Skip to main content

 

การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง

 

ยาสมิน ซัตตาร์

 

 

"The more I travel the more I realized that fear makes strangers of people who should be friends."

ยิ่งฉันเดินทางมากขึ้น ฉันยิ่งตระหนักได้ว่าความกลัวนั้นทำให้คนที่ควรจะเป็นเพื่อนกันกลับกลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน

- Shirley MacLaine, Don't Fall Off the Mountain (1970) –

 

       ทุกการเดินทางที่ผ่านมาของชีวิต ตัวฉันมักจะมีคำถามหนึ่งที่ติดตามไปด้วยเสมอ  นั่นคือ อะไรกันที่ทำให้คนเราสามารถพูดคุยกันได้ ฉันพบเห็นดวงตาที่ต่างกันไปเมื่อคนจ้องมองมาที่ฉันในทุกแห่งของการเดินทาง บางที่ฉันเหมือนเป็นพวกเดียวกันกับผู้คน บางที่ฉันสัมผัสได้ถึงความสงสัยในดวงตา ในอีกบางที่ฉันถูกมองผ่าน  และในอีกหลายแห่งที่ดวงตาของพวกเขาเหมือนจะเกลียดและกลัวฉัน น่าแปลกใจที่ความรู้สึกของคนที่ถูกถ่ายทอดออกมาในแต่ละที่นั้นต่างกันต่อฉันที่มักจะเดินทางไปทุกแห่งด้วยการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์แสดงออกชัดเจนว่าฉันคือผู้หญิงมุสลิม 

       ท่ามกลางกระแสอิสลาโมโฟเบียที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากเหตุการณ์ 9-11 ณ สหรัฐอเมริกา สิ่งที่เราต่างมองว่าไกลตัวเรา  แต่มันกลับส่งผลต่อตัวเราอย่างที่เราคาดไม่ถึง ในการเดินทางของฉันบ่อยครั้งเหลือเกินที่ฉันรู้สึกเหมือนเป็นคนแปลกหน้า นับตั้งแต่การเดินทางไปศึกษาต่อในเมืองหลวงของประเทศบ้านเกิดตนเอง ที่มีจำนวนมุสลิมไม่มากนัก ฉันพบเจอคำถามและการตอบสนองที่ต่างกันตลอด 4ปี เมื่อเริ่มออกเดินทางแม้จะไปยังประเทศที่มีจำนวนมุสลิมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซีย ฉันก็พบเจอกับคำถามต่ออัตลักษณ์ของฉันเสียมากมาย เมื่อฉันเดินทางไปยังยุโรปฉันเริ่มที่จะเห็นคำถามอีกชุดที่ต่างกัน แต่มีอยู่สองที่ที่ฉันอยากจะเล่าถึงเพราะสองที่นี้เองที่ทำให้ฉันตระหนักได้ว่า การก้าวข้ามผ่านอคติ อยู่กับความหลากหลายของผู้คน และเข้าใจในความขัดแย้งที่มี จะทำให้การเดินทางมีความสุขและสามารถเรียนรู้กับที่เหล่านั้นได้อย่างน่าตื่นเต้น

        “อินเดีย” ความทรงจำที่แสนสนุกคือที่แรกที่ฉันจะกล่าวถึง อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศอินเดียนับได้ว่าเป็นแหล่งที่รวมความแตกต่างของโลกใบนี้มากมาย ทั้งความเชื่อ สีผิว ชาติพันธุ์ ภาษา หรือแม้แต่ฐานะของผู้คน ความหลากหลายของอินเดียทำให้เป็นห้องเรียนชั้นดีที่ฉันสามารถเรียนรู้ หากจะบอกว่าอินเดียเป็นปะเทศตัวอย่างของพหุวัฒนธรรมที่สามารถอยู่ด้วยกันได้ แล้วไม่เติมคำว่า”อย่างสันติ” ตามมา ฉันก็ออกจะเห็นด้วยเลยทีเดียว สองปีกับอินเดียที่ทั้งศึกษาเล่าเรียนและเดินทางไปรอบๆ ฉันพบว่ามันยากเหลือเกินที่จะทำให้ความต่างอยู่ร่วมกันโดยปราศจากความขัดแย้ง มันดูเหมือนกับเป็นเรื่องที่เพ้อฝันและพูดให้สวยหรูไปเพียงเท่านั้น ในความเป็นจริงแม้กระทั่งภาษาที่จะใช้เป็นภาษาราชการยังเป็นที่ตกลงกันไม่ได้ และยังคงยึดใช้ภาษาอังกฤษต่อไป แม้ว่าจะเป็นของเจ้าอาณานิคมที่คนอินเดียไม่ปลื้มก็ตามที หรือปะทะการทางความเชื่อของชาวฮินดูและมุสลิม ชาวฮินดูและซิกข์ ชาวซิกข์และชาวมุสลิม ก็ยังคงมีเรื่อยมา การปกครองที่เขตเล็กน้อยหาโอกาสที่จะเป็นอิสระทางการเมือง หรือแม้แต่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ยังคงเป็นสิ่งที่อินเดียต้องเผชิญต่อไป แต่อย่างไรก็ตามก็มีความพยายามในการรักษาผลประโยชน์แก่คนที่ได้เปรียบน้อยกว่าหรือชนกลุ่มน้อยในประเทศ เช่น การสงวนที่นั่งพิเศษในทางการเมืองหรือในระบบการศึกษาไว้ให้กลุ่มคนเหล่านี้ แน่นอนว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่อินเดียมันจะอ้างตัวเองเสมอว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด คนส่วนมากย่อมมีสิทธิมีเสียงมากกว่า คนกลุ่มน้อยก็จะได้สิทธิบางประการ ที่เสมือนกับว่าจะสร้างความยุติธรรมและความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น ทั้งๆที่อาจจะไม่สามารถเป็นจริงได้ก็เป็นได้ สำหรับฉันแล้วอินเดียทำให้ฉันพบว่า บทสนทนากับคนที่ต่างกันก็จะเห็นมุมที่ต่างกัน แม้แต่ต่อวีรบุรุษของประเทศเช่น คานธี ก็ยังมีหลากหลายมุมมองที่ไม่ใช่แค่เชิงบวกแต่เป็นเชิงลบด้วยเช่นกัน ฉะนั้นมันจึงไม่แปลกเลยเช่นกันที่คนเล็กๆ อย่างตัวเราเอง ก็จะมีคนที่มองเราด้วยสายตาที่ต่างกัน และขณะเดียวกัน เราก็มักจะพบว่าคนที่ต่างกันก็จะมีปฏิกิริยาต่อบทสนทนากับตัวเราที่ต่างกันไป เมื่อพูดคุยกับคนที่นิยมในแนวทางฮินดู ก็ออกจะไม่ค่อยอยากสนทนากับเราที่แสดงอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมออกมาชัดเจนเท่าไหร่นักและเมื่อสนทนากับคนที่มีความรักชาติมาก เมื่อเราลองบอกความจริงทีว่าบรรพบุรุษของเรานั้นมาจากปากีสถาน เราก็จะพบท่าทีที่เปลี่ยนไปทันที ซึ่งมีแม้กระทั่งคนที่ไม่คุยกับเราอีกเลยนับตั้งแต่รู้ มันจึงทำให้เราเห็นว่าอคติที่สร้างภาพของความต่างให้มีพลัง มันส่งผลระยะยาวและต่อเนื่องได้ แม้เราจะยังไม่รู้จักกันแต่เราอาจพร้อมหำหั่นกันเมื่อรับรู้ว่าอีกฝ่ายคือ “พวกอื่น”

       “ตุรกี” เป็นอีกประเทศที่คงจะไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นตุรกีมาเกือบห้าปี สิ่งที่ตุรกีทำให้เราเห็นในมุมที่ต่างไปจากอินเดียก็คือ ไม่ใช่แค่ความต่างที่มากมายจะมีอิทธิพลต่อความขัดแย้ง แม้แต่ความต่างที่มีจุดร่วมบางประการมันก็ทรงพลังต่อการกระตุ้นความขัดแย้งในใจมนุษย์ไม่ต่างกัน ตุรกีนับว่าเป็นประเทศที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก มีคนส่วนใหญ่เป็นชาวเติร์ก แต่ความเข้าใจในประเด็นศาสนา ประกอบกับความต่างทางอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้คนตุรกีเองต้องเผชิญกับภาวะที่มีความขัดแย้งตลอดมา ชนกลุ่มน้อยเล็กๆ อย่างเคิร์ดที่มีความขัดแย้งต่อกันก็ล้วนเป็นปัญหาในทางการเมือง แม้ว่าจะมีจุดร่วมที่เหมือนกันก็ไม่ได้รับประกันได้ว่าจะทำให้ไม่ขัดแย้ง แต่สิ่งที่สำคัญนั่นคือ เราจะสนทนากับความขัดแย้งที่มีอยู่อย่างไร เมื่อยิ่งพูดคุยกับคนที่แตกต่างในตุรกี จะพบว่าเรื่องที่จะทำให้ชาวตุรกีหลายๆคนมีอารมณ์ร่วมกับบทสนทนานั่นคือ เรื่องการเมือง แม้ว่าเราจะชื่นชมในฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่การที่เราแสดงตนเลือกฝ่ายอย่างชัดเจนอาจไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดีนัก  มิตรภาพอาจจะพังทลายเพียงแค่เห็นว่าใครสังกัดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด และขณะเดียวกันหากมีอุดมการณ์แบบเดียวกันก็พร้อมจะให้ทุกอย่าง สิ่งนี้เป็นเรื่องที่จะเกิดระหว่างคนตุรกีด้วยกัน แต่อาจจะเป็นข้อดีของชาวตุรกีที่จะต้องดูแลแขกของตนอย่างดี ฉะนั้นแล้วเราในฐานะชาวต่างชาติก็เสมือนแขกของพวกเขา ทำให้ไม่พบเจอกับปัญหาเหล่านี้นัก แต่ด้วยกับอัตลักษณ์ที่มาพร้อมฮิญาบซึ่งเป็นอีกประเด็นอ่อนไหวที่ผ่านการถกเถียงและการต่อสู้ที่ยาวนานของคนตุรกีระหว่างคนที่มองว่าฮิญาบคือสิทธิเสรีภาพทางศาสนา ในขณะที่บางส่วนมองว่าฮิญาบเป็นสิ่งที่จะทำลายความเป็นเซคคิวล่าร์ของตุรกีไป เมื่อตัวเรามีอัตลักษณ์ร่วมบางประการกับชุดความขัดแย้งในสังคมหนึ่งๆ ก็ไม่แปลกที่เราก็มักจะถูกนับรวมเข้าไปเป็นพวกเดียวกับอัตลักษณ์นั้นๆ ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

       อินเดียและตุรกี ทำให้เรียนรู้ได้ว่า ถึงจุดหนึ่งแล้ว เราไม่สามารถหลีกหนีกับความขัดแย้งได้ และเราเองก็อาจไม่สามารถหลบเลี่ยงจากการถูกตีตราและตัดสินจากอัตลักษณ์ของเราเอง  การเดินทางพบเจอผู้คนที่ยิ่งหลากหลายมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเห็นว่าโลกนี้ยังมีอีกหลายมุมมองนักที่รอให้เราออกเดินทางค้นหาและเรียนรู้มัน อย่ากลัวที่จะก้าวและเรียนรู้ แต่จงค้นหาจนเห็นถึงความสวยงามที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความต่างและความขัดแย้ง หยิบสมุดสักเล่ม พร้อมกล้องถ่ายรูปแล้วเริ่มแบกเป้ ออกไปเรียนรู้อีกหลายๆ หน้าตาที่อยู่บนโลกกันเถอะ ......

 

”โลกนี้ก็เหมือนกับหนังสือและผู้ที่ไม่ได้เดินทางก็เสมือนกับได้อ่านหนังสือเพียงหน้าเดียว” (St. Augustine)

 

 

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี) วิทยากรโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, ฮาดีย์ หะมิดง, ยาสมิน ซัตตาร์ และ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน 

 

ดาวน์โหลดหนังสือ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย [หนังสือ]

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางของความประหลาดใจ โดย อับกอรี เปาะเดร์

ความเกลียดชังที่รวันดา โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การเดินทางและสันติภาพ โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย โดย อัยมี่ อัลอิดรุส

การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง โดย ยาสมิน ซัตตาร์

การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งฯ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์

เริ่มแรก โดย รอมฎอน ปันจอร์

เมื่อสันติภาพเดินทาง โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ

คัชการ์ ฉันมาช้าไป โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

คำถามจากการเดินทาง โดย อิมรอน ซาเหาะ

การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก โดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

นิราศ โดย รอฮีมะห์ เหะหมัด

การเดินทาง การถูกกักตัว กับการได้รับรู้ และการได้กลับบ้าน โดย ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล

เก็บตกจากเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

เสียงจากเยาวชนผู้จัดงานเสวนากระเป๋าเป้และแว่นตาฯ โดย ริซกี มะสะนิง

"คำตอบเรื่อง ต้นทุนชีวิตที่ต่างกันและการเดินทาง" โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

วงกลม 3 วง กับการเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดย มุลยานา ดะอุแม

ชะโงกทัวร์ที่อาร์เมเนีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โหดสัสรัสเซีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โคลอมเบีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

ประมวลภาพงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย อิมรอน ซาเหาะ

อาทิตย์นี้แล้วน่ะ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” กับคนรุ่นใหม่ใฝ่สันติภาพ ในเวที‘กระเป๋าเป้และแว่นตาฯ’ที่ ม.อ.ปัตตานี โดย อิมรอน ซาเหาะ