Skip to main content

 

คัชการ์ ฉันมาช้าไป

                                                                                  อาฎิล ศิริพัธนะ

 

 

       ในวัยเด็ก คุณพ่อได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกลางทะเลทรายทางตอนเหนือของจีน เป็นดินแดนที่เป็นทางผ่านของหลายอารยธรรมในอดีต ก่อให้เกิดการผสมผสานและออกดอกออกผลทางวัฒนธรรมและกรรมพันธุ์อันเป็นเอกลักษณ์ มันเป็นภาพความโรแมนติกที่ตราตรึงในหัวใจของผม และกลายเป็นความฝันว่าซักวันหนึ่งผมจะต้องไปเที่ยวเขตปกครองซินเจียงอุยกูร์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ได้

       เมื่อเวลาผ่านไป ความโรแมนติกเหล่านั้นกลับกลายเป็นความรู้สึกที่ถูกฝังอยู่ลึกเกินไป ผมในวันนี้ ไม่ใช่ผมคนเดิมอีก ผมเดินทางไปซินเจียงครั้งแรก ไม่ได้มีเป้าหมายในใจเพื่อไปพบปะพี่น้องร่วมศาสนาเหมือนที่เคยคิดไว้ แต่มีแรงบันดาลใจจากการถ่ายภาพท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นหลัก ผมไปเพื่อเก็บภาพดอกแอปริคอตบานต้นฤดูใบไม้ผลิที่เรียกได้ว่าสวยที่สุดในโลก โดยสรุปแล้ว ทริปครั้งนี้ เป็นทริปที่ทำให้ผมได้ภาพงามๆ เยอะพอสมควร ผมได้นั่งรถชมวิวเทือกเขาคาราโครัมสุดอลังการ ผมได้ถ่ายภาพตลาดปศุสัตว์ของชาวอุยกูร์ที่หาที่ไหนไม่ได้ในโลก ได้เที่ยวเมืองโบราณ และได้ดอกแอปริคอตริมทางอยู่ในภาพถ่ายมากมาย แต่ทริปนี้ กลับไม่ใช่ทริปที่ทำให้ผมได้เติมเต็มความฝัน แต่กลับเป็นทริปที่ลากผมลงมาสู่ความขมขื่นของความเป็นจริง ใช่ สภาพอากาศในปีนี้ผิดคาดผมไปมาก อากาศหนาวเกินไป ทุกแหล่งท่องเที่ยวดูดอกแอปริคอตดังๆ ที่ผมอยากเห็นเป็นหิมะหมด ไม่มีที่ไหนออกดอกเลย นอกจากริมทางไม่กี่แห่งเท่านั้น เคยมั้ย ไม่ว่าเราจะฝันอย่างไรก็ตามในชีวิตของเรา แต่โลกของความจริงมันก็จะกระชากเราลงมาตบหน้ารับชะตากรรมที่เราไม่มีทางหนีจากมันได้ในโลกกายภาพแห่งนี้ เปล่าเลย ผมไม่ได้พูดถึงสภาพอากาศ แต่ผมกำลังพูดถึงสิ่งที่มุสลิมต้องเผชิญภายใต้การปกครองของจีน

       กล่าวกันโดยสรุป คือรัฐจีน ไม่ให้เกียรติ ไม่เคารพ และเห็นความสำคัญใดๆ ต่อสถาบันศาสนาใดๆ ไม่ได้เห็นความสวยงามของความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของมนุษยชาติแต่อย่างใด ประสบการณ์การมาซินเจียงครั้งนี้ของผม ทำให้ผมเข้าใจอีกมุมหนึ่งของความสุดโต่งของมนุษย์ นั่นคือความสุดโต่งเห็นศาสนาเป็นเชื้อโรค เป็นมะเร็งร้ายของมนุษยชาติ และการตั้งตัวเป็นศัตรูกับศาสนิกในระดับที่เรียกว่า ตายกันไปข้างหนึ่งเลยทีเดียว

ทุกครั้งที่ครอบครัวของผมต้องผ่าน ตม. สำหรับการบินภายในประเทศ เจ้าหน้าที่ของจีนจะสนุกกับการบังคับให้ภรรยาของผมต้องถอดฮิญาบออกจากหัวเธอทุกครั้ง ทุกครั้งเราจะพยายามประท้วงอย่างถึงที่สุด แต่มันไม่เป็นผล และเราทราบดีถึงความร้ายแรงของการโต้เถียงกับเจ้าหน้าของประเทศที่ขาดคุณค่าความเป็นมนุษย์แห่งนี้

       จริงๆ แล้ว เมื่อเทียบกับชาวอุยกูร์ สิ่งที่ครอบครัวผมต้องเจอนั้น ยังน้อยมาก การคลุมฮิญาบในเขตซินเจียงอุยกูร์นั้นผิดกฎหมาย ผู้ชายไว้เคราไม่ได้จนกว่าจะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ชายอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกห้ามเข้ามัสยิด สำหรับผู้หญิงนั้น   ลืมไปได้เลยถ้าจะไปมัสยิด สิ่งที่ใกล้เคียงกับฮิญาบมากที่สุดที่พวกเธอใส่ได้ คือผ้าบางๆที่เห็นเส้นผมและเปิดคอ ณ ดินแดนแห่งนี้ ไม่มีบ้านหลังไหนที่สามารถเป็นเจ้าของหนังสือศาสนาและคัมภีร์อัลกุรอ่านที่ไม่ผ่านการแสตมป์จากรัฐบาลได้ เด็กๆ สามารถโดนจับเข้าคุกหากพบว่ามีการดาวน์โหลดหนังสือหรือแอพที่เกี่ยวข้องกับอิสลาม รัฐแบนการตั้งชื่อเด็กเกิดใหม่เป็นภาษาอาหรับ การตั้งชื่ออาหรับจะส่งผลให้บุคคลคนนั้นไม่สามารถเข้าเรียนโรงเรียนรัฐและไม่สามารถเข้าถึงสาธารณสุขได้ พาสปอร์ตของชาวซินเจียงอยู่ในมือของรัฐ ไม่สามารถเดินทางเข้าออกนอกประเทศได้เว้นแต่การอนุมัติจากรัฐ คนหนุ่มไม่มีสิทธิที่จะไปทำฮัจญ์ และคนแก่บางคนรอทั้งชีวิตเพื่อเข้าคิวรายชื่อที่จะได้ไปทำฮัจญ์

       คัชการ์ที่ผมใฝ่ฝันจะพบเจอตั้งแต่วัยเยาว์ บัดนี้ถูกทำลายจิตวิญญาณของความเป็นคัชการ์ไปหมดแล้ว เมืองเก่าอันโด่งดังของคัชการ์ ตอนนี้ถูกรัฐบาลจีนทุบทิ้งจนหมดแล้ว ด้วยข้ออ้างเรื่องการก่อการร้ายและอาชญากรรม รอบเมืองคัชการ์นั้นถูกล้อมรอบด้วยเมืองใหม่ร้าง ๆ ที่รัฐบาลจีนมาสร้างไว้ พร้อมกับป้ายโฆษณาชวนเชื่อรอบ ๆ เมืองว่า “จากปักกิ่งสู่ซินเจียงเพื่อความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งของพื้นที่และประชาชน “เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง ว่าความมั่งคั่งที่พูดถึงนั้น หมายถึงหากชาวคัชการ์ต้องการออกนอกเมือง ต้องผ่านด่านตรวจที่แสนจะยากลำบาก ทุก ๆ คนต้องลงจากรถเพื่อเดินผ่านเครื่องตรวจโลหะ ผู้หญิงทุกคนต้องถอดผ้าคลุมที่แทบจะไม่ได้คลุมอะไรอยู่แล้วเมื่อผ่านด่านเหล่านี้ และด่านเหล่านี้ตั้งอยู่ทุกๆ ไม่เกินร้อยกิโลเมตร และเราต้องลงจากรถไปให้เจ้าหน้าที่สอบสวนทุกครั้ง โดยเฉพาะภรรยาของผมที่คลุมฮิญาบตามแบบที่ถูกต้อง ตลอดการเดินทางของผมและครอบครัว เราต้องพบกับความกดดันซ้ำแล้วซ้ำอีกจากเจ้าหน้าที่ด่านเหล่านี้ ที่ต้องการให้ภรรยาของผมถอดฮิญาบออก โชคดีที่ไกด์อุยกูร์ท้องถิ่นของเรานั้น ยืนหยัดเคียงข้างโต้เถียงให้เราทุกครั้งว่าเราไม่ใช่ชาวอุยกูร์ รัฐต้องไม่ใช้กฎหมายแบบเดียวกันกับพวกเรา

       ตลอดระยะเวลาการเดินทางรอบๆ ซินเจียงของพวกเรา เราได้เห็นร่องรอยและบรรยากาศการกวาดล้างที่ศาสนาและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากใครไปเที่ยวคัชการ์ ก็จะได้เห็นคนเฒ่าคนแก่นั่งพื้นอยู่ตรงลานข้างถนน รายล้อมไปด้วยทหารและตำรวจ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งของทางรัฐให้มารายงานตัวและรับฟังนโยบายที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม เมื่อเดินไปในเมือง เราก็มักจะเห็นการจับกุมผู้คนตามซอกซอยข้างถนน โดยเฉพาะคนหนุ่มชาวอุยกูร์ เราไม่รู้หรอก ว่าพวกเขาทำผิดอะไร เรารู้เพียงว่า รัฐบาลจีนขยันขันแข็งเป็นอย่างมากในการจับกุมให้ได้มากที่สุด ทุก ๆ ปีในแต่ละเมือง ทางรัฐบาลจีนจะส่งทหารเข้ามาฝีกซ้อม และเดินพาเหรดกันกลางเมืองอยากอึกทึก เป็นการเตือนสำทับต่อประชาชนชาวอุยกูร์ทุกคนว่าอย่าหือ ผมได้เห็นทั้งหมดนั้นด้วยตาตัวเอง แม้ยามค่ำคืน ผมมองลงมาจากห้องของโรงแรม ก็จะเห็นรถตำรวจมาพร้อมไซเรน ทำการดักล้อมจับกุมชาวอุยกูร์ในบ้านเก่าๆ ที่ยังไม่ยอมสร้างใหม่ทั้งหลาย มันเป็นภาพซ้ำๆ ที่ตอกย้ำความยากลำบากในการเกิดมาเป็นอุยกูร์ภายในระยะเวลาแค่ไม่ถึงสัปดาห์

       ในขณะเดียวกัน ภายใต้บรรยากาศแห่งการกดขี่ และความพยายามกวาดล้างทางวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ ผมก็ได้เห็นอารยะขัดขืนของชาวอุยกูร์ไปพร้อม ๆ กัน ไกด์ของเราแต่ละคนนั้น เรามักจะได้ฟังพวกเขาถกกันในเรื่องศาสนา เช่น กุรอ่าน ฮะดีษ ในรถระหว่างเดินทางเสมอ เราได้เห็นภาพคนแก่ๆ ชาวอุยกูร์ออกมาอาบน้ำละหมาดหน้าบ้านอย่างไม่แยแสต่อกฎหมาย เห็นมุสลิมะฮหลายคนที่คลุมฮิญาบอย่างมิดชิด แม้เสี่ยงโดนจับ เราได้เห็นความตั้งใจของไกด์ของเราที่จะส่งลูกหลานตัวเล็ก ๆ ของเขาเข้าสู่เมืองใหญ่หรือแม้แต่ต่างประเทศ เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสเรียนศาสนา ในการกดขี่ ผู้คนกลับแสวงหาต้นธารของแก่นศาสนามากขึ้นไปอีก อำนาจที่เป็นเผด็จการ ย่อมพยายามในการทำลายวัฒนธรรมอันหลากหลาย แต่นั่นก็หมายความว่า จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ยืนหยัดรักษารากทางประวัติศาสตร์ของผู้คนก็ถูกปลุกขึ้นมาด้วย โลกเราจะยังคงดำเนินไปพร้อมๆ กันระหว่างสองสิ่งนี้เสมอ

       ผมเองใช้ชีวิตอยู่ในซาอุดิอาระเบีย และด้วยความเป็นมุสลิม ไม่ได้รู้สึกอึดอัดเลยกับกฎหมายที่แน่นอน กดขี่ผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม มันก็คงไม่ต่างกับคนจีนฮั่น ที่ไม่รู้สึกว่ากฎหมายของตัวเองกดขี่ตนเอง มันนำมาสู่การตั้งคำถามทิ้งท้ายที่น่าสนใจ ว่า “มันแตกต่างกันมากนักหรือ การกดขี่เพื่อไม่ให้คนนับถือศาสนา กับการกดขี่เพื่อให้คนเชื่อในหนึ่งศาสนา?”

             

 

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี) วิทยากรโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, ฮาดีย์ หะมิดง, ยาสมิน ซัตตาร์ และ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน 

 

ดาวน์โหลดหนังสือ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย [หนังสือ]

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

การเดินทางของความประหลาดใจ โดย อับกอรี เปาะเดร์

ความเกลียดชังที่รวันดา โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

การเดินทางและสันติภาพ โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย โดย อัยมี่ อัลอิดรุส

การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง โดย ยาสมิน ซัตตาร์

การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งฯ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์

เริ่มแรก โดย รอมฎอน ปันจอร์

เมื่อสันติภาพเดินทาง โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ

คัชการ์ ฉันมาช้าไป โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

คำถามจากการเดินทาง โดย อิมรอน ซาเหาะ

การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก โดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

นิราศ โดย รอฮีมะห์ เหะหมัด

การเดินทาง การถูกกักตัว กับการได้รับรู้ และการได้กลับบ้าน โดย ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล

เก็บตกจากเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ

เสียงจากเยาวชนผู้จัดงานเสวนากระเป๋าเป้และแว่นตาฯ โดย ริซกี มะสะนิง

"คำตอบเรื่อง ต้นทุนชีวิตที่ต่างกันและการเดินทาง" โดย อาฎิล ศิริพัธนะ

วงกลม 3 วง กับการเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดย มุลยานา ดะอุแม

ชะโงกทัวร์ที่อาร์เมเนีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โหดสัสรัสเซีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

โคลอมเบีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง

ประมวลภาพงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย อิมรอน ซาเหาะ

อาทิตย์นี้แล้วน่ะ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” กับคนรุ่นใหม่ใฝ่สันติภาพ ในเวที‘กระเป๋าเป้และแว่นตาฯ’ที่ ม.อ.ปัตตานี โดย อิมรอน ซาเหาะ