันซาอุดิอาระเบียก็ยังคงเป็นแนวร่วมกับสหรัฐในปฏิบัติการต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State) แต่ก็ย้ำจุดยืนว่าหากอัสซาดยังอยู่ในอำนาจ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะปราบ IS สำเร็จ แต่วอชิงตันกลับนิ่งนอนใจในการกำจัดเขา ดังนั้นซาอุดิอาระเบียจึงประกาศสร้างกองกำลังผสมเรียกว่า “Islamic Coalition” ของประเทศซุนนี่มุสลิมเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย
นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียยังพยายามเชื้อเชิญให้สหรัฐ มาร่วมกับซาอุดิอาระเบีย ตุรกี และประเทศพันธมิตรตะวันออกกลางในการบุกโจมตีซีเรียภาคพื้นดิน แต่สหรัฐก็ไม่ได้ใช้แนวทางนี้ โดยหันไปใช้ช่องทางเจรจาแบบหลายฝ่ายผ่านกรอบต่าง ๆ รวมทั้งการเจรจากับรัสเซียโดยตรง ทำให้ซาอุดิอาระเบียรู้สึกผิดหวัง ต่างจากรัสเซียทีส่งทหารเข้ามาปกป้องรัฐบาลอัสซาดเต็มที่
6) สหรัฐกับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านและการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
ซาอุดิอาระเบียมีความเคลือบแคลงใจเกี่ยวกับจุดยืนของสหรัฐ หลังจากบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านร่วมกับชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ในปี 2015 ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเป็นการแลกเปลี่ยน ซาอุดิอาระเบียเกรงว่าหากเศรษฐกิจของอิหร่านดีขึ้น อิหร่านจะใช้โอกาสนั้นในการลงทุนไปกับกิจกรรมทางทหารเพื่อการขยายอิทธิพลในภูมิภาค และกังวลว่าสหรัฐอจะจัดระบบพันธมิตรใหม่ในภูมิภาคอ่าวอาหรับและหันเหจากซาอุดิอาระเบียไปหาอิหร่าน อดีตทูตซาอุดิอาระเบียประจำสหรัฐ เจ้าชายตัรกี อัล ฟัยซ็อล (Turki Al-Faisal) ถึงกับเชื่อว่า สหรัฐในขณะนั้นกำลังหันหาอิหร่าน
7) กรณีเยเมน สหรัฐสนับสนุนอาวุธแต่ไม่สนับสนุนข้อกล่าวหาของซาอุดิอาระเบีย
การแทรกแซงของซาอุดิอาระเบียในสงครามกลางเมืองในเยเมนใน ค.ศ. 2015 ชี้ให้เห็นว่าซาอุดิอาระเบียได้เปลี่ยนจากการเน้นนโยบายทางการทูตมาเป็นการใช้กำลังทหารในภูมิภาคเป็นหลัก ซาอุดิอาระเบียได้โจมตีเยเมนอย่างหนักทำให้มีคนเสียชีวิตกว่า 6,000 คน ในขณะที่สหรัฐก็ยังเดินหน้าขายอาวุธให้กับซาอุดิอาระเบียอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่อเมริกาเองเรียกร้องให้ซาอุดิอาระเบียมีความอดทนอดกลั้น การโจมตีทางอากาศอย่างหนักและต่อเนื่องนานนับปีของซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรมุ่งเป้าไปยังกลุ่ม Houthi แม้สหรัฐจะแสดงออกว่าไม่สบายใจกับปฏิบัติการดังกล่าว แต่ก็ยังคงสนับสนุนด้านการข่าวและอาวุธยุทธโทปกรณ์ให้กับซาอุดิอาระเบียอย่างต่อเนื่อง
สหรัฐไม่ได้แสดงออกถึงความพยายามในการกดดันให้ยุติการโจมตีอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันยังคงร่วมมือกับซาอุดิอาระเบียในการโจมตีทางอากาศด้วยเครื่องบินไร้นักบินตามฐานของอัลกออิดะฮ์ในตอนใต้ของเยเมน
อย่างไรก็ตาม กรณีของเยเมน ซาอุดิอาระเบียรู้สึกไม่พอใจกับท่าที่ของสหรัฐที่ไม่หนุนข้อกล่าวหาของตนว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลังการให้การสนับสนุนกลุ่ม Houthi ในเยเมน
8) ความสัมพันธ์ซาอุดิอาระเบีย-รัสเซีย
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2015 ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือและการลงทุนระหว่างกันหลายฉบับ ทางการซาอุดิอาระเบียได้ส่งสัญญานว่าต้องการที่จะพัฒนานิวเคลียร์ของตัวเองขึ้นมา ความพยายามที่จะเชื่อมสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้นและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันนั้นถือว่าเป็นสัญญานของการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของซาอุดิอาระเบีย แม้จะขัดกับยุทธศาสตร์สงครามตัวแทนของซาอุดิอาระเบียในซีเรียทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิอาระเบียกับสหรัฐด้วย
9) สหรัฐกับการผลิตน้ำมันจากชั้นหินและลดการพิงพาน้ำมันซาอุดิอาระเบีย
สหรัฐฯมีแผนลดการพึงพิงน้ำมันจากซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากปริมาณและกำลังผลิตภายในมีสูงขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีของสหรัฐที่สามารถผลิตน้ำมันจากชั้นหิน (shale oil) ได้ในปริมาณที่มากพอภายในปี ค.ศ.2019 โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถผลิตได้ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากสหรัฐไม่จำเป็นต้องพึงพาน้ำมันจากซาอุดิอาระเบียย่อมหมายถึงอำนาจการต่อรองของริยาดที่มีต่อวอชิงตันก็จะหายไปด้วย ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียก็พยายามรักษากำลังและปริมาณการผลิตตามปกติ (ไม่ลดลง) ทำให้ราคาน้ำมันโลกลดลงมาก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากราคาน้ำมันที่ผลิตได้ไม่คุ้มกับต้นทุนของการผลิตน้ำมันจากชั้นหิน อิหร่านเองแม้จะถูกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรแต่ก็ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำมันล้นตลาดโลกทำให้ขายน้ำมันได้ในราคาถูก ทั้งนี้สำหรับซาอุดิอาระเบีย แม้จะได้รับผลกระทบแต่ก็ไม่หนักมากเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าที่อื่น และคาดหวังว่าราคาน้ำมันจะกลับมาสูงขึ้นและเป็นดุลราคาที่เหมาะสม
10) กฎหมายเพื่อความยุติธรรมต่อต้านการสนับสนุนการก่อการร้าย (Justice Against Sponsors of Terrorism Act: JASTA)
ในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2016 วุฒิสภาสหรัฐมีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการสนับสนุนการก่อการร้าย หรือ JASTA ซึ่งจะเปิดทางให้ครอบครัวเหยื่อของความสูญเสียจากเหตุการ์ 9/11 สามารถยื่นฟ้องร้องรัฐบาลซาอุดิอาระเบียซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ อีกทั้งศาลของสหรัฐยังมีสิทธิสั่งอายัดทรัพย์สินของซาอุดิอาระเบียในสหรัฐได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะใช้สิทธิยับยั้งและไม่ลงนามให้กฎหมายฉบับนี้มีผล ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ไม่ต้องการให้กระทบกับความสัมพันธ์ที่มีมายาวนาน การตอบโต้ทางเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบีย และข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสวัสดิภาพของชาวอเมริกันที่ประกอบธุรกิจในต่างประเทศด้วย
จากประเด็นการเสนอร่างกฎหมายนี้ ทำให้ซาอุดิอาระเบียแสดงความไม่พอใจอย่างมาก และเตือนว่าหากกฎหมายฉบับนี้มีผลจะยิ่งทำลายความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่ตึงเครียดอยู่แล้วให้แย่ไปกว่าเดิม อีกทั้งยังเตือนว่าซาอุดิอาระเบียอาจเทขายสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีอยู่ในสหรัฐ โดยสินทรัพย์เหล่านั้นมีอยู่ประมาณ 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐในรูปของพันธบัตร ซึ่งหากถูกเทขายตามคำขู่จะส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนอย่างมากในตลาดการเงินและตลาดทุนของสหรัฐ รวมไปถึงระบบการเงินโลก หรือแม้กระทั่งซาอุดิอาระเบียเองก็จะได้รับผลกระทบหนักด้วยเช่นกัน
อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นและใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนานกว่า 7 ทศวรรษ ได้ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญด้วยปัญหาความร้าวฉานและระดับของความไม่ไว้เนื้อเชื้อใจกันมากยิ่งขึ้น โดยเป็นความถดถอยสู่จุดต่ำสุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่สงครามอิสราเอล-อาหรับ ในค.ศ. 1973 ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวประกอบไปด้วยหลายปัจจัยที่เกี่ยวโยงกัน ไม่ว่าจะเป็น 1) ปัจจัยทางการเมืองและความมั่นคง ที่มีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก 2) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการลดการพึงพิงระหว่างกัน ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกไม่มีความจำเป็นต้องเกี่ยวโยงกันแนบแน่นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่กระนั้นทั้งสองประเทศยังมีความเชื่อมโยงในด้านการเงินและการลงทุนระหว่างกันที่สูงมาก ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยผยุงความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไป 3) ปัจจัยด้านสังคมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกสหรัฐหยิบยกมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ถดถอยยิ่งทำให้เกิดความขุ่นเคืองกันมากยิ่งขึ้น 4) ร่างกฎหมายต่อต้านการสนับสนุนการก่อการร้าย ที่ถือได้ว่าเป็นบทพิสูจน์ความสัมพันธ์ซาอุดิอาระเบียกับสหรัฐในอนาคต
โดยสรุป ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุดิอาระเบียในสมัยของโอบาม่าถือว่าย่ำแย่มาก แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นแตกหักหรือตัดขาดจากกันได้ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีการพึงพากันมายาวนานและมีความยึดโยงกันทางเศรษฐกิจการลงทุนระหว่างกันสูง อย่างไรก็ตาม พอมาในยุคของทรัมป์ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับซาอุดิอาระเบียกลับฟื้นตัวดีขึ้นอีกครั้ง ทั้ง ๆ ทรัมป์เองก็วิจารณ์ซาอุดิอาระเบียและแสดงจุดยืนที่อคติต่อโลกมุสลิมมาตลอด แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะสานสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียในลักษณะของมหามิตรไม่ต่างจากประธานาธิบดีคนก่อนๆ
คำถามคือทรัมป์กำลังวางนโยบายต่อภูมิภาคนี้อย่างไรและตำแหน่งแห่งที่ของซาอุดิอาระเบียอยู่ตรงไหนของยุทธ์ศาสตร์หรือเป้าหมายของอเมริกาในตะวันออกกลาง
อ่านความเดิมตอนที่แล้ว
เกาะติดกระแสทรัมป์กับโลกมุสลิม จากนโยบายสู่การปฏิบัติ ตอนที่ 1: Executive Order สะเทือนโลก (มุสลิม)