นิราศ
รอฮีมะห์ เหะหมัด
“การเดินทางของฉันและเธอคือการเรียนรู้ การเรียนรู้ของเราสองคนคือความเข้าใจ เธอเข้าใจและฉันเข้าใจก็ทำให้เรามั่นใจ” ขอยกบทเพลงของ คุณชาติ เดอะวอยส์มากล่าวเท้าความก่อนว่า ท่อนนี้มีความตรงกับความคิดตัวเองเกี่ยวกับการเดินทางพอสมควร ซึ่งฉันเองก็คิดไว้อย่างนั้นว่า การเดินทางมันคือการที่เราได้ออกไปแตะสังคมอีกสังคมหนึ่งที่เราไม่เคยได้สัมผัส ไม่ว่ามันจะไกล หรือ จะใกล้ มันก็คือสังคมใหม่ในมิติที่เราไม่เคยได้สัมผัส ไม่ว่าจะสัมผัสด้วยความชอบ ความรัก ความต้องการ หรือแม้กระทั่งด้วยหน้าที่การงานก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งมวลของเหตุผลที่ไปสัมผัสสังคมเหล่านั้น มันก็ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การเข้าใจ การยอมรับ การถ่อมตน จากสิ่งที่ได้เรียนรู้ ฉันไม่รู้ว่า เหล่านักเดินทางจะเป็นเหมือนกันไหมว่า พอเวลาที่เราเอาตัวเองออกจากกรอบที่ขีดรอบตัว เราจะกลายเป็นคนตัวเล็กทันที ทำให้ไม่กล้าที่ผยองในสิ่งที่ตัวเองรู้ ถ่อมตนมากขึ้น สามารถที่จะผลักดันตัวเองให้กล้าที่จะยิ้มให้กับผู้คนที่เราไม่รู้จัก กล้าที่จะพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่อยู่ข้างๆ ระหว่างรอรถ กล้าที่จะเปิดใจยอมรับทุกสิ่งอย่างที่เข้ามาทักทายระหว่างเดินทางหรือเปล่า
ฉันเองก็เช่นเดียวกัน การเดินทางของฉันเริ่มต้นด้วยการออกไปทำหน้าที่ของบัณฑิตอาสาต่างจังหวัดด้วยตัวคนเดียว เอาจริงๆ แล้ว “ตรัง” ไม่ได้ไกลเท่าไรมากนักจากสามจังหวัด แต่เชื่อดิว่า เด็กสาวจากปัตตานีอย่างฉันที่ไม่เคยออกไปอาศัยต่างจังหวัดเป็นแรมปีคนเดียวก็ต้องมีกลัวกันบ้าง ยิ่งช่วงที่ไปมีทั้งความร้อนแรงในพื้นที่สามจังหวัด ทั้งความร้อนแรงของกระแสอิสลามโมโฟเบีย(โรคหวาดกลัวอิสลาม)อยู่ด้วย มันก็ต้องมีเกร็ง มีกดดัน กันบ้างแหละ ยิ่งเอกลักษณ์การแต่งกายมีลักษณะเด่นคือ “ฮีญาบ” และมันมีทวีคูณความตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อขึ้นรถตู้ตรังแล้วมีเพียงเราที่ใส่ “ฮีญาบ” อยู่คนเดียว ทุกสายตาจะโฟกัสมาที่เรา แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนอกจาก การยิ้มให้แล้วชวนคุยกับคนข้างๆ เพื่อบรรเทากำแพงของความกดดันเหล่านั้นได้บ้าง
“ มาจากโน้น พาระเบิดมาไหมนิหสาว” พี่ก็แซวแรงไป คงไม่ได้สวนคำตอบอะไรมากมาย นอกจากยิ้มด้วยความบริสุทธิ์ใจและความเป็นมิตรเท่านั้น แต่มันก็แปลกดี มันไม่ใช่ความรู้สึกที่เป็นลบ แต่มันกลับกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายกับฉันเป็นอย่างมาก การไปอาศัยในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยของฉันครั้งนี้ ยิ่งเจอความท้าทายมากยิ่งขึ้น เมื่อต้องทำงานในชุมชนที่มีไทยพุทธหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ยิ่งท้าทาย ยิ่งต้องพิสูจน์ ยิ่งต้องการใจของพวกเขามากขึ้น ทุกอย่างจะสื่อสารผ่านการกระทำและพฤติกรรมของเราเหล่านั้น และสิ่งหนึ่งที่ฉันเชื่อ ความจริงใจ ความตั้งใจจริง จะสื่อให้ทุกคนที่รู้จักเราเองว่า เราทำไปด้วยการเฟคหรือตั้งใจจริง ซึ่งแรกเริ่มฉันเข้าไปด้วยการเป็นครูอาสา สอนเด็กๆ ในชุมชน เพราะเชื่อว่า ถ้าเราเอาใจเด็กอยู่ พ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็กเราก็จะได้ใจพวกเขาโดยปริยาย
การพิสูจน์ทุกสิ่งอย่างที่เจอระหว่างเดินทาง ระหว่างการทำงาน มันกลับเป็นแรงผลักดัน แรงบันดาลใจ เหมือนมันมีพลังบางอย่างที่ทำให้ฉันหลงรักในเส้นทางของการเดินทางสายนี้
“ฮีญาบ” มันกลายเป็นเอกลักษณ์คู่ใจสำหรับฉัน มันไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่มันกลับกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ใจของเราต่างหากว่า เราจะสามารถนำ “ฮีญาบ” ผืนนี้เดินทางไปทั่วทุกสารทิศได้หรือไม่
สำหรับฉัน “การเดินทางมันคือการ ดะวะห์(การเผยแพร่) สิ่งดีๆ ให้กับทุกคนผ่านการทำความดี ผ่านพฤติกรรมที่เราปฏิบัติโดยไม่แยกว่าจะเป็นศาสนาไหน(อาจจะดูโลกสวย) แต่ฉันคิดอย่างนั้นจริง ๆ หนึ่งคนที่ทำดีต่อเพื่อนมนุษย์อีกคน มันสามารถที่จะลบทัศนคติ อคติ กับคนมุสลิมได้แล้วหนึ่งคน แล้วคิดว่าถ้าทำอย่างนี้ต่อๆ ไป มันก็จะสามารถลดกระแสอิสลามโมโฟเบียลงไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องบอกเขาด้วยวาจาเลยว่า “อิสลามไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ขอให้คุณตัดสินคนแค่คน ๆ เดียว อย่าเหมารวม” ซึ่งความคิดเหล่านี้ ทำให้ฉันอยากที่จะเดินทางต่อ ๆ ไป และแน่นอนว่า ผลพลอยได้ของการเดินทางมันคือการ ค้นหาแรงบันดาลใจ การได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การได้มิตรภาพใหม่ ๆ ระหว่างเดินทาง แต่สิ่งที่ตระหนักเสมอคือ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันตลอดการเดินทาง ถือเป็นผลพลอยได้ระยะยาวและเพิ่มเสน่ห์ให้เราหลงรักการเดินทางมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีวันสิ้นสุด
บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือเรื่อง การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย เป็นหนังสือที่ระลึกในงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 ณ หอประชุม ม.อ.ปัตตานี ชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ (หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี) วิทยากรโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, ฮาดีย์ หะมิดง, ยาสมิน ซัตตาร์ และ อัยมี่ อัลอิดรุส ดำเนินรายการโดย อ.สุวรา แก้วนุ้ย โดยในหนังสือเล่มนี้มีผู้เขียนทั้งหมด 12 ท่าน |
ดาวน์โหลดหนังสือ
การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย [หนังสือ]
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
การเดินทางของความประหลาดใจ โดย อับกอรี เปาะเดร์
ความเกลียดชังที่รวันดา โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
การเดินทางและสันติภาพ โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย โดย อัยมี่ อัลอิดรุส
การเดินทาง ความหลากหลาย และความขัดแย้ง โดย ยาสมิน ซัตตาร์
การเดินทางของความรู้ต่อความรุนแรงทางชาติพันธุ์แบบสุดโต่งฯ โดย อาทิตย์ ทองอินทร์
เริ่มแรก โดย รอมฎอน ปันจอร์
เมื่อสันติภาพเดินทาง โดย ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ
คัชการ์ ฉันมาช้าไป โดย อาฎิล ศิริพัธนะ
คำถามจากการเดินทาง โดย อิมรอน ซาเหาะ
การเดินทางของสันติภาพ: บทเรียนเมื่อได้ไปเยือนตวนแสลงและเจือกเอ็ก โดย สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์
นิราศ โดย รอฮีมะห์ เหะหมัด
การเดินทาง การถูกกักตัว กับการได้รับรู้ และการได้กลับบ้าน โดย ชานิตยา จีน่า ดานิชสกุล
เก็บตกจากเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
เสียงจากเยาวชนผู้จัดงานเสวนากระเป๋าเป้และแว่นตาฯ โดย ริซกี มะสะนิง
"คำตอบเรื่อง ต้นทุนชีวิตที่ต่างกันและการเดินทาง" โดย อาฎิล ศิริพัธนะ
วงกลม 3 วง กับการเดินทางของผู้ชายที่ชื่อ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดย มุลยานา ดะอุแม
ชะโงกทัวร์ที่อาร์เมเนีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง
โหดสัสรัสเซีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง
โคลอมเบีย โดย ฮาดีย์ หะมิดง
ประมวลภาพงานเสวนา "กระเป๋าเป้และแว่นตา : การเดินทางของสันติภาพที่หลากหลาย" โดย อิมรอน ซาเหาะ
อาทิตย์นี้แล้วน่ะ “วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล” กับคนรุ่นใหม่ใฝ่สันติภาพ ในเวที‘กระเป๋าเป้และแว่นตาฯ’ที่ ม.อ.ปัตตานี โดย อิมรอน ซาเหาะ